อดิศัย โพธารามิกได้ชื่อว่ามีความพร้อมในยุทธภูมิธุรกิจสื่อสารมากที่สุดผู้หนึ่ง
ความเป็นดีลเมกเกอร์ชั้นเยี่ยม คือที่มาของโครงการโทรศัพท์ต่างจังหวัด 1.5
ล้านเลขหมายและทำให้จัสมินโตแบบก้าวกระโดดกลายเป็นหนึ่งในบิ๊กสื่อสาร แต่แล้วผลงานชิ้นโบแดงในอดีตกำลังกลายเป็นยาขม
การลงทุนที่มีอย่างต่อเนื่องทำให้อดิศัยตัดสินใจกลับสู่ยุทธศาสตร์เดิม เพื่อเดิมพันอนาคตอีกครั้ง
หากไม่นับ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้เวลาเพียงแค่สิบปีแหวกฟ้าคว้าดาว พลิกจากธุรกิจเช่าคอมพิวเตอร์เล็ก
ๆ จนกลายมาเป็นธุรกิจโทรคมนาคมมีมูลค่านับแสนล้านแล้ว อดิศัย โพธารามิก ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีตำนานการไปสู่ดวงดาวไม่แพ้กัน
ทักษิณ ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดทางธุรกิจด้วยสายตายาวไกล เข้าไปผูกับขั้วอำนาจในองค์การโทรศัพท
์คว้าสัมปทานที่ปั่นเม็ดเงินมหาศาลในเวลาต่อมา ในขณะที่อดิศัยอาศัยแต้มต่อในเรื่องความรู้
และสายสัมพันธ์สร้างเป็นอาณาจักรจัสมิน
เป้าหมายของทั้งสองไม่ตรงกัน ผิดกันตรงที่ทักษิณนั้นถนัดงานเบื้องหน้า
แต่อดิศัยนั้นถนัดงานเบื้องหลัง
"ผู้จัดการรายเดือน" ได้รับการคอนเฟิร์มจากบรรดาผู้ใกล้ชิดแทบทุกคนว่าอดิศัยเป็นคนเก่งมากที่สุดคนหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นวิชาความรู้และสายสัมพันธ์ในแวดวงต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้จัสมินเติบโตจนทุกวันนี้
ชีวิตในวัยเด็กของอดิศัยค่อนข้างเรียบง่าย อดิศัยมีพี่ชายคนเดียว คือนายแพทย์ยุทธ
โพธารามิก ซึ่งปัจจุบันเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นแพทย์ประจำพระราชวัง
อดิศัย และพี่ชาย ล้วนเป็นศิษย์เก่าของวชิราวุธ ตามความนิยมของข้าราชการ
และพ่อค้าในอดีตที่มักจะส่งลูกหลานเข้าสู่รั้วสถานศึกษาแห่งนี้ ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งสร้างสายสัมพันธ์ที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งในยุคนี้
การที่จัสมินสามารถคว้าโครงการโทรศัพท์ภูมิภาค 1 ล้านเลขหมาย ก็มาจากพันธมิตรที่มาจากเพื่อนพ้องน้องพี่สมัยวชิราวุธทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัทล็อกซเล่ย์ และเพื่อนรุ่นน้องอย่างวิโรจน์
นวลแข แห่งภัทรธนกิจ
อดิศัยเดินเข้าสู่รั้วจามจุรีในคณะวิศวกรรมสาขาไฟฟ้า อันเป็นแหล่งผลิตบรรดานักโทรคมนาคมชื่อดังในยุคนี้อดิศัยเป็นคนเพื่อนมากมาตั้งแต่สมัยเรียน
ตามประสานักกีฬามหาวิทยาลัย เล่นกีฬาหลายประเภท และเป็นนักกิจกรรมเป็นผู้แทนน้องใหม่จุฬา
ผู้แทนวิศวกรรมศาสตร์จุฬาประธานกีฬากลางแจ้ง
หลังเรียนจบอดิศัยเข้าทำงานที่กรมการบินพาณิชย์แต่อยู่ได้เดือนเดียว ก็ลาออกมาทำงานที่องค์การโทรศัพท์ฯ
เช่นเดียวกับบรรดาเพื่อนๆ วิศวฯ จุฬา ซึ่งเป็นยุคที่องค์การโทรศัพท์ฯ กำลังขยายงาน
และปัจจุบันเพื่อนฝูงของเขาเหล่านี้ เติบโตในสายงานกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์การแห่งนี้
(ดูตารางสายสัมพันธ์ประกอบ)
