"ธุรกิจต่างแดนบทเรียนราคาแพง"

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

3-4 ปีที่แล้ว ตลาดโทรคมนาคมประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง มีโอกาสต้องรับบรรดาทุนสื่อสารของไทยที่ขนทัพไปลงทุนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งกลุ่มชินวัตร ยูคอม เทเลคอมเอเซีย สามารถ กลุ่มจัสมิน และกลุ่มล็อกซเล่ย์

ตลาดเมืองไทยแคบไปแล้วสำหรับเขา สัมปทานที่มีอยู่ก็ถูกจับจองไปหมดสิ้น ในโลกของการสื่อสารที่ไร้ขีดจำกัดทำให้ทุนสื่อสารเหล่านี้ต้องหันไปจับจองอาณาจักรนอกประเทศ

ภาพสวยหรูจากการประกาศลงทุนไปยังเหล่าประเทศอินโดจีน ขยับขยายไปยังอินเดีย ฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ราคาหุ้นขึ้นพรวดพราดตามกระแสข่าวการลงทุนที่ถูกหมกระพือระลอกแล้วระลอกเล่า

แต่ทุกวันนี้ภาพการขยายธุรกิจกลับหยุดนิ่งอยู่กับที่ การดิ่งเหวของตลาดหุ้นเมืองไทย ข่าวคราวการบุกขยายธุรกิจต่างประเทศเงียบหายไปราวกับคลื่นที่กระทบฝั่ง

ทีเอ ยักษ์ใหญ่เจ้าของโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมายต้องพับการลงทุนในอินเดียหลังเจอพิษกลุ่มโมดิพันธมิตรท้องถิ่น จนต้องหลบออกมาเลียแผลใจ

ในขณะที่ยูคอมที่เคยมุ่งมั่นขยายสู่ธุรกิจต่างแดนจัดตั้งบริษัทยูคอม อินเตอร์เนชั่นแนล ขึ้นก็ต้องระงับแผนไว้ชั่วคราว หันมามุ่งเอาดีกับโครงการสื่อสารผ่านดาวเทียมอีเรเดียม

ทางด้านล็อกซเล่ย์เองอาจโชคดีกว่ารายอื่นอยู่บ้างเพราะสไตล์การลงทุนที่ระมัดระวัง ก็ยังไม่สามารถทำเงินอย่างเป็นกอบเป็นกำในการลงทุนทำโทรคมนาคมในต่างประเทศได้ มีเพียงการลงทุนธุรกิจคอนซูเมอร์โปรดักส์ที่ทำอย่างเป็นกอบเป็นกำเช่น โรงเบียร์ลาว น้ำหวานลาว แม้จะมีการลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมบ้างประปราย แต่ก็ไม่วายต้องเจอกับประสบการณ์ในเวียดนามที่เซ็นเอ็มโอยูให้บริการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับรัฐบาลเวียดนามไปแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง

มาสเตอร์คอลล์ ม้ามืดที่สร้างความฮือฮาสามารถคว้าโครงการโทรศัพท์พื้นฐานในจีน จนทำให้เกิดข้อกังขาว่าซีพีไปทำอะไรที่ไหนจึงปล่อยให้มาสเตอร์คอลล์คว้างานชิ้นใหญ่ไปได้ ในที่สุดคำตอบก็ถูกเฉลยเมื่อสัมปทานที่มาสเตอร์คอลล์ได้มานั้น เป็นแค่การติดตั้งไม่มีสิทธิ์ให้บริการ

การบุกต่างประเทศของชินวัตรดูเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด ก็ยังต้องชะลอเอาไว้ก่อน หันมาเอาดีกับการลงทุนที่มีอยู่ใน 4 ประเทศ คือ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา ส่วนโครงการใหม่ต้องเลือกเฟ้นให้ดีจริง ๆ เมื่อพบว่าตลาดไม่ได้สร้างเม็ดเงินมหาศาลอย่างที่คิดเอาไว้

เช่นเดียวกับจัสมินที่กำหนดยุทธศาสตร์อนาคตธุรกิจไว้ที่การขยายในต่างประเทศ ตามความคิดของอดิศัยที่เชื่อว่าสัมปทานในประเทศเต็มแล้ว การบุกขยายของจัสมินจึงทำอย่างเต็มที่ต่อเนื่องโดยอดิศัยเป็นผู้กรุยทางด้วยตนเอง

ปัจจุบันจัสมินลงทุนธุรกิจโทรศัพท์มือถือระบบจีเอสเอ็มใน 2 รัฐของอินเดีย ทำวิทยุติดตามตัวในฟิลิปปินส์และทำโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉพาะกลุ่มในอินโดนีเซีย รวมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียมในภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในช่วงของการลงทุนทั้งสิ้น

