|
ทุนนอกชะงักรอการเมืองนิ่ง อุ๋ย เชื่อบาทอ่อนช่วยส่งออก
ผู้จัดการรายวัน(8 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติมองบาทอ่อนในแง่ดี ระบุช่วยส่งออก ยันยังไม่มีปัจจัยเงินไหลออก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยอมรับทุนนอกยังไม่ไหลออก แต่ความไม่ แน่นอนทางการเมืองทำให้นักลงทุนต่างประเทศชะลอการนำเข้า เหตุไม่มีใครอยากเสี่ยง เผยแนวต้านอยู่ที่ 39.90 บาทต่อดอลลาร์ "ประสาร"หวั่นขบวนการกู้ชาติฯอาจถึงขั้น 14 ตุลาฯ เรียกร้องหาทางออกสันติ "บัณฑูร" เชื่อยังไม่กระทบเศรษฐกิจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลบาทอ่อนค่าลง โดยอยู่ที่ระดับ 39.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้าวันที่ 7 ก.พ.ว่า เป็นไปตามระบบอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินสกุลหลัก เช่น เงินสกุลยูโรของยุโรป และเงินเยนญี่ปุ่น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อธุรกิจภาคการส่งออก เพราะทำให้ไม่เสียเปรียบทางด้านค้าขาย ทั้งนี้ การอ่อนค่าครั้งนี้ ยังไม่มีปัจจัยจากการที่ไหลออกของเงินทุน แต่อย่างใด
โดยค่าเงินบาทระดับ 39.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าอ่อนค่า ลง 0.88% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า แต่หากเทียบกับสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะพบว่าเงินบาทอ่อนค่า ลง 1.32% ทั้งนี้ หากเทียบกับเงินยูโร ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า แต่อ่อนค่าลง 0.15% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และหากเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.25% จากวานนี้ และปรับตัวแข็งค่าขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้านี้ ชี้การเมืองทำทุนนอกชะลอ
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐกิจ อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า การปรับตัวอ่อนลงของค่าเงินบาทวานนี้มาจาก 2 ปัจจัยหลักได้แก่ ปัจจัยในประเทศในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้วอาจจะทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่เคยนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยชะลอการนำเข้าไปก่อน
"เมื่อเขาคิดว่ามันเกิดเรื่องแบบนี้หรือสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่อยากจะเสี่ยงนำเงินเข้ามาลงทุน แต่ในส่วนของการนำเงินออกไปนั้น ยังไม่เห็นสัญญาณของเงินที่ไหลออกไป"นางสาวอุสรากล่าว
อีกปัจจัยคือปัจจัยภายนอกที่เกิดจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า เนื่องจากนักลงทุนยังเคลื่อนย้ายเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับที่ต่ำ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่อยู่ในภาวะที่กลับมาแข็งค่าขึ้นจากความเชื่อมั่นที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย เป็นปัจจัยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก
อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ยังไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพหรือมีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจภารพรวมเนื่องจากเป็นการอ่อนตามค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคและอ่อนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยแนวต้านต่อไปของค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 39.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและในช่วงนี้ค่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวอยู่ในระดับ 39.00-39.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงว่า น่าจะเป็นผลมาจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่า สาเหตุที่จะมาจากปัจจัยในประเทศที่มีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ทิศทางของค่าเงินก็ไม่สามารถมองในระยะวันต่อวันได้เพราะจะมีปัจจัยมากระทบที่ต้องจับตามอง หวั่น "กู้ชาติ 4 กุมภา" อาจถึงขั้น 14 ตุลาฯ
นายประสารยังกล่าวถึงความขัดแย้งภายในประเทศที่เกิดขึ้นในประเทศว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติที่นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เห็นได้ว่าเสถียรภาพทางการเมืองมีปัญหา ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวก็ไม่ดีต่อการพัฒนาประเทศทั้งนี้ ความขัดแย้งดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะไปเหมือนกับเหตุการณ์ในช่วง 14 ต.ค. หากสังคมไม่มีกลไก ทางออกโดยสันติซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาก็คือ การพยายามให้กลไกที่สามารถแก้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีการพัฒนาซึ่งหมายถึงระบบรัฐสภา หรือการแก้รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นทางออกหนึ่งในการ แก้ไขความขัดแย้ง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปสำรวจว่าตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนหรือความตั้งใจเดิมเป็นอย่างไร แล้วทำไมจึงไม่ได้อย่างที่ตั้งใจเดิม อาจจะต้องปรับปรุงแก้ไข
"พื้นฐานเศรษฐกิจประเทศโดยรวมแล้วยังไปได้ค่อนข้างดี ไม่ถึงกับต้องกังวลมากนัก แต่ความขัดแย้งไม่ดีกับการพัฒนาประเทศ เพราะเหตุการณ์อาจจะบานปลายออกไปในทางที่ไม่มีสันติ หากมีทางออกที่ดีและสร้างสรรค์ก็จะดี และในเวลานี้กลไกของนิติบัญญัติยังไม่ทำงานเต็มที่ก็เลยออกมาแก้ปัญหากลางถนน ขณะนี้ประเทศไทยยังมีหน่วยงานต่างๆ เป็นหน่วยงานในการแก้ปัญหาแต่ยังทำงานไม่เต็มที่ หวังว่าเหตุการณ์จะไม่รุนแรง" นายประสารกล่าว และขอย้ำว่า ต้องหาทางออกโดยใช้สันติวิธีเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และในฐานะนายแบงก์ หากมีความขัดแย้งถ้ามีกลไกทางออกในการแก้ปัญหาถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศ
"บัณฑูร" ชี้ยังไม่กระทบเศรษฐกิจ
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความขัดแย้งในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ว่า ยังไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจ ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตย ซึ่งหากไม่มีอะไรรุนแรงก็ถือว่าเป็นการแสดงออกของประชาชนแต่ก็ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์ยืดเยื้อ ในทุกสัปดาห์
"การชุมนุมที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจ เป็นการแย็บกันไปแย็บกันมา พอหอมปากหอมคอก็เลิก ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์ยืดเยื้อไปทุกสัปดาห์ มองว่าเป็นการแสดงออกตามครรลองประชาธิปไตยของประชาชน"นายบัณฑูรกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|