|
'ร้อกเวิธ'รุกส่งออกเฟอร์นิเจอร์สนง.ใช้อินเดียเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า
ผู้จัดการรายวัน(9 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"ร้อกเวิธ" เจ้าตลาดเฟอร์นิเจอร์อาคารสำนักงาน ใส่เกียร์รุกตลาดทั้งใน-ตปท. มั่นใจปีนี้ยอดขายแตะ 1,000 ล้านบาท หลังออเดอร์จากภาครัฐ-เอกชน-บริษัทข้ามชาติทะลัก เร่งเพิ่มแชร์ส่งออก ผนึกดีลเลอร์ในอินเดียตั้งศูนย์กระจายสินค้า ส่งอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีกระจายสินค้าสู่กลุ่มเอเชียใต้ เพิ่มอัตราเร่งดีลเลอร์ดูไบขยายสู่ตะวันออกกลาง คาดไม่เกิน 3 ปี สัดส่วนรายได้ส่งออกขยับมาอยู่ที่ 50% พร้อมนำกำไร ทยอยล้างขาดทุนสะสม ระบุไม่เกินปี 2550 ล้างหมด
นายชัชวาล พงษ์สุทธิมนัส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ร้อกเวิธ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน ภายใต้แบรนด์ "ร้อกเวิธ" ที่ให้บริการลูกค้าทั้งในประเทศและเอเชีย รวมถึงตะวันออกกลาง เปิดเผยถึงทิศทางของบริษัทในปี 2549 ว่า จากตัวเลขผลประกอบการในปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องมาปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ใหม่ หลังจากธุรกิจของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้ายอดขายระดับ 1,000 ล้านบาท โดยขณะนี้มียอดรอส่งสินค้าเฟอร์นิเจอร์ให้แก่ลูกค้ามูลค่าถึง 250 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเป้าทั้งปี อาทิ อาคารสำนักงานการบินไทย ที่จะต้องมีการย้ายไปอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าประมาณ 164 ล้านบาท เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ 2548 นายชัชวาล กล่าวว่ามียอดขายรวม 798 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึง 15% แบ่งเป็นยอดขายภายในประเทศ 556 ล้านบาท และยอดขายต่างประเทศ 242 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากปี 47 ถึง 46% ส่วนยอดขายต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 21% โดยตัวเลขกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 37 ล้านบาท (เติบโตจากปีก่อนหน้านี้ถึง 200%)คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 3.70 สตางค์ ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าหลักของร้อกเวิธมีทั้งโครงการขนาดใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ และกลุ่มธุรกิจต่างๆ เช่น การธนาคาร,การเงิน, สื่อสารและประกันภัย
"ปีนี้ บริษัทจะยังคงเสริมสร้างจุดเด่นด้านความชำนาญเฉพาะทาง ในการเป็นผู้ให้บริการและผลิตเฟอร์นิเจอร์สำนักงานอย่างครบวงจร การกระตุ้นให้ลูกค้านึกถึงสินค้าของร้อกเวิธเมื่อต้องการเฟอร์นิเจอร์ ขณะเดียวกันทางบริษัทจะมีการเติบโตควบคู่ไปกับลูกค้า หรือเชื่อมลูกค้าเพื่อขยายผลไปสู่ความร่วมทางธุรกิจ การส่งเสริมคู่ค้าทางธุรกิจ เช่น ในปีที่ผ่านมาได้จับมือกับ Sinetica จากอิตาลี ซึ่งเป็นแบบผนังเข้ามาร่วมพัฒนาและจำหน่ายสินค้าในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกับที่เป็นพันธมิตรกับ ออลสตีลจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์เฉพาะทางเจาะกลุ่มลูกค้าสหรัฐในไทย หรือจากญี่ปุ่น Itoki ที่ญี่ปุ่นส่งวัตถุดิบมาผลิตในไทยและนำไปจำหน่ายในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็ยังพ่วงแบรนด์ร้อกเวิธเข้าไปด้วย "
นายชัชวาลกล่าวว่า บริษัทได้ทุ่มงบ 60 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโฉมรูมสาขาอโศกในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ในการนำเสนอสินค้ามากถึง 2,000 ตร.ม.และยังเป็นโชว์รูมที่ทันสมัย นอกจากนี้ บริษัทจะเร่งเสริมสร้างศักยภาพในการบุกตลาด โดยการผนึกกับดีลเลอร์ในอินเดีย เพื่อทำศูนย์กระจายสินค้า โดยทางดีลเลอร์จะเป็นผู้ที่ให้
และทางบริษัทจะมีการส่งส่วนประกอบหลักๆของสินค้าเฟอร์นิเจอร์ร้อกเวิธไปที่ศูนย์กระจายสินค้าในอินเดีย เบื้องต้นจะมีมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท
โดยประโยชน์ที่จะได้รับ คือ อินเดียมีข้อตกลงเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกไปยังกลุ่มเอเชียใต้ ที่เรียกชื่อย่อว่า SARC ที่ครอบคลุม 7 ประเทศ เช่น ศรีลังกา ,ปากีสถาน และภูฐาน เป็นต้น ขณะเดียวกัน จะมีการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบภายในประเทศอินเดียเข้ามาประกอบกับเฟอร์นิเจอร์ เช่น การนำผ้ามาหุ้มสินค้า ทำให้ต้นทุนในส่วนลดลงประมาณ 10-20% และมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันในด้านราคากับคู่แข่ง ขณะที่บริษัทจะเร่งขยายฐานส่งออกไปสู่ตะวันออกกลางมากว่าที่เป็นอยู่
" เราต้องมุ่งพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ใน 25 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายเข้าไปในภูมิภาคเอเชียใต้ และยุโรปตะวันออกให้ได้อย่างน้อย 3 ประเทศ รวมเป็น 28 ประเทศ โดยประเทศรัสเซียเรากำลังมองอยู่ ทั้งนี้ จากข้อมูลที่บริษัทสำรวจ พบว่า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลกมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้เราเห็นโอกาศที่จะเข้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาด โดยคาดว่าในระยะ 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนการส่งออกจะขยับขึ้นมาที่ 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% "นายชัชวาลกล่าว
ประธานกรรมการฯ กล่าวถึงการบริหารต้นทุนของบริษัทฯว่า ถึงแม้จะสามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาต้นทุนในการดำเนินธุรกิจแม้จะลดลงมาอยู่ที่ 67% แต่ทางบริษัทได้หาวิธีลดต้นทุนควบคู่ไปกับสร้างคุณภาพของสินค้า โดยได้จ้างที่ปรึกษาจากประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อ ไคเซน เข้ามาวางแผนการบริหารต้นทุน นอกจากนี้ในเรื่องของการลดตัวเลขขาดทุนสะสมนั้น ทางบริษัทยังคงต้องดำเนินการ โดยการที่จะนำกำไรไปทยอยลด ซึ่งคาดว่าในปี 2550 จะสามารถล้างขาดทุนสะสมได้ ขณะที่มีกระแสเงินสดในมือประมาณ 100 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|