กลุ่มสามารถฯ นำโดยธวัชชัย วิไลลักษณ์ ยอมตัดใจขายหุ้นในสามารถ คอร์ปอเรชั่น
20.12% และบริษัทในเครือฯ อีก 33.33% ให้กับกลุ่มเทเลคอม มาเลเซียฯ เพื่อร่วมพัฒนาธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
หวังได้ความเชี่ยวชาญจากพันธมิตรเพื่อปูทางก้าวไปสู่การเป็นบริษัทอินเตอร์
ด้านเทเลคอม มาเลเซียฯ หวังศักยภาพบุคลากรด้านมัลลิมีเดียของกลุ่มสามารถฯ สร้างโครงการ
MSC
ในปี 2535-2538 นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มธุรกิจที่มาแรงที่สุดคือกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
(Communication) สังเกตได้จากผลประกอบการของแต่ละบริษัทของกลุ่มธุรกิจสื่อสารเติบโตขึ้นอย่างมาก
เช่น บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JASMIN) มีกำไรสุทธิปี 2535-2538 จำนวน
153.01 ล้านบาท, 183.94 ล้านบาท, 601.36 ล้านบาท และ 1,369.05 ล้านบาท ตามลำดับ
บมจ. ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น (UCOM) มีกำไรสุทธิปี 2535-2538 จำนวน 223.58
ล้านบาท, 712.62 ล้านบาท, 2,001.37 ล้านบาท และ 2,801.78 ล้านบาท ตามลำดับ
บมจ. เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น (TA) มีกำไร (ขาดทุน) สุทธิปี 2535-2538
จำนวน (41.06 ล้านบาท), 564.71 ล้านบาท, 638.61 ล้านบาท และ 1,290.70 ล้านบาท
ตามลำดับ
บมจ. ไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น (TT&T) มีกำไร (ขาดทุน)
สุทธิปี 2536-2538 จำนวน (166.53 ล้านบาท), 190.35 ล้านบาท และ 830.51 ล้านบาท
ตามลำดับ
บมจ. ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น (SHIN) มีกำไรสุทธิปี 2535-2538
จำนวน 511.50 ล้านบาท, 1,472.07 ล้านบาท, 2,765.38 ล้านบาท และ 3,295.93
ล้านบาท ตามลำดับ และ บมจ. สามารถ คอร์ปอเรชั่น (SAMART) มีกำไรสุทธิปี 2535-2538
จำนวน 80.24 ล้านบาท, 103.89 ล้านบาท, 283.73 ล้านบาท และ 474.79 ล้านบาท
ตามลำดับ
แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมเริ่มเข้าสู่ช่วงชะลอตัวดูได้จากผลประกอบการปี
2539 เริ่มลดลง อย่าง JASMIN มีกำไรสุทธิ 947.10 ล้านบาท UCOM มีกำไรสุทธิ
2,406.94 ล้านบาท TT&T กำไรสุทธิ 424.22 ล้านบาท SHIN กำไรสุทธิ 2,631.36
ล้านบาท ส่วน SAMART กำไรเพิ่มขึ้นโดยมีกำไรสุทธิ 499.98 ล้านบาท ในขณะที่
TA ขาดทุนสุทธิ 1,924.12 ล้านบาท
จังหวะเวลานี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากในปี 2543
ธุรกิจสื่อสารจะเข้าสู่ธุรกิจไร้พรมแดน คือ การเปิดเสรีทางธุรกิจ ซึ่งแข่งขันนับวันจะรุนแรงมากขึ้น
โอกาสที่บริษัทเหล่านี้จะเห็นกำไรงาม ๆ เหมือนอดีตคงจะลำบากและการบริหารงานนับจากนี้เป็นต้นไปจะไม่งาย
เพราะธุรกิจนี้หมดยุคผูกขาดแล้ว
ดังนั้นความอยู่รอดของแต่ละบริษัทจึงขึ้นอยู่กับว่าใครมองการณ์ไกลมากกว่ากัน
และในขณะนี้บริษัทต่าง ๆ เหล่านี้เริ่มขยับตัวกันบ้างแล้ว และบริษัทเด่นที่สุดในกลุ่มธุรกิจสื่อสารสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับกับยุคไร้พรมแดน
คือกลุ่มสามารถฯ เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มนี้ได้ดึงมืออาชีพ เข้ามาร่วมเสริมเขี้ยวเล็บมากพอสมควร
โดยเฉพาะชาญชัย จารุวัสตร์ โดยดึงมาจากไอบีเอ็ม ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่เข้ามาสานต่อธุรกิจของกลุ่มสามารถฯ
ได้อย่างเหมาะสมเพราะจากองค์ประกอบของกลุ่มสามารถที่จะรองรับกับการแข่งขันในอนาคต
เช่นนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายต่างประเทศ การได้รับสัมปทานในโครงการจากรัฐบาล
เช่น การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) หรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.)
