"โสภณ สุภาพงษ์ ผู้อนุรักษ์สีเขียวกับมุมมองวิกฤตเศรษฐกิจไทย"


นิตยสารผู้จัดการ ( กันยายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ในยุคที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างหนักจนแทบเรียกได้ว่ายากจะเยียวยา การปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว และการที่รัฐต้องหันมาปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ย่อมต้องส่งผลต่อต้นทุนการดำรงชีวิตของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะที่ต้องใช้จ่ายเรื่องรถรา และการซื้อหาสินค้ามาบริโภค แน่นอนที่ว่าทุกคนต่างจับตามองผู้ให้บริการขายน้ำมันทั้งหลายว่าจะปรับทิศทางของราคาอย่างไรในยุคเศรษฐกิจเช่นนี้

แน่นอนว่าราคาน้ำมันต้องมีผลกระทบขึ้นแน่ในระยะยาว และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือผู้ที่นำเข้าน้ำมันเพื่อนำมากลั่นในประเทศ เพราะค่าเงินดอลลาร์ที่นำไปซื้อน้ำมันดิบนั้นเพิ่มมากขึ้น นี่เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของโสภณ สุภาพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

แม้จะเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านราคาน้ำมันโดยทั่วไปซึ่งประชาชนคนไทยก็รับทราบภาวะดังกล่าวดีอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นแง่คิดจากนักอนุรักษ์นิยม ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของบางจากก็คือ ประเทศไทยจะต้องปรับตัวในด้านแนวคิดเศรษฐกิจเสียใหม่ จากเดิมซึ่งเคยยึดถือค่านิยมเก่า ๆ กับความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของไทย ที่ไปผูกติดไว้กับการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทสถาบันการเงินในตลาดหลักทรัพย์ไทย

เพราะเศรษฐกิจที่ยึดติดกับธุรกิจเหล่านี้ สร้างภาพลวงที่ไม่ได้มองเห็นสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ

"รัฐบาลต้องไปขอโทษชาวนาที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของชาติเป็นเช่นนี้ ที่จริงแล้วเราต้องขอบคุณชาวนาด้วยซ้ำที่เป็นผู้ผลิตผลผลิตข้าวเพื่อขายออกต่างประเทศ นำเงินดอลลาร์เข้าประเทศ แต่รัฐบาลไม่ได้เข้าไปช่วยเหลืออย่างแท้จริงกลับไปช่วยเหลือกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ กับสถาบันการเงินที่กู้เงินต่างประเทศมาลงทุนทำให้เกิดปัญหาขึ้นแล้วรัฐบาลก็เข้าไปช่วยเหลืออุ้มชู"

แม้จะเป็นการวิพากษ์ที่ค่อนข้างแรงสวนทางกับบุคลิกที่สุภาพ อ่อนน้อม น้ำเสียงนุ่ม แต่หลายคนรู้ดีว่ากรรมการผู้จัดการใหญ่ของบางจากผู้นี้มีความจริงจังหนักแน่นในการทำงาน และในแนวคิดเรื่องกระแสอนุรักษ์นิยมมากแค่ไหน ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้ว่าเป็นผู้มีแนวคิดที่แรงโดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดที่สุดคือด้านสิ่งแวดล้อม โดยปรับความมุ่งมั่นเฉพาะตัวกลายมาเป็นนโบายชูธงหลักของบางจากมาตลอด

ซึ่งแม้แต่การเปิดร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันก็ยังใช้แนวคิดไปในด้านธรรมชาติ อย่างชื่อร้านก็ใช้ว่า เลมอนกรีน การประชาสัมพันธ์น้ำมันไร้สารตะกั่วที่มีจุดขายในเรื่องของความสะอาดของเครื่องยนต์ หรือแม้แต่ของสมนาคุณเมื่อเติมน้ำมัน ก็เน้นไปในด้านรักษาสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดบางจากยังร่วมมือกับโครงการหลวง "ดอยคำ" นำผลผลิตน้ำบ๊วยกระป๋องของบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด มาสมนาคุณกับผู้เติมน้ำมันบางจากครบทุก 250 บาท ซึ่งแม้จะเป็นกลยุทธ์แจกแถมที่ปั๊มน้ำมันหลากหลายยี่ห้อในบ้านเรากำลังแข่งขันกันดุเดือน แต่ก็เป็นของแจกที่ทำให้คนรับมีแง่คิดด้านเศรษฐกิจจากของแถมนี้ และเป็นการส่งเสริมเกษตรกรผู้ผลิตที่อยู่ในมูลนิธิโครงการหลวงให้มีอาชีพ และรายได้จากการแปรรูปสินค้าเกษตรออกมาจำหน่ายในรูปแบบสินค้าสำเร็จรูป

