โพลล์สมาคมนักวิเคราะห์ชี้การเมืองฉุดตลาดหุ้นมองดัชนี809จุด


ผู้จัดการรายวัน(9 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โพลล์สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ระบุปัจจัยการเมืองกระทบตลาดหุ้นมาก ชี้ประเด็นการขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นที่มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์นายกรัฐมนตรีและเสถียรภาพรัฐบาล แนะรัฐตอบข้อสงสัยให้ชัดเจน พร้อมเสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์ "แปรรูปรัฐวิสาหกิจ-เอฟทีเอ"เผยจุดเสี่ยงสำคัญปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและความขัดแย้งในพรรครัฐบาล คาดดัชนีสิ้นปี 809 จุด ลดลงจากเดิมที่ให้สูงสุดถึง 900 จุด โดยอัตรากำไรต่อหุ้นลดหวบจาก 6.8% เหลือ 4.8% ขณะที่จีดีพีอยู่ที่ 4.9% ชี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ"รับเหมาฯ-วัสดุก่อสร้าง-อสังหาฯ-สื่อสาร"

นายสมบัติ นราวุฒิชัย อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยถึงแบบสอบถามนักวิเคราะห์ในหัวข้อ"มุมมองความเสี่ยงการเมืองต่อตลาดหุ้นไทย"โดยสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 20 แห่ง พบว่านักวิเคราะห์ได้ประเมินผลกระทบต่อตลาดทุนไทย โดยให้น้ำหนักของผลกระทบในเรื่องดังกล่าวเฉลี่ย 3.75 จากน้ำหนักสูงสุดที่ 5

ทั้งนี้ ประเด็นทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นมากที่สุด คือการทุจริตเกี่ยวกับการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ซึ่งในเรื่องดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์ของของผู้นำประเทศ รวมถึงกระแสต่อต้านรัฐบาลซึ่งอาจจะลุกลามมากขึ้น ตามมาด้วยประเด็นเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล

ในส่วนเรื่องจุดเสี่ยงที่จะส่งผลเชิงลบต่อรัฐบาลมากที่สุด คือข้อสงสัยการทุจริตคอร์รัปชั่นในการดำเนินงานต่างๆ รวมถึงการใช้จ่ายในโครงการเมกะโปรเจกต์ และ ความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ ในพรรครัฐบาล และการขยายตัวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซึ่งอาจรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น เพื่อกดดันรัฐบาล ซึ่งจะกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน

สำหรับภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์ทางการเมืองคือธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอาจมีความล่าช้าจากโครงการภาครัฐและมีความไม่แน่นอน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและรัฐบาล จากความไม่แน่นอนในอนาคต และ สื่อสารโทรคมนาคม

ขณะที่ภาคธุรกิจที่อาจจะได้รับผลบวกจากสถานการณ์ดังกล่าว คือธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ต กระดาษ เนื่องจากมีการติดตามข่าวสาร และมีการประชาสัมพันธ์ของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นรวมถึงชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เนื่องจากอิงกับต่างประเทศและค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนตัว และธุรกิจส่งออก ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศมากนัก

**แนะรัฐบาลชี้แจงต้องชัดเจน

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า ปัจจัยบวกที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับภาครัฐบาลได้ คือการบริหารและจัดการทางเศรษฐกิจโดยรวม และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น มีการส่งออกมากขึ้นรายได้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น จะทำให้คนสนใจการเมืองน้อยลง

ทั้งนี้การที่รัฐบาลและฝ่ายที่ขัดแย้งสามารถประนีประนอมและหันหน้าเข้าหากัน รวมทั้งร่วมกันหาทางออกที่เป็นกลางมากที่สุด ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลดีต่อรัฐบาลและยังรวมถึงการที่นายกรัฐมนตรีสามารถชี้แจงและตอบข้อสงสัยของฝ่ายต่อต้านได้อย่างชัดเจนและโปร่งใส รวมทั้งสามารถแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

สำหรับข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าวนักวิเคราะห์ได้แนะให้รัฐบาลมีการเปิดเผยและความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายใหม่ ๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกความเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายที่เห็นตรงข้าม อาจมีการทำประชาพิจารณ์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การใช้จ่ายภาครัฐ FTA เป็นต้น

นอกจากนี้ข้อเสนอรัฐบาลควรมีการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังเพื่อฟื้นฟูศรัทธาประชาชน รวมทั้งนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลควรเน้นเนื้อหาและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และความยากจนเป็นหลัก

ควรหลีกเลี่ยงนโยบายประชานิยมหรือนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับบางกลุ่ม และควรมีการชี้แจงข้อเท็จจริงของปัญหาหรือความไม่ชัดเจนให้ตรงประเด็นมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ เช่น กรณีขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น หรือการออกกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น

**ดัชนีตลาดหุ้นไทย808จุด

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า แบบสอบถามในเรื่องแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2549 นักวิเคราะห์ตอบว่าแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน โดยมีบริษัทหลักทรัพย์รวมตอบแบบสอบถามรวม 22 แห่ง

ซึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญที่สุดของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ คือเรื่องการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจและโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ

ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่สำคัญนอกเหนือจากสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรง ยังรวมถึงปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัจจัยอื่นที่มีนักวิเคราะห์ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

สำหรับการประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านตัวเลขสำคัญสำหรับปี 2549 ได้มีการปรับประมาณการใหม่จากมุมมองที่สำรวจในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth เฉลี่ยที่ 4.9% หรือสูงกว่าการสำรวจในเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 4.7% โดยมีผู้ประมาณการสูงสุดที่ 5.3% และต่ำสุด 4%

ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ EPS Growth ลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในเดือนตุลาคม 2548 โดยมีอัตราเฉลี่ยที่ 4.8% จากเดิม 6.8% และดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลเฉลี่ย 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขาดดุลมากขึ้นกว่าที่คาดไว้เดิม 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในส่วนของค่า เงินบาทคาดว่าจะแข็งขึ้นจากที่คาดไว้เดิม โดยอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยอยู่ที่ 39.7 บาทมีผู้ประมาณค่าเงินบาทอ่อนสุดที่ 41.5 บาท และค่าเงินแข็งที่สุดที่ 38 บาท

มุมมองของนักวิเคราะห์ต่ออัตราดอกเบี้ย RP 14 วัน มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย โดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 4.8% ซึ่งสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยจากเดิมที่คาดไว้ 4.7% และมีอัตราสูงสุดคือ 5.75% ต่ำสุด 4%

ด้านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET Index เฉลี่ยที่ 808 จุด ซึ่งลดลงจากการสำรวจที่ผ่านมาคิดเป็น 1% โดยประมาณการสูงสุดและต่ำสุดยังคงเท่าเดิมที่ 900 จุด และ 759 จุดตามลำดับ

**แนะหุ้นพลังงาน-แบงก์

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ยังถือว่าน่าสนใจที่จะลงทุนในปีนี้ 3 อันดับแรก คือธนาคาร พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ โดยลงทุนในหุ้น BBL, PTT และ KBANK, PTTEP กับ SCB ส่วนกลุ่มที่ควรลดการลงทุน คือ กลุ่มปิโตรเคมี ขนส่งทางเรือ และเหล็ก เช่น TTA, SSI, ATC

ทั้งนี้ ความเห็นที่ตรงกันในเรื่องการลงทุนระบุว่านักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง เลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีอัตราเงินปันผลสูง และนักวิเคราะห์อีก 11% แนะนำให้ลงทุนในจังหวะอ่อนตัว โดยเน้นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และกลุ่มพลังงาน

**ตลาดหุ้นรูด8.74จุด

ภาวะการซื้อขายหุ้นวานนี้(8 ก.พ.)ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงในกรอบแคบๆ ตลอดทั้งวัน โดยดัชนีปิดที่ระดับ 734.63 จุดลดลง 8.74 จุดหรือ 1.18% มูลค่าการซื้อขาย 17,325.41 ล้านบาท

การซื้อขายของนักลงทุนรายกลุ่มปรากฏว่านักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 234.10 ล้านบาท,นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 654.75 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 888.85 ล้านบาท

นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวถึงภาวะดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ว่า ดัชนียังซึมๆอยู่ มีแรงซื้อเข้ามาอย่างหนาแน่นในหุ้นของบริษัทโซลาร์ตรอน หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบรายการแสดงข้อมูล( Filing) ประเภทใบสำคัญแสดงสิทธิในการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (วอร์แรนต์) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของผู้บริหารคาดว่าวอร์แรนต์น่าจะสามารถเข้าซื้อขายได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่คาดว่ายังไม่ช่วยให้ตลาดฟื้นตัวขึ้นมาได้ หุ้นที่เคลื่อนไหวและปรับตัวขึ้นได้ คือหุ้นกลุ่มเล็ก ส่วนหุ้นกลุ่มมาร์เก็ตแคปใหญ่ปรับตัวลดลงจากปัญหาการเมืองที่ยังไม่สิ้นสุดและกระแสการต่อต้านรัฐบาลที่อาจลุกลามมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะยืดเยื้อต่อไป ส่งผลให้ตลาดฯวันนี้ปรับตัวลดลง

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์พรุ่งนี้คาดว่าดัชนีฯยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ โดยประเมินแนวรับที่ 732 จุด และแนวต้านที่ 744 จุด

***บล.บัวหลวงมองดัชนี 790 จุด

นายสุเมฆ จันทราสุริยารัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานค้าหลักทรัพย์สถาบันและงานวิจัย บล.บัวหลวง หรือ BLS เปิดเผยถึงมุมมองเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยในปี 2549 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าน่าจะได้เห็น 790 จุด ซึ่งจะมีค่าพี/อี เรโชประมาณ 9-10 เท่า เนื่องจากสถานการณ์ในปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะปัจจัยกดดันต่าง ๆ เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เช่นราคาน้ำมันที่ผันผวนเริ่มนิ่ง ขณะเดียวกันประเด็นที่คาดว่าการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วจากนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น

กลุ่มหลักทรัพย์ที่เห็นว่าโดดเด่นสำหรับนักลงทุนคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มบันเทิง สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์คาดว่าผลประกอบการยังคงดีอย่างต่อเนื่องตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มอสังหาฯ แม้จะมีประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ที่ระดับเงินกู้ 4-5% ไม่ถือว่าน่าเป็นห่วง ประกอบกับความต้องการซื้อบ้านภายในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ราคาหุ้นกลุ่มนี้ที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว ดังนั้นน่าจะถึงเวลาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว และสำหรับกลุ่มบันเทิง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาค่อนข้างต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่เริ่มมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2548 ความเชื่อมั่นของผู้บริหารกลับมา ดังนั้นจะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ธุรกิจนี้จึงจะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.