ช่วงระหว่าง 15 ปีที่ทำงานอยู่ในองค์การโทรศัพท์ฯ เขาก็ได้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท
ที่ยูนิเวอร์ซิตี้ออฟฮาวาย และเอกที่ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ แมรี่แลนด์ หลังได้
ดร. นำหน้ากลับมา อดิศัยก็กลับทำงานองค์การโทรศัพท์ฯ ตามเดิม และการต่อยอดด้านการศึกษาครั้งนั้นก็ทำให้โอกาสใหม่
ๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต
ช่วงปี 2520-2521 อดิศัยได้สัมผัสชีวิตการเมืองเป็นครั้งแรก ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้กับคุณหญิงเลอศักดิ์
สมบัติศิร ิดำรงตำแหน่งอยู่ในยุคของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร แม้จะเป็นช่วงสั้น
ๆ เพียงปีเดียว แต่ก็นับว่าคุ้มค่านักกับหนทางในวันข้างหน้า
หลังจากนั้นอดิศัยก็อำลาชีวิตราชการหันมาเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชน ในบริษัทสยามเทลเทคในเครือ
"ไวท์กรุ๊ป" ซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้งเฟิร์มรายใหญ่ในอดีต ขยายมาจับธุรกิจค้าอุปกรณ์สื่อสารให้กับหน่วยงานทหาร
(อ่านล้อมกรอบไวท์กรุ๊ป)
จะเรียกได้ว่าการทำงานของสยามเทลเทค คือจุดเริ่มของการถือกำเนิดจัสมินก็คงไม่ผิดนัก
เพราะอดิศัยไม่เพียงได้เรียนรู้งานขาย และธุรกิจเท่านั้น แต่เขายังได้เรียนรู้การติดต่อกับผู้มีอำนาจตัดสินใจในหน่วยงานทหารไม่ว่าบก
น้ำ อากาศ
หลังจากมองเห็นลู่ทางธุรกิจจากหน่วยงานรัฐ อดิศัย สร้างจัสมินขึ้นมาในช่วงที่อยู่สยามเทลเทค
เริ่มต้นด้วยงานรับเหมาออกแบบวิศวกรรมให้กับหน่วยงานรัฐ ใครจะคาดคิดว่าบริษัทออกแบบวิศวกรรม
รับซับคอนแทร็กต์จากต่างประเทศจะกลายเป็นหนึ่งในบิ๊กสื่อสารในเวลาไม่กี่ปี
แน่นอนว่าการเติบโตของจัสมินไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ การมาของ ดร. ทักษิณ
ชินวัตรและกลุ่มซีพี นับว่าเป็นการท้าทายผู้ที่ทำมาหากินกับหน่วยงานด้านสื่อสารยิ่งนัก
ไม่ว่าจะเป็นล็อกซเล่ย์ รวมทั้ง ดร.อดิศัยด้วย
การคว้าโครงการสื่อสารภายในประเทศด้วยดาวเทียม (TDMA) และระบบสื่อสารเพื่อบริการธุรกิจผ่านดาวเทียม
(ISBN) และเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ แม้จะเป็นสัมปทานเกรดบี ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงจากองค์การโทรศัพท์ฯ
แต่ก็เป็นบทพิสูจน์การเป็นนักวิ่งเต้นของอดิศัยที่ไม่อาจมองข้ามได้
อย่างที่รู้ว่ากลุ่มชินวัตร สร้างสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจในยุคนั้น ผูกขาดสัมปทานอยู่ในองค์การโทรศัพท์ฯ
จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของรายใหม่ที่หวังจะได้สัมปทาน แต่อดิศัยก็ยังสามารถฝ่าด่านแทรกแซงเข้าไปคว้าโครงการมาครองได้
ว่ากันว่า การคว้าสองโครงการในครั้งนั้น เกิดขึ้นได้โดยอดิศัยต้องใช้ทั้งสายสัมพันธ์กับคนในองค์การโทรศัพท์ฯ
กับทางการเมืองควบคู่กันไป
จะเห็นได้ว่าโครงการทั้งหมดล้วนอยู่ในยุคของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี
และด้วยความสนิทสนมที่อดิศัยมีกับ พล.อ. ชาติชายเป็นอย่างดี ส่งผลไปถึงโครงการเหล่านี้ด้วย
