ในที่สุดไปรเทพ ซอโสตถิกุลต้องลุกจากเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่เพื่อส่งกลับคืนให้กับมนู
อรดีดลเชษฐ์ผู้ก่อตั้งดาต้าแมท หลังจากนั่งบริหารอยู่เกือบ 3 ปีเต็ม
ไปรเทพเป็นทายาทของตระกูลซอโสตถิกุล อันเป็นเจ้าของกิจการหลายแขนง มีโรงงานไทยชูรสตราชฎา
โรงงานผลิตรองเท้านันยาง เจ้าของห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ รวมทั้งธุรกิจรับสร้างบ้านซีคอน
ในยุคที่อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (ไอที) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
การหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสาร ความสำเร็จของธุรกิจที่เริ่มต้นจากศูนย์และกลายเป็นยักษ์ใหญ่มีเงินหลายล้าน
ทำให้หลายบริษัทจึงต้องเกาะเกี่ยวไปกับเส้นทางดิจิตอลสายนี้ บางบริษัทก็แค่เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในกิจการเพื่อให้ทันยุคสมัย
แต่มีจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นลู่ทางขยายเข้าสู่ธุรกิจคลื่นลูกที่สาม
กลุ่มเซ็นทรัลเคยจัดตั้งแผนกคอมพิวเตอร์ขึ้นเมื่อสิบปีที่แล้วเช่นเดียวกับ
ไออีซี ในเครือสหพัฒน์พิบูลที่เป็นตัวแทนขายคอมพิวเตอร์ซัมซุง และอินเตอร์กราฟ
กลุ่มบ้านฉาง ของไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ เคยจัดตั้งแผนกไอทีขึ้นเพื่อมองหาลู่ทางธุรกิจไอที
ตระกูลมาลีนนท์แห่งช่อง 3 สร้างอินโฟร์กรุ๊ปเพื่อทำธุรกิจคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม
ไปรเทพก็จัดเป็นหนึ่งในนั้น เขาเชื่อว่าธุรกิจไอทีจะเข้ามามีบทบาทในอนาคต
ดังนั้นแทนที่เขาจะนั่งบริหารงานในกิจการของครอบครัวเช่นเดียวกับพี่ชายและน้องชาย
เขากลับเลือกดาต้าแมท
ดาต้าแมท นั้นจัดเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ และมีฐานลูกค้าที่เป็นโบรกเกอร์ไฟแนนซ์อยู่เป็นจำนวนมาก
และที่สำคัญยังเป็น 1 ใน 3 บริษัทค้าคอมพิวเตอร์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กระบวนการเข้าสู่ดาต้าแมทของไปรเทพเริ่มมาจากธุรกิจของดาต้าแมทเริ่มเกิดปัญหาในเรื่องต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น
จากการทุ่มลงทุนในด้านกำลังคน เพื่อมาใช้สร้างธุรกิจออกแบบที่ปรึกษาติดตั้งคอมพิวเตอร์
และพัฒนาซอฟต์แวร์
ด้วยฐานเงินทุน และสายสัมพันธ์ที่กลุ่มซอโสตถิกุลมีต่อกลุ่มสุกัญญา ประจวบเหมาะ
เสี่ยสอง และราศรี บัวเลิศ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ทีเข้าไปกว้านซื้อหุ้นของดาต้าแมท
ที่ถูกเทขายจากนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์ของดาต้าแมท
ส่งผลให้นักลงทุนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ แทนมนู อรดีดลเชษฐ์
ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งดาต้าแมทมากับมือต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยไปแบบไม่ตั้งตัว
ต้องลดบทบาทการบริหารงานมานั่งเป็นประธาน
แม้ไร้ประสบการณ์แต่ไปรเทพก็เดินเข้าดาต้าแมทพร้อมพกพาความหวังและความฝันอย่างเต็มเปี่ยม
ไปรเทพรู้ดีว่า เวลานั้นดาต้าแมทเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงต้องเร่งหารายได้เข้ามาเสริมเป็นการด่วน
สิ่งที่เขามองเห็นก็คือ ธุรกิจโทรศัพท์ค้ามือถือ ค้าเครื่องพีซี เกม ซีดีรอม
และโทรคมนาคม เนื่องจากช่วงเวลานั้นสินค้าดังกล่าวมีตัวเลขการเติบโต จึงเป็นทางเลือกที่ไปรเทพเชื่อว่าจะสร้างรายได้เข้ามาเป็นเงินสดหมุนเวียน
หล่อเลี้ยงบริษัทได้ ที่สำคัญธุรกิจใหม่ที่หากทำสำเร็จในฐานะผู้บุกเบิกเขาก็จะได้เครดิตไปอย่างมาก
ทางด้านมนู และบรรดาผู้ถือหุ้นเอง ก็ไม่คัดค้าน เพราะเขาเองก็ต้องเผชิญปัญหากับการสร้างคนเพื่อมารองรับกับธุรกิจเดิมของดาต้าแมท
เมื่อมีหนทางใหม่ ๆ ก็น่าจะลองดู
ดาต้าแมทในเวลานั้นจึงคึกคักยิ่งนัก เต็มไปด้วยบรรดามืออาชีพที่ถูกดึงตัวเข้ามา