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการปรับทิศทางการบริหารงาน โดยมุ่งเน้นทำธุรกิจเพื่อรองรับวิถีโลกใหม่ที่เกิดขึ้นจากการผนวกของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
โทรคมนาคมและมัลติมีเดีย ที่เรียกว่า ECS (Electronic Commerce Solution)
และที่สำคัญการเป็นผู้ให้บริการ (Service Provider) ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ
Digital PCN 1800 และกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการ (Operator) ระบบ
PCN รายที่ 3 อันเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มสามารถฯ
"แต่องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จที่วางไว้ได้เร็วขึ้น
คือ การสร้างพันธมิตรหรือร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ในแนวทางเดียวกัน"
ชาญชัย จารุวัสตร์กรรมการผู้จัดการใหญ่ฯ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของกลุ่มสามารถฯ
ในการก้าวเข้าสู่ยุคการแข่งขันเสรี
ดึงเทเลคอม มาเลเซียฯ ร่วมทุน
จากความตั้งใจของกลุ่มสามารถฯ ในการก้าวเข้าสู่การแข่งขันยุคเสรี ตอนนี้เริ่มปรากฎเด่นชัดขึ้นมาแล้ว
ล่าสุดกลุ่มสามารถฯ ได้ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคมของมาเลเซียอย่าง บริษัท
เทเลคอมมาเลเซีย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Telekom Malasia International
: TMI) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเทเลคอม มาเลเซีย เบอร์ฮัด (Telekom Malasia
Berhad : TMB) ที่ได้ตัดสินใจซื้อหุ้นของกลุ่มสามารถฯ
โดยจะเข้าไปถือหุ้นในสามารถ คอร์ปอเรชั่น จำนวน 20.12% คิดเป็นจำนวนหุ้น
14 ล้านหุ้นของทุนจดทะเบียน เรื่องนี้ชาญชัยได้เล่าว่าหุ้นดังกล่าวที่ทางเทเลคอม
มาเลเเซียฯ เข้ามาถือนั้นจะซื้อจากกลุ่มวิไลลักษณ์ทั้งหมดในราคาหุ้นละ 133
บาท คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,862 ล้านบาท และเทเลคอม มาเลเซียฯ ยังได้เข้าถือหุ้นในบริษัท
ดิจิตอลโฟน (DPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของสามารถฯ โดยจะเข้ามาลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนในสัดส่วน
33.33% ของทุนจดทะเบียน 296.38 ล้านหุ้น คิดเป็นเงินลงทุน 135 ล้านเหรียญสหรัฐ
หรือประมาณ 3,510 ล้านบาท
เมื่อเทเลคอม มาเลเซียฯ เข้ามาถือหุ้นใน DPC แล้วจะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นเปลี่ยนไปจากเดิมที่สามารถฯ
ถือ 88.90%, บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (TAC) ถือ 10% และ กสท.
