ธรรมนูญ หวั่งหลี ผู้นั่งในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย
จำกัด (มหาชน) อาจเป็นลูกหม้อคนแรกที่อยู่ในระดับสูงสุดด้วยโค้ดย่อ DD เป็นระยะเวลานานถึง
6 ปี นับจากปี 2536 เมื่อเข้ารับตำแหน่ง เพราะสถานการณ์ของการบินไทยในยุคฝ่าคลื่นลมทางเศรษฐกิจการเมือง
คนของรัฐยังไม่สามารถเฟ้นหาตัวคนที่จะมาบริหารสายการบินแห่งชาติที่มีอายุกว่า
37 ปีแห่งนี้ได้
แม้จะมีข่าวการปรับเปลี่ยนตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทย โดยที่จะไม่มีชื่อธรรมนูญ
หวั่งหลีอีกต่อไป ซึ่งเป็นไปตามวาระที่ธรรมนูญจะอยู่ครบ 4 ปี ในวันที่ 30
กันยายน 2540 การครบวาระของธรรมนูญดูจะเป็นตัวเร่งให้เกิดกระแสข่าวนี้ แต่ใครจะรู้ดีว่า
ช่วงเวลาที่จะถึงก่อนเดือนกันยายน 2542 จะมีรัฐมนตรีคมนาคมคนไหนสามารถควานหาตัวมืออาชีพมาเปลี่ยนแทนธรรมนูญได้
ขณะที่คนในหลายคนยังไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากระดับบน และระดับล่าง ยิ่งคนนอกก็ยิ่งยากไปอีก
เพราะการจะหาเอกชนมารับตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีผู้แต่งตั้งย่อมต้องถูกเพ่งเล็งว่าดึงพวกพ้องของตนเองมา
และจะได้รับแรงต่อต้านจากพนักงานภายในบริษัท
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ภายใต้นโยบายการบริหารงานของกระทรวงคมนาคมที่มีรัฐมนตรีมาจากนักการเมืองของพรรคการเมืองต่าง
ๆ สับเปลี่ยน หมุนเวียนกันไปแล้วแต่ว่าพรรคไหนจะได้เสียงข้างมากพอที่จะสถาปนาคนของพรรคมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงได้
การขึ้นมาของนายธรรมนูญในฐานะ "คนใน" การบินไทย เป็นการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารจากระดับธรรมดา
สู่ระดับสูงสุดต่อเนื่องจากฉัตรชัย บุญยะอนันต์ ซึ่งเกษียณอายุไปเมื่อเดือนกันยายน
2536
ฉัตรชัยนั้นอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้เพียงปีเดียวก็เกษียณไป
การเข้ามารับตำแหน่งของธรรมนูญ สร้างประวัติศาสตร์การต่อรองระหว่างกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่
กับกระทรวงคมนาคมต้นสังกัดคุมนโยบาย เพราะฝ่ายคลังเสนอชื่อกัปตันอุดม กฤษณัมพก
ซึ่งเป็นกรรมการรองผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทย ขณะที่กระทรวงคมนาคม โดย
พ.อ. วินัย สมพงษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ และทวี ไกรคุปต์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ
ต้องการผลักดันธรรมนูญอย่างเต็มที่
ศักดิ์ศรีความเป็นลูกหม้อของบริษัทการบินไทยของกัปตันอุดม และธรรมนูญมีเท่ากัน
ขึ้นอยู่กับว่าเสียงข้างมากในคณะกรรมการที่โหวตให้ใครได้รับตำแหน่งนั้น ฟากคลังกับคมนาคม
ใครจะมากกว่ากัน
ในตอนแรกเสียงคณะกรรมการ 2 ฝ่ายเท่ากัน มาตัดสินชี้ขาดกันที่ประธาน ซึ่งขณะนั้นคือพลอากาศเอกกันต์
พิมานทิพย์
ตอนนั้นหลายคนก็ยังไม่เชื่อฝีมือธรรมนูญ ถึงกับมีประกาศนโยบายให้ธรรมนูญทดลองงานในหน้าที่ไประยะหนึ่งก่อน
หากไม่เป็นที่พอใจค่อยปลดออก
ธรรมนูญเอง คงเข้าประเภทนั่งได้ไม่ติดเก้าอี้ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลอีกครั้ง
ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแทน พ.อ. วินัย และได้แต่งตั้งอมเรศ
ศิลาอ่อน ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการการบินไทย ก็เริ่มมีข่าวว่าจะปลดธรรมนูญอีก
เป้าหมายที่วิชิตเจาะจงไปที่การทำงานของธรรมนูญก็คือเรื่องระบบบัญชี ซึ่งไม่มีความชัดเจน
