|
เผยเคล็ดปั้นแบรนด์โปรดักส์สปามือโปรแนะโกอินเตอร์...ง่ายนิดเดียว!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
๐ รัฐ-เอกชน เปิดเวทีระดมสมอง ปั้นแบรนด์ผลิตภัณฑ์สปาไทยเทียบชั้นสากล
๐ ชี้โอกาสทอง ปัจจัยบวกกระแสสมุนไพรสร้างรายได้ทั้งในและนอกประเทศ
๐ เตรียมความพร้อมรับ FTA อุดจุดอ่อนชูงานวิจัย เน้นทำ R&D
๐ วงในเผยขั้นตอนออกสู่ตลาดโลกไม่ไกลเกินเอื้อม
หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสปาไทย ต่างเล็งเห็นศักยภาพโปรดักส์สปาจากสมุนไพรไทย ในการสร้างรายได้จากตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยเห็นตัวอย่างความสำเร็จจากผู้ผลิตที่ผ่านมา
ประกอบกับปัจจุบันมีปัจจัยบวกสนับสนุน ไม่ว่าการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับนานาประเทศ และความต้องการผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นหลัก
ทางสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์จัดสัมมนาและเอกชนในอุตสาหกรรมสปา ได้จัดเสวนา "กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ผลิตภัณฑ์สปาสู่ตลาดโลก" ขึ้น เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการตั้งแต่การสร้างแบรนด์และช่องทางการทำตลาด
ชี้ปัจจัยบวกเร่งสร้างแบรนด์
ประนิต เกิดพิกุล ผู้อำนวยการ กลุ่มงานธุรกิจบริการ งานแสดงสินค้าในต่างประเทศ 2 กรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนผู้ประกอบการในการสร้างแบรนด์โปรดักส์สปาไทยอย่างจริงจัง รวมถึงการตื่นตัวของผู้ประกอบการกับความต้องการของตลาดโลก เพราะมีปัจจัยหลายส่วนที่เอื้อต่อการทำตลาดไม่ว่าตลาดในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม จะเห็นว่าที่ผ่านกระแสการตอบรับโปรดักส์สปาที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติจำพวกสมุนไพรได้รับการตอบรับอย่างมากในตะวันตก ทำให้เป็นโอกาสดีของสมุนไพรไทย
นอกจากนี้โอกาสการทำตลาดเป็นไปได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับตลาดในประเทศนั้นความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยมีเพิ่มสูงขึ้นและการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ขณะที่ต่างประเทศเป็นตลาดที่ใหญ่ที่รัฐเล็งเห็นตัวเลขการส่งออกมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับผู้ประกอบการายใหม่ๆ
รวมถึงโอกาสที่จะตามมาในอนาคตจากการเปิดเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับนานาประเทศ เพราะโปรดักส์สปาไทยทำจากสมุนไพรเป็นจุดแข็งในการส่งออกกับประเทศคู่เจรจาได้อย่างดี ซึ่งไทยได้เปรียบ ฉะนั้น ตลาดจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมความพร้อมคือโปรดักส์ ต้องเริ่มบุกได้แล้ว เพราะรัฐให้การสนับสนุนและเงื่อนไขการเจรจาคือภาษี 0%
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโอกาสดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้ประกอบการต้องยกระดับ พัฒนาสินค้าให้มีความเป็นมาตรฐานสากล เพราะจุดอ่อนของโปรดักส์สปาไทยยังขาดเรื่องของการวิจัยหรือ R&D ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็ก ๆยังไม่ให้ความสำคัญจึงยากต่อการขยายตลาดในอนาคต
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมส่งเสริมการส่งออกได้สนับผู้ประกอบการทั้งการในส่วนของการออกงานโรดโชว์ในต่างประเทศ โดยตลาดใหม่นั้นได้การสนับสนุนทุนในการเช่าบูธกว่า 70-80% ซึ่งเป็นการหาตลาดให้ผู้ประกอบการ และให้การอบรมตั้งแต่การสร้างแบรนด์ และการทำตลาดในต่างประเทศ