สายสัมพันธ์นี้ยังทอดยาวมาถึงปัจจุบัน การมาพรรคชาติพัฒนาที่ได้โควตากระทรวงคมนาคมในรัฐบาลของ
พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ถูกโยงใยไปถึงการเข้ามาของดิเรก เจริญผล อดีตรองผู้อำนายการองค์การโทรศัพท์ฯ
เพื่อนร่วมงานของอดิศัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบองค์การโทรศัพท์ฯ
และการสื่อสารฯ
รวมทั้งการนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบอร์ด ทศท. ของ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล
กรรมการอิสระในจัสมินซึ่งว่ากันว่าอดิสัยเป็นผู้คัดเลือกมาทั้งสิ้น
การคว้าโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 1 ล้านเลขหมายในต่างจังหวัดนั้น สามารถการันตี
ลีลาความเป็นดีลเมกเกอร์ของอดิศัย ที่สามารถผสมผสานหุ้นส่วนทั้ง 4 ได้อย่างลงตัวที่สุด
เวลานั้น ดร. อดิศัยมีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งความรู้และสายสัมพันธ์แต่ขาดสิ่งเดียวนั้นคือเงินทุน
ในขณะที่พันธมิตรทั้ง 4 ที่อดิศัยหามาได้นั้นพรั่งพร้อมไปด้วยเงินทุนไม่ว่าจะเป็นล็อกซเล่ย์มีทั้งเงินทุน
และธุรกิจ อิตาเลียนไทยเชี่ยวชาญเรื่องการติดตั้งข่ายสายตอนนอก ส่วนภัทรธนกิจจัดการด้านแหล่งเงินทุน
และเอ็นทีที รัฐวิสาหกิจจากญี่ปุ่น
หลังจากคว้าโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย จัสมินก็เติบโตขึ้นมาแบบก้าวกระโดด
ซึ่งการเปลี่ยนจากบริษัทรับเหมาด้านวิศวกรรมเล็กมาเป็นผู้รับสัมปทานขนาดใหญ่
ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ในการจัดการองค์กรที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ชินวัตรและยูคอม คือแบบอย่างของความสำเร็จของความร่ำรวยที่ได้มาจากตลาดหุ้น
อันมาจากความเชื่อในสัมปทานผูกขาดของบรรดานักลงทุน
อดิสัยก็เป็นเช่นเดียวกับทุนสื่อสารอื่น ๆ ที่เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์เป็นที่มาของความมั่งคั่งจากเงินทุนที่จะได้มาในระยะยาว
อดิศัยนำทั้งทีทีแอนด์ที และจัสมินเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหวังระดมทุนจากตลาดหุ้นมาใช้ในกิจการในระยะยาว
เนื่องจากประสบการณ์ในอดีตที่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนสูงเป็นประวัติการณ์ในการคว้าโครงการโทรศัพท์
1 ล้านเลขหมายทำให้อดิศัยเชื่อว่าสัมปทานในประเทศนั้นหมดแล้วต้องออกไปนอกประเทศ
ยุทธศาสตร์การลงทุนของจัสมินจึงมุ่งตรงไปยังต่างประเทศเป็นหลัก ภาพการบุกขยายการลงทุนไปยังอินเดีย
ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ภายใต้การนำของอดิศัยปรากฏออกมาอย่างฮึกเหิมระลอกแล้วระลอกเล่า
ในยุคที่โครงการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมเชื่อมระหว่างประเทศต่างๆ เป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการสื่อสาร
การเกิดโครงการอีรีเดียม โกบอลสตาร์ โอเดสซี คือตัวบ่งชี้ทิศทางของธุรกิจเหล่านี้
อดิศัยก็ไม่ยอมตกยุค นำจัสมินไปลงหุ้นร่วมกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย กลายเป็น
