"จับตาเจริญ ในธุรกิจอสังหาฯ เขาจะรอดได้อย่างไร?"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

นักซื้อกิจการที่เป็นที่รู้จักหลายคนเช่น สุระ จันทร์ศรีชวาลา, ปิ่น จักกะพาก และวินัย พงศธร ทุกคนมีวิธีการซื้อกิจการที่ค่อนข้างพิลึกพิลั่นแตกต่างกัน และประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่งที่จะประสบปัญหากลายเป็นกิ้งกือหกคะเมนในวันนี้ ขณะที่ เจริญ สิริวัฒนภักดี ก็มีประวัติของการซื้อกิจการที่ยิ่งใหญ่พอ ๆ กัน โดยเฉพาะธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เขาวางแผนจัดการอย่างไร เพื่อให้ผ่านพ้นยุควิกฤตินี้ไปได้ และยามนี้ถึงเวลาหรือยังที่เขาต้องคืนทุนจากเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่กว้านซื้อไว้

ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาดูเหมือนว่าเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสุรามหาราษฎรได้เทกโอเวอร์กิจการด้านอสังหริมทรัพย์อย่างดุเดือดกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา เริ่มด้วยการซื้อบริษัทนิวอิมพีเรียลโฮเต็ล ของเจ้าสัวอากร ฮุนตระกูล ซื้อโรงแรมภูแก้วรีสอร์ท ของบุญชู โรจนเสถียร ซื้อโรงแรมโกลเด้นท์ไทรแองเกิ้ลวิลเลจ ของไพโรจน์ เปี่ยมพงศ์สานต์ เข้าไปซื้อโครงการฟายโฮมทาวน์ ของสิทธิชัย นวลมณี ในอำเภอปากเกร็ด หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้เขาได้เข้าไปซื้อโครงการเอ็มไพร์ทาวเวอร์จากกลุ่มฮ่องกงแลนด์ ในราคาประมาณ 4,000 ล้านบาท

บริษัทนอร์ทปาร์ค บนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมียศ เอื้อชูเกียรติ ถือหุ้นใหญ่อยู่นั้น ขณะนี้หุ้นส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนมือเป็นของเจริญแล้วเช่นกัน

แม้แต่บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนเมษายน 2539 รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 1 ใน 10 ก็คือบริษัทนิมิตรกำแพงเพชร ของเจริญนั่นเอง

ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปี แต่เชื่อว่ายังมีดีลการซื้ออีกหลายโครงการที่ยังไม่เป็นที่รับรู้และเปิดเผย

แหล่งเงินของเจริญหลัก ๆ จะมาจากธุรกิจน้ำเมา ถ้าพลิกดูตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์จะพบว่าในแต่ละวันเจริญจะมีกระแสเงินสดจากการขายเหล้าของบริษัทสุรามหาราษฎรบริษัทเดียวได้วันละ 24 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

บริษัทสุรามหาราษฎรมีบริษัทศรีไพบูลย์ร่วมทุนและบริษัทในเครือของเจริญเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เฉพาะศรีไพบูลย์ร่วมทุนเป็นบริษัทที่เจริญถือหุ้นอยู่ 30% คุณหญิงวรรณา 25% และลูก ๆ ชายหญิงทั้ง 5 คือ อาทินันท์ วัลลภา ฐาปน ฐาปณี ปณต เป็นผู้ถือหุ้นคนละ 5% ที่เหลืออีก 20% เป็นของบริษัท BEST WISHES และ BEST SPIRIT จำกัด

เจริญยังเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสถาบันการเงินอีกหลายแห่งด้วย ธนาคารมหานคร จำกัด(มหาชน) แบงก์ขนาดกลางที่ยังมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขของไตรมาสแรกในปี 2540 นี้ ธนาคารนี้มีกำไรสุทธิประมาณ 1,176 ล้านบาท และผู้ถือหุ้นใหญ่รองจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินก็คือบริษัทนิมิตรอุดรธานี บริษัทนิมิตรนครศรีธรรมราช และบริษัทสุราทิพย์อโยธยาของเจริญเช่นกัน

ผู้ใกล้ชิดกับเจริญยังยืนยันว่าในธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารนครหลวงไทย และอีกหลาย ๆ ธนาคารนั้นเจริญได้กว้านซื้อหุ้นเก็บไว้เป็นจำนวนมาก

รวมทั้งการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอาคเนย์ประกันภัย และบริษัทอินทรประกันภัยด้วย

