กระแสไม่เอาทักษิณแรง ดันผู้จัดการรายวันขึ้นที่1


ผู้จัดการรายวัน(15 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลจากรัฐบาลปิดกั้นสื่อ บิดบังความจริง และ ปรากฎการณ์สนธิ -พันธมิตรกู้ชาติ ผู้อ่านเทใจดันหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” ยอดขายพุ่ง 60% ขึ้นสู่ยอดขายสูงสุดอันดับที่ 1 เบียด กรุงเทพธุรกิจตกแท่น ส่วน “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ไม่น้อยหน้า รักษาแชมป์ได้ต่อ เผยหนังสือพิมพ์รายวันหัวสี 5 ยักษ์ ซุ่มปรับราคาขึ้นเป็น 15 บาท เดือนมีนาคมนี้ คนในวงการชี้ ลดภาษีสิ่งพิมพ์แล้วทำไมปรับราคา

นายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจที่สุดในธุรกิจหนังสือพิมพ์ปี 2548 พบว่า ในกลุ่มของหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันนั้นปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” มียอดขายสูงที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 40-60% ก้าวขึ้นจากเมื่อช่วงปี 2547 ที่อยู่ในอันดับที่สาม ส่วนกรุงเทพธุรกิจ ตกไปอยู่อันดับที่สองจากเดิมอยู่อันดับแรก และโพสต์ทูเดย์ อันดับที่สามจากเดิมอยู่อันดับที่สอง

ส่วนหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ ปรากฎว่า “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ยังคงอยู่ในอันดับที่หนึ่งเหมือนเดิมด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40-60% โดยอันดับที่สองคือ บิสวีค ซึ่งอยู่ในอันดับเดิม

นายทนงให้เหตุผลว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี กรุงเทพธุรกิจครองอันดับที่หนึ่ง แต่ผู้จัดการรายวันมีการเติบโตอย่างมากในเดือนกันยายนและยังคงเติบโตต่อเนื่องตลอดไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ทำการสำรวจเพื่อจัดอันดับพอดี ซึ่งการก้าวขึ้นสู่อันดับที่หนึ่งของผู้จัดการรายวันนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากภาวการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมชุมเพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง และกระแสของรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ซึ่งเป็นกระแสแรงมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว จึงทำให้ยอดขายของผู้จัดการรายวันพุ่งขึ้นมาอย่างมาก

สำหรับการจัดอันดับนี้มาจากข้อมูลการขาย 3 เดือนสุดท้ายของปี 2548 โดยเก็บข้อมูลจากร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ 94 สาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑล และอีก 164 จุดขายย่อย รวมกับร้านหนังสืออื่นๆที่เป็นแผงลอยทั่วไปอีกกว่า 180 จุดขาย รวมแล้วมีมากกว่า 430 จุดขาย รวมยอดขายประมาณ 500 ล้านบาทในปี 2548 ซึ่งถือได้ว่าเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ส่วนอันดับอื่นๆที่น่าสนใจเช่น สิ่งพิมพ์รายใหญ่สุดในปี 2547 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีล่าสุดคือ 1.บริษัท วัชรพล จำกัด รายได้ 4,762 ล้านบาท เติบโต 12.4% 2.บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป รายได้ 3,030 ล้านบาท เติบโต 9% 3.บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น รายได้ 2,856 ล้านบาท เติบโต 17.6% 4.บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด รายได้ 2,456 ล้านบาท เติบโต 13.9% 5.บมจ.โพสต์พับลิชชิ่ง รายได้ 1,759 ล้านบาท เติบโต 24.1%

ในปี 2546 มีจำนวนสิ่งพิมพ์รวม 1,304 ปก ออกใหม่ 58 ปก, ในปี 2547 มีรวม 1,390 ปก ออกใหม่ 85 ปก แต่ในปี 2548 มีรวม 1,043 ปก น้อยลงเพราะมีการใช้ระบบบาร์โค้ดที่ถูกต้องมากขึ้น ออกใหม่ 96 ปก แต่ที่มียอดขายชัดเจนเพียง 697 ปก ซึ่งแบ่งเป็นหนังสือพิมพ์ไทย 37 ปก ไม่นับรวมหนังสือท้องถิ่นและภาษาต่างประเทศ ด้านจำนวนเอเย่นต์จากสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศพบว่า ในปี 2546 มีเอเย่นต์ 391 ราย ปี 2547 มีเอเย่นต์ 398 ราย และเพิ่มเป็น 404 รายในปีที่แล้ว

นายทนง กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจสิ่งพิมพ์ว่า ในปีที่แล้วภาพรวมมีการเติบโตกว่า 12% และคาดว่าในปีนี้น่าจะเติบโตระหว่าง 10-15% ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยการเมืองด้วย แต่ในสิ่งพิมพ์บางหมวดก็ขายดี บางหมวดก็ขายไม่ดี ในส่วนของร้านซีเอ็ดเองก็มีการเติบโตเช่นกัน โดยปี 2548 เติบโตมากถึง 19% ทั้งๆที่ฐานรายได้ของซีเอ็ดโตแล้วน่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังไปได้อีกไกล

แหล่งข่าวจากวงการสิ่งพิมพ์กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์หัวสีจำนวน 5 รายใหญ่ประกอบด้วย ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก และมติชน มีการประชุมกันหลายรอบแล้วเพื่อที่จะปรับราคาขายหนังสือพิมพ์ขึ้นจากเดิมที่ขายอยู่ฉบับลั 8 บาท จะขึ้นเป็น 12 บาทอย่างต่ำและสูงที่สุดคือ 15 บาท คาดว่าจะเริ่มปรับราคาได้ประมาณเดือนมีนาคมศกนี้ โดยอ้างเหตุผลว่าต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและไม่ได้ปรับราคาขายมาหลายปีแล้ว ความเคลื่อนไหวล่าสุด หนังสือพิมพ์หลายหัวมีการปรับราคาขายไปแล้วช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาเช่น ประชาชาติธุรกิจและฐานเศรษฐกิจ จากเดิมขายฉบับละ 20 บาท เพิ่มเป็นฉบับละ 25 บาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการสิ่งพิมพ์อีกรายกล่าวว่า การอ้างต้นทุนการผลิตสูงขึ้นนั้นไม่น่าจะเป็นเหตุผลได้ เนื่องจากที่ผ่านมาทางภาครัฐได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ลงเหลือ 0% แล้ว ทั้งภาษ๊กระดาษหนังสือพิมพ์หรือนิวส์พริ้นท์ ภาษีหมึกพิมพ์ ภาษีเครื่องจักรนำเข้า ภาษีฟิล์มที่ทำแม่พิมพ์ ซึ่งต้นทุนควรจะต่ำลงด้วยซ้ำหรืออย่างน้อยที่สุดก็น่าจะคงที่หรือมีอะไรที่มากกว่านั้นไม่ทราบ

สำหรับกระดาษนิวส์พริ้นท์ที่นำมาใช้ในการผลิตหนังสือพิมพ์นั้น ราคาในตลาดโลกมีราคาเฉลี่ย 560 เหรียญต่อตัน โดยประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคกระดาษนิวส์พริ้นท์ประมาณ 266,000 ตันต่อปี และมีการส่งออกประมาณ 10,000 ตันต่อปี โดยประเทศไทยสามารถผลิตได้เองประมาณ 125,000 ตันต่อปี นอกจากนั้นเป็นการนำเข้าประมาณ 151,000 ตันต่อปี ซึ่งแหล่งนำเข้าส่วนใหญ่จะมาจากอเมริกาเหนือและยุโรป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.