"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ทราบถึงความต้องการของตลาด โดยการร่วมออกงานในต่างประเทศนั้นจะเป็นช่องทางหนึ่งเพื่อทดลองตลาด บางครั้งการขายเพียงในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่รู้ความต้องการของตลาดว่าสินค้านั้นขายในตลาดโลกได้หรือไม่"
ประนิต ยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายผลิตโปรดักส์สปาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เช่น เอิบ หาญ ปุริ และอโรม่าเวล่า
แนะเทรนด์สินค้าสปาปี’49
รัตนวรรณ ทองบุศย์ บริษัท ไทเกอร์ อายส์ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์สปาจากต่างประเทศมานานกว่า 15 ปี ให้ข้อมูลว่า เล็งเห็นโอกาสของผู้ผลิตโปรดักส์สปาไทยด้วยสมุนไพรไทย สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และไม่ใช่เฉพาะผลิตภัณฑ์สปาเท่านั้น แต่ยังต่อเนื่องถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในสปาได้อีกด้วย และเนื่องจากต้องสั่งโปรดักส์สปาจากต่างประเทศเพื่อป้อนสถานประกอบการสปาต่างๆ จึงเห็นความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว (อ่านตารางประกอบ)
ฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องตามข่าวสารให้ทันว่าสินค้าไหนกำลังเป็นที่นิยม และด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่ความนิยมตามฤดูการและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของผลไม้ เป็นที่นิยมในฤดูร้อน หรือหน้าหนาวเป็นครีมบำรุงผิว เป็นต้น จึงนับเป็นจุดดีในการผลิตสินค้าได้หลากหลาย
แต่ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ ยังมีจุด่อนด้านคุณภาพสินค้าที่มีผลงานวิจัยรับรอง ไม่ลงทุนในเรื่องของ R&D ซึ่งจำเป็นมาก รวมถึง การเป็นสินค้าที่ต้องใช้สัมผัสกับร่างกายทำให้ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งที่สามรถแข่งขันได้ อยู่ที่การพัฒนาปรับปรุงในส่วนที่กล่าวมา ประกอบกับสมุนไพรไทยที่มีความหลากหลายในภูมิปัญญาไทยที่ถ่ายทอดกันมา และบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาไปได้ไกลมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
"ผู้ผลิตต้องดูว่า เราผลิตอะไรที่เป็นตัวขาย เช่น เกลือขัดตัว ถ้าต้องการส่งในสถานประกอบการสปาใหญ่แต่บางรายมีคอนแทนค์กับบริษัทอื่นไว้แล้ว การเข้าสู่ตลาดเดย์สปาจะง่ายกว่าและควรทำบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กให้มีการทดลองใช้ด้วย และจากที่อยู่ในวงการพบว่า ฝ่ายจัดซื้อของสปาต่างๆ ไม่มีการจ่ายใต้โต๊ะ เพราะท้ายสุดผลิตภัณฑ์ต้องดี เพราะเขาจะไม่มาเสี่ยงกับเรื่องนี้ อย่างโรงแรมใหญ่ยังใช้สินค้าในประเทศเลือกที่มีคุณภาพ เพราะเขาต้องบริหารต้นทุน ยิ่งต่ำยิ่งได้เปรียบ และลูกค้าไม่ผูกติด เปลี่ยนความต้องการตลอด และทุกฤดูกาล เรามีแนวโน้มที่จะแทรกสินค้าเข้าในตลาด ที่สำคัญคือคุณภาพและราคาต้องสมเหตุสมผล"
ชู experience นำร่อง 'สราญ'