การเป็นเจ้าของธุรกิจทางด้านการเงิน เป็นสูตรสำเร็จของบรรดาธนราชันย์เก่า ๆ ในเมืองไทย และเจริญก็กำลังก้าวเดินตามรอยเท้านั้นโดยไม่ผิดเพี้ยน เช่นเดียวกับการช้อนซื้อที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2524 เจริญตั้งบริษัท ที.ซี.ซี. ที่ดินและเคหะขึ้น ต่อมาเมื่อปี 2531 ได้เปลี่ยนเป็นบริษัทที.ซี.ซี. ทรัพย์สินเจริญ ปัจจุบันบริษัทนี้มีบริษัทต่างๆ ในเครือของเจริญเป็นผู้ถือหุ้น บริษัทที่ถือหุ้นใหญ่ คือ ทิพย์ร่วมทุน รายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทก็คือบุคคลกลุ่มเดียวกับบบริษัทศรีไพบูลย์ร่วมทุน

"เมื่อมีเงินเหลือก็ซื้อที่ดินทิ้งไว้ของมันไม่เน่าไม่เสีย แต่ดีกว่าด้วยซ้ำเพราะราคาขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ย" นั่นคือความคิดของเขาที่เคยพูดเปรยๆ ให้คนใกล้ชิดฟัง แต่การตัดสินใจซื้อที่ดินแต่ละแปลงของคนที่เป็นพ่อค้านั้นแน่นอนย่อมมีเหตุผลประกอบมากกว่านั้น เหตุผลสำคัญของเขามีอยู่ 3 ข้อคือ 1.ราคาไม่แพง 2. เห็นอนาคตในการลงทุน 3. ซื้อเพื่อทดแทนบุญคุณ

เป็นที่รู้กันว่าถ้าเป็นการซื้อที่ดินที่เห็นอนาคตในการลงทุนแล้วเจริญจะปรึกษาคนหลายคนมาก รวมไปถึงหมอดูด้วย แต่ถ้าซื้อที่ดินหรือการซื้อโครงการที่เจ้าของเดิมแบกภาระไม่ไหวแล้ว เพื่อเป็นการทดแทนคุณ แล้วละก็ จะตัดสินใจซื้อทันทีโดย ไม่ปรึกษาใครเลย เรียกว่าซื้อกันด้วยใจจริงๆ

ตัวอย่างในกรณีนี้เช่นการเข้าไปซื้อบริษัทสยามประชาคาร เจ้าของหมู่บ้านเสนานิเวศน์ ซึ่งมี ชวน รัตนรักษ์ แห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เมื่อปี 2530 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นแบงก์หนึ่งที่สนับสนุนโครงการน้ำเมาของเจริญมาโดยตลอดเมื่อโครงการนี้ประสบกับภาวะขาดทุนเจริญก็ได้ยื่นมือไปช่วย

การไปซื้อ โครงการพันธุ์ทิพย์พลาซ่า จากตระกูลบุนนาคเมื่อปี 2531 ก็เป็นเพราะภรรยาของอธิบดีกรมสรรพสามิตคนหนึ่งอยู่ในตระกูลบุนนาค เจริญเลยซื้อเพราะต้องการช่วยเหลือ
การเข้าไปซื้อหุ้นในโครงการนอร์ทปาร์ค หลังจากที่อนันต์ อัศวโภคิน แห่งค่ายแลนด์แอนด์เฮ้าส์ขายทิ้ง ก็เป็นเพราะ ยศ เอื้อชูเกียรติ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เจริญนับถือขอความช่วยเหลือ เพราะกลัวว่าจะแบกรับภาระไม่ไหว

หรือการเข้าไปซื้อ โครงการฟายโฮมทาวน์ ก่อนที่ธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะยึดไป นั่นก็เป็นเพราะ "สิทธิชัย เป็นลูกชายของเพื่อนเก่าของคุณเจริญ" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าวให้ฟัง

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาพของเจริญคือคนที่รู้จักบุญคุณคน และเป็นที่กล่าวขานกันในวงการ แต่ถ้ามองต่างมุมแล้วก็อาจจะเป็นไปได้เหมือนกันว่าเจริญเองก็คงมองการณ์ไกลไปยิ่งกว่าที่ใคร ๆ จะคาดคิด เพราะผลพวงจากการช่วยเหลือในแต่ละครั้งนั้น ทำให้เขาได้ที่ดินในทำเลดี ๆ ซึ่งราคาพรวดพราดสูงขึ้นจากเดิมไม่รู้กี่เท่าติดมาด้วยหลายแปลง เช่นที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาตรงข้ามโกดังอี๊สต์เอเซียติ๊กจำนวน 28 ไร่จากการซื้อโครงการของพันธุ์ทิพย์หรือที่ดินของหมู่บ้านเสนาฯ บางส่วนที่ติดกับถนนตัดใหม่เอกมัย-รามอินทรา รวมทั้งได้ที่ดินรอบ ๆ สนามกอล์ฟในโครงการนอร์ทปาร์คมาครอบครอง

"คุณเจริญแกรู้อยู่แล้วว่า สนามกอล์ฟราชพฤกษ์ในโครงการนอร์ทปาร์คไม่ได้กำไรแน่ แต่แกมองถึงที่ดินรอบ ๆ สนามกอล์ฟที่จะมีมูลค่าเพิ่มในเวลาต่อไปต่างหาก" ที่ปรึกษาทางด้านที่ดินรายหนึ่งอรรถาธิบายวิธีคิดของเจริญต่อ

แต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนมีผลทำให้สงครามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดุเดือดอยู่นั้น ก็เป็นที่น่าสนใจเหมือนกันว่าเขาจะจัดการอย่างไรกับทรัพย์สินเหล่านี้เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นโซ่ล่ามพันธนาการกลุ่มธุรกิจของเขา

ในปี 2537 นั้น เจริญได้ตั้งบริษัท ที.ซี.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ ขึ้นเพื่อที่จะรับผิดชอบในการพัฒนาที่ดินให้เป็นระบบขึ้น

เทอดเกียรติ ศักดิ์คำดวง นายกสมาคมนักผังเมืองไทยคือผู้ที่ถูกเจริญชักชวนเข้าไปเป็นกรรมการบริหารบริษัท ที.ซี.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ และร่วมกันวางแผนทำโครงการในครั้งนั้น เทอดเกียรติ เคยเล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่าในช่วงปี 2537 เจริญมีแผนที่จะปูพรมขึ้นโครงการพัฒนาที่ดินในมือถึงประมาณ 16 โครงการ แต่ยังไม่ทันได้ลงมือก่อสร้างจริงจังภาวะตลาดก็เปลี่ยนแปลงไปทุกโครงการเลยต้องชะลอออกไปก่อน และเจริญก็ได้เปลี่ยนแนวความคิดใหม่ แทนที่จะพัฒนาแล้วขายก็กลายเป็นเลือกซื้อโครงการราคาถูกที่แห่เข้ามาให้เสนอซื้อแทน

"อย่างเช่นที่ดินตรงริมน้ำถ้าจะพัฒนาใหม่ต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้านแน่ เงินจำนวนนั้นเขาเอามาซื้อตึกสำเร็จรูปในทำเลดี ๆ จะคุ้มทุนเร็วกว่าเยอะ" เทอดเกียรติกล่าวและเมื่องานทางด้านการขึ้นโครงการใหม่ ๆ ถูกเลื่อนเวลาออกไปเทอดเกียรติจึงได้ลาออกมาทำงานส่วนตัว

ก่อนหน้านี้ ไพบูลย์ สำราญภูติ ก็คือผู้หนึ่งที่เข้าไปร่วมงานกับเจริญ แล้วก็ถอยตัวออกมาด้วยเหตุผลที่ว่า "คุณเจริญมีที่ดินมากมายจริง ๆ แต่พอเราเสนอโครงการไปไม่เห็นแกตัดสินใจให้ทำโครงการไหนเลย ก็เลยไม่รู้อยู่ไปทำไม"

การไม่เข้าไปแย่งตลาดในช่วงนั้นทั้ง ๆ ที่มีที่ดินแปลงสวยในมือหลายแปลงนั่นเองเป็นจุดที่เจริญถูกมองว่า ไม่ได้ต้องการที่จะพัฒนาที่ดินเหล่านั้นจริง ๆ แต่เขาต้องการใช้ที่ดินเหล่านั้น เป็นหลักทรัพย์ในการกู้เงิน เพื่อมาใช้หมุนเวียนในการซื้อกิจการอื่น ๆ ของเขา และนับวันที่ดินจะต้องมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเขาก็สามารถเอามารีไฟแนนซ์ไหม่เพื่อเอาเงินก้อนใหม่ออกมาได้อีก