3 พันธมิตร 3 ประเทศ ที่ร่วมกันทำโครงการเซลลูลาร์ผ่านดาวเทียม ที่ชื่อว่าเอเชียส
ซึ่งอดิศัยเชื่อว่าจะเป็นฐานในการขยายไปยังต่างประเทศ
ในขณะที่การลงทุนในประเทศนั้นแทบไม่มีโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้นยังคงมีสัมปทานเคเบิลใยแก้วใต้น้ำและบริการสื่อสารผ่านดาวเทียม
และงานประมูลขายอุปกรณ์ให้กับหน่วยงานรัฐตามความถนัด มีเพียงการลงทุนในกิจการขนาดเล็ก
ๆ บริการอินเตอร์เน็ต ร้านจัสมินช้อป
อดิศัย กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตของทุนสื่อสารในยุคนั้น เช่นเดียวกับ
ดร. ทักษิณ ชินวัตร บุญชัย เบญจรงคกุล การนั่งเป็นซีอีโอในทีทีแอนด์ที และจัสมินทำให้เขาต้องเปลี่ยนสภาพจากคนที่เก็บตัวเงียบทำงานอยู่ในระดับลึกอยู่ถึง
25 ปี กลายเป็น PUBLIC FIGURE ในวงการโทรคมนาคม
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่จะคุ้นเคยได้ง่าย ยังทำให้อดิศัย และทีทีแอนด์ทีต้องกลายเป็นเป้าโจมตี
อีกทั้งการจัดการในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยการจัดการให้องค์กรมีประสิทธิภาพไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานไม่เหมือนกับธุรกิจโทรคมนาคมอื่น ๆ ดาวเทียมนั้นพอยิงขึ้นฟ้าก็ได้รายได้มาทันที
หรือโทรศัพท์มือถือที่พอติดตั้งเครือข่ายก็มีรายได้เปิดให้บริการได้
การลงทุนโทรศัพท์พื้นฐานนั้น ต้องลงทุนหนักกว่า มากกว่าจะคืนทุน โดยเฉพาะในการติดตั้งในต่างจังหวัดซึ่งมีพื้นที่ห่างไกลการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งหมดทำให้การลงทุนส่วนนี้สูงมาก
แน่นอนว่าอดิศัยย่อมตระหนักดีแต่ไม่มีใครคาดคิดว่า โทรศัพท์มือถือซึ่งมีการขยายตัวอย่างมากในช่วง
2-3 ปี จะกลายมาเป็นคู่แข่งตัวฉกาจเพราะมีค่าโทรที่ถูกกว่าโทรศัพท์พื้นฐาน
ในขณะที่ความต้องการใช้งานในต่างจังหวัดนั้นไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย
ทีทีแอนด์ทีมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายเกือบครึ่ง คือ รายได้ต่อเลขหมายแค่
670 บาท จากประมาณการ 1,200 เลขหมาย
นอกจากนี้ข่าวการขัดแย้งระหว่าง พันธมิตรจัสมินและล็อกซเล่ย์เริ่มเล็ดรอดออกมาเป็นระลอก
เนื่องจากจัสมินและล็อกซเล่ย์นั้นมีงานหลายอย่างที่ทับซ้อนกันไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์
และการขยายธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน คือ เป็นงานรับเหมาติดตั้งระบบโทรคมนาคมในขณะที่อิตาเลียนไทยนั้น
ชำนาญในเรื่องข่ายสายตอนนอกจึงเหมาทำไปคนเดียว
แม้ว่าทีทีแอนด์ทีจะไม่ทำรายได้ แต่ดูเหมือนว่าจัสมินยังคงมีรายได้จากการขายอุปกรณ์เพิ่มเข้ามาตลอดในช่วงที่ก่อสร้างโทรศัพท์
1 ล้านเลขหมายดำเนินอยู่ ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง 4 พันธมิตรที่ระบุไว้ว่าในการจัดซื้ออุปกรณ์จะพิจารณาจากข้อเสนอภายในจากผู้ถือหุ้นก่อน
หากอุปกรณ์ที่เสนอมาไม่ดี หรือราคาแพงกว่าจึงจะซื้อจากภายนอก
ในขณะที่ล็อกซเล่ย์นั้นดูเหมือนจะไม่ได้เม็ดเงินจากงานเหล่านี้เท่าใดนัก
นอกเหนือจากส่วนแบ่งรายได้ตามสัดส่วน ซึ่งยังต้องอีกนานเพราะอยู่ในช่วงลงทุน
