โบรกสิงคโปร์ซ่อนหุ้นชิน


ผู้จัดการรายวัน(9 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ฝ่ายค้านจี้ ปปง.สอบตระกูลชินวัตรข้อหา "ฟอกเงิน-ปกปิดทรัพย์สิน-หลีกเลี่ยงภาษี" แฉแอมเพิล ริช 2 คือ VKB เป็นโบรกเกอร์สิงคโปร์สัญชาติอังกฤษ "เอกยุทธ์" แฉแม้วยังมีตัวแทนในเกาะเวอร์จิ้นส์ "กรณ์" ข้องใจแบงก์ชาติไม่พบเส้นทางเงินไหลออก รุกกรมสรรพากรเรียกร้องเก็บภาษี ณ ที่จ่าย กรณีซื้อหุ้นราคาต่ำกว่าตลาด พรรคชาติไทยแนะแก้กฎกระทรวง เหตุชี้ช่องไม่ต้องเสียภาษี ศาล รธน.เผยรับหรือไม่รับวินิจฉัยซุกหุ้นภาค 2 ว่ากันตามเนื้อผ้า ไฟแนนเชียลไทมส์ระบุดีลชินคอร์ปตอกย้ำ'บรรษัทภิบาล'ไทยยังย่ำแย่

วานนี้ (8 ก.พ.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไปตรวจสอบพฤติกรรมการขายหุ้นของตระกูลชินวัตร เนื่องจากเห็นว่ามีความสลับซับซ้อนและการไม่ชอบมาพากลอยู่ น่าจะเข้าข่ายฐานความผิดฟอกเงิน ปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากจากการตรวจสอบเส้นทางเดินของหุ้นดังกล่าว หลังจากตั้งแอมเพิล ริช มีการถือหุ้น 32.92 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 42 แต่ต่อมาในวันที่ 21 ก.ค. 43 กลับพบว่าแอมเพิล ริชถือหุ้นเพียง 22.92 ล้านหุ้นเท่านั้น และมีผู้ถือหุ้นรายใหม่คือ Vickers Ballas &Co.,PTE LTD (VKB ) ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ในสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้น 11.56 ล้านหุ้น โดยแอมเพิล ริช ไม่เคยแจ้งการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นเหล่านี้ต่อ ก.ล.ต.

นายกรณ์ยังเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเอาผิดนายกฯที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เนื่องจากนายกฯและคุณหญิงพจมาน เคยแจ้งต่อ ก.ล.ต.ว่า วันที่ 1 ก.ย. 43 แอมเพิล ริช ได้ถือหุ้นชินไว้ 32.92 ล้านหุ้น แต่เมื่อตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว กลับพบว่า ในวันดังกล่าว แอมเพิล ริช ถือหุ้นแค่ 22.92 ล้านหุ้น เท่านั้น แต่VKBได้เข้ามาถือหุ้นแล้ว 11.56 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นหลักฐานชัดเจนว่ามีการแจ้งทรัพย์สินอันเป็นเท็จ

“VKBเข้ามาถือหุ้นเพียง 8 เดือนแล้วก็หายตัวไป ต่อมากลับพบว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหม่อีก2รายโผล่มาคือแอมเพิลริช 2 ซึ่งอยู่ที่สิงค์โปร์เช่นกัน แต่มีสัญชาติเป็นอังกฤษเข้ามาถือหุ้น 10 ล้านหุ้น รายที่ 2 คือ UBS AG Singapore Branch สาขาสิงคโปร์ถือหุ้น 5.396 ล้านหุ้น จากนั้น 4 เดือนแอมเพิล ริช 2 ก็หายไป แต่UBSได้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 15.405 ล้านหุ้น” นายกรณ์กล่าวและจับพิรุธการถือหุ้นของแอมเพิล ริชกับUBSว่า เจ้าของแอมเพิลริชกับเจ้าของUBSน่าจะเป็นคนเดียวกัน เนื่องจากในวันที่ 30 ส.ค. 47 หุ้นของแอมเพิล ริช ทั้งหมดได้หายไป แต่UBSเป็นผู้ถือหุ้นชินเพิ่มขึ้นเป็น 35.33 ล้านหุ้น ซึ่งหากเป็นคนละคนกันก็ต้องมีการแจ้งผ่านแบบฟอร์ม 246-2 เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 แต่ก็น่าแปลกใจที่ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 21 ส.ค. 44 UBS กลับต้องซื้อหุ้นชินฯจากแอมเพิลริช2

