"สามารถฯ ยุคอินเตอร์ลดงานผลิต เน้นงานบริการ สานฝันปี 2000 สู่รายได้ 10,000 ล้านบาท"

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากกลุ่มสามารถฯ โชว์ผลงานผลประกอบการปี 2539 ด้วยความประทับใจมาแล้ว มาในไตรมาส 1 ปี 2540 ก็ยิ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก แม้ว่าปี 2540 นี้ถือว่าเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในการทำธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม แต่กลุ่มสามารถฯ กลับสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ได้ดีเหมือนกับชื่อบริษัท

โดยในไตรมาส 1 ปี 2540 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันในปี 2539 กลุ่มสามารถฯ มีรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้น 98.55% จาก 749.57 ล้านบาท เป็น 1,488.57 ล้านบาท ด้านต้นทุนขายและบริการก็เพิ่มสูงถึง 100.24% จาก 431.67 ล้านบาท เป็น 864.40 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่ม 86.88% จาก 229.96 ล้านบาท เป็น 429.75 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 15.57 ล้านบาท จาก 134.31 ล้านบาทเป็น 155.23 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 15.54% จาก 1.93 บาท เป็น 2.23 บาท

แต่ถ้าหันมามองในช่วงนี้หลังจากทางการยกเลิกระบบตะกร้าเงินหันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ทำให้กลุ่มสามารถฯ กระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะกลุ่มสามารถฯ เองก็กู้เงินจากต่างประเทศเข้ามากพอสมควร

"เรามีเงินกู้ต่างประเทศประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 5,000 ล้านบาท และเราได้จ่ายคืนไปแล้วประมาณ 1 ใน 4 แต่ในปีนี้และปีหน้าเราต้องจ่ายคืนอีก ซึ่งจะทำให้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า 100 ล้านบาทในปี 2540" ชาญชัย จารุวัตสร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

"แต่จะไม่ผลักภาระตรงนี้ไปให้ผู้บริโภคอย่างแน่นอน เราแก้ปัญหาด้วยการลดต้นทุนการดำเนินลงและลดขนาดและโครงสร้างของบริษัทลง" ชาญชัย กล่าวถึงการบริหารงานยุคเงินบาทลอยตัว

เมื่อเป็นเช่นนี้ผลที่ตามมาก็คือจะทำให้ผลการดำเนินงานปี 2540 ตามที่หวังไว้ของกลุ่มสามารถฯ คือ 700 ล้านบาท คงจะต้องเป็นไปในลักษณะหืดขึ้นคออย่างแน่นอนและชาญชัยก็ย้ำว่าปีนี้กำไรอาจจะลดลงบ้างประมาณ 10-20% ส่วนอัตราการเติบโตของบริษัทจะอยู่ในระดับ 30-40%

อย่างไรก็ตามหากมองย้อนไปในอดีต เหตุผลที่ทำให้กลุ่มสามารถฯ มีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาจากการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของกลุ่มสามารถฯ เพราะจากอดีตเน้นธุรกิจการผลิต เช่น เสาอากาศ จานดาวเทียม แต่ขณะนี้ธุรกิจดังกล่าวเริ่มไม่สดใส กลุ่มสามารถฯ จึงหันมาหาธุรกิจด้านบริการและ ECS มากขึ้น เพราะธุรกิจทั้งสองนี้จะเป็นรายได้หลักในอนาคต

โครงสร้างรายได้ในช่วงที่ผ่านมาจากบริการเครือข่าย 51% อิเล็กทรอนิกส์ลิฟวิ่ง 15% การผลิต 13% อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ส 9% ต่างประเทศ 9% และอิเล็กทรอนิกส์ มีเดีย 3%

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้การดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2540 ไม่ตกต่ำเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเดียวกัน จึงกล่าวได้ว่าการเติบโตขึ้นของกลุ่มสามารถฯ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นฝีมือล้วน ๆ

และน่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อผู้บริหารกลุ่มสามารถฯ ตั้งเป้ารายได้ในปี 2543 สูงถึง 10,000 ล้านบาท โดยสิ่งที่ชี้ชะตาของกลุ่มสามารถฯ สำหรับรายได้ระดับนี้ก็คือ PCN 1800

ดังนั้นนับต่อจากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารกลุ่มสามารถฯ ที่จะพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งหนึ่งว่าจะสามารถนำบริษัทขึ้นไปเป็นบริษัทอินเตอร์ได้หรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.