ช่วงที่เกิดปัญหาเรื่องรายได้ของทีทีแอนด์ทีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อดิศัยเองดูจะไม่ได้วิตกกับปัญหาที่เกิดขึ้นเท่าใดนัก
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อมั่นในสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจ และความเป็นนักต่อรอง
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีทีแอนด์ทีดูจะหนักหนาสาหัสขึ้น
เมื่อภาวะตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนักต่างชาติงดปล่อยเงินกู้ ที่สำคัญการยื่นขอเปลี่ยนแปลงสัมปทานเพื่อแก้ปัญหาในปัญหาส่วนแบ่งรายได้ถูกโจมตีจากรอบด้าน
อดิศัยจึงเริ่มตระหนักถึงบทบาทของตัวเองมากขึ้น
ขณะเดียวกันในด้านของจัสมินนั้น ปี 2539 นับว่าเป็นปีที่จัสมินมีการลงทุนมาก
จากโครงการที่เกิดขึ้นมากมายสวนทางกับรายได้และผลกำไร ซึ่งทำได้แค่ทรงตัว
เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจ และลักษณะของโครงการประเภทนี้มักจะต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่กำไรไม่มากนัก
แม้ว่า จัสมิน ซับมารีน ให้บริการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และอคิวเมนท์ ซึ่งให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม
และให้เช่าบริการสถานีลูกข่ายโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบทจะเป็น CASH COW ที่สร้างรายได้ประจำให้แก่จัสมิน
กรุ๊ปจากค่าเช่าที่เก็บจากองค์การโทรศัพท์ฯ ที่เก็บปีละพันล้านบาท
แต่โครงการทั้งสองก็ต้องมีการลงทุนเพิ่มอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท
ด้วยระบบดาวเทียมจำนวน 1,200 สถานีลูกข่าย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า
2,000 ล้านบาท และการขยายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำฝั่งตะวันตกที่ต้องใช้เงินลงทุนเกือบพันล้านบาท
ทำให้ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากโครงการเหล่านี้ไม่มากนัก
ขณะเดียวกันธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของจัสมิน โครงการทั้งหมดอยู่ในช่วงของการลงทุนทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนให้บริการโทรศัพท์มือถือ ระบบจีเอสเอ็มที่ฟิลิปปินส์
และอินเดีย การลงทุนให้บริการเพจเจอร์ในฟิลิปปินส์ รวมทั้งโครงการโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมเอเซียส
ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลและกว่าจะเก็บเกี่ยวรายได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า
3 ปี
บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทจัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล
เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่า "จัสมินมีเงินกู้จากต่างประเทศที่จะมาใช้ลงทุนอยู่แล้วถึง
400 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท แบ่งใช้ลงทุนธุรกิจต่างประเทศ
2,500 ล้านบาท โครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ 5,400 ล้านบาท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล
3,000 ล้านบาท เงินกู้เหล่านี้มีระยะเวลาการใช้คืนระยะยาว และได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ตั้งแต่ก่อนการการประกาศค่าเงินลอยตัวไว้หมดแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม"
หากเป็นภาวะที่เศรษฐกิจยังฟูฟ่อง การลงทุนในลักษณะนี้อาจไม่น่าหนักใจ แต่ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก
ตลาดหุ้นดิ่งเหว ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีทีแอนด์ที การลงทุนของจัสมินที่ต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้าน
ทำให้อดิศัยต้องหันมาทบทวนบทบาทการลงทุนของจัสมิน
"โครงการในต่างประเทศเป็นระยะยาว จะได้กำไรในปีแรกหรือปีที่สองนั้นยาก
เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจและการแข่งขันก็สูง เช่น โครงการในอินเดียนั้นดีมาก
แต่เนื่องจากมีการแข่งขันกัน 2 เจ้า การลงทุนก็สูง ดังนั้นพวกนี้ต้องการเวลา
3-4 ปี กว่าจะมีรายได้ เราจึงต้องกลับมาทบทวน" ดร.บัณฑิตสะท้อนแนวคิด
ภายใต้แนวคิดนี้เอง จัสมินจึงตัดสินใจขายหุ้นในธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก
เริ่มด้วย โครงการโทรศัพท์ในประเทศอินเดีย เป็นโครงการแรกที่หุ้นบางส่วนจะถูกขายออกไป
และตามมาด้วยโครงการเอเซียส (อ่านล้อมกรอบธุรกิจต่างแดน)
รวมทั้งโครงการในประเทศ อย่างบริษัทจัสมินซับมารีน และบริษัทอคิวเมนท์ซึ่งเป็นสองโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
กำไรจึงไม่มากนัก แต่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้เต็มประสิทธิภาพของเครือข่าย
ก็อยู่ภายใต้แนวคิดนี้ด้วย
การขายหุ้นในโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ และอคิวเม้นท์นั้น ไม่ได้เกิดเพราะปัญหาเรื่องเงิน
แต่จัสมินนั้นมองไปถึงการที่ต้องการเพิ่มการใช้งานของโครงข่ายให้เพิ่มขึ้นซึ่ง
ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ในกรณีของเคเบิลใยแก้วใต้น้ำฝั่งตะวันตกนั้นมีการใช้งานอยู่เพียง
10% เท่านั้น ส่วนฝั่งตะวันออกก็มีการใช้งานอยู่แค่ 50% ดังนั้นหากมีการใช้งานเพิ่มขึ้น
ซึ่งอาจจะมาจากผู้ให้บริการประเทศใกล้ ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
"การขายหุ้นไม่ใช่เพราะปัญหาเรื่องเงิน หรือโครงการไม่ดี แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่เราคิดแล้วว่า
หากเราขายหุ้นแล้วได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นเราก็เอามาใช้หมุนเวียนหรือคืนหนี้ในส่วนที่ดอกเบี้ยสูง
ๆ ออกไป หรือไปลงทุนในโครงการอื่นที่ดีกว่า" ดร.บัณฑิต ชี้แจง
ไม่เพียงการขายหุ้นบางส่วนในโครงการต่างประเทศทิ้ง เพื่อเอากำไรจากส่วนต่างมาใช้หนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านการเงินเท่านั้น
แต่อดิศัยยังเตรียมกลับไปสู่ยุทธศาสตร์เดิมที่สร้างจัสมินขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้
การลงจากตำแหน่ง ซีอีโอทั้งทีทีแอนด์ที และจัสมินในช่วงต้นปีที่ผ่านมาของ
ดร. อดิศัย เพื่อลดบทบาทอันโลดโผนลง ก็นับว่ามีความหมายยิ่งนัก
ตลอดเวลาที่ผ่านมาอดิศัยกุมบังเหียนการบริหารในทีทีแอนด์ทีและจัสมิน ยิ่งธุรกิจในช่วงของการขยายตัวภารกิจของอดิศัยก็ยิ่งมากขึ้น
ซึ่งผู้ร่วมงานหลายคนยืนยันว่าสไตล์การบริหารของอดิศัยนั้นมักจะเป็นไปในลักษณะของ
ONE MAN SHOW มาตลอด
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลหนึ่งที่มีการดึงเอา ดร. ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์
อดีตผู้ว่า ปตท.อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่โครงการ 2 ล้านเลขหมายของเทเลคอมเอเซีย
มารับตำแหน่งซีอีโอแทนอดิศัย ก็เพื่อต้องการลดกระแสความขัดแย้ง
แต่ลึก ๆ แล้ว นับเป็นการปรับยุทธศาสตร์ของอดิศัย ที่ต้องการกลับไปสู่จุดเดิม
จึงต้องหาคนที่มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการมาช่วยซึ่งทองฉัตรนั้นจัดว่าเป็นคนที่ชอบสร้างสิ่งใหม่
ๆ อย่างเป็นระบบ และการเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาช่วยในเรื่องการตลาด
ไม่เพียงแค่การลดบาบาทในทีทีแอนด์ที เท่านั้น แต่อดิศัยยังลดบทบาทในจัสมิน
อินเตอร์เนชั่นแนลลงมาตั้งแต่ต้นปี และแต่งตั้ง ดร. บัณฑิต โรจน์อารยานนท์
ศิษย์เก่าวิศวกรรมไฟฟ้าจาก TOKYO INSTITUTE OF TECHNOLOGY ลูกหม้ออีกคนของจัสมินขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอแทน
พร้อมกับปรับโครงสร้างบริหารใหม่แบ่งเป็น 3 ส่วน มอบหมายให้ลูกหม้อ สมบุญ
พัชรโสภาคย์ ทรงฤทธิ์ กุศุมรสนานนท์ และอภิชัย กาญจนบูรณ์ แบ่งรับผิดชอบงานของจัสมิน
ที่มีอยู่ทั้งหมด
ช่วง 3 ปีที่แล้วมา การเติบโตของกลุ่มจัสมินทำให้อดิศัยต้องเปลี่ยนบทบาทจากที่เขาเคยเก็บตัวเงียบมาตลอด
25 ปีมาสู่สาธารณชน ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดนัก และยังทำให้จัสมิน
และทีทีแอนด์ทีกลายเป็นเป้าโจมตี
กรณีการยื่นเสนอองค์การโทรศัพท์ฯ เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสัมปทานโทรศัพท์ภูมิภาค
จากที่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน 43.1% มาเป็นหุ้น เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องรายได้ที่อดิศัยและจัสมินถูกโจมตีอย่างหนักทันทีที่ข่าวแพร่สะพัดออกไป
หรือแม้แต่การถูกโจมตีทันทีที่ข่าวการขายหุ้นในทีทีแอนด์ทีให้กับทีเอ คือตัวอย่างที่เกิดขึ้น
การลดบทบาทของอดิศัย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ยุทธวิธีเดิมในการเป็นดีลเมกเกอร์
ที่เคยสร้างให้จัสมินเติบใหญ่จนทุกวันนี้ มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในโครงการโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย และการลงทุนในโครงการต่าง
ๆ ของจัสมินที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล
แต่ปัญหาก็คือ อดิศัยจะกลับไปสู่จุดเดิม และประสบความสำเร็จเหมือนในอดีตหรือไม่
เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา
การกลับสู่อดีตของอดิศัยในครั้งนี้ มีเดิมพันสูงมากนัก เพราะจัสมินในวันนี้ไม่ใช่จัสมินเมื่อสิบปีที่แล้ว
แต่เป็นจัสมินที่มีอาณาจักรสื่อสารเป็นเดิมพัน