"จากเจ้าของโรงเหล้าถึงเจ้าของโรงแรม"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

เจริญ สิริวัฒนภักดี ใช้เวลาเพียง 3 ปี เป็นเจ้าของโรงแรมถึง 14 โครงการ โดยใช้วิธีการเทกโอเวอร์ การเข้าไปซื้อบริษัทนิวอิมพีเรียลโฮเต็ลของเจ้าสัวอากร ฮุนตระกูล เมื่อปี 2537 บริษัทเดียวนั้นทำให้เขาได้โรงแรมของบริษัทในเครือติดมาด้วยอีก 7 โรงแรมคือ โรงแรมอิมพีเรียลธารา ซอยสุขุมวิท 26 โรงแรมอิมพีเรียล อิมพาล่า สุขุมวิท 24 โรงแรมอิมพีเรียลบนถนนวิทยุ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์คในซอยสุขุมวิท 22 โรงแรมอิมพีเรียลสมุย โรงแรมอิมพีเรียล เรือและบ้าน โรงแรมอิมพีเรียล ธารา แม่ฮ่องสอน

ในปี 2538 และปี 2539 เจริญยังได้ซื้อโรงแรมเพิ่มขึ้นอีก 3 โรงแรมคือโรงแรมภูแก้วรีสอร์ท ในอำเภอเขาค้อที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในราคาประมาณ 260 ล้านบาทจากบุญชู โรจนเสถียร ซื้อโครงการซิตี้รีสอร์ทที่เชียงใหม่ และปี 2539 ซื้อโรงแรมโกลเด้นท์ไทรแองเกิ้ลวิลเลจบริเวณสามเหลี่ยมทองคำจากไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์

ทั้งบุญชู และไพโรจน์ เป็นที่รู้กันว่าทั้ง 2 คนประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนักจากภาวะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ โดยเฉพาะไพโรจน์นั้นเรียกว่าตัดทรัพย์สินไหนขายได้ก็จะทำทันทีเลย

และล่าสุดก็ได้ให้บริษัทในเครือ ที.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเข้าไปซื้อกิจการของโรงแรมพลาซ่า เอเธน ในเครือฟอร์เต้อเมริกา มูลค่ากว่า 1,750 ล้านบาท

รายชื่อของบริษัทที่ถือหุ้นในโรงแรมอิมมพีเรียลนั้นก็ยังเป็นของบริษัทในเครือของเจริญเกือบทั้งสิ้น เช่น บริษัท ที.ซี.ซี. โฮลดิ้งถือหุ้น 25.81% บริษัทเครือไทยเจริญคอมเมอร์เชียล (1989) 11.95% กลุ่มสุราทิพย์ 10.94% บริษัททิพย์ร่วมทุน 10.69% บริษัทศรีไพบูลย์ร่วมทุน 10.72%

การเข้าไปซื้อบริษัทนิวอิมพีเรียลโฮเต็ล นอกจากทำให้เขาได้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นตัวโรงแรมมาด้วย 7 โรงแรมแล้ว ยังได้ที่ดินในต่างจังหวัดอีกหลายร้อยไร่ (ดูตามตาราง)

ประพันธ์ศักดิ์ แพทยานนท์ รองประธานบริหารเครืออิมพีเรียลเล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่ามีเหตุผล 3 ข้อที่เจริญซื้อธุรกิจโรงแรมคือ 1. เขามองว่าเขาอยากเห็นโรงแรมดี ๆ ในเมืองไทยที่บริหารด้วยคนไทย 2. เขามีเงิน 3. เป็นการช่วยเหลือคนที่รู้จักกัน

แต่ที่ "ผู้จัดการรายเดือน" อยากฟันธงวิธีการคิดที่แยบยลของเขาตรงนี้อีกเรื่องก็คือ เมื่อเขาเป็นเจ้าของโรงแรมห้าดาวอย่างอิมพีเรียล มันก็เหมือนเป็นโลโกของความมีชื่อเสียงติดไปยังธุรกิจโรงแรมอื่น ๆ ที่เขาวางแผนซื้อเพิ่มเติมภายหลัง รวมทั้งโรงแรมแม่ปิง ซึ่งเขาซื้อมาก่อนหน้านี้ด้วย

บริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านโรงแรมคือ บริษัทนิวอิมพีเรียลโฮเต็ล จำกัด มหาชน มีประพันธ์ศักดิ์ แพทยานนท์ รองประธานบริหารเครือโรงแรมอิมพีเรียลเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบในการบริหารโรงแรมในเครือทั้งหมด

บริษัท ที.ซี.ซี. โฮเต็ลแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ มีฟ้าฟื้น บุญยเกียรติ เป็นประธานบริหารบริษัท มีหน้าที่ในการลงทุนและขยายกิจการโรงแรม

บริษัทนี้มีบทบาทอย่างมากในการเข้าไปพัฒนาที่ดินแปลงอื่น ๆ ของเจริญ การบริหารโรงแรมทั้ง 2 ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับ ม.ร.ว. สฤษดิคุณ กิติยากร ประธานบริหารกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล

ม.ร.ว. สฤษดิคุณ กิติยากร ปัจจุบันอายุ 60 ปี เริ่มเข้ามารับตำแหน่งนี้แทนอากรเมื่อปี 2537 โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานกรรมการบริษัทนิวอิมพีเรียล และบริษัทย่อยของโรงแรมทั้งหมด

ประพันธ์ศักดิ์นั้นในอดีตเคยเป็นผู้จัดการใหญ่โรงแรมเอราวัณ เป็นมืออาชีพทางด้านโรงแรมที่เข้ามาทำงานกับอากรตั้งแต่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค เริ่มสร้าง เมื่อเจริญเข้ามาก็ได้รับบทบาทเพิ่มขึ้น ส่วนตัวเจริญเอง เป็นเพียงกรรมการบริษัทไม่ได้เข้ามานั่งบริหารด้วย

ในจำนวนโรงแรมทั้งหมดของเขานั้น ตัวที่ทำรายได้มากที่สุดในปัจจุบันคือ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ในซอยสุขุมวิท 22 แต่ยังเป็นโรงแรมที่ไม่คืนทุนเพราะเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2537 ส่วนโรงแรมอิมพีเรียลบนถนนวิทยุ ในปีนี้และปีหน้าก็จะยังไม่มีตัวเลขรายได้เข้ามาเพราะกำลังทุบทิ้งเพื่อพัฒนาใหม่เป็นโรงแรมที่ทันสมัยกว่าเดิม

ย้อนหลังไปในปี 2539 โรงแรมที่ทำรายได้ให้กับทางบริษัทมากที่สุดคือ โรงแรมอิมพีเรียลธาราโฮเต็ล 137 ล้านบา ส่วนในต่างจังหวัดก็จะเป็นโรงแรมอิมพีเรียลสมุย 72 ล้านบาท (ดูรายละเอียดในตาราง)

โรงแรมในต่างจังหวัดอีกหลายแห่งของเจริญยังคงขาดทุนตามภาวะการท่องเที่ยวที่ซบเซา ทั้ง ๆ ที่บางโรงแรมทำเลดี วิวสวยมาก แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางการตลาดเพราะเป็นทำเลที่ค่อนข้างไกล เช่น อิมพีเรียลภูแก้ว ซึ่งเดินทางโดยรถยนต์ได้อย่างเดียว ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง ถ้าหากการก่อสร้างสนามบินหล่มสักสร้างเสร็จตามแผน ประมาณต้นปี 2541 ลูกค้านักท่องเที่ยวคงเพิ่มขึ้นเพราะใช้เวลาเดินทางไม่ถึงชั่วโมง

อย่างไรก็ตามตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุให้เห็นชัดเจนว่า ก่อนซื้อบริษัทมาจากเจ้าสัวอากรเมื่อปี 2537 นั้น บริษัท นิวอิมพีเรียลโฮเต็ลขาดทุนในปี 2535 ประมาณ 93 ล้านบาท ในปี 2536 ขาดทุน 139 ล้านบาท และสิ้นปี 2537 ขาดทุนเพิ่มขึ้น 538 ล้านบาท

