แอร์เอเชียส่อผิดกม. ดิ้นวิ่งหาหุ้นส่วนไทย


ผู้จัดการรายวัน(7 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยแอร์เอเชียส่อขาดคุณสมบัติหมดความเป็น สายการบินสัญชาติไทย หลังแปลงร่างเป็นต่างชาติจากเทมาเส็กเข้าครอบงำกิจการชินคอร์ปผู้ถือหุ้นใหญ่ "ภูมิธรรม" ยังตะแบงอุ้มสุดฤทธิ์ ชี้ยังไม่ตัดสิทธิบินไทยแอร์เอเชีย อ้างอยู่ระหว่างตรวจสอบสัดส่วนหุ้น ลือผู้บริหารวุ่นหาหุ้นส่วนไทยรายใหม่ ด้านทีดีอาร์ไอ ระบุดีล "ชินฯ-เทมาเส็ก" เปิดทางกลุ่มทุนจากต่างประเทศผูกขาดธุรกิจ ภาคบริการ "หมอเหวง" เร่งศาล รธน.ตัดสินแม้ว พร้อมจี้ดีเอสไอให้สอบซุกหุ้นภาค 2 ด้าน "วีระ สมความคิด" รุกยื่น ป.ป.ช.สอบหุ้นแอมเพิล ริช

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การขายหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กลุ่มเทมาเส็กจากสิงคโปร์ ได้ส่งผลกระทบต่อการถือหุ้นในบริษัท ไทยแอร์เอเชีย ของกลุ่มชินคอร์ป ที่เปลี่ยนมาเป็นกล่มเทมาเส็กถือแทนอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว โดยจะทำให้ไทยแอร์เอเชียขาดคุณสมบัติในการเป็นสายการบินสัญชาติ ไทย และต้องระงับการทำธุรกิจการบินด้วย เนื่องจากพระราชบัญญัติขนส่งทางอากาศกำหนดว่าจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ซึ่งมีกระแสข่าวว่าทางผู้บริหารไทยแอร์เอเชียอยู่ระหว่างเจรจาหาผู้ถือหุ้นคนไทยรายใหม่เข้ามาร่วมถือหุ้นแทนเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน

แหล่งข่าวกล่าวว่า บริษัทไทยแอร์เอเชียเดิมนั้นกลุ่มชินถือหุ้นข้างมากในสัดส่วน 51% และสายการบินแอร์เอเชียของมาเลเซียถือหุ้น 49% หากมีการขายหุ้นอาจทำให้สัดส่วนหุ้นลดลงเหลือเพียง สัดส่วนการถือหุ้น 1% ซึ่งเป็นของนายทัศพล แบเลเวลด์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยแอร์เอเชียเท่านั้น ส่วนสัดส่วนต่างชาติจะต้องถือหุ้นเกิน 51% อย่างแน่นอน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว และทราบว่าได้มีการทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทไทยแอร์เอเชียเพื่อขอยืนยันสัดส่วนการถือหุ้นภายหลัง จากที่มีการโอนขายหุ้นไปแล้วซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง การตรวจสอบหากผลออกมาอย่างไรก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย

"ขณะนี้จะไปสั่งการให้สายการบินแอร์เอเชีย หยุดบินไม่ได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นผลเป็นอย่างไรก็ต้องว่าตามนั้นไม่มีการเอื้อหรืออุ้มเอกชนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน" นายภูมิธรรมกล่าว

นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กล่าวว่าอยู่ในขั้นตอนการรอหนังสือยืนยันจากทางบริษัทไทยแอร์เอเชียที่จะแจ้ง เรื่องสัดส่วนหุ้นของบริษัทว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้เดิมหรือไม่รวมทั้งได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หากพบว่าสัดส่วนหุ้นของสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ถึงร้อย 51 ก็ถือว่าไม่เป็นไปตามกติกาที่กำหนดก็อาจต้องพิจารณายกเลิกใบอนุญาตประกอบการบินแต่ในขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เพราะอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบอยู่

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางอากาศได้ทำหนังสือแจ้งไปยังทุกสายการบิน ให้ยืนยันข้อมูล ของสัดส่วนผู้ถือหุ้นของแต่ละสายการบิน ณ ปัจจุบันเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติมิให้ขัดกับระเบียบ ที่กำหนด เนื่องจากมีสายการบินแห่งหนึ่งได้แจ้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างของผู้บริหารภายในขึ้นซึ่งกรมการขนส่งทางอากาศได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.ก่อนที่จะมีข่าวการซื้อขายหุ้นของกลุ่มชินในวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาเสียอีก

ส่วนทางด้านนายทัศพล แบเลเวลด์ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยแอร์เอเชียไม่สามารถ ติดต่อได้ แต่ได้รับแจ้งจากทางเลขาฯว่าติดภารกิจ ประชุมและไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ในช่วงนี้ แต่มีกำหนดที่จะมีการเปิดแถลงข่าวในเร็วๆนี้ ทีดีอาร์ไอสับเละขายชิน-ทำลายภาคบริการ