สุรางค์รัตน์ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทย พริวิเลจ เฮลล์ แคร์ จำกัด ผู้ให้บริการปสภายใต้ชื่อไทย พริวิเลจ สปา กล่าวว่า เลือกเปิดตัวโปรดักส์สปาภายใต้แบรนด์ “สราญ” หลักจากที่ลูกค้าได้มีประสบการณ์ (experience ) การใช้ผลิตภัณฑ์ และแบรนด์อิมเมจคุณภาพการบริการจาก “ไทย พริวิเลจ สปา” ฉะนั้นจะมั่นใจในคุณภาพของสินค้าเป็นอย่างดี และซื้อกลับไปใช้ที่บ้าน เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะมีคนมาใช้สปาทุกวัน แต่ผลิตภัณฑ์สามารถใช้ทุกวันได้
โดยชูสมุนไพรไทย 100% เป็นจุดขาย และการผลิตด้วยวัตถุดิบจากในไทยทั้งหมด แต่กลุ่มสินค้าภายใต้แบรนด์สราญนั้นจะมีไม่มาก แต่จะครอบคลุมความต้องการพื้นฐานของผู้ใช้เป็นหลัก เช่น เจลอาบน้ำ ครีมบำรุงผิว เจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพและความงาม
ตลาดเป้าหมายคือต่างประเทศและในประเทศ ฉะนั้นมาตรฐานสินค้า คุณภาพต้องเทียบกับแบรนด์ต่างชาติได้ ลงทุน R&D และใบรับรองมาตรฐานจากองค์การอาหารและยา (อย.) สำหรับการส่งออกตลาดต่างประเทศ
เมื่อวางแผนชัดเจนต้องสัมพันธ์กันตั้งแต่การตั้งชื่อซึ่งแปลความหมายถึงความรื่นรมย์จากภายในและชาวต่างชาติสามารถเรียกและจดจำชื่อ บรรจุภัณฑ์ที่เน้นความเป็นไทยโมเดล และช่องทางการจำหน่ายมุ่งทำเลในตำแหน่งที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งสอดคล้องกับที่ตั้งของไทย พริวิเลจ สปา จึงจำหน่ายผ่านทั้ง 5 สาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศก่อนขยายสู่รีเทลชอปในห้างสรพพสินค้าชั้นนำ
การสร้างแบรนด์โปรดักส์สปา สุรางค์รัตน์ มองว่าเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นของขวัญจากธรรมชาติควรกระจายสู่มือผู้บริโภคมากขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ไทย ให้คนไทยนิยมสินค้าไทยมากขึ้น
“กับการรุกโปรดักส์สปาในครั้งนี้ เห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการสร้างรายได้ในอนาคต เพราะความนิยมของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศกลุ่มลูกค้าที่กว้าง ซึ่งตั้งเป้าเป็นตัวสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทในอนาคตอีกด้วย” สุรางค์รัตน์ กล่าว
หวัง ISPA แจ้งเกิดเอสเอ็มอีไทย
ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาโครงการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือISMED กล่าวว่า ด้วยโอกาสที่มาถึงผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพ ความต้องการในตลาดจีน เวียดนามต่อโปรดักส์สปาไทยไปได้ดี และในตลาดโลกต่างมองหาวัฒนธรรมสินค้าที่มีภูมิปัญญาซึ่งไทยมีจุดแข็งมาก
และสำหรับในงาน ISPA 2006 THAILAND (Internation Spa & Wellness Conference and Exhibition) ภายใต้ธีม The Best of the East หวังการเชื่อมต่อในธุรกิจทั้งบริการ ผลิตภัณฑ์ ซึ่งในงานนี้จะมีผู้ซื้อจากต่างชาติเข้าร่วมกว่า 150 รายซึ่งเป็นโอกาสดีต่อผู้ประกอบการไทยในการนำเสนอขาย
นอกจากนี้ภายในงาน ยังสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงสินค้า บริการ ในโซน Thai Spa Mart ในราคาพื้นที่ 35,000 บาท โดยต้องเตรียมความพร้อมเอกสารภาษาอังกฤษและล่ามภาษาอังกฤษในกรณ๊ที่ต้องกมีการเจรจาการซื้อด้วยทั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าไทยได้แจ้งเกิดในเวทีระดับที่ผู้ซื้อจากทั่วโลกจะเข้าร่วมงาน
"ในภาพรวมของงานแล้ว จะเป็นการโชว์ศักยภาพภูมิปัญญาตะวันออกถ่ายทอดสู่บริการ ผลิตภัณฑ์ ที่ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตะวันตก" ธนันธน์ กล่าวสรุป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|