การขาดทุนจำนวนมหาศาลในปี 2537 นั้น เป็นเพราะตลาดโรงแรมที่ซบเซามาโดยตลอด ประกอบกับภาระการสร้างโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ซึ่งเป็นโรงแรม 5 ดาวขนาดใหญ่

แต่ในปี 2538 ภาวะการขาดทุนลดลงเหลือ 194 ล้านบาท และพอสิ้นปี 2539 ก็ปรากฏตัวเลขได้กำไรถึง 187 ล้านบาท

ตัวเลขกำไรตรงนี้อาจเป็นเพราะทางบริษัทนิวอิมพีเรียลได้ขายที่ดินของบริษัทซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมอิมพีเรียล วิทยุ จำนวน 4 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวาให้กับบริษัทศรัทธาธรรม ซึ่งเป็นบริษัทของเจริญในราคา 600 ล้านบาท โดยทางบริษัทนิวอิมพีเรียลก็ได้เช่าพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสร้างเป็นโรงแรมวิทยุใหม่ รวมทั้งได้เช่าพื้นที่เพิ่มจากราชินีมูลนิธิอีกประมาณ 10 ไร่

ถึงแม้จะมีตัวเลขที่กำไร แต่ด้วยวิธีการดังกล่าว เชื่อแน่ว่า ในบทบาทของเจ้าของโรงแรมในอนาคตอันใกล้นี้ เจริญต้องรับศึกหนักแน่นอน เพราะนอกจากจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการก่อสร้างโรงแรมอิมพีเรียลวิทยุแล้ว ประการแรกที่ยังเป็นตัวปัญหาคือภาวะโดยรวมของเศรษฐกิจที่จะเป็นตัวกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมซึ่งเป็นรายได้หลักครึ่งหนึ่งของธุรกิจนี้ และ 2. ภาวะการท่องเที่ยวที่ยังคาดการณ์ได้ยากว่าจะดีขึ้นหรือไม่อย่างไร และสุดท้าย ประสิทธิภาพในการบริหารงานของทีมงาน ซึ่งมีการแข่งขันกันดุเดือดจริง ๆ ทีมงานมืออาชีพเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ

และด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ประพันธ์ศักดิ์ ค่อนข้างมั่นใจว่า ถึงแม้จะมีเจ้าของโรงแรมอีกหลายแห่งที่เรียงคิวเข้ามาให้เจริญเลือกซื้อและเทกโอเวอร์ เจริญก็คงต้องหยุดซื้อโรงแรมใหม่ชั่วคราวเพื่อหันมาบริหารกิจการที่มีอยู่แล้วในมือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เขามั่นใจทั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม 2541 นั้น มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า เจริญได้เข้าไปซื้อบริษัทภูเก็ตไอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ภูเก็ตอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมภูเก็ตไอร์แลนด์ บ้านไทย และภูเก็ตพาวิลเลียน แต่เป็นบริษัทที่ประสบปัญหาทางด้านผลประกอบการมาโดยตลอด และขณะนั้นอยู่ในระหว่างทำแผนฟื้นฟู เสนอต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

ถ้าเจริญเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่แปลกใจว่าเขาจะใช้แผนเหนือเมฆอย่างไรในการฟื้นฟู และที่สำคัญจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก

สมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ยูเนี่ยน ในฐานที่ปรึกษาทำแผนฟื้นฟูของภูเก็ตไอร์แลนด์ กล่าวว่า แนวทางแก้ไขคือ 1. ต้องเร่งลดภาระหนี้สินที่มีทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันมีหนี้สินหมุนเวียนประมาณ 587.85 ล้านบาท ดังนั้นต้องตัดขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อรายได้ เช่น ภูเก็ตพาวิลเลียน เนื่องจากเป็นโรงแรมที่คนเข้าไปพักน้อย

2. ปรับโครงสร้างหนี้สินเสียใหม่ และขั้นตอนสุดท้ายคือการลดต้นทุนบริหารงานบางส่วน
แต่ที่เล่าลือกันว่า เจริญไปซื้อนั้น สมภพยืนยันกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่าเป็นเพียงข่าวลือ จริง ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.