ถือ 1.10% จะเปลี่ยนเป็นสามารถฯ, TMI, TAC และ กสท. ถือ 59.27%, 33.33%,
6.67% และ 0.73% ตามลำดับ
การตัดสินใจขายหุ้นให้กับเทเลคอม มาเลเซียฯ เกิดจากแนวความคิดของกลุ่มสามารถฯ
เองที่ต้องการเป็นผู้นำด้าน ECS ซึ่งความคิดนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 แต่ทำอย่างไรถึงจะเป็นผู้นำในด้านนี้ได้
เพราะถ้าศักยภาพไม่เพียงพอโอกาสที่จะเป็นผู้นำด้าน ECS คงจะลำบาก
"นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมาเราจึงได้เริ่มออกไปหาพันธมิตรในต่างประเทศเพื่อให้เขาเข้ามาร่วมทำงานกับเราทั้งในอเมริกาและยุโรป
เพราะเรายังเป็นองค์กรที่เล็กจะไปเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมระดับประเทศและระดับภูมิภาคได้อย่างไร
เพราะเราขาดทั้งเทคโนโลยี, เงินลงทุนและการขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศ. ชาญชัยกล่าวกับ
"ผู้จัดการรายเดือน"
และสาเหตุที่กลุ่มสามารถฯ เลือกเทเลคอม มาเลเซียฯ เพราะว่าเป็นบริษัทเดียวที่มีปัจจัยทั้ง
3 อย่างให้ รวมทั้งการเข้าถือหุ้นทั้งในบริษัทแม่และบริษัทลูก ในขณะที่บริษัทอื่น
ๆ ที่กลุ่มสามารถฯ ไปเจรจาต้องการเพียงเข้ามาถือหุ้นใน DPC บริษัทเดียวเท่านั้น
"ถ้าถือหุ้นทั้งแม่และลูกจะทำให้การร่วมกันทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าถือเฉพาะบริษัทลูก"
นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นในประสบการณ์และการให้บริการลูกค้าเทเลคอม มาเลเซียฯ
และการมีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มสามารถฯ ที่จะพัฒนาธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
คอมพิวเตอร์ และมัลติมีเดียในประเทศไทย
สำหรับ ดาโต๊ะ มูฮัมเหม็ด ซาอิด บิน มูฮัมเหม็ด อาลี ประธานของเทเลคอม
มาเลเซียฯ ได้กล่าวถึงการตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนกับกลุ่มสามารถฯ ว่าเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโทรคมนาคมโลกในยุคไร้พรมแดน
โดยเฉพาะด้านมัลติมีเดียซึ่งเป็นธุรกิจในอนาคตและยังเป็นครั้งแรกสำหรับการลงทุนในต่างประเทศของเทเลคอม
มาเลเซียฯ ที่ลงทุนทั้งด้านเครือข่ายและการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย (value
added) ทั้งนี้ในส่วน value added ของกลุ่มสามารถฯ เป็นสิ่งที่เทเลคอม มาเลเซียฯ
สนใจเป็นอย่างยิ่งและมีแผนการที่จะนำไปทำตลาดในประเทศอื่น ๆ ที่เราเข้าไปลงทุนโดยอาศัยบุคลากรของกลุ่มสามารถฯ
เพราะปัจจุบันกลุ่มเทเลคอม มาเลเซียฯ เข้าไปลงทุนในประเทศอินเดีย ศรีลังกา
บังกลาเทศ กัมพูชา แอฟริกาใต้ กานา มาลาวี
ในช่วงแรก ๆ นี้ทั้งสองจะร่วมมือกันในลักษณะร่วมลงทุนด้วยกันในด้านการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
PCN 1800 เนื่องจากในต้นปี 2541 กลุ่มสามารถฯ มีแผนจะเปิดให้บริการ "ดังนั้นในช่วงนี้เราจึงต้องเร่งขยายเครือข่ายของ
