|

แนะ'นวัตกรรม'ทางออกSMEsไทย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาทุนขนาดใหญ่ การเปิดเขตค้าเสรี ทำให้ธุรกิจทุนขนาดเล็กของไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางออกประการหนึ่งของพวกเขาคือการเร่งผลิตความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการธุรกิจของตนเองให้แตกต่างจากคนอื่น เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และความอยู่รอด
พงษ์ ผาวิจิตร เจ้าของโครงการอุตสาหกรรมผลิตความคิดหรือ Think Factory นิยามความหมายของนวัตกรรมว่า คือการรับรู้ขของกลุ่มเป้าหมาย ที่ขนาดของกลุ่มใหญ่พอที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจ เขาอธิบาย นวัตกรรมในแง่ของธุรกิจ คือ สินค้าตัวใหม่ที่ทุกองค์กรล้วนแสวงหา เพราะเป็นหลักประกันถึงความอยู่รอดทางธุรกิจ ในโลกของธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการสู้กันด้วยเรื่องหลักๆ สามประการคือ ต้นทุนการผลิต ความเหนือกว่าทางเทคโนโลยี และกลยุทธ์ทางการตลาด
นวัตกรรมจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ของตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร และแม้จะเป็นค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพียงใดแต่หากกลุ่มเป้าหมายไม่สามารถรับสารนั้นได้ก็ไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมเกี่ยวข้องกับการวัผลของความสำเร็จนั้นด้วย
สอดรับกับโครงการสินค้าต้นแบบ ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับกลุ่มคนที่มีไอเดียแต่ขาดเงินทุนในการผลิต โดยผู้จัดได้นำสินค้าทั้ง 20 ชนิดนี้มาออกแสดงและจำหน่ายในงานโอกาสธุรกิจ & แฟรนไชส์ ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยใช้รายได้จากการสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้ของประชาชนเป็นเกณฑ์ตัดสินคัดเลือกผู้ชนะสินค้าต้นแบบยอดนิยม
พงษ์ ขยายความถึง ระดับของนวัตกรรมว่า สามารถแบ่งได้เป็น 5 ระดับ คือ
1. Simple Solution คือระดับของการหาแนวทางแก้ปัญหาทางธุรกิจที่ง่ายที่สุด แต่เกิดขึ้นมากที่สุด ดดยการตั้งข้อสังเกตและทำการวิจัยของแต่ละบุคคลอย่างไม่เป็นทางการ
2. System Solution เป็นระดับการเชื่อมต่อนวัตกรรมของบุคคลที่ไม่เป็นทางการ ให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น
3. Inventive Solution คือการลงทุนค้นหาแนวทางแก้ปัญหาในปัจจุบันหรือแสวงหาโอกาสใหม่ เช่นการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ
4. Radical Invention คือระดับของการวิจัย ค้นหาอย่างเป็นเรื่องราว เช่นการทดลองในห้องแลป
5. Totally New Phenomena เป็นการค้นพบอะไรใหม่ๆ
ด้าน สิทธิเดช ลีมัคเดช ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ BananaClick.com กล่าวถึงปัญหาการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ว่ามีข้อจำกัดด้านเงินทุนและเวลา เพราะถ้านำเงินไปลงทุนทำวิจัย ก็อาจไม่เหลือเงินทุนทำการตลาด หรือถ้าสินค้าบางประเภทที่ใหม่มากๆ สำหรับตลาด ก็ต้องอาศัยเวลาให้กลุ่มเป้าหมายทำความรู้จัก แต่บางครั้งสายป่านหรือทุนในการดำเนินธุรกิจอาจหมดลงเสียก่อน
“การขายกล้วยตากผ่านเว็บไซต์ ไม่ใช่เรื่องใหม่เหมือนครั้งที่เจฟฟ์ เบซอสนำหนังสือมาขายผ่านเว็บอะมาซอน แต่การให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตก็ยังคงต้องอาศัยเวลาและการเรียนรู้ การตั้งชมรม BananaClick.com ขึ้นมาก็เพื่อพัฒนาให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ หรือแม้แต่ปีนี้มีโครงการจะขยายไลน์สินค้า ก็อาศัยความคิดเห็นหรือความต้องการของสมาชิกเป็นกลุ่มทดสอบตลาดเพื่อทำวิจัยและพัฒนา”
นวัตกรรม จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของเทคนิคที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่มีความแปลกใหม่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพัฒนาด้านบริการต่างๆ ที่ตอบสนองความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายได้ และในภาคปฏิบัตินั้น องค์กรธุรกิจขนาดเล็กกลับมีความได้เปรียบในแง่ของการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับนวัตกรรมธุรกิจมากกว่า บริษัทใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ เพียงแต่เจ้าของธุรกิจต้องอาศัยความกล้า และตัดสินใจที่จะตอบสนองต่อตลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|