"ซีซันนัลมาร์เกตติ้ง"ยังไงก็ขายได้


ผู้จัดการรายวัน(7 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เฉาะกลยุทธ์ทัพสินค้าเกาะ กระแสเทศกาล งัด "Seasonal Marketing"/"Celebrate Marketing" ลุยปลุกกำลังซื้อ เผยเหตุผล 7 ประการ ทะลวงคอนซูเมอร์จ่าย เงินง่าย เหนื่อยน้อย โกยยอดขายในระยะสั้น และรวดเร็ว จับตาวันวาเลนไทน์ เจ้าของสินค้า เกาะขบวน 14 กุมภาพันธ์ ผูกโบสินค้ากระทุ้ง ยอดขาย

"Seasonal Marketing" การทำตลาด ตามฤดูกาล หรือนักการตลาดบางคนอาจใช้คำว่า "Celebrate Marketing"การทำตลาด ในช่วงเทศกาลด้วยวิธีการปลุกกระแสการขาย สินค้า ยังเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สร้างสีสันทางการตลาดได้เป็นอย่างดีในช่วงระยะเวลาอันสั้น โดย ฉกฉวยช่วงเทศกาลสำคัญ อาทิ วาเลนไทน์ เข้าพรรษา สงกรานต์ เทศกาลกินเจ ตรุษจีน มาทำตลาดในเชิงรุก

7 ปัจจัยรุก "Seasonal Marketing"

นายธีรพันธ์ โลห์ทองคำ ประธานกรรมการบริหารด้านการสื่อสาร (Chief Communication Officer) บริษัท ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เปิดเผยว่า เหตุผล 7 ประการ ที่ทำให้นักการตลาดต้องสร้างยอดขายในช่วงเทศกาล

ประการแรก คือ เกิดจาก แนวโน้มของคนที่มักจะซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับช่วง เทศกาล โดยที่นักการตลาดไม่ต้องสร้างแรงจูงใจมากนักเมื่อเทียบกับช่วงปกติ

2. นักการ ตลาดชักจูงใจให้เกิดการซื้อสินค้าได้ง่ายภายใต้การอาศัยเทศกาลเป็นวันเชื่อมโยงกับสินค้าได้อย่างถูกจังหวะและถูกต้องกับความต้องการ

3. การนำสินค้ามาเล่นในเรื่องของอารมณ์ เพราะในช่วงเทศกาลคนจะมีความรู้สึกเป็นพิเศษมากกว่าปกติ และต่อให้สินค้าแพงแค่ไหนก็จะซื้อ เช่น มีคนจำนวนมากยอมซื้อดอก กุหลาบแพงวันที่ 14 กุมภาพันธ์

4. ช่วงเวลาของเทศกาลมีจำกัด โดยการจัดกิจกรรมระยะสั้น จะสามารถกระตุ้นความสนใจของคน ได้มากกว่าระยะยาว รวมทั้งทำให้เกิดการซื้อได้อย่างรวดเร็ว

5. กระแสเทศกาลเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ส้มนอกจากจะเป็นผลไม้แล้ว ในช่วงเทศกาลตรุษจีนยังหมายถึงความร่ำรวย จึงดึงดูดผู้บริโภคมากกว่าช่วงปกติ

6. วันเทศกาล ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ฉะนั้นผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสินค้าที่ได้รับมีมูลค่าเพิ่มสองเชิงซ้อน เช่น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อไปซื้อของขวัญจะได้รับห่อฟรี คือได้เอ็กซ์ตร้า แวลู

7. นักการตลาดสามารถฉกฉวยช่วงเทศกาลที่อยู่ในกระแสความสนใจของลูกค้ามา ทำตลาดในเชิงรุกผ่านการโฆษณา เช่น แบรนด์ รังนกปกติจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น คนส่วนใหญ่จะนิยมให้กับคนป่วย แต่แบรนด์รังนกอาจจะฉกกระแสวันวาเลนไทน์ ทำโฆษณามอบอาหารสมองให้คนที่คุณรัก เป็นต้น และเหตุผลทั้ง 7 ประการนี้ ทำให้นักการตลาดฉกฉวยทำตลาดในช่วงเทศกาล
‘ วาเลนไทน์สินค้าความรักฟูฟ่อง

สำหรับเทศกาลวันวาเลนไทน์ที่ใกล้มาถึง ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จัดว่าเป็น "Celebrate Marketing" โดยโออิชิเปิดตัวชาเขียวกลิ่นสตรอเบอรี และนับเป็นเวลา 3 ปีซ้อนที่โออิชิทำ ตลาดในช่วงวาเลนไทน์ โดยในช่วงปีแรกเปิดตัว ชากุหลาบ และปีที่สองเปิดตัวรสซากุระ แต่ปีนี้ สร้างความแปลกใหม่เปิดตัวชากลิ่นสตรอเบอรี รุ่นลิมิเต็ด เอดิชัน จำนวน 254,900 ขวด