เพื่อบุกตะลุยไปยังธุรกิจคอนซูเมอร์โปรดักส์ และธุรกิจใหม่ ๆ ภายใต้การนำของไปรเทพ
แนวคิดการหารายได้ใหม่ ๆ ให้กับดาต้าแมทนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า
ธุรกิจค้าพีซี และโทรศัพท์มือถือนั้น ใช่ว่าจะมี "เงิน" เพียงอย่างเดียวก็ทำได้
เพราะไม่เพียงการแข่งขันที่รุนแรง แต่ยังต้องวิ่งไล่กวดเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงชนิดตาห้ามกระพริบ
และราคาที่ต่ำลงทุกวันต้องอาศัยทั้งกลยุทธ์การตลาดทุกรูปแบบ การบริหารสต็อก
และเงินทุน แม้ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการยังยอมรับว่าเป็นงานที่ "หิน"
มากซึ่งดาต้าแมทและไปรเทพนั้นก็ยังใหม่กับธุรกิจด้านนี้
ในเวลาเพียงไม่ถึงปีสินค้าที่สั่งเข้ามาขายไม่ได้ ทำให้ดาต้าแมทต้องแบกรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ใช้เพื่อการลงทุนในธุรกิจนี้พุ่งขึ้นถึงปีละ
80 ล้านบาท ตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้นทันที
ขณะเดียวกันธุรกิจใหม่ ๆ ที่เข้ามาทดแทน เช่น โทรคมนาคม อินเตอร์เน็ต แต่ธุรกิจเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง
ไม่มีธุรกิจไหนที่ทำรายได้เลย และธุรกิจดั้งเดิมของดาต้าแมท คือ การเป็นที่ปรึกษาและออกแบบระบบคอมพิวเตอร์และพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ยังตกต่ำอยู่
สถานการณ์ของดาต้าแมทจึงย่ำแย่ลงไปทุกขณะ
ไปรเทพยื่นใบลาออก มนู อรดีดลเชษฐ์ จึงต้องกลับมารับภาระใหม่อีกครั้ง
การลาจากของไปรเทพในครั้งนี้ อาจเป็นบทเรียนราคาแพงอีกบทหนึ่งของธุรกิจที่หวังเกาะเกี่ยวไปกับคลื่นลูกที่สาม
ซึ่งอาจทำให้ไปรเทพ และกลุ่มซีคอนต้องล่าถอยออกจากธุรกิจไอทีไปอย่างถาวรเลย
แต่สำหรับมนูแล้ว การเริ่มต้นสร้างดาต้าแมทเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็อาจไม่ยากเท่ากับการที่ต้องมาฟื้นฟูให้ดาต้าแมทลุกขึ้นอีกครั้ง
การกลับมาของมนูบนเก้าอี้ตัวเดิมจึงนับว่าท้าทายยิ่งนัก เพราะเขาต้องปัดกวาดเช็ดถูบ้านใหม่เพื่อพยุงดาต้าแมทให้อยู่รอด
ในขณะที่ตลาดคอมพิวเตอร์นั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้ว จากการเกิดคู่แข่งขันหน้าใหม่
ๆ จากในและต่างประเทศ
"ที่ผ่านมาผมไม่ได้ขายคอมพิวเตอร์ แต่ทำหน้าที่ขายตึก และขายหุ้นอย่างเดียว
ซึ่งก็มีการเจรจาไปแล้วหลายสิบราย และคงตกลงกันได้เร็ว ๆ นี้" คำกล่าวของมนูที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เขาต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงแค่การลดค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ มนูต้องวิ่งขายอาคารดาต้าแมทริมถนนคลองตัน
มูลค่า 700 ล้านบาท ที่เขาสร้างมากับมือ เพื่อนำไปจ่ายเงินกู้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและนำหุ้นที่เหลืออยู่
30% หรือ 22% ออกขาย เพื่อหามาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท
จากบทเรียนราคาแพงของดาต้าแมท มนูรู้ดีว่า การทำธุรกิจที่ไม่ชำนาญไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเลย
หนทางข้างหน้าของดาต้าแมทจึงต้องย้อนกลับมาสู่ธุรกิจดั้งเดิม ก็คือ ธุรกิจค้าบริการ
อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส และซอฟต์แวร์โปรดักส์
อย่างน้อยในฐานะที่มนู ซึ่งคลุกคลีในวงการคอมพิวเตอร์มานาน เป็นนายกสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์
เป็นที่นับหน้าถือตาในวงการและเป็นผู้มีส่วนในการผลักดันให้เกิดซอฟต์แวร์ปาร์ค
หรือ สวนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อย่างน้อยก็ทำให้มนูรู้ว่าจะผลักดันให้ดาต้าแมทเดินไปยังทิศทางใด
ดาต้าแมทจะยืนขึ้นอีกครั้งได้หรือไม่ ในปี 2542 ซึ่งเป็นกำหนดการที่มนูวางไว้สำหรับองค์กรที่เขาสร้างมากับมือหรือไม่
เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม