จะอยู่หรือไป"แบงก์กรุงศรีฯ"เท่านั้นที่รู้!"รัตนรักษ์"เปิดกว้างพันธมิตรผลักรายได้ค่าธรรมเนียม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แม่ทัพคนใหม่ "แบงก์กรุงศรีฯ"ยังปักใจไม่เชื่อฝรั่งจะรู้ใจคนไทยเท่ากับคนไทยด้วยกันเอง แต่อย่างหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ กองทัพชาติตะวันตกยังได้เปรียบถ้ารบในรูปแบบ ขณะที่ยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้กำแพงการค้าลดต่ำลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า DO OR DIE "จะอยู่หรือไป" พร้อมนิยามตัวเองเป็น "แบงก์พันธ์ไทยแท้" ที่เปิดกว้างรับพันธมิตรมากหน้าหลายตา เพื่อจะผลักให้รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวต่อเนื่อง

แบงก์กรุงศรีอยุธยาของกลุ่มตระกูล "รัตนรักษ์" ถูกจับตามองจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจภายในขนานใหญ่ พร้อมกับการขยายอาณาบริเวณการทำธุรกิจแตกต่างไปจากอดีต

" แบงก์ไทยมีการเตรียมพร้อม ทั้งเกณฑ์บาเซิล ทู และการเปิดเสรี FTA ซึ่งยังไงก็ต้องเกิด จะห้ามก็คงลำบาก เพราะยุคโกบอลไลเซชั่น รัฐจะมาประคบประหงมคงไม่ได้ อาจยืดให้ช้าได้ แต่จะเลี่ยงคงไม่ได้" พงศ์พินิต เดชะคุปปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แบงก์ที่ขึ้นชื่อว่าเก่าแก่ มีอายุร่วม 60 ปี บอกถึงภัยคุกคามที่กำลังบุกเข้าประชิดตัว

แม่ทัพคนใหม่ ถึงกับบอกว่า พนักงานทุกคนต้องเร่งพัฒนาตัวเอง สาขารูปแบบเก่าๆก็ต้องปรับปรุงภาพลักษณ์และสินค้าให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

พงศ์พินิต บอกว่าผู้บริหารแบงก์ ต้องบอกกับพนักงานอยู่เสมอว่า DO OR DIE คือเลือกเอาว่า "จะอยู่หรือจะไป" เพราะสถานการณ์การแข่งขันวันนี้ต่างจากเมื่อก่อนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ การทำตลาดลูกค้ารายใหญ่อยู่ฝั่งเดียวในวันนี้จึงแทบไม่มีความหมายต่อรายได้ที่จะไหลเข้ามาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า สถาบันการเงินต่างประเทศที่มีความพร้อมด้านเงินลงทุนและเทคโนโลยี ก็คงไม่รู้ใจคนไทยเท่ากับคนไทยด้วยกันเอง แต่ข้อได้เปรียบของนักรบต่างชาติก็คือ การมีข้อมูลอยู่ในมือ โดยเฉพาะการเปิดแบงก์ใหม่ของต่างชาติ จะเน้นไปที่ข้อมูลค่อนข้างมาก ดังนั้นถ้าจะรบในรูปแบบ สถาบันการเงินไทยก็จะตกเป็นรอง

" เราทิ้งจุดเด่นที่เรามีเรื่องบริการ ขณะที่ฝรั่งเขาเข้ามาศึกษาจุดเด่นของเราว่ามีอะไรบ้าง นิสัยคนไทยเรื่องบริการคือจุดเด่น ซึ่งถ้าเราบริการดี ก็ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดีด้วย ไม่เช่นนั้นก็ยืนอยู่ไม่ได้"

แบงก์ขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจในแนวอนุรักษ์นิยมอย่างกรุงศรีฯ เริ่มเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตัวเองมาตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ จากที่เคยจับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ก็หันมาจับธุรกิจ "รีเทล แบงกิ้ง" นั่นก็บอกถึงการพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธรรมเนียมให้มากกว่ารายได้จากดอกเบี้ย

ในช่วงหลังๆสัดส่วนลูกค้ารายย่อยจึงกระโดดสูงถึง 20% ในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าเอสเอ็มอี และรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิตที่ร่วมกับพันธมิตร "จีอี" ขณะที่ผลตอบแทนจากฐานลูกค้ารายใหญ่กลับลดลง ตรงกันข้ามต้นทุนก็เพิ่มสูงขึ้น

" เอสเอ็มอีเป็นจุดแข็งของแบงก์ ขณะที่รายใหญ่ให้ผลตอบแทนต่ำ แต่ก็ถือเป็นฐานที่จะทำให้เกิดรายย่อย พอร์ตลูกค้าจึงต้องทำให้สมดุลคือ รักษาฐานลูกค้ารายใหญ่ พร้อมกันนั้นก็พยายามขยายตลาดลูกค้ารายย่อยมากขึ้นเรื่อยๆ "

แบงก์กรุงศรีฯ มีการประเมินรายได้จากค่าธรรมเนียมปีนี้ จะขยายตัว 17% จากสัดส่วนที่มีอยู่ 23% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 77% มีการปรับเปลี่ยนการรับรู้ของลูกค้าหรือผู้คนทั่วไปผ่านภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างทันยุคทันเหตุการณ์ ด้วยการสลัดคราบแบงก์คนรุ่นเก่าให้หายไปจากความทรงจำของผู้คนในอดีต เปลี่ยนมาเป็นแบงก์คนรุ่นใหม่ ทันยุค ทันเหตุการณ์ และเข้าประกบลูกค้าใกล้ชิดตามชุมชน หัวเมืองใหญ่น้อยมากขึ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงภายในที่หลายคนไม่วางตาเลยก็คือ การเปิดประตูรับพันธมิตรใหม่อย่าง "จีอี" ยักษ์ใหญ่คอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ จากอเมริกา อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันยังเข้าใจกันไปคนละทิศละทาง...

พงศ์พินิต ยังย้ำว่า ธนาคารกรุงศรีฯมีกำไรสุทธิ 6,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% และปีนี้จะขยายสินเชื่อเพิ่มอีก 2.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 8% จากปีก่อน

ขณะเดียวกันปีนี้ก็ได้ตั้งสำรองเพิ่ม 4.1 พันล้านบาท หนี้เสียหรือเอ็นพีแอลที่มีอยู่ 8% ก็จะลดลง 1% เหลือ 7% ในปีนี้ ดังนั้นแบงก์กรุงศรีฯก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน ขณะเดียวกัน "รัตนรักษ์" ก็คงไม่ขายหุ้นออกไปอยู่แล้ว

พงศ์พินิต กลบกระแสการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูล "รัตนรักษ์" ให้กับ "จีอี"โดยให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดมีมากกว่านี้ นั่นก็แสดงว่า แบงก์กรุงศรีฯมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนมาตั้งแต่แรกแล้ว

ดังนั้น ก็ต้องมีนักลงทุนต่างประเทศเดินทางเข้าออกอยู่ทุกวัน ซึ่งกว่า 30% ที่ต่างชาติถือหุ้นอยู่ก็จะเข้ามาพูดคุยในเรื่องผลกำไร ความกังวล ความน่าเป็นห่วงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อไปรายงานกับผู้ซื้อหน่วยลงทุน เพราะฝรั่งเอาเงินมาลงทุนก็ต้องมั่นใจว่าไม่สูญ

" เรื่องจีอี ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเลย แต่เราก็นัดคุยกับฝรั่งทุกวัน เพราะเขาอยู่กับเรามานานถึง 8 ปี จึงรู้จักกันดี ดังนั้นก็คงไม่มีการตรวจสอบทรัพย์สินหรือหนี้สินอย่างที่พูดๆกันไป"

การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนในแบงก์กรุงศรีฯก็คือ การเปิดให้พันธมิตรต่างชาติเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นมากขึ้น ทั้งจากฝั่ง อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิตที่มีอลิอันซ์ เยอรมันถือหุ้นร่วมด้วย การเพิ่มเพดานการถือหุ้นของกลุ่มมิตซุย-สุมิโตโมจากญี่ปุ่น ใน บมจ.กรุงศรีอยุธยาประกันภัย และการถือหุ้นในสัดส่วน 30% ของ เจ พี มอร์แกนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอเจเอฟ

ส่วนอีกบริษัทคือ บัตรกรุงศรี-จีอี ที่มี "จีอี" ถือหุ้นอยู่ 50% และกลายมาเป็นต้นตอของกระแสการขยับตัวลุกคืบจากพันธมิตรมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่ง พงศ์พินิต ก็ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องประหลาดหรือเป็นเรื่องใหม่ พร้อมกับย้ำว่า "ใครเข้ามาดีก็ต้องการทั้งนั้น ไม่มีปัญหา"

อย่างไรก็ตาม พงศ์พินิต ก็ยังมั่นใจที่จะเรียกชื่อ แบงก์กรุงศรีฯคือแบงก์ไทย ที่ในอนาคตก็น่าจะรักษาความเป็นแบงก์พันธ์ไทยต่อไป

ขณะที่ การเปิดทางให้กับพันธมิตรต่างชาติเข้ามาร่วมดำเนินการในธุรกิจหลักอย่าง ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธุรกิจบริหารจัดการกองทุน รวมถึงธุรกิจบัตรเครดิตของแบงก์กรุงศรีฯ นอกจากจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในมุมกลับกัน กรุงศรีฯก็พยายามจะใช้ความแข็งแกร่งและเชี่ยวชาญของบรรดาพันธมิตรผลักดันให้รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มในสัดส่วนที่สูงขึ้น

ที่น่าจะเห็นชัดเจนก็คือ ธุรกิจแบงแอสชัวรันส์หรือขายกรมธรรม์ผ่านสาขาแบงก์ ที่มีการเตรียมขยายสาขาในปีนี้อีก 50 แห่งรวมเป็น 550 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯปริมณฑล 221 สาขาและเพิ่มตู้เอทีเอ็มเป็น 2,200 ตู้ โดยสาขาใหม่จะมีพนักงานเพียง 3 คนต่อสาขา และต่อไปอาจจะเหลือเพียงสาขาและ 1 คน

การลงลึกถึงลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีจึงต้องลงทุนด้านไอที และขยายสาขา โดยสาขาใหม่จะมีขนาดเล็ก เพื่อลดต้นทุนด้านพนักงาน ขณะเดียวกันก็กำหนดให้มีกำไรต่อพนักงานเพิ่มมากขึ้น

ว่ากันว่า แบงก์กรุงศรีฯยุคใหม่ที่เริ่มเปิดทางให้กับหุ้นส่วนต่างชาติเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประตูต้อนรับ "จีอี" วงในเชื่อว่า ผลประโยชน์น่าจะตกมาอยู่ที่แบงก์กรุงศรีฯ ในขณะที่นายแบงก์ทั่วไปกลับมองว่า พันธมิตรจีอีน่าจะได้รับผลประโยชน์จากสาขาและชื่อของกรุงศรีฯมากกว่า...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.