นายสมเกียรติ์ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจ มูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการเสวนาเรื่อง "The Shin Corp Deal .. International Dimension"ซึ่งจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ว่า การขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปให้กับกลุ่มกองทุนเทมาเส็กจากประเทศสิงคโปร์ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเปิดเสรีทางการค้าและบริการ โดยอัตโนมัติ เนื่องจากกลุ่มทุนจากประเทศสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้นใหญ่กิจการโทรคมนาคม ขนส่ง และโทรทัศน์ของประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียก็ตาม

ทั้งนี้ สิ่งที่สะท้อนจากเรื่องดังกล่าว คือนักลงทุนต่างชาติไม่ต้องทำตามกฎหมายของประเทศ ไทย แต่ทำเพียงเป็นการแต่งตัวให้เหมือนว่าเป็นคนไทยเท่านั้น ด้วยการใช้นอมินีเพื่อเป็นชื่อผู้ถือหุ้น หรือวิธีการอีกประเภทคือการปล่อยกู้ให้กับบุคคล หรือบริษัทไทยแล้วใช้เงินดังกล่าวกลับเข้ามาซื้อบริษัทอีกครั้ง เหมือนกรณี บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น และกลุ่มเทมาเส็ก ซึ่งอาจจะมองได้ว่าตลาดด้านการบริการของไทยที่สงวนไว้ให้คนไทย โดยเฉพาะตามกฎหมายต่างด้าว พ.ศ.2542 มีเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาโดยอัตโนมัติ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก และอาจทำให้เกิดปัญหาเหมือนปี 2540 ที่เกิดวิกฤตการณ์การเงินจากการเปิดเสรีภาคการเงิน

สำหรับภาคเอกชนไทยปัจจุบันตกอยู่ในภาวะการแข่งขันที่ยากลำบาก เพราะหากกฎกติกาที่ควบคุมไม่สามารถสร้างความเป็นธรรม ก็จะทำ ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาผูกขาดกับภาคบริการของประเทศได้ เพราะความสามารถในการแข่งขัน ในเรื่องของเงินทุนนักลงทุนยังไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ของประเทศ และทำให้ผลประโยชน์ที่ควรจะอยู่ในประเทศไปตกอยู่กับบริษัทต่างชาติ หรือมีการ นำสัมปทานที่บริษัทเอกชนได้รับไปขายต่อได้

นายสมเกียรติ์ กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี จัดตั้งบริษัทแอมเพิล ริช ที่เกาะบริติช เวอร์จิน และมีการโอนหุ้นชินคอร์ป ให้บุตรชายและบุตรสาว ว่า การที่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตั้งบริษัทในแหล่งที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งการฟอกเงินและหลีกเลี่ยงภาษี สะท้อนว่าทุนนิยมข้ามชาติมักจะหาช่องทางเข้ามาในประเทศใดที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเท่ากับเข้ามากอบโกยผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

"กรณ์" สงสัยผลประโยชน์ทับซ้อน

นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนายกรัฐมนตรี จากการที่ขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป ไปขายหุ้นให้เทมาเส็ก ว่าอาจจะมีการให้สัญญาเกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ โทรคมนาคม 3 G ที่จะเกิดขึ้นในไทยในอนาคตหรือไม่ หรือสิทธิพิเศษทางการค้าในด้านอื่นๆ

นอกจากนี้ กลุ่มเทเมาเส็ก ในฐานะที่เข้ามาซื้อหุ้นของชินคอร์ป ควรจะต้องมีการชี้แจงนโยบาย ในการบริหารงานในบริษัทในกลุ่มที่เหลือด้วย ทั้งชินแซท และไอทีวี

นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ภาวะของผู้นำทางการเมือง จำเป็นต้องมีจริยธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องคำนึงถึงเฉพาะเรื่องกฎหมาย ว่าการกระทำบางอย่าง อาจส่งผลให้เกิดคำถามต่อสาธารณชน เช่น ความจำเป็นในการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น ผู้นำทางการเมืองควรจะคิดถึงจริยธรรมมากกว่าการมองกฎหมายเพียงด้านเดียว เหวงหนุน 28 ส.ว.ยื่นถอดถอนแม้ว

ที่รัฐสภาวันนี้ (6 ก.พ.) น.พ.เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย และนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน พร้อมด้วยคณะร่วมกันมอบดอกไม้ให้กำลังใจ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว. อุบลราชธานี นายวงศ์พันธุ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ส.ว.พังงา และนายการุณ ใสงาม ส.ว.บุรีรัมย์ ตัวแทนคณะ 28 ส.ว. ที่ยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่น่าจะยังคงเป็นหุ้นส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัท หรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน จากกรณีขายหุ้นแอมเพิล ริช เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 209 นำไปสู่ความผิดตามมาตรา 216 (6)ของรัฐธรรมนูญ

