|
จับตาบ้านมือสอง-มือใหม่แข่งเดือดงัดกลยุทธ์การตลาดแย่งลูกค้าตลาดล่าง
ผู้จัดการรายวัน(10 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นับจากที่คณะรัฐมนนตรี(ครม.)มีการอนุมัติให้กระทรวงการคลังออกมาตรการส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง เมื่อวันที่13 ก.ย. 2548 โดยให้กระทรวงการคลังสนับสนุนมาตรการใน2 ด้าน คือ ตามมาตรการภาษี,ค่าธรรมเนียม และมาตรการกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของมาตรการภาษี ได้มีการยกเว้นอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ขาย อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย อาทิ บ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ทาวน์เฮาส์ พร้อมที่ดิน อาคารชุด อาคารพาณิชย์ แต่ไม่รวมถึงการซื้อขายที่ดินเปล่า
ส่วนมาตรการส่งเสริมด้านค่าธรรมเนียม คือการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก2 %เหลือ 0.01% และ การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จาก 1 % เหลือ 0.01% ในกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ พร้อมที่ดิน อาคารชุด และอาคารพาณิชย์ ซึ่งไม่นับรวมที่ดินเปล่า ทั้งนี้เฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
สำหรับ มาตรการสนับสนุนด้านกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ในระยะสั้น ให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังเพื่อขึ้นบัญชีรายชื่อบริษัทตัวแทนและนายหน้าไว้ที่ศูนย์ข้อมูลนายหน้าอสังหาริมทรัพย์และในระยะยาว และให้มีการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนและนายหน้าอสังหาฯ
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันตลาดบ้านมือสองมีขนาดใหญ่กว่าบ้านมือหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับเป็น Housing Stock โดยคาดว่าในกรุงเทพฯมี Stock บ้านมือสองรวมประมาณ 3 ล้านหน่วย ในขณะที่บ้านมือหนึ่งในแต่ละปีมีประมาณ 60,000-70,000 หน่วย ดังนั้น เมื่อมีการสนับสนุนตลาดบ้านมือสองอย่างจริงจังออกมา จึงเชื่อว่าจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยเป็นการเพิ่มข้อได้เปรียบและซับพลายในตลาดบ้านมือสอง ซึ่งจะเกิดความหลากหลายของประเภทที่อยู่อาศัย ราคา และทำเล
และยังเป็นการเพิ่มดีมานด์ ในตลาดที่อยู่อาศัยในด้านจำนวนผู้ซื้อและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ที่ต้องการขายสามารถขายได้ และมีสภาพคล่องซื้อบ้านหลังใหม่ ซึ่งอาจเป็นบ้านมือหนึ่งหรือบ้านมือสองก็ตาม และจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงส่งผลดีต่อสถาบันการเงิน โดยเป็นการเพิ่มสินเชื่อให้แก่สถาบันการเงิน และช่วยลด NPA ของสถาบันการเงินเนื่องจากสภาพคล่องที่สูงขึ้นจะทำให้ขาย NPA มากขึ้น
จากมาตรการดังกล่าว ทำให้เกิดการตื่นตัวของผู้บริโภคในตลาดที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ในขณะที่ปัจจุบันกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มลดลง เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาทางเลือกในการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งบ้านมือสองนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในขณะเดียวกันนอกจากมาตรการของภารัฐฯที่เข้ามาสนับสนุนแล้ว สถาบันการเงินที่ต้องการระบาย NPA ออกไปก็ได้ออกโปรโมชันเข้าร่วมด้วย โดยล่าสุด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ได้จัดมหกรรมบ้านมือสอง 4 มุมเมืองขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนมาตรการรัฐฯ พร้อมกับได้จัดโปรโมชันปล่อยกู้ 100% จากราคาประเมินบ้านมือสอง ในกรณีที่ซื้อบ้านมือสองซึ่งเป็น NPA ของ ธอส.เอง และปล่อยกู้ 80% จากราคาประเมินในกรณีซื้อบ้านมือสองในตลาดทั่วไป
ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบในการเลือกซื้อบ้านมือหนึ่ง และบ้านมือสองเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ดี โดยพื้นฐานแล้วผู้บริโภคแทบทุกรายที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจะเลือกบ้านใหม่มากกว่าบ้านเก่า แต่จากมาตรการที่จูงใจ ซึ่งเพิ่มทางเลือกในการซื้อบ้านมือสองที่หลากหลายและมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องราคา ทำเล และการปล่อยกู้ ในขณะที่ บ้านมือหนึ่ง มีข้อได้เปรียบในเรื่องของ ความใหม่ และไม่มีปัญหาในเรื่องการฟ้องขับไล่เจ้าของเดิมในกรณีที่มีการซื้อบ้าน NPA จากสถาบันการเงิน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบในการเลือกซื้อเกิดขึ้นระหว่าง 2 ตลาด ดังนี้ในปี2549 นี้จึงทำให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างตลาดบ้านมือสอง และบ้านมือหนึ่ง โดยเฉพาะด้านมือหนึ่งที่นอกจากจะต้องแข่งขั้นกันเองแล้วยังต้องแข่งกับบ้านมือสองด้วย
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในกลุ่มผู้ประกอบการบ้านมือหนึ่งเริ่มมีการจัดแคมเปญในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งหวังจะสร้างความได้เปรียบด้านการตลาด โดยมีการออกแคมเปญ ฟรีค่าธรรมเนียมการโอน ฟรีค่าอากรภาษี และฟรีค่าเงินทำสัญญา เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการตัดสินใจซื้อ โดยผู้ประกอบการเองยอมแบกรับค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าฟรีต่างๆไว้เอง เพื่อให้เกิดข้อได้เปรียบในด้านการตลาด ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการตัวแทนนายหน้าบ้านมือสอง เองก็พยายามสร้างความได้เปรียบทางด้านการาตลาดให้มากขึ้น ด้วยการจัดแคมเปญต่างๆเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตามองว่าในปีนี้ การแข่งขันในตลาดอสังหาฯ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านใด ซึ่งไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านใดเชื่อว่าผลดีที่เกิดจากการแข่งขันในตลาดจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|