ทั้งนี้สินค้าเกษตร ที่เกษตรกรมีผลผลิตออกมาแน่นอนว่าขายออกในรูปของสดไม่หมดจะต้องมีการนำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มรายได้ได้อีกต่อหนึ่ง แทนที่จะขายเป็นผลิตภัณฑ์เพียงรูปแบบเดียว อันเป็นผลพลอยได้กับเกษตรกรที่อยู่ภายในมูลนิธิโครงการหลวง

นอกเหนือจากนี้ โสภณยังเป็นผู้ร่วมเสนอแนวคิดผ่านทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในการตั้งร้านค้าเกษตรหรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า FARM SHOP ขายสินค้าเกษตรแบบครบวงจรเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยร้านค้านี้จะอยู่กับปั๊มน้ำมันบางจากหรือไม่ก็ได้ และสิ่งสำคัญที่ควบคู่กับร้านสินค้าเกษตรนี้ก็คือ แปลงปลูกพืช หรือผักที่ใช้บริโภค เพื่อให้ผู้ซึ้อได้เห็นถึงขั้นตอนการผลิตอย่างไรโดยเฉพาะความสดใหม่ที่อาจเป็นจุดขายอีกจุดหนึ่งของร้านแนวคิดใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้

สอดคล้องกับกระแสของการกลับสู่ธรรมชาติ หนุนผลิตภัณฑ์เกษตร และสร้างเสริมรายได้ของคนภายในประเทศอันเป็นแนวคิดที่แท้จริงสำหรับการกอบกู้เศรษฐกิจไทยโดยมุ่งไปที่สินค้าเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสินค้าที่มีจุดแข็งมากที่สุดในทศวรรษหน้า โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่มีพื้นฐานด้านสินค้าจากเกษตรกรรมที่เด่นที่สุด เมื่อเทียบกับการทำธุรกิจแขนงอื่น ที่กำลังทำให้ผู้ประกอบกิจการต้องประสบภาวะย่ำแย่เหมือนในปัจจุบัน

และที่สำคัญแนวคิดของบางจากนี้ สอดรับกับมาตรการด้านเงื่อนไขเงินกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟที่มีต่อรัฐบาลไทย ในประเด็นเรื่องภาคการผลิตของไทยนั้น จะต้องใช้วัตถุดินภายในประเทศในการสร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์เข้ามาซึ่งอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างความร่ำรวยให้กับบริษัทผู้ผลิตมามาก ยกตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือเครือเจริญโภคภัณฑ์

การที่บริษัท ผู้ค้าน้ำมันซึ่งเป็นสินค้านำเข้าที่เด่นชัดและจำเป็นที่สุดสำหรับไทยขณะนี้ หวนกลับไปหาแนวคิดเรื่องการสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศด้วยปัจจัยด้านวัตถุดิบที่สำคัญของประเทศ น่าจะเป็นการสะท้อนแนวทางการหันกลับมาฟื้นฟูชาติกันได้บ้างเหมือนกัน

เมื่อถามถึงตัวบริษัทบางจากเอง โสภณ ปฏิเสธที่จะพูดถึงโดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันใครที่พูดถึงความย่ำแย่นั้นจะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากกว่าจะพูดถึงความรุ่งเรือง

โสภณสรุปเพียงว่า ในไตรมาส 2 บางจากยังคงมีผลกำไรอยู่เมื่อเทียบกับบริษัทขายน้ำมันอื่นบางบริษัทที่ยังมีผลขาดทุน

แม้โสภณจะไม่ได้บอกเล่าภาพรวมของธุรกิจน้ำมันบางจากทั้งหมด แต่กระแสข่าวที่ชัดเจนกับบริษัทน้ำมันแห่งนี้คือ การวางแผนการขยายปั๊มน้ำมันที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องและไม่ได้ลดน้อยถอยลงตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และอาจจะเป็นบริษัทไทยที่สวนภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ โดยการขยายตัวด้านสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่อง และการเข้าไปรับซื้อกิจการสถานีน้ำมันจากบริษัท บริทิช บริโตรเลียม หรือ บีพี ก็คงพอจะบอกได้ว่า บางจากก้าวมาในทิศทางเหมาะสมและการวางแนวทางในอนาคตของผู้บริหารท่านนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอีกเช่นกัน

โดยเฉพาะการพูดถึงเรื่องสินค้าการเกษตรที่ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผลิตภัณฑ์ของบางจากก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.