และโปร่งใสในสายตากระทรวงคมนาคม และเร่งให้บริษัท เค พี เอ็ม จี พีค มาร์วิค
แอนด์ สุธี เร่งศึกษาระบบบัญชีของการบินไทยโดยเร็ว และเน้นไปว่า บริษัทฯ
ควรรายงานในระบบศูนย์กำไร หรือ PROFIT CENTER เพื่อจะได้ทราบว่าการทำงานส่วนไหนมีต้นทุนกำไรเป็นอย่างไร
เพื่อจะรู้ผลการทำงานของผู้บริหาร
ความไม่ลงตัวระหว่างกระทรวงคมนาคม กับการบินไทยเด่นชัดมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการชุดอมเรศ
เข้าไปเจาะจงดูนโยบายเรื่องการจัดซื้อเครื่องบินโดยเฉพาะเรื่องการจำกัดประเภทเครื่องบินในฝูงบินการบินไทยจาก
15 แบบ ให้เหลือเพียง 5 แบบ คณะกรรมการบางคนที่ช่วยอมเรศทำงานคือ ศิวะพร
ทรรทรานนท์ แต่ก็ถูกมองว่าให้การสนับสนุนซื้อเครื่องบินโบอิ้งจำนวนถึง 50
ลำ โดยเดินทางไปหารือกับบริษัทโบอิ้งถึงสหรัฐอเมริกา
ข้อสรุปเรื่องฝูงบินใหม่การบินไทยไม่ยุติ วิชิตพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ตามวาระของรัฐบาลชวน หลีกภัย เรื่องปลดธรรมนูญก็เงียบหาย อมเรศ กับศิวะพร
และโสภณ สุภาพงษ์ ประกาศลาออกจากกรรมการการบินไทยในเวลาหลังจากนั้นไม่นานนัก
ทั้งที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการได้เพียง 7 เดือน
อมเรศยื่นหนังสือลาออกจากการบินไทยเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 ด้วยเหตุผลเพื่อเปิดทางให้รัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่
คือวันมูหะมัดนอร์ มะทา สรรหาคนอื่นมานั่งเป็นประธานแทน
แต่ก่อนหน้านี้ระยะ 2-3 เดือน อมเรศก็แทบไม่ได้เข้าไปยุ่งกับงานการบินไทยมากนัก
ด้วยหลายเหตุผล ซึ่งเหตุผลหนึ่งนั้นคือไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารเท่าที่ควร
"ถ้าคุณวิชิต กับคุณอมเรศ อยู่นานจนครบวาระเรื่องปลดคุณธรรมนูญ คงมีแน่"
แหล่งข่าวจากผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยคนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน"
ฟัง แม้จะมีการโยงใยสายสัมพันธ์ว่าธรรมนูญสามารถผูกสัมพันธ์กับนายกฯ ชวนเป็นอย่างดีก็ตาม
ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา สถานภาพของธรรมนูญในยุคของวันนอร์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
แทบจะเรียกได้ว่าถูกโยกคลอนหลายครั้ง ด้วยเหตุความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับพนักงานในบริษัท
อย่างกรณีการขายเครื่องบินแอร์บัสเอ 340 ในราคาถูก ทั้งที่มีการซ่อมแซมเครื่องบินให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์แล้ว
แต่ก็ถูกขายทิ้งแบบราคาซาก
การปลดพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ร้องเรียนเรื่องความขัดแย้งกับฝ่ายบริหารที่ต้องการปลดพนักงานต้อนรับหญิงบนเครื่องในวัย
45 ปี หรือกรณีที่มีการจ้างนักบินต่างประเทศ ด้วยอัตราค่าจ้าง และค่าสวัสดิการแพงกว่านักบินในประเทศไทย
อันเป็นคลื่นใต้น้ำที่ธรรมนูญต้องเข้าไปสะสาง
มีข่าวออกมาโดยตลอดว่า วันนอร์ต้องการให้มีการสอบสวนเรื่องซากเครื่องบินแอร์บัสอย่างโปร่งใสซึ่งคณะกรรมาธิการคมนาคม
เข้ามาตรวจสอบจนถึงการบินไทย คณะกรรมการ ป.ป.ป. ก็เข้ามาสอบหาข้อเท็จจริงด้วย
อีกเช่นกันที่ธรรมนูญรอดตัวมาได้ในที่สุด โดยมีผู้รับผิดชอบกับคดีเรื่องแอร์บัสคือ
น.ต. พงษ์สาวิตร บุณยินทุ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายช่าง