DPC ให้ทั่วประเทศก่อน ส่วนโครงสร้างซัปพลายเออร์ตอนนี้กำลังเลือกอยู่ซึ่งก็มีทั้งโนเกีย
ลูเซ่น เทคโนโลยีและอิริคสัน" ชาญชัย กล่าว
เนื่องจากการขยายเครือข่ายของ DPC จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000-9,000
ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่ร่วมลงทุนในลักษณะนี้คงจะต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะจำนวนเม็ดเงินดังกล่าวกลุ่มสามารถฯ
ไม่สามารถระดมทุนได้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั้งสอง จะร่วมลงทุนแล้วแต่ก็ยังขาดเงินอีกพอสมควรในการสร้างเครือข่าย
เพราะปัจจุบัน DPC มีเงินหมุนเวียนประมาณ 6,250 ล้านบาท
"ถือว่าปัจจุบัน DPC มีความแข็งแกร่งมาก แต่เราก็ยังต้องการเงินอีกจำนวนหนึ่ง
ดังนั้นเราจึงมีแผนที่จะนำหุ้นในกลุ่มสามารถฯ ที่ถือใน DPC ออกขายประมาณ
10% โดยส่วนนี้เราจะโรดโชว์ให้นักลงทุนรายเล็กทั้งในและต่างประเทศ แต่เราไม่เร่งรีบอะไรเพราะขณะนี้เงินทุนที่มีอยู่ก็มากพอแล้ว"
ชาญชัย กล่าว
เมื่อร่วมมือกันแล้วผลประโยชน์ที่จะได้คือ การเอื้อประโยชน์ในการใช้เครือข่ายระบบ
PCN 1800 ร่วมกัน เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา เลเลคอม มาเลเซียฯ เพิ่งเปิดบริการโทรศัพท์ระบบ
1800 นอกจากนี้ยังจะได้ประโยชน์ในเรื่องการซื้อเครื่องลูกข่ายจากผู้ผลิตได้ในราคาต่ำ
เพราะกลุ่มสามารถฯ ซื้อเพียงครั้งเดียวได้ปริมาณมากและนำไปจำหน่ายในประเทศที่เทเลคอม
มาเลเซียฯ เข้าไปลงทุน
"เรายังคิดไปถึงว่าเครือข่ายจะเป็นซัปพลายเออร์เดียวกัน ฉะนั้นการเจรจาต่อรองจะสูงขึ้น
ลูกข่ายก็คือมือถือเหมือนกัน เราก็มีอัตราต่อรองมาก แต่ก่อนเราซื้อปีละ 2-3
หมื่นเครื่อง แต่เมื่อรวมกับเทเลคอม มาเลเซียฯ จะเพิ่มเป็นแสนเครื่อง จะช่วยทั้งสองฝ่ายที่จะแข่งขันได้เป็นอย่างดี"
ชาญชัย กล่าว
นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมมือในด้านเพจเจอร์เนื่องจากทั้งสองมีบริการด้านนี้
โดยกลุ่มสามารถฯ มีบริการเพจเจอร์ที่เรียกว่า โพสเทล (Postel) ส่วนด้านเทลเคอม
มาเลเซียฯ มีบริการที่เรียกว่า Sky Tel ซึ่งทั้งสองมีแนวคิดจะทำเครือข่ายเพจเจอร์
(Pager Roaming) ร่วมกัน
"เรามีแนวความคิดร่วมกันในเรื่องนี้โดยเฉพาะในแถบภาคใต้เพราะมีการเดินทางระหว่างประเทศกันมาก
ถึงแม้ว่าจะอยู่คนละประเทศก็สามารถเรียกกันได้ อีกทั้งเรายังจะนำสินค้าของเรา
เช่น เพจเจอร์ เสาอากาศ จานดาวเทียม ไปขายในมาเลเซียด้วย" ชาญชัย เล่า
และที่สำคัญกลุ่มสามารถฯ ยังต้องการให้เทเลคอม มาเลเซียฯ ช่วยการขยายตลาดในเรื่องโทรศัพท์พื้นฐาน
6 ล้านเลขหมายที่จะเปิดประมูลในอนาคต "ที่นำเขาเข้ามาร่วมประมูลเพราะเราไม่มีความชำนาญในเรื่องโทรศัพท์พื้นฐาน
แต่ถ้าดึงพันธมิตรเข้ามาโอกาสที่เราจะประมูลได้จะเปิดกว้างมากขึ้น"
ส่วนทางด้านเทเลคอม มาเลเซียฯ นั้น จะได้ประโยชน์จากการร่วมลงทุนในครั้งนี้อย่างมากเช่นเดียวกัน