“ในวันดังกล่าว USB ได้เคยแจ้งในแบบฟอร์ม 246-2 ต่อกลต.ว่าได้ซื้อหุ้นชินฯผ่านตลาดจากแอมเพิลริช2 จำนวน 10ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 179 บาท แต่เมื่อตรวจสอบรายงานการซื้อขายในวันที่21 ส.ค. 44 พบว่าไม่มีการซื้อขาย ตามที่UBSแจ้ง จึงถือว่ามีรายได้ขึ้นแล้ว กว่า1.7พันล้านบาท แล้วเงินจำนวนนี้หายไปไหนไปอยู่ในกระเป๋าใคร เข้าบัญชีนายพานทองแท้จริงหรือไม่ และจากข้อมูลวันที่26 ส.ค. 48 UBSได้แจ้งว่าเป็นการถือหุ้นเพื่อแอมเพิล ริช จึงถือเสมือนเป็นบุคคลเดียวกัน และหากนายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทาเป็นเจ้าของแอมเพิล ริช จริง ทำไมต้องมีการขายหุ้นไปมา ระหว่างUBSกับแอมเพิล ริช”

**ถามแบงก์ชาติเงินรั่วไหลยังไง

นายกรณ์ยังได้ตั้งคำถามต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า จะคิดอย่างไรที่มีการโอนหุ้นออกไปตั้งแอมเพิล ริชในราคาพาร์แค่10 บาท แต่ต่อมากลับมีการขายไปในราคา 179 บาท ซึ่งมีหลักฐานว่ามีการจ่ายเงินจริง โดยUBSได้กรอกแบบฟอร์มเป็นหลักฐาน

“แบงก์ชาติจะคิดอย่างไรที่มีเงินรั่วไหลไปต่างประเทศขนาดนี้ และเงินที่ได้อีก 1.7 พันล้านไปอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าเรื่องจะเป็นการติ๊กผิดอีกหรือไม่ เพราะสุดท้ายไม่ได้ทำการซื้อขายในตลาดก็ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เงินก้อนนี้ไปอยู่ไหน"

นายกรณ์กล่าวว่า นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทามีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่าตัวเองเป็นเจ้าของหุ้นชินที่ถือในแอมเพิล ริชจริงๆ เพราะจากการติดตามเส้นทางพบว่า มีการซื้อขายหุ้นชินในตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่องผ่านบัญชีของ UBS ตั้งแต่ปี 44 เป็นต้นมา

“แปลกแต่จริงครับ ข้อมูลทั้งหมดที่เราได้มาล้วนแต่เป็นข้อมูลสาธารณะเช่นทะเบียนผู้ถือหุ้น รายงานต่างๆจากกตล. ข้อมูลการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งความจริงถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบจริงๆ ก็สามารถทำได้เหมือนกับที่เราทำ ถึงแม้เรื่องนี้จะสลับซับซ้อนแต่ถ้าลำดับแล้วก็จะเห็นอย่างชัดเจน หน่วยงานราชการก็สามารถสืบหาได้ โดยตระกูลชินวัตรต้องชี้แจงให้ชัดเจน แม้เรื่องจะซับซ้อนก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะละเลยไม่ตรวจสอบเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่จริยธรรมผู้นำเท่านั้น แต่ยังเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย

**ยื่นกรมสรรพากรวินิฉัย

วานนี้ (8 ก.พ.) นายกรณ์พร้อมด้วยนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา เดินทางไปยื่นหนังสือที่กรมสรรพกรเพื่อเรียกร้องให้จัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป โดยระบุว่า ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบกรณีการขายหุ้นชินคอร์ป ขอให้อธิบดีกรมสรรพากร เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากบริษัทแอมเพิล ริช อินเวสเม้นท์ ที่ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับบุตรชายและบุตรสาวนายกรัฐมนตรีในราคา 1 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด จากนั้นได้ขายต่อให้กองทุนเทมาเส็กในราคา 49.25 บาท ซึ่งมีกำไร 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เห็นว่ากรมสรรพากรควรเก็บภาษีจากกำไรจำนวน 3,000 ล้านบาท เนื่องจากตามคำวินิจฉัยเดิมของกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 ระบุว่ากรณีที่บริษัทขายหรือแจกหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาดให้กับพนักงาน ลูกจ้าง หรือกรรมการถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งกรณีดังกล่าวสอดคล้องกับการขายหุ้นของพนักงานบริษัทกฟผ.จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตามได้ให้เวลาอธิบดีกรมสรรพากรพิจารณาตามข้อร้องเรียนภายใน 2 สัปดาห์นอกจากนี้รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่ากรณีขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่เสียภาษีนั้นอาจเป็นช่องโหว่ให้บริษัทหรือนิติบุคคลอื่นปฏิบัติตามเพื่อเลี่ยงภาษีได้

นายศิริโชคกล่าวว่า หลักฐานในเอกสารพบว่ามีการซื้อกันหลายรอบไม่ใช่ราคา 10 บาทแล้วแตกพาร์เหลือ 1 บาทตามที่กล่าวอ้าง เพราะมีการซื้อขายหุ้นกันถึงราคาหุ้นละ179 บาท จุดนี้เป็นการซื้อขายที่มีต้นทุนแล้ว กรมสรรพกรต้องไปตรวจสอบ และต้องตรวจสอบด้วยว่าบริษัทแอมเพิล ริช 1 และ2 เป็นของบุคคลเดียวกันหรือไม่

**แนะแก้กฎกระทรวงเหตุชี้ช่องหนีภาษี

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า อยากจะตั้งข้อสังเกตที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลังใช้ในการเก็บภาษีเงินได้จากประชาชน และมีข้อยกเว้นที่บุคคลธรรมดาอาจใช้อ้างไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีอยู่ถึง 109 เหตุ โดยเฉพาะที่อยู่ในกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 126 ที่ทำให้ผู้เสียภาษีเกิดข้อกังขาคาใจว่า ทำไมการขายหุ้นเป็นหมื่นล้านบาทผู้ขายจึงไม่ต้องเสียภาษี จากที่ตนได้ไปดูและศึกษาข้อยกเว้นที่กรมสรรพากรอ้างไว้นั้นพบว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมีการทบทวนกฎกระทรวง เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อสังคม ต่อคนที่มีรายได้ไม่มากหรือลูกจ้างทั่ว ๆ ไป

นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างข้ออ้างเหตุที่ 43 ที่ระบุว่า “เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร” เงินได้ก้อนนี้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเหตุที่ 53 ที่ว่า“เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบ ซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในจำนวนคนละไม่เกินสองชุดต่อปี และเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี” แปลว่า ลูกจ้างตามห้างสรรพสินค้า หรือสายการบิน หรือเด็กเสริฟ คนเดินตั๋วหนัง ถ้าได้รับเครื่องแบบฟรีจากเถ้าแก่เกินมาเป็นชุดที่สามในปีนั้น ให้ถามเถ้าแก่ว่าราคาเท่าไหร่ แล้วเอาราคานั้นบวกเงินเดือนทั้งปีของลูกจ้างมาคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย มิฉะนั้น ถ้าตรวจสอบพบก็คือผู้หลบเลี่ยงภาษี มีความผิดตามกฎหมาย อาจโดนเล่นงานย้อนหลัง เสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เมตตา

นอกจากนี้ยังมีเหตุที่ 57 “ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืน เมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 2 หมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น” แปลว่า ถ้าได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีฝากเผื่อเรียกเกิน 2 หมื่นบาทในปีไหน คุณต้องนำดอกเบี้ยส่วนที่เกิน 2 หมื่นบาทนี้มารวมรายได้อื่น เช่นเงินเดือนทั้งปีของคุณ เพื่อคำนวณภาษีในปีนั้นด้วย เป็นต้น

รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวอีกว่า จากที่ยกตัวอย่างมาจะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือคนออมเงินจะอ้างสักเหตุ เพื่อที่จะได้รับยกเว้นภาษีตามกฎระเบียบของกระทรวงการคลัง จะมีเงื่อนไขจุกจิก และมีเพดานขั้นต่ำ เช่น ต้องเป็นกรณีที่ได้มาน้อยกว่า 2 หมื่นบาทบ้าง 2 แสนบาทบ้าง ถ้าได้เกินกว่านี้ก็ไม่ได้รับยกเว้น ผิดกับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เงินมาหลายหมื่นล้านก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้แม้แต่บาทเดียว แต่ถ้ามาดูเรื่องเครื่องแบบพนักงานแล้ว กลุ่มเด็กเสริฟ คนขับแท็กซี่ รถเมล์ มีโอกาสผิดกฎหมายภาษีมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่ที่ผ่านมานายจ้างมักไม่ตัดเครื่องแบบให้ แต่กำหนดเป็นหน้าที่ของลูกจ้างว่าต้องสวมเครื่องแบบอีกต่างหาก จึงเห็นว่าคำชี้แจงไม่ว่าจะออกมาจากปากของนักกฎหมายภาษี ผู้บริหารตลาดฯ อธิบดี นักธุรกิจ หรือจากนายกรัฐมนตรี ล้วนเป็นคำตอบที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการอ้างจากกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม แต่ก็ไม่ยังเห็นใครสักคนในรัฐบาลและระบบราชการจะบอกว่าควรแก้ไขกติกาอย่างนี้

**เอกยุทธ์ร่วมแฉนอมินี "แม้ว"

นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ประธานบริหารเครือโอเรียนเต็ล มาร์ท กรุ๊ป ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของทีมงานตนที่ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการตั้งแอมเพิล ริช พบว่า มีชื่อของ Matheson Trust Company (BVI) Ltd. ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะบริติช เวอร์จิ้น เป็นตัวแทนที่ดูแลผลประโยชน์ให้แอมเพิล ริช จึงเห็นได้ว่าการจัดตั้งบริษัทนอมินีในลักษณะนี้ โดยเฉพาะบนเกาะบริติช เวอร์จิ้น จะมีการปกปิดว่าตัวเองถือหุ้น เพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบ

"เราลองเช็คไปก็พบว่า ไม่ปรากฏชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือคนในครอบครัวเลย แต่มาปรากฏชื่อของ Mathesonฯ เป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์แทน ผมมีเลขที่จดทะเบียนและวันที่จดทะเบียนชัดเจน แต่ขอเก็บเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการติดตามรายละเอียดของเรื่องนี้ต่อไปก่อน”

นายเอกยุทธกล่าวว่า มีความจงใจที่จะปกปิดทรัพย์สินชัดเจน และอาจไม่ใช่แค่มีเฉพาะหุ้น SHIN ที่ซื้อขายกันในแอมเพิล ริชเท่านั้น แต่น่าจะมีการปกปิดทรัพย์สินส่วนอื่นๆ มาผ่องถ่ายผ่าน Mathesonฯ ก็ได้ ทั้งนี้ Mathesonฯ ตั้งอยู่ที่ Box 3151, Skeleton Building, Main Street, Road Town, Tortola, BVI

นายเอกยุทธกล่าวว่า ยังมีคำถามที่พ.ต.ท.ทักษิณ ยังชี้แจงไม่ได้คือ การโอนหุ้นตัวเองไปไว้ในแอมเพิล ริช เอาเงินจากไหนไปซื้อหุ้นชินคอร์ป แสดงว่าพ.ต.ท.ทักษิณโอนเงินออกไปเพื่อเตรียมซื้อหุ้นตัวเอง 300 ล้านหุ้นเศษ เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณโอนเงินและไม่แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย แถมไปจดทะเบียนแอบแฝงเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ถูกต้อง เรื่องแบบนี้พ.ต.ท.ทักษิณต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ หรือจะออกมาปฏิเสธเลยก็ได้ว่า ไม่รู้จัก ไม่เกี่ยวข้องกับ Mathesonฯ เพราะจะได้รู้ว่า ใครโกหก

**ตุลาการรธน.ยันซุกหุ้น 2 ว่าตามเนื้อผ้า

กรณีที่ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่า รับหรือไม่รับเรื่องที่ประธานวุฒิสภา ส่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่กรณีการมีหุ้นเกิน 5% ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการจะพิจารณาในวันที่ 14 ก.พ. นั้น นายผัน จันทรปาน ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คำร้องดังกล่าวเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะศึกษาข้อมูลทั้งหมดและสรุปเรื่องให้คณะตุลาการ โดยคณะตุลาการจะพิจารณาว่าคำร้องเข้าข่ายหรือไม่ ใกล้เคียงกับของเก่าหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นตามบรรทัดฐานเดิม

