"ไวท์กรุ๊ป" จุดตำนานของจัสมิน

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ที่จริงแล้วจุดเริ่มต้นของบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของอดิศัยที่ใช้ชีวิตการเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ที่ชื่อสยามเทลเทค ในเครือไวท์กรุ๊ป

ปัจจุบันมีน้อยคนนักที่จะรู้จักไวท์กรุ๊ป แต่ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ไวท์กรุ๊ปจัดเป็นหนึ่งในเทรดดิ้งเฟิร์มรายใหญ่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ราย คือ ดี. เอ็ม. เคเนดี้ สิทธิ์ ปรุศดำเกิง และพาสนา สุวรรณ์เสถียร เพื่อทำธุรกิจซื้อมาขายไป เช่นเดียวกับกลุ่มล็อกซเล่ย์ สินค้าไวท์กรุ๊ปนำเข้ามาจำหน่ายนั้นมีตั้งแต่เคมีภัณฑ์พลาสติก

ช่วงหนึ่งไวท์กรุ๊ปมีการขยายธุรกิจออกไปมากมายมีการแตกไลน์ไปยังธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วงนั้นเองสิทธิ์ ปรุศดำเกิง 1 ใน 3 ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสยามเทลเทคขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจค้าขายอุปกรณ์อุปกรณ์สื่อสารให้กับหน่วยงานทหาร

การเกิดของสยามเทลเทคเป็นช่วงใกล้ ๆ กับการกำเนินบริษัทคอมพิวเตอร์ยูเนี่ยนของสหยูเนี่ยน และเมโทรซิลเต็มของกลุ่มศรีกรุง ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทเทรดดิ้งเฟิร์มรายใหญ่ ๆ เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานภายใน และตั้งแผนกคอมพิวเตอร์ขึ้นเพื่อค้าขายสินค้าไปด้วยในตัว

หลังจากตั้งสยามเทลเทค สิทธิ์ได้ไปชักชวนอดิศัยให้มาร่วมงานในสยามเทลเทค ซึ่งเวลานั้นอดิศัยกำลังหมดภารกิจการเป็นที่ปรึกษาและเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้กับคุณหญิงเลอศักด์ สมบัติศิริ ในยุครัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรมาหมาด ๆ

"ดร. อดิศัยเขาค่อนข้างดังเป็นที่รู้จักของคนในวงการ พอตั้งบริษัทสยามเทลเทคขึ้นมา คุณสิทธิ์ก็ไปชวนให้เข้ามาทำงาน มารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป" อดีตพนักงานไวท์กรุ๊ปเล่า

ธุรกิจของสยามเทลเทค ไม่ได้ขยายตัวหรือมีบทบาทในตลาดอย่างหวือหวา เนื่องจากลูกค้าหลักของบริษัทเป็นหน่วยงานราชการทหาร ซึ่งลักษณะการทำธุรกิจกับหน่วยงานราชการไม่ใช่อยู่ที่กิจกรรมการตลาด แต่อยู่วิธีการติดต่อเจรจากับผู้มีอำนาจ ชื่อของสยามเทลเทคเป็นที่รู้จักมักคุ้นในแวดวงทหารเป็นอย่างดี

ผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งในสยามเทลเทคนอกจากสิทธิ์ ปรุศดำเกิง และไวท์กรุ๊ปแล้ว จะมีทหารระดับเสนาธิการในรายชื่อผู้ถือหุ้นด้วย ตามสไตล์ของบริษัทที่ค้าขายกับหน่วยงานราชการก็มักจะดึงเอาคนของหน่วยงานเหล่านั้นร่วมงานอยู่ด้วย เพื่อความสะดวกในการติดต่องาน

ในสยามเทลเทค นอกเหนือจากงานด้านการขายแล้วสิ่งที่อดิศัยได้เรียนรู้วิธีการเจรจาติดต่อกับผู้กุมอำนาจตัดสินใจ อันเป็นหัวใจของธุรกิจที่ต้องเกี่ยวพันกับหน่วยงานของรัฐ และกลายเป็นคุณสมบัติอันโดดเด่นในตัวอดิศัย ที่ทำให้จัสมินเติบใหญ่มาจนทุกวันนี้

หลังจากนั้น สิทธิ์ก็จัดตั้งบริษัทสยามเทลเทคคอมพิวเตอร์ ขึ้นอีกแห่ง เพื่อทำธุรกิจรับออกแบบติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ และในครั้งนั้นสิทธิ์ได้ให้อดิศัยเข้ามาถือหุ้นในสยามเทลเทคคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีธุรกิจเป็นตัวเองเป็นครั้งแรก

จากจุดนี้อดิศัยก็เริ่มมองเห็นลู่ทางทำธุรกิจด้านออกแบบและติดตั้งระบบงานวิศวกรรมโทรคมนาคม อดิศัยจึงได้จัดตั้งบริษัทจัสมินอินเตอร์เนชั่นแนลขึ้นมาในช่วงที่ยังนั่งทำงานอยู่ที่สยามเทลเทค โดยได้ดึงเอาสมบุญ พัชรโสภาคย์ มาเป็นหลักในการบริหารงานและติดต่องานในจัสมิน

เมื่อจัสมินเริ่มขยายตัวมากขึ้น อดิศัยจึงลาออกไปนั่งบริหารที่จัสมินอย่างเต็มตัว พร้อมกับดึงเอารุ่นน้องวิศวะจุฬาเข้ามาร่วมงาน ซึ่งต่อมาอดิศัยได้ติดต่อขอซื้อหุ้นของสยามเทลเทคคอมพิวเตอร์จากสิทธิ์และไวท์กรุ๊ปมาทั้งหมด

ทางด้านสายมเทลเทคเอง ก็มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไวท์กรุ๊ปได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในสยามเทลเทคให้กับสิทธิ์ไป สิทธิ์จึงไปดึงเอาพลอากาศสมพล บุรุษรัตน์พันธ์ อดีตนายทหารเสนาธิการกองทัพอากาศเข้าร่วมถือหุ้นด้วยแต่ในทางปฏิบัติสยามเทลเทคก็ยังไม่ได้แยกออกไปจากไวท์กรุ๊ปเสียทีเดียว เพราะเวลานั้นสิทธิ์ยังถือหุ้นและนั่งบริหารงานในไวท์กรุ๊ปอยู่

กระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วโอสถสภาเต๊กเฮงหยู ได้เข้ามาซื้อหุ้นไวท์กรุ๊ป สิทธิ์จึงแยกสยามเทลเทค
ออกไปบริหารอย่างเต็มตัว

ทุกวันนี้สิทธิ์ก็ยังคงนั่งบริหารสยามเทลเทค ที่หันมาขายเฮลิคอปเตอร์ เรดาร์ ในขณะที่อดิศัย และจัสมินได้กลายเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ทุนสื่อสาร ซึ่งสยามเทลเทคคอมพิวเตอร์ที่เขาเทกโอเวอร์ขึ้นมานั้น เป็นเพียงแค่หนึ่งในธุรกิจสิบกว่าธุรกิจในมือเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.