นพ.เหวงกล่าวว่า พวกตนขอชื่นชมและสนับสนุนการยื่นถอดถอนนายกฯของคณะ 28 ส.ว.ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา ต้องรีบส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนการที่ภาคประชาชนยุติการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าชั่วคราว ไม่ได้หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีความชอบธรรมในการบริหารต่อไป ต่อจากนี้ภาคประชาชนจะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญทุกวิถีทางเพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกให้ได้เพราะสถานการณ์ของประเทศจะดีขึ้นทันทีหากนายกฯลาออก

ทั้งนี้ พวกตนได้ไปกล่าวโทษนายกฯต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วฐานอาจมีความผิดซุกหุ้น นอกจากนี้จะหาทางอาศัยอำนาจทางกฎหมายให้หุ้นของบริษัทชินฯ ในส่วนโทรคมนาคมกลับมาในมือคนไทย เพราะการขายหุ้นดังกล่าวอาจผิด พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้ต่างชาติถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 โดยในส่วนบริษัทกลุ่มกุหลาบแก้ว กลุ่มเทมาเส็กได้ปล่อยเงินกู้จำนวน 20,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ส.ว. 28 คน ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ทั้งนักวิชาการ ประชาชนทั้งแผ่นดิน หรือแม้แต่ข้าราชการ เห็นนายกฯเป็นปัญหาต่อแผ่นดิน การที่คณะ 28 ส.ว.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมูญครั้งนี้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณมีส่วนได้เสีย ใช้อำนาจความเป็นนายกฯ ไปเกี่ยวข้อง มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทชินฯ การตรวจสอบครั้งนี้เพื่อให้รัฐธรรมนูญอยู่เหนืออำนาจอื่น โดยเฉพาะอำนาจทุนธุรกิจ มาผูกขาดการเมือง

นพ.นิรันดร์กล่าวด้วยว่า กรณีขายหุ้นบริษัทชินฯ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวน และศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจรติ วุฒิสภา ได้ตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยตั้งประเด็น 4 ประเด็นคือ 1. การให้สัมปทานวงโคจรดาวเทียม สื่อวิทยุโทรทัศน์ ให้ตกเป็นสมบัติของต่างชาติ ขัดต่อรัฐธรรมูญมาตรา 39 และ 40 หรือไม่ 2. การขายหุ้นให้เทมาเส็กได้เงิน 73,300 ล้านบาท ทั้งที่เป็นกิจการที่รัฐให้สัมปทาน จะต้องเสียภาษี หรือไม่ 3.มีการซุกหุ้นในแอมเพิลริชและการขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน (อินไซเดอร์) หรือไม่ และ 4. ขัดรัฐธรมนูญมาตรา 209 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากมอบดอกไม้ ให้ตัวแทนคณะ 28 ส.ว.เครือข่ายสมาพันธ์ประชาธิปไตยได้ยื่นหนังสือต่อนายสุชนเพื่อเร่งรัด ให้ส่งเรื่อง 28 ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็วเพราะเป็นปัญหาเร่งด่วน

นายสุชนกล่าวว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตรวจสอบความถูกต้องลายเซ็นส.ว.ที่ร่วมลงชื่อ และเร่งให้ฝ่ายกฎหมายส่งเรื่องดังกล่าวส่งเรื่องให้ตนในวันนี้ คาดว่าอีก 1-2 วันจะสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของพ.ต.ท.ทักษิณได้ รุกยื่น ป.ป.ช.สอบแอมเพิล ริช

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการสมาพันธ์ประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ในกรณีการซื้อขายหุ้นแอมเพิลริช 329.2 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ดำเนิน การสอบสวนการจงใจและเจตนาปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึงคดีที่ ศ.อมร รักษาสัตย์ อดีตกรรมการศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยความผิดการปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกฯให้กับคนขับรถ เพื่อให้ ป.ป.ช.นำมาขยายผลการสืบสวนต่อไป ซึ่งตนเชื่อว่าหาก ป.ป.ช. ตรวจสอบปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ตรงไปตรงมา คดีนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะลงเอยเช่นเดียวกับกรณีของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน ที่เคยถูกเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีแน่นอนในการปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก่อนเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง

"เร็วๆนี้คอยดูจะเห็น 28 ส.ว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ ที่ผิดตามมาตรา 209 นี้เป็นดาบแรก แต่การที่ตนมายื่นที่ ป.ป.ช.จะเป็นดาบที่สองในการตรวจสอบ" เลขาธิการสมาพันธ์ประชาธิปไตยกล่าวและว่า วันเดียวกันนี้จะเดินทางไปวุฒิสภา เพื่อยื่นเรื่องให้นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา เร่งดำเนินการส่งเรื่อง ที่ทาง 28 ส.ว.ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยตรวจสอบว่า พ.ต.ท. ทักษิณปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ ตามมาตรา 209 ที่จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวข้องกับหุ้นเลย แต่อาจจะเข้าข่าย เป็นผู้ชี้นำแนะนำหรือกำกับหุ้นอยู่ จึงอาจเข้าข่ายปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ผิดตามมาตรา 216


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.