KTBตั้งเป้าธุรกรรมตปท.5แสนล.พร้อมลดค่าธรรมเนียมดึงลูกค้าเข้าแบงค์


ผู้จัดการรายวัน(14 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์กรุงไทยตั้งเป้าเพิ่มธุรกิจด้านต่างประเทศขึ้นอีก 40% หวังเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 30% และขยายปริมาณธุรกิจการค้าระหว่างประเทศจากปัจจุบันที่มีอยู่ 5.33 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าอีก 3 รายการ พร้อมเอาใจลูกค้าโดยเตรียมลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทั้ง 5 ช่องทางของธนาคารให้ผู้จัดการสาขามีอำนาจพิจารณาได้เต็มที่เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มปริมาณลูกค้าใหม่เข้าสู่ระบบ

นายพิชัย คชมิตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) KTB เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารมีเป้าหมายที่จะเพิ่มธุรกิจด้านต่างประเทศ (เทรด ไฟแนนซ์) อีก 40% และเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมอีก 30% ธนาคารจึงได้ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในปีนี้ 533,000 ล้านบาท โดยจะเน้นสร้างทีมงานให้เข้มแข็งติดตามดูแลลูกค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่

นอกจากนี้ ยังจะต้องฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อให้พนักงานสินเชื่อ พนักงานสาขา ได้เข้าใจผลิตภัณฑ์ต่างประเทศดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ข้ามกันได้อย่างครบวงจร ธนาคารจึงได้เพิ่มช่องทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น บริการ E-L/C ที่ลูกค้าสามารถส่งใบคำขอเปิดแอลซีทางอินเทอร์เน็ต และสามารถตรวจสอบสถานะของแอลซีได้ตลอดเวลาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สำนักงานตนเองและบริการอื่นๆ เช่น บริการ E-Payment ลูกค้าสามารถส่งคำสั่งโอนเงินทางอินเทอร์เน็ต และติดตามรายการได้ด้วยตนเอง บริการ e-Advising เป็นบริการแจ้ง Export LC ทางอีเมล นอกจากนั้น ธนาคารมีแผนเปิดศูนย์ธุรกิจต่างประเทศเพิ่มอีก 4 แห่ง ตามนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอกสารการค้าระหว่างประเทศกับลูกค้า

ด้านนายอนันตผล พันธุ์เพ็ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารกลุ่มบริหารการตลาดสายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับหลักเกณฑ์การอนุมัติและลดหย่อนค่าธรรมเนียมบางประเภทโดยให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสำนักงานเขต และผู้บริหารสาขาที่ดูแลลูกค้าโดยตรง เป็นผู้พิจารณาลดหย่อนและยกเว้นค่าธรรมเนียมเงินโอน สำหรับการชำระค่าสินค้าและบริการที่ธนาคารมีช่องทางการในการชำระถึง 5 ช่องทาง ได้แก่ เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง เทเลแบงกิ้ง และ M-Payment และ Teller Payment

รวมทั้งมีอำนาจลงนามในสัญญาการให้บริการได้เอง จากเดิมที่ต้องส่งเรื่องให้ผู้บริหารสายงานบริหารผลิตภัณฑ์เป็นผู้พิจารณา คาดจะทำให้ธนาคารสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มลูกค้าใหม่ เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการใช้บริการถูกลง โดยคาดว่าจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นไตรมาสละไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 25,000 ราย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.