"เกษรพลาซ่าบทพิสูจน์ของกรกฎ ศรีวิกรม์"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

กรกฎ ศรีวิกรม์ หญิงสาวร่างเล็ก บุคลิกดูร่าเริงแจ่มใส ลูกสาวคนสุดท้องของสุทธิพงษ์ ศรีวิกรม์ และสุรภี โรจนวงศ์ วันนี้เธอกำลังรับภาระหนักในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัทจี. เอส พร็อพเพอตี้ แมเนจเม้นท์ ซึ่งบริหารศูนย์การค้า เกษรพลาซ่า

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการบริหารศูนย์การค้ารวมทั้งการขายพื้นที่ของศูนย์ฯ เป็นธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะเดียวกันในย่านใจกลางเมืองก็มีศูนย์การค้าใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การแข่งขันในทุกวันนี้จึงค่อนข้างรุนแรงกว่าในช่วงอื่น ๆ ที่ผ่านมา และในปีนี้ก็เป็นปีที่พื้นที่เช่าของเกษรพลาซ่าครบกำหนดสัญญาเช่าระยะสั้น 3 ปีที่ทำไว้กับทุกร้านค้า ซึ่งหมายถึงต้องเริ่มงานขายพื้นที่รอบใหม่

เมื่อเจอศึกรอบด้านเช่นนี้ เกษรพลาซ่าก็ต้องถูกผลกระทบอย่างหนีไม่พ้น แต่กรกฎยืนยันว่าเมื่อศูนย์การค้าขนาดเล็ก ที่มีพื้นขายเพียง 12,000 ตารางเมตรการต่อสัญญา และการขายพื้นที่จึงไม่ค่อยมีปัญหามากนักลูกค้าส่วนใหญ่ยังมีการต่อสัญญา และมีการขยายพื้นที่ร้านออกไปให้ใหญ่ขึ้น จำนวนร้านอาจจะน้อยลง แต่พื้นที่บางร้านอาจจะกว้างและมีสินค้าให้เลือกเพิ่มขึ้น

"โชคดีที่เป็นศูนย์การค้าเล็ก ใจกลางเมืองที่รอบ ๆ มีทั้งโซโก้ เซน อิเซตัน เวิลด์เทรด แต่เรามีจุดขายที่เด่นชัดคือจับกลุ่มลูกค้ารายได้สูงสินค้าแบรนด์เนมหน่อย เป็นศูนย์ที่คอยเสริมห้างอื่นๆ ในทำเลเหล่านี้มากกว่า" กรกฏอธิบาย พร้อมทั้งยอมรับว่า ถ้าเป็นศูนย์การค้าที่มีพื้นที่มาก ๆ ก็คงต้องเหนื่อยมากกว่านี้แน่นอน

แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องของการวางแผนงานจะต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น หนักขึ้น และต้องมองไปข้างหน้าตลอดเวลา

อีกจุดหนึ่งที่จะส่งผลดีให้กับทางเกษรพลาซ่าก็คือแผนต่อเชื่อมทางเดินระหว่างอาคารบริเวณสี่แยกเพลินจิตเข้าด้วยกัน คือโรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ เพนนิซูล่าพลาซ่า อัมรินทร์พลาซ่า เพรสซิเด้นท์ทาวเวอร์ โรงแรมออมนิมาโคโปโล และเกษรพลาซ่า แนวความคิดนี้ได้ถูกเสนอไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่งมานะ นพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. ได้ออกมาเปิดเผยว่า เห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการเชื่อมต่ออาคารดังกล่าวได้ แต่ได้กำหนดให้เจ้าของอาคารก่อสร้างทางลงจากสะพานลอย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้สัญจรไปมาได้ ซึ่งถ้าโครงการนี้สำเร็จก็จะสร้างความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าในบริเวณนี้มากทีเดียวเพราะจอดรถที่เดียว แต่สามารถเดินชอปปิ้งได้หลาย ๆ ที่

และแผนงานนี้คาดกันว่าน่าจะลงมือก่อสร้างได้ในปลายปีนี้

แต่อย่างไรก็ตามการวางแผนในการดึงดูดลูกค้าเข้าโครงการก็ยังจำเป็นต้องมีอย่างต่อเนื่อง แผนเด็ดของเกษรพลาซ่า ที่กำลังทำในขณะนี้ก็คือวางแผนการทางด้านเซอร์วิสให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ โดยเฉพาะแผนการบริการในเรื่อง "เกษรเวดดิ้งกิฟต์ เซอร์วิส" หรือบริการพิเศษเพื่อของขวัญแต่งงาน ขั้นตอนก็คือเมื่อคู่บ่าวสาวไปใช้บริการเริ่มด้วยการลงทะเบียนไว้กับทางเกษรพลาซ่า ก็จะมีเจ้าหน้าที่พาไปเดินดูของในร้านต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ต่อจากนั้นก็ค่อยกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่พอใจว่าเป็นสินค้ารหัสอะไรร้านอะไรราคาเท่าไหร่ โดยคู่บ่าวสาวจะให้ชื่อของญาติสนิท เพื่อนฝูงหรือแขกไว้กับทางเกษรฯ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยประสานกลับไปบอกให้คนเหล่านั้นทราบว่าคู่บ่าวสาวได้มาดูของไว้ที่นี่ ถ้าอยากได้ของขวัญที่เป็นประโยชน์และถูกใจก็มาเลือกซื้อได้

สำหรับร้านค้าที่ได้เข้าร่วมโครงการในช่วงแรกมีประมาณ 16 ร้านค้า ซึ่งจะเน้นเกี่ยวกับสินค้าตกแต่งบ้าน ซึ่งเหมาะกับชีวิตแต่งงาน วิธีการนี้เป็นที่นิยมกันมากในยุโรปและได้ถูกนำมาใช้ที่เกษรฯ เป็นแห่งแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป โดยเชื่อว่าจะเป็นการบริการที่ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สุด

กรกฎ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขา Constructed Textiles Design และปริญญาโทสาขา Textiles Design จากประเทศอังกฤษ เมื่อจบการศึกษาก็ได้เข้าไปทำงานในบริษัทแฟชั่น และเทคนิคการใช้สีสันเพื่อการออกแบบโดยดูแนวโน้มของความนิยมในอนาคต ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นได้กลับมาเมืองไทยโดยทำงานที่บริษัท Satin Textiles ซึ่งเป็นบริษัทด้านส่งออก แล้วก็ไปทำงานทางด้านตกแต่งภายในที่บริษัท P.49 And Associated และกลับมาทำที่เกษรพลาซ่าตั้งแต่แรกเริ่มก่อสร้างโครงการ

เกษรพลาซ่าเป็นธุรกิจของครอบครัวเธอที่สร้างขึ้นในที่ดินมรดกของสุทธิพงศ์ ศรีวิกรม์ โดยมีบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกับศรีวิกรม์ กรุ๊ปโดยมีชาย ศรีวิกรม์ พี่ชายกรกฎเป็นกรรมการผู้จัดการและ ชาญ พี่ชายอีกคนหนึ่งร่วมเป็นกรรมการ

บทบาทของเธอในเรื่องการบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าในบรรยากาศที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซานี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.