"ธุรกิจต่างประเทศต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าไม่ง่ายนัก ต้องมีวิธีการจัดการที่ดีพอสมควรที่ให้มันเข้ารูปเข้ารอยและเดินไปในวิถีทางที่ถูกต้องจึงจะไปได้" ดร.บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ ประธานกรรมการบริหาร จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

แม้ว่าจัสมินจะไม่ได้เจอกับปัญหาเรื่องพันธมิตรหรือความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศเหล่านั้น แต่การลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก กว่าจะรอรายได้เข้าซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายปี ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนักในภาวะเช่นนี้

ทางออกของจัสมิน ไม่เพียงแค่ชะลอการลงทุนใหม่ ๆ เท่านั้น แต่จัสมินเลือกที่จะตัดขายหุ้นบางส่วนออกไปเพื่อนำรายได้กำไรจากส่วนต่างจากราคาหุ้น แทนการรอรายได้ที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จากการที่ใช้เงินลงทุนไปแล้วทั้งหมด 3,000 ล้านบาทสำหรับการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา

เวลานี้ จัสมินได้แต่งตั้งบริษัทเครดิต มิเลียนแนร์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขายหุ้นในบริษัทเจทีโมบายบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนทำโทรศัพท์จีเอสเอ็มในอินเดีย ซึ่งจัสมินถือหุ้น 13% ทศท. 10% เทลเลีย 26% นักลงทุนท้องถิ่น 51%

ส่วนจะขายเท่าใดนั้น ดร. บัณฑิตบอกว่า ต้องขึ้นอยู่กับพาร์ตเนอร์ในอินเดีย และที่ปรึกษาทางการเงินเป็นคนตัดสินใจ

การเฉือนขายหุ้นนี้ยังรวมไปถึงโครงการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมเอเซียส ที่จัสมินถือหุ้น 1 ใน 3 ซึ่งจัสมินยังไม่ได้ตกลงใจว่าจะขายเท่าใดแต่จัสมินจะต้องรักษาสัดส่วนไว้ 10% ตามข้อตกลงการลงทุนที่กำหนดไว้

บัณฑิตเชื่อว่า วิธีนี้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของจัสมินแทนที่จะทุ่มลงทุนไปกับโครงการที่ต้องใช้เวลานาน ก็เอาหุ้นบางส่วนออกขาย และนำกำไรจากส่วนต่างจากหุ้นที่ขายได้ไปลงทุนโครงการใหม่ที่ได้เงินกลับคืนมาเร็วกว่า

"ถ้าถามผมว่าการไปต่างประเทศถูกต้องหรือไม่ ผมคิดว่ามันคงต้องทำ เพราะมันเป็นเรื่องของการขยายธุรกิจเพราะเมื่อคุณอยู่ในประเทศและมันเต็มแล้ว คุณขยายไม่ออกแล้ว การลงทุนในต่างประเทศมันย่อมมีโอกาสมากกว่าเราก็ต้องไป"

จะว่าไปแล้วทุนสื่อสารของไทยก็เหมือนกับนักลงทุนชาติอื่น ๆ เมื่อธุรกิจสื่อสารที่ทำอยู่ในมือเริ่มเห็นผล เม็ดเงินมหาศาลที่ได้มาจากส่วนต่างของราคาหุ้น หลังนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ทุนสื่อสารเหล่านี้ต้องทอดสายตาให้กว้างไกลมากขึ้น เพราะความเชื่อของนักลงทุนที่ว่าธุรกิจสัมทานเป็นที่มาของความมั่นคง

แต่นักลงทุนเหล่านี้ลืมไปว่า การลงทุนในต่างแดนนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะสภาพการแข่งขันนั้นหนักหนาสาหัสไม่แพ้เมืองไทย แต่ต้นทุนก็สูงกว่าในประเทศเป็นเท่าตัวเพราะต้องอิมพอร์ตคนไปด้วยค่าแรงที่แพงกว่าหลายเท่าและก็เป็นประเทศใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ทั้งในแง่ของการหาตลาดและการหาพันธมิตร การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งธุรกิจสัมปทานของประเทศเหล่านี้ก็ไม่แตกต่างไปจากเมืองไทยเท่าใดนัก

ไม่เพียงนักลงทุนไทยเท่านั้นแม้แต่นักลงทุนต่างชาติซึ่งมีเทคโนโลยี และประสบการณ์ก็ยังเคยเจ็บตัวมาแล้ว นับประสาอะไรกับทุนสื่อสารของไทย ที่เพิ่งจะโตแบบก้าวกระโดดเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แถมเทคโนโลยีก็ซื้อหามาทั้งนั้น จึงต้องเจ็บตัวไปตาม ๆ กัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.