เนื่องจากในขณะนี้เทเลคอม มาเลเซียฯ กำลังมีบทบาทสำคัญในโครงการสร้างสาธารณูปโภคในโครงการมัลติมีเดีย
ซูเปอร์ คอร์ริดอร์ (Multimedia Super Corridor : MSC) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐานของมาเลเซีย
เป้าหมายหลักเพื่อให้บริการด้านสื่อโทรคมนาคมในลักษณะ one stop service ซึ่งมีมูลค่าโครงการทั้งสิ้นประมาณ
5 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
โครงการ MSC จะเป็นศูนย์กลางให้บริการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่าง
ๆ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป หรือแถบอาเชียน โดยใช้สายไฟเบอร์ออพติก ซึ่งโครงการดังกล่าวต้องการเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าไปสนับสนุนโครงการ
และทางเทเลคอม มาเลเซียฯ ก็มั่นใจว่ากลุ่มสามารถฯ จะช่วยเหลือได้
"เรามั่นใจในศักยภาพของบุคลากรด้านมัลติมีเดียของกลุ่มสามารถฯ ซึ่งหายากมากในแถบภูมิภาคนี้
ซึ่งจุดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อโครงการ MSC ที่เราวางเครือข่ายในมาเลเซีย สิ่งแรกที่จะดำเนินการคือ
ด้านอินเตอร์เน็ตและมัลติมีเดีย และในอนาคตจะเป็นการร่วมมือด้าน Data Communication
และ Information Superhighway" ประธานของเทเลคอม มาเลเซียฯ กล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้จากกลุ่มสามารถฯ
อย่างกว้าง ๆ
ระบบเด่น ๆ ที่ทางเทเลคอม มาเลเซียฯ ต้องการจากกลุ่มสามารถฯ ได้แก่ ระบบ
POSNET และทางด้านอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า ไซเบอร์เนต, ไซเบอร์มอลล์ โดยกลุ่มสามารถฯ
จะนำไปบริการในมาเลเซีย
สำหรับความกังวลใจในการบริหารงานร่วมกัน เรื่องนี้ชาญชัยก็ได้ยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาบ้างในบางครั้ง
แต่โดยรวมแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นผลดีในอนาคต เพราะกลุ่มสามารถฯ จะต้องเรียนรู้สำหรับการทำธุรกิจในระดับอินเตอร์
จะต้องยอมรับแนวความคิด วิธีการทำงานของพันธมิตรและต้องยอมแบ่งอำนาจในการบริหารงานให้กับพันธมิตร
"ถ้าเราไม่ยอมรับกับสิ่งเหล่านี้ โอกาสที่เราจะเติบโตก็ลำบาก และที่เราทำเช่นนี้ก็เป็นก้าวหนึ่งของเราที่กำลังจะกลายเป็นบริษัทอินเตอร์
ได้บริหารงานร่วมกับบริษัทต่างประเทศ"
ดังนั้นการร่วมมือกันในครั้งนี้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทั้งแนวความคิด
การบริหารงาน เทคโนโลยีระหว่างกัน เนื่องจากเทเลคอม มาเลเซียฯ เชี่ยวชาญในเรื่องการวางเครือข่าย
ส่วนกลุ่มสามารถฯ ชำนาญและมีประสบการณ์เรื่องการบริการในเรื่องต่าง ๆ
การตัดสินใจในครั้งนี้จะช่วยสานฝันให้กลุ่มสามารถฯ กลายเป็นบริษัทอินเตอร์รายแรกในประเทศไทยของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมได้หรือไม่นั้น
น่าจับตามองอย่างยิ่ง