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาสินค้าและบริการ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นโรบินสันจัดแคมเปญมาย วาเลนไทน์ ด้วยงบ 10 ล้านบาท เครื่องดื่มน้ำอัดลมแฟนต้า เปิดตัวรสชาติเบอรี่ สบู่ลักส์ จัดแคมเปญบอกรัก ขณะที่ไปรษณีย์ไทยจัดทำชุดคอลเลกชันพร้อมแสตมป์ดอกกุหลาบ 4 แบบ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่พลาด จะฉกฉวยในช่วงเทศกาลแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์นี้

การทำตลาดตามเทศกาลหรือฤดูกาลส่วนใหญ่ จะมีระยะเวลาของมัน ทำให้เจ้าของ สินค้าจะต้องเริ่มปลุกกระแสกันตั้งแต่ไก่โห่ ยกตัวอย่างช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ เจ้าของสินค้าเริ่มโปรโมตกันตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม และกระทั่งย่างเข้าเดือนกุมภาพันธ์ต้องกระหน่ำ ประชาสัมพันธ์ เพราะหลังจากหมดกระแสแล้วสภาพตลาดจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ยังต้องดูถึงเทศกาลด้วยว่า กลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อย่างเทศกาลวันวาเลนไทน์ การทำ Celebrate Produce ที่ได้ผล คือ ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นเป็นหลัก

เทศกาลวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา จะสังเกตกลุ่มวัยรุ่นจะค่อนข้างให้ความสำคัญและตื่นตัวกับวันแห่งความรัก เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แล้ว ในขณะที่เทศกาลตรุษจีนก็จะเป็นกลุ่มเป้าหมายอีกหนึ่งกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ใหญ่ คนไทยเชื้อสายจีน หรือกระทั่งเทศกาลกินเจกลุ่มเป้าหมายก็จะเฉพาะกลุ่มลงไป ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ขณะที่การทำตลาดอาจจะลงลึกถึงเจาะกลุ่มพ่อครัวแม่ครัวก็เป็นไปได้

เข้าสู่หน้าร้อน-เข้าพรรษาของไทย

ถัดจากในช่วงวาเลนไทน์เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ซึ่งสินค้าที่มักออกซีซันนัลโปรดักต์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลม ซึ่งมักออกรสชาติใหม่ สร้างกระแสอย่างเป๊ปซี่ บลู หรือยิงแคมเปญกันอย่างดุเดือดในช่วงหน้าร้อน อย่างค่ายน้ำอัดลมน่าจะสาดงบการตลาดในช่วงนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทด้วยซ้ำ ขณะที่กลุ่มสินค้าของแป้งเย็นก็จะเริ่มยิงโฆษณาหรือออกสินค้ารุ่นใหม่ออกมา และย้อนหลังไปเมื่อปีที่ผ่านมาซันซิล เปิดตัวสูตรซัมเมอร์ เฟรช ในช่วงหน้าร้อนผม เพราะเป็นช่วงที่เส้นผมเหนียวง่าย เป็นต้น

เทศกาลเข้าพรรษาหรือช่วงเวลาที่พระจำวัดในเดือนแปดกระทั่งเดือนสิบเอ็ด ก็เป็นอีก เทศกาลหนึ่งที่ทัพสินค้าหลายตัวจับกระแสตัวนี้ผสมผสานกับการทำตลาดได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ซีลวาเนียจัดแคมเปญฉวยในช่วงที่วิวัฒนาการเปลี่ยนไป การใช้เทียนในวัดมีน้อยลงนอกจากใช้เพื่อการบูชาเท่านั้น ขณะที่แสงไฟที่ใช้ในปัจจุบันเป็นแสงไฟนีออนมากกว่า ซึ่งจะเห็นว่าซีลวาเนียจัดแคมเปญในช่วงเวลานี้ตลอด โดยในปีที่ผ่านมาจัดแคมเปญทำบุญ 9 วัดทำทาน 9 โรงเรียน บริจาคเงิน 1 บาทจาก การขายหลอดไฟถวายสังฆทาน เป็นต้น

ทัพสินค้าไม่พลาดเทศกาลกินเจ

แหล่งข่าวบริษัท กรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพตราไวตามิ้ลค์,ไวตามิ้ลค์ แชมป์,วี-ซอย ไฮแคลเซียม และกรีนสปอต กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ บริษัทได้ทุ่มงบไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท จากงบรวม 200-300 ล้านบาท จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามแหล่งท่องเที่ยว ที่มีการจัดเทศกาลกินเจ เพื่อกระตุ้นยอดขายและสกัดคู่แข่งที่เป็นตลาดธัญพืช สำหรับตลาดนมถั่วเหลืองในช่วงเทศกาลกินเจเติบโตถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดือนปกติ โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายช่วงเทศกาลกินเจ 10 เท่า
ไม่เพียงแต่ไวตามิ้ลค์ที่จับกระแสช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น ยังมีกลุ่มเครื่องปรุงรสต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นเด็กสมบูรณ์ หยั่นหว่อ หยุ่น รวมถึงซันไลต์ในปีที่ผ่านมา จัดแคมเปญ ไหว้พระ 9 วัด พร้อมทั้งสร้างกระแสการล้างจาน ชามให้สะอาดปราศจากสิ่งตกค้าง สอดคล้องกับช่วงเทศกาลกินเจที่พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่จะถือในเรื่องของความสะอาดจานชาม ที่ใช้ เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.