|
ต้อนแรงงานนอกระบบเข้าฐานข้อมูล ทักษิโณมิกส์ "หวังรีดภาษี-ดันจีดีพี"
ผู้จัดการรายวัน(8 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ความพยายามผลักดันเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวเลขอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นหลัก ผู้นำรัฐบาลจะใช้ตัวเลขจีดีพีที่มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องมาเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยขาดการมองในแง่มิติของการกระจายรายได้ ที่เป็นธรรมและจริยธรรม
นักวิชาการและฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า การมุ่งเน้นตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากจนเกินไปอาจทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเดินหลงทาง เพราะเท่าที่ติดตามข้อมูลการกระจายรายได้แล้วพบว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของจีดีพีเป็นไปอย่าง "รวยกระจุก...จนกระจาย" แต่รัฐบาลยังเดินหน้าเป็นขบวนการ เพราะรัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกคนสนองนโยบายนายกฯ ในการกระตุ้นจีดีพี
ขณะเดียวกันรัฐบาลยังพยายามที่จะขยายฐานการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าหากสามารถดึงฐานข้อมูลของแรงงานทั้งระบบที่มีอยู่ทั่วประเทศจะพบว่ามีแรงงานจำนวนมากที่อยู่นอกระบบ ซึ่งไม่ได้รับสวัสดิการทางสังคมเพราะอยู่นอกเหนือ จากฐานประกันสังคม
อย่างไรก็ตาม อีกมุมมองหนึ่งหากสามารถ จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานที่อยู่นอกระบบ แล้วนำเข้ามาสู่ในระบบแล้ว เชื่อว่าจะทำให้ตัวเลขการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และเป็นอีกหนึ่งที่มาซึ่งทำให้ตัวเลขจีดีพีปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเศรษฐกิจนอกระบบ โดยกำหนดเป้าหมายให้เศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบภายในปี 2550 ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ
โดยฐานข้อมูลก่อนหน้าของ สศช.ระบุว่า เศรษฐกิจนอกระบบในประเทศไทยมีขนาดค่อนข้างกว้าง และมีผู้ใช้แรงงานเกี่ยวข้องสูงถึง 23 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะยากจน มีมูลค่าประมาณ 2.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43.8% ของจีดีพี คิดเป็นสัดส่วน 71.9% ของผู้มีงานทำทั้งประเทศ แต่ผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบยังไม่ได้รับการคุ้มครอง และดูแลจากภาครัฐ ทั้งที่ควรได้รับเช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ในระบบ
โดย สศช. ได้เสนอยุทธศาสตร์ 3 ประการ เพื่อบริหารจัดการเศรษฐกิจนอกระบบให้มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจนอกระบบให้เป็นฐานสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยการสร้างแรงจูงใจให้เศรษฐกิจนอกระบบหันกลับเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น เช่น การฝึกอาชีพ การช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงิน เพื่อสร้างโอกาส และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ ยุทธศาสตร์การบริหารความเสี่ยงเพื่อการคุ้มครองทางสังคมแก่ผู้อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ ด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่อแรงงานเศรษฐกิจนอกระบบ โดยมีเงื่อนไขให้ภาครัฐและนายจ้างสนับสนุนการจ่ายเงินสมทบให้แก่แรงงานเพื่อช่วยให้แรงงานนอกระบบกว่า 23 ล้านคนมีหลักประกันความมั่นคง ในการทำงานเท่าเทียมกับการทำงานในระบบ โดยขยายสวัสดิการแรงงานให้ครอบคลุมผู้ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ 30% ในปีแรก เป็นต้น
ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การบริหารจัดการเศรษฐกิจนอกระบบที่มีผลกระทบต่อสังคม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบริการทางเพศ และกลุ่มธุรกิจการพนัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบทางจริยธรรมของสังคมไทย แนวทางแรกจึงเสนอให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความเห็นจากทุกฝ่ายให้ได้ข้อสรุปที่ตรงกัน
หรือแนวทางที่ 2 การอนุญาตให้เปิดสถาน บริการทางเพศและบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมาย โดยกำหนดเงื่อนไขให้มีการขึ้นทะเบียนและต้องดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มงวด ไม่เปิดช่องให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าสู่ธุรกิจบริการทางเพศอย่างเด็ดขาด และต้องดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้ให้บริการทางเพศด้วย เปิดผลสำรวจแรงงานนอกระบบปี 48
รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2548 ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจแรงงานนอกระบบขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการบริหารจัดการเศรษฐกิจนอกระบบ โดยเฉพาะในด้านการขยายความคุ้มครองการประกันสังคมให้ครอบคลุมเศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ที่ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบได้เข้าถึงระบบประกันสังคมที่เหมาะสม ตลอดจนการได้รับความเป็นธรรม มีความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การสำรวจครั้งนี้มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 50 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 36.3 ล้านคน ในจำนวนผู้มีงานทำนี้มีผู้ที่อยู่ในแรงงานในระบบ 13.8 ล้านคน และอยู่ในแรงงานนอกระบบ 22.5 ล้านคน
โดยกรุงเทพมหานครมีผู้มีงานทำ 3.8 ล้านคน มีแรงงานในระบบมากที่สุด 2.7 ล้านคน หรือ 70.8% แรงงานนอกระบบ 1.1 ล้านคน หรือ 29.2% รองลงมาได้แก่ภาคกลางที่มีผู้มีงานทำ 9.1 ล้านคน มีแรงงานในระบบ 4.8 ล้านคน หรือ 53.1% แรงงานนอกระบบ 4.3 ล้านคน หรือ 46.9% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแรงงานในระบบน้อยที่สุดคือ 2.3 ล้านคน หรือ 19.5% แรงงานนอกระบบ 9.5 ล้านคน หรือ 80.5%
สำหรับแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและต่ำกว่า กล่าวคือ ในระดับไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา มีผู้มีงานทำที่เป็นแรงงานนอกระบบ 11.4 ล้านคน ในระบบเพียง 2.7 ล้านคน ระดับประถมศึกษามีแรงงานนอกระบบ 5.4 ล้านคน ในระบบ 2.6 ล้านคน จำนวนแรงงานในระบบเพิ่มขึ้นเมื่อผู้มีงานทำมีการศึกษาสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนของแรงงานในระบบในระดับมัธยม ศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านคน เปรียบเทียบกับแรงงานนอกระบบ 1.9 ล้านคน ระดับอุดมศึกษามีแรงงานในระบบเพิ่มเป็น 3.7 ล้านคน ขณะที่แรงงานนอกระบบลดลงเหลือ 1.1 ล้านคน
ส่วนอาชีพของผู้ที่อยู่ในแรงงานในระบบและนอกระบบ สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า เมื่อพิจารณาตามลักษณะอาชีพของแรงงานพบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในหมวดผู้ปฏิบัติงานฝีมือในด้านการเกษตรและการประมงถึง 12.9 ล้านคน รองลงมาได้แก่ผู้มีอาชีพด้านพนักงานบริการและพนักงานในร้านค้าและตลาด จำนวน 3.5 ล้านคน อาชีพขั้นพื้นฐานต่างๆ ในด้านการขายและการให้บริการและอื่นๆ จำนวน 1.9 ล้านคน
สำหรับแรงงานในระบบพบว่าเป็นผู้ที่มีอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้าถึง 2.3 ล้านคน รองลงมาได้แก่ อาชีพขั้นพื้นฐานต่างๆ ในด้านการขายและการให้บริการ จำนวน 2.2 ล้านคน และผู้ปฏิบัติการโรงงานและเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบจำนวน 2.2 ล้านคน ตามลำดับ
อุตสาหกรรมของผู้ที่อยู่ในแรงงานในระบบ และนอกระบบ หากพิจารณาตามอุตสาหกรรมจะพบว่า ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการเกษตรส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบถึง 14.1 ล้านคน รองลงมาได้แก่อุตสาหกรรมการขายส่ง และขายปลีก 3.5 ล้านคน และด้านโรงแรม และภัตตาคาร 1.7 ล้านคน
สำหรับแรงงานในระบบ อุตสาหกรรมที่พบมากที่สุดได้แก่อุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 4.2 ล้านคน และการขายส่งขายปลีก 1.8 ล้านคน
หากวิเคราะห์ลงลึกไปถึงแรงงานนอกระบบที่เคยได้รับการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ในการสำรวจครั้งนี้พบว่าจากจำนวนแรงงานนอกระบบ 22.5 ล้านคน มีผู้ที่ไม่เคยได้รับบาดเจ็บหรือได้รับอุบัติเหตุ 19.7 ล้านคน เคยได้รับบาดเจ็บหรือได้รับอุบัติเหตุมีจำนวน 2.9 ล้านคน ในจำนวนผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือได้รับอุบัติเหตุนี้ เป็นผู้ที่ถูกของมีคมบาดมากที่สุดถึง 1.8 ล้านคน รองลงมาได้แก่การพลัดตกหกล้ม 4 แสนคน ได้รับอุบัติเหตุจากยานพาหนะประมาณ 2 แสนคน ไฟ/น้ำร้อน 9 หมื่นคน การชนและกระแทก 9 หมื่นคน และสารเคมี 7 หมื่นคน
ถือเป็นฐานข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผลการสำรวจแรงงานนอกระบบครั้งแรกของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ลงลึก เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของรัฐบาลจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์
เพราะแน่นอนว่าตัวเลขแรงงานนอกระบบไม่จัดอยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ซึ่งหมายความว่ายังไม่ได้เข้าอยู่ในฐานภาษี หากสามารถนำเข้ามาในฐานการคิดภาษี ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ต้องพะว้าพะวงว่าจะไม่สามารถจัดงบประมาณ แบบสมดุลได้... หากแรงงานนอกระบบไม่ซุกรายได้เฉกเช่นกับผู้นำบางคนที่คนในตระกูลมีรายได้หลายหมื่นล้านบาท แต่ไม่ต้องเสียภาษีสักบาทเดียว!!!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|