"วรัดดา หลีอาภรณ์ แนวรบด้าน "มีเดีย"ของล็อกซเล่ย์"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ที่จริงแล้ว วรัดดา หลีอาภรณ์ จะต้องทำงานเป็นฮาร์ดแวร์เอ็นจิเนียร์ในหน่วยงานวิจัยสักแห่ง หลังจากคว้าใบปริญญาตรีทางด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ

แทนที่เธอจะต้องคลุกอยู่กับศาสตร์ของการคำนวณ เธอกลับต้องมาใช้ชีวิตในสายวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่ไม่เคยอยู่ในตำราก่อนถึง 7 ปีเต็ม

วันนี้เธอนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทแอลเวฟในเครือล็อกซเล่ย์ ที่ทำธุรกิจผลิตรายการป้อนให้กับสื่อต่าง ๆ ทั้งทีวี วิทยุ และมัลติมีเดีย อันเป็นธุรกิจแนวใหม่ของล็อกซเล่ย์

ที่จริงแล้ว การเข้าสู่แวดวงอาชีพสื่อมวลชนของวรัดดาเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญทั้งสิ้น งานแรกของเธอคือ ผู้ช่วยผู้กำกับให้เชิด ทรงศรี สร้างหนังเรื่องทวิภพ ซึ่งเธอได้งานนี้มาระหว่างรอเตรียมตัวไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์

เมื่อมีก้าวแรก ก้าวที่สองที่สามก็ตามมา เมื่อเธอได้งานใหม่ในแปซิฟิก คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งทำให้วรัดดาเข้ามาอยู่ในวิชาชีพของสื่อสารมวลชนอย่างเต็มตัว เริ่มตั้งแต่การเป็นนักข่าว ต้องเข้าห้องตัดต่อ จนมาถึงการเป็นหนึ่งในทีมผลิตรายการสารคดีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เธอใช้ชีวิตในแปซิฟิก 2-3 ปีก็ต้องลาออกไปเพื่อใช้ชีวิตครอบครัวระยะหนึ่ง ในที่สุดเธอก็ต้องหวนกลับมาสู่วิชาชีพนี้อีกครั้ง เมื่อได้รับการชักชวนจากธงชัย ล่ำซ่ำให้เข้ามาร่วมงานในล็อกซเล่ย์

ช่วงเวลานั้นล็อกซเล่ย์ต้องการขยายบทบาทของตัวเองจากผู้ค้าอุปกรณ์เครื่องส่งทีวี ไปสู่ธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งล็อกซเล่ย์เพิ่งจะร่วมทุนกับบริษัทวีดีโอโพสต์ของฮ่องกงมาหมาด ๆ เพื่อจัดตั้งบริษัทล็อกซเล่ย์วีดีโอโพสต์ทำธุรกิจรับตัดต่อภาพยนต์โฆษณา พร้อมกับแผนกผลิตรายการโทรทัศน์ขึ้นในล็อกซเล่ย์

เนื่องจากในช่วงปี 2536 ธุรกิจทางด้านบรอดคาสติ้งกำลังแรง บริษัทโทรคมนาคมหลายราย เริ่มขยับขยายไปยังธุรกิจทางด้านนี้ มีการขอสัมปทานให้บริการเคเบิลทีวีกันอย่างมากมายรวมการเกิดของทีวีเสรีด้วย แต่ล็อกซเล่ย์นั้นกลับมองว่าการเป็นผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) นั้นมีความเสี่ยงสูงกว่า เพราะลงทุนและการแข่งขันก็รุนแรง สู้ทำธุรกิจผลิตรายการป้อนให้กับทีวีและเคเบิลทีวีน่าจะไปได้ดีกว่า

การมาร่วมงานในล็อกซเล่ย์ในครั้งนั้น จึงเท่ากับเป็นการบุกเบิกธุรกิจทางด้านนี้ให้กับล็อกซเล่ย์ ซึ่งเธอต้องเข้าไปช่วยงานทั้งในล็อกซเล่ย์วีดีโอโพสต์ ควบคู่ไปกับการเข้าไปรับผิดชอบแผนกผลิตรายการโทรทัศน์

ผลงานชิ้นแรกของเธอ คือ รายการรักเรารักษ์โลกซึ่งเป็นรายการสารคดีทางโทรทัศน์ ที่มีบริษัทเอ็มเอ็มซีสิทธิผลเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ จากนั้นก็ขยายงานผลิตรายการป้อนทั้งทีวี วิทยุ และวิดีโอ ซึ่งต่อมาเมื่อกิจการขยายมากขึ้น ล็อกซเล่ย์จึงตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แอลเวฟ ขึ้น

ลักษณะธุรกิจของแอลเวฟนั้นจะเรียกได้ว่าแตกต่างจากธุรกิจของล็อกซเล่ย์ที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นสไตล์การทำงาน เวลาทำงาน ที่ค่อนข้างจะเป็นอิสระ

"พนักงานของเราจะเป็นอีกสไตล์ การแต่งตัวก็จะใส่กางเกงยีนส์ มาทำงานตอนดึก ๆ ช่วงแรก ๆ ยามไม่ยอมให้เข้าออฟฟิศ ลูกน้องในแผนกต้องโทรไปหาที่บ้าน" วรัดดาเล่าอย่างสนุกสนานเมื่อย้อนไปถึงการทำงานในช่วงแรก ๆ

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อล็อกซเล่ย์ย้ายจากสำนักงานเดิมริมถนนเสือป่าเข้าสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ แอลเวฟจึงแยกตัวออกมาอยู่ต่างหาก ในย่านบันเทิงอาร์ซีเอ บนถนนพระราม 9 แทนที่จะย้ายเข้าสำนักงานใหญ่เหมือน บริษัทอื่น ๆ

ปัจจุบัน แอลเวฟมีรายการที่ผลิตป้อนสื่อทีวีผ่านหูผ่านตาไปแล้วหลายรายการ นิทานฝันดี รักสุขภาพ มอเตอร์เวฟ เมกะเวฟ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายการสารคดีกึ่งบันเทิง และวาไรตี้และรายการวิทยุช่วงสั้น ๆ ในแนวสารคดี

นอกเหนือจากทีมงานผลิตราย การโทรทัศน์ และวิทยุ ซึ่งล่าสุดแอล เวฟเพิ่มทีมงาน "มัลติมีเดีย" ซึ่งเป็นทีมงานใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับงานผลิตสื่อมัลติมีเดีย อาทิ งานด้านกราฟิกดีไซน์ ซีดีรอม และอินเตอร์เน็ต

วรัดดา มองว่า ล็อกซเล่ย์มีความรู้ในเรื่องมัลติมีเดียพร้อมแล้ว มีบริษัทล็อกซอินโฟร์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต มีสายงานด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยในเรื่องเทคนิคเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

กระนั้นก็ตามในแง่ของธุรกิจสื่อแล้ว วรัดดายอมรับว่าสื่อมัลติมีเดียนับว่าเป็นธุรกิจแขนงใหม่มาก ผลได้ในเชิงธุรกิจยังไม่ชัดเจนนัก แต่เธอมองในวันข้างหน้า

ที่สำคัญ เธอมองว่า แอลเวฟต้องวิ่งให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีไปเร็วมาก อีกไม่นานคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคมและมีเดียจะต้องมารวมกันอย่างแยกไม่ออก

"ผลในเชิงธุรกิจเรายังมองเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่เราก็ต้องวิ่งให้ทันกับเทคโนโลยีในอนาคต เพราะมันเปลี่ยนเร็วมาก เรายังไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ไหน เราไม่อยากตกข่าว" วรัดดาชี้แจง

ธุรกิจผลิตรายการผ่านสื่อมัลติมีเดียของแอลเวฟเริ่มต้นด้วยการรับทำโฮมเพจให้กับบริษัทล็อกเล่ย์และในเครือ รวมทั้งการผลิตรายการลิตเติ้ลไทยแลนด์ ลงในเว็บไซต์ "ล็อกซอินโฟร์อินเตอร์คาสต์" ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมรายการด้านบรอดคาสติ้งของเมืองไทยให้กับคนไทยในต่างประเทศ

การผลิตรายการลิตเติ้ลไทยแลนด์ ถือว่าเป็นโครงการนำร่องของการพัฒนาสื่อบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากไปได้ดี ก็อาจจะมีธุรกิจที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายแห่งนี้แถมพ่วงมาด้วย

"ลิตเติ้ลไทยแลนด์ จะมีไอเดียต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากไปได้ดี ต่อไปเราก็อาจจะเปิดร้านค้าในนั้นด้วนสำหรับไว้เป็นชอปปิ้งมอลล์บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำรายได้เข้ามาเสริม"

ปัจจุบัน แอลเวฟทำรายได้ให้ปีละ 40 ล้านบาท พร้อมกับผลงานในการผลิตรายการ 5-6 รายการป้อนสื่อต่าง ๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทในเครือของล็อกซเล่ย์ แต่สำหรับบริษัทตั้งใหม่ในสายมีเดียแล้วก็นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

เป้าหมายของแอลเวฟในวันข้างหน้า วรัดดา กล่าวว่า เธอไม่คิดว่าแอลเวฟจะเป็นคู่แข่งกับใคร ไม่ว่าแกรมมี่ หรือ เนชั่น ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ เพราะสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร เธอหวังไว้ว่า แอลเวฟจะเป็นแหล่งผลิตงานสำหรับคนรุ่นใหม่สามารถวิ่งได้ทันเท่านั้นก็พอ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.