ภายในการบินไทยเองก็มีการปรับโครงสร้างบริหารงาน มีการควบฝ่ายงานด้านนโยบายกับปฏิบัติเข้าด้วยกัน
ด้วยเหตุผลที่ธรรมนูญระบุว่าเป็นการลดขั้นตอนการทำงาน และปัญหาการแบ่งพรรคแบ่งพวก
แต่ที่สำคัญกว่าคือธรรมนูญ คุมฝ่ายปฏิบัติงานได้มากขึ้น เพราะหน่วยงานจะขึ้นอยู่กับคนที่ธรรมนูญไว้ใจมากที่สุด
และอีกเช่นกันที่มีคนเอ่ยถึงสายสัมพันธ์ของธรรมนูญ กับบรรหาร เพราะธรรมนูญเคยเป็นที่ปรึกษา
มท. 1 เมื่อปี 2532
ขณะที่สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการใช้อำนาจคลังเข้ามาดูแลการบินไทยเองแทนกระทรวงคมนาคม
แต่ก็ได้รับการคัดค้าน เพราะหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ไม่ต้องการให้หน่วยงานนี้ไปอยู่กับพรรคอื่น
ยุคของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ คนปัจจุบัน ในช่วงที่ธรรมนูญทำงานในการบินไทยใกล้ครบวาระ
4 ปี แต่การที่เคยรู้จักและได้ทำงานใกล้ชิดกับ พล. อ. ชวลิต ยงใจยุทธมาก่อน
ทำให้ธรรมนูญก็ยังไม่มีปัญหากับทางกระทรวงคมนาคม
แม้ปลัดกระทรวงคมนาคม อย่างมหิดล จันทรางกูร เองจะไม่พอใจการทำงานของธรรมนูญในหลายเรื่อง
แต่ก็ต้องฟังนโยบายจากรัฐมนตรีเท่านั้น จึงทำให้มหิดล ไม่ค่อยอยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธรรมนูญมากนัก
"คุณธรรมนูญ มีความสามารถยึดหลักการที่ผู้บริหารการบินไทยหลายคนคงไม่สามารถทำตามแบบได้
เขาสามารถเข้ากับผู้ใหญ่ได้ดีไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาล หากมีปัญหาระดับหนึ่งก็สามารถขึ้นไปหาระดับที่สูงกว่า"
"ธรรมนูญนั้น ยึดหลักการทำงานเหมือนกับ พล.อ.อ. สมบุญ ระหงษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี
ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งลักษณะของผู้ว่าฯ สมบุญ
เป็นคนที่เข้ากับทุกคนได้ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนทุกระดับ สนิทสนมกับคนในหลากหลายอาชีพ
มีสังคมมาก เพื่อนฝูงเยอะและใจกว้าง ใจถึง ก็เลยสามารถทำงานได้คล่องตัว เพราะรู้จักคนมากนี่เอง
"โดยเฉพาะงานในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของสายการบิน สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปต่างประเทศให้คนหลายระดับ
บางส่วนธรรมนูญอาจปฏิเสธได้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ปฏิเสธ แต่หากต้องการเสี่ยง
ธรรมนูญก็จะไม่อยู่ในที่ทำงาน และไม่รับสาย โดยจะออกงานภายนอกบริษัทหรือไปต่างประเทศเสียส่วนใหญ่
เรื่องเหล่านี้เลยลดลงไปได้บ้าง ก็เลยไม่มีใครตำหนิได้" แหล่งข่าวในการบินไทยคนหนึ่งกล่าว
การทำงานของธรรมนูญ ผู้บริหารหลายคนในการบินไทยคงไม่มีใครทำได้ ความสามรถระดับนี้จึงเหมาะเป็นผู้บริหารการบินไทยในยุคนี้
หากการบินไทยยังคงมีการควบคุมโดยระบบการเมืองอยู่
สำหรับธรรมนูญ หวั่งหลี เองเขาเติบโตมาในตระกูลของนายธนาคาร ทำให้เป็นที่รู้จักดีในแวดวงการเงิน
โดยเฉพาะธรรมนูญจบการศึกษาด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกา เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายเงินตราต่างประเทศ
ธนาคารเชสแมนฮัตตัน สาขากรุงเทพฯ และเคยเป็นสมุห์บัญชี บริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก
จำกัด
พอรับงานที่การบินไทยเมื่อปี 2512 ก็ทำหน้าที่ผู้จัดการแผนกบัญชี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไปและการเงิน
ขึ้นมาจนถึงตำแหน่งผู้ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงิน และตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการเงินและการบัญชี
ซึ่งถือได้ว่าคุมด้านการเงินของการบินไทยมาโดยตลอด
"เพราะอยู่ในแวดวงการเงิน คุณธรรมนูญเลยมีเพื่อนที่อยู่ในฝ่ายการเงินจำนวนมาก
แม้แต่คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ก็ยังรู้จักสนิทสนมกันดี"
นอกจากคลุกคลีอยู่ในแวดวงการเงิน สถานภาพทางสังคมของธรรมนูญเอง ก็ทำให้ได้รับการยอมรับจากคนภายนอก
เพราะธรรมนูญเข้ารับเป็นกรรมการในกิจการเพื่อการกุศล และด้านกีฬาอยู่หลายแห่ง
ทำให้ธรรมนูญมีคนรู้จักมากมายหลายวงการ
สายสัมพันธ์ที่มีอยู่มากมายทำให้ธรรมนูญสามารถโยงใยไปถึงบุคคลที่ต้องการติดต่อได้
ในกรณีจำเป็น
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ธรรมนูญมีความสามารถมากแค่ไหน และยังไม่มีทีท่าจากสุวัจน์ว่าจะหาใครมาแทนธรรมนูญ
อีกฟากหนึ่ง หากต้องมีการเปลี่ยนตัวจริง จะเฟ้นหาคนมาทดแทนธรรมนูญที่เชี่ยวชาญในด้านการบริหารการบินขณะนี้
คงหาได้ยากยิ่ง
แม้กระทรวงการคลังในยุคที่ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุลเป็นปลัดกระทรวงฯ และเป็นกรรมการการบินไทยในฐานผู้ถือหุ้นใหญ่
ก็มีความคิดที่จะเปลี่ยนตัวธรรมนูญไปจากการบินไทยโดย "หม่อมเต่า"
ถึงกับเคยกล่าวว่า ที่คลังระงับเรื่องการแปรสภาพการบินไทยโดยการขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปในตลาด
เกรงว่าจะหาคนซื้อยาก เพราะมีผู้บริหารชื่อธรรมนูญ
แต่ในฝ่ายบริหารการบินไทยนั้น หากมองดูแล้วยังไม่สามารถหาคนในตำแหน่งระดับรองที่พอจะทาบรัศมีธรรมนูญได้น้อยคนนัก
โดยเฉพาะการทำงานในสไตล์แบบธรรมนูญ
ในยุคของธรรมนูญมีการปรับโครงสร้างและแต่งตั้งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ต่าง
ๆ ถึง 6 ฝ่าย และผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 2 คนซึ่งเชี่ยวชาญคนละด้านเพื่อกระจายงานให้ช่วยกันดูแล
แต่ละคนยังไม่สามารถดูแลงานได้ครอบคลุมหมดทุกด้าน เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนมีรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แค่
2 คน
ดูเหมือนว่าธรรมนูญจะไว้ใจพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ให้ทำงานแทนได้มากที่สุด
แต่พิสิฐก็ยังมีงานอีกหลายด้านที่ยังไม่เชี่ยวชาญ และมีการระบุว่าเป็นการทำงานที่จำเป็นต้องไว้ใจ
ขณะที่มีข่าวถึงกัปตันสอาด ศบศาตราศร ซึ่งเป็นหนึ่งในรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ว่าเป็นผู้สร้างข่าวปลดธรรมนูญ ซึ่งก็มีการเคลียร์กันในระดับผู้บริหารเรียบร้อย
และกัปตันสอาดก็ยอมรับด้วยตนเองว่า คงไม่สามารถขึ้นไปนั่งในตำแหน่ง DD ได้แน่
และไม่เคยคิดที่จะ "เลื่อย" อย่างแน่นอน "ผมกับธรรมนูญทำงานด้วยกัน
รักกันดี เรื่องอะไรผมจะไปแย่งตำแหน่งเขา"
เรื่องการสรรหาคนนอกก็ยิ่งทำได้ยากกว่า ในเมื่อรูปแบบของการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ
หากใช้วิธีเดิมคือหาคนกลางมานั่งบริหาร เพื่อป้องกันการแบ่งผลประโยชน์จากพรรคการเมือง
ซึ่งก็คือคนจากกองทัพอากาศ ก็คงหมดยุคแล้ว เพราะนโยบายกองทัพในปัจจุบันไม่ต้องการเข้ามายุ่ง
ส่วนที่จะเป็นนักธุรกิจจากเอกชน ก็ยังไม่มีใครที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารการบินกล้าเสนอตัวเองเข้ามารับงานหินที่การบินไทย
สาเหตุหนึ่งเพราะไม่ต้องการเปลืองตัวอีกทั้งอาจได้แรงต่อต้านจากพนักงานในบริษัท