นายผันยืนยันว่าแม้ว่าเรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ในกระแส และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อผู้นำของประเทศ ก็ไม่ทำให้เกิดความกดดันต่อการพิจารณาของคณะตุลาการ เพราะตั้งแต่การพิจารณาคดีซุกหุ้นฯ ที่ผ่านมา ตุลาการทุกคนก็ทำงานตามหน้าที่ ว่ากันไปตามเนื้อผ้า

“เรารู้อยู่แล้วว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่รับก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว ซึ่งเราจะยึดเนื้อหา ข้อเท็จจริงเป็นหลัก ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ถูกก็ว่ากันไปตามความจริง เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของแผ่นดิน” นายผันกล่าว

**ไฟแนนเชียลไทมส์ระบุดีลชินคอร์ป ตอกย้ำ'บรรษัทภิบาล'ไทยยังย่ำแย่

คอลัมน์ "The Lex Column" ซึ่งมีผู้ติดตามอ่านกันมาก ในปกหลังของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ฉบับวานนี้ ระบุนักลงทุนต่างชาติต่างสงสัยข้องใจกันมากขึ้นอีก เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักการบรรษัทภิบาลของประเทศไทย สืบเนื่องจากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ

คอลัมน์ของหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจทรงอิทธิพลฉบับนี้บอกว่า การชุมนุมแสดงกำลังต่อต้านการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็ก น่าจะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความต้องการของสาธารณชน ที่จะเห็นมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลซึ่งดีขึ้น แต่ปรากฏว่าการประท้วงกลับมีวัตถุประสงค์แคบกว่านั้น และความไม่พอใจแบบนักชาตินิยมจากการขายชินคอร์ปแก่บริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ จึงมีน้ำหนักเหนือการแสดงความไม่พอใจต่อการที่ชนชั้นนำทางการเมืองใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกเขาเอง

"เดอะเล็กซ์คอลัมน์" กล่าวว่าพวกนักลงทุนต่างชาติมีความวิตกกังวลที่แตกต่างออกไป พวกเขาได้เทเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย 2,000 ล้านดอลลาร์แล้วนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ทว่าจากดีลชินคอร์ป ได้ปรากฏลักษณะพิเศษหลายประการ เช่น การที่เทมาเส็กได้รับยกเว้นไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นในบริษัทลูก 2 แห่งของชินคอร์ป ย่อมเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า การคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นไปอย่างแย่มาก

"แต่สิ่งน่ากังวลที่สุด คงจะเป็นการที่ดีลนี้ฉายแสงให้เห็นถึงการใช้บริษัทนอมินีอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้ทำให้การลงทะเบียนผู้ถือหุ้นยิ่งเกิดความคลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง" คอลัมน์ดังของไฟแนนเชียลไทมส์บอก และชี้ต่อไปว่า "นอกจากนั้น ดีลซื้อขายหุ้นอย่างมีเงื่อนงำของแอมเพิลริช บริษัทออฟชอร์ที่ขายหุ้นชินคอร์ปในนามของคุณทักษิณกับลูกๆ ยังถูกขุดคุ้ยโดยสื่อมวลชน หาใช่หน่วยงานกำกับตรวจสอบไม่"

คอลัมน์ดังของไฟแนนเชียลไทมส์เหน็บแนมว่า ไม่ค่อยมีนักลงทุนคนไหนหรอกที่มีมายาภาพเกี่ยวกับมาตรฐานบรรษัทภิบาลในไทย เพราะไทยอยู่ในอันดับ 59 ในดัชนีคอร์รัปชั่นของประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดยองค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ

"แต่คุณทักษิณก็ควรต้องจดจำไว้ว่า เพื่อรับประกันให้ยังคงมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปอีก ความก้าวหน้าเรื่องบรรษัทภิบาลต่างหาก คือสิ่งที่จะต้องบังเกิดขึ้น หากใช่ความก้าวหน้าในด้านทุนสำรองไม่"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.