"อย่าลืมว่าถ้าเป็นที่ดินเปล่าไปค้ำประกันแบงก์ก็จะได้เงินน้อยกว่าที่ดินที่มีอนาคตมีแผนที่จะทำโครงการใหญ่โตเป็นการแต่งตัวหรือเปล่า" บางรายตั้งข้อสังเกต

ซึ่งมันก็คือวิธีการของการใช้เงินต่อเงิน หรือใช้เงินต่อเครดิตที่คนรวยเขาใช้กันนั้นเอง ถ้าเป็นวิธีการดังกล่าว สถานการณ์ในช่วงเศรษฐกิจซบเซาอย่างต่อเนื่องยาวนานนี้สถานภาพของเจริญก็น่าเป็นห่วง

ในขณะเดียวกันหุ้นบางตัวที่เจริญหว่านเม็ดเงินเข้าไปซื้อก็อยู่ในภาวะตกต่ำเช่นกัน เช่นหุ้นของบริษัทแปซิฟิคแอสเซ็ทส์ ที่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2540 นั้นหล่นลงไปเหลือเพียง 2 บาท หรือการให้บริษัทสิงขรร่วมทุน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในธนาคารศรีนคร

ส่วนที่ดินหลายแปลงที่น่าจะได้เวลาเอาทุนคืนได้แล้วนั้นยังไม่เห็นอนาคต เช่น โครงการสุริวงศ์คอมเพล็กซ์ออฟฟิศสำนักงานสูง 40 ชั้นริมถนนสุริวงศ์เดิม กำหนดให้แล้วเสร็จในปี 2539 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ก่อสร้าง เพียงเตรียมทำฐานรากและถูกทิ้งให้ค้างคาไว้อย่างนั้น

ที่ดินริมน้ำจำนวน 28 ไร่ที่ได้จากตระกูลบุนนาค ที่เคยวาดแผนไว้ว่าจะสร้างโรงแรม อาคารสำนักงานและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ก็ถูกชะลอตัวไปเช่นกัน สำหรับที่ดิน 28 ไร่ในโครงการฟายโฮมทาวน์เวอร์ บนถนนติวานนท์ก็ยังถูกทิ้งร้างเหมือนเดิมหลังจากตั้งใจที่จะสร้างที่อยู่อาศัยเช่นกัน

"ถ้าคุณเจริญมาขึ้นโครงการที่อยู่อาศัยในช่วงนี้บนที่ดินแปลงนี้ ไม่แก ก็ที่ปรึกษานั่นล่ะคงเมาแล้ว เพราะๆ รู้กันว่าตอนนี้ในย่านตลาดที่อยู่อาศัยมันโอเวอร์ซัปพลาย มีค้างสต็อกในโครงการต่าง ๆ อีกมาก ในโครงการเมืองทองธานีแห่งเดียวก็ยังซื้อทิ้งกันเยอะแยะ" แหล่งข่าวในวงการที่ดินรายหนึ่งให้ความเห็น

ในขณะที่หลายโครงการชะลอตัวโครงการที่กำลังพัฒนาเองก็ต้องลุ้นกันสุดตัวเหมือนกันว่าจะสร้างยอดขายอย่างไร

สำหรับโครงการที่ยังพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่องเห็นชัด ๆ ก็คือโครงการเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ซึ่งพัฒนาในนามของบริษัท ที.ซี.ซี.โฮเต็ลแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นออฟฟิศสำนักงานโครงการที่ใหญ่อีกโครงการหนึ่งของเมืองไทย เพราะประกอบไปด้วยตัวตึกถึง 4 ตึกพื้นที่ขายทั้งหมดประมาณ 170,000 ตารางเมตร ตึกด้านหน้าสูง 10 ชั้นซึ่งขณะนี้ทางธนาคารมหานครได้ซื้อพื้นที่ไปแล้วทั้งหมดเพื่อให้เป็นสาขาถนนสาธร ส่วนอีก 3 ตึกมีความสูงตั้งแต่ 50-62 ชั้น

พื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 40% ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับบริษัทในเครือ ที.ซี.ซี. ทั้งหมดซึ่งในขณะนี้กระจัดกระจายเช่าพื้นที่อยู่ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค

เจริญซื้อตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์จากกลุ่มฮ่องกงแลนด์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 2,000 ล้านบาท มีการแบ่งชำระเงินเป็นงวด ๆ ซึ่งมีทั้งกู้ในประเทศ และต่างประเทศ และเงินทุนหมุนเวียน สำหรับมูลค่าก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาทโครงการนี้จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2541

การขายพื้นที่ออฟฟิศในย่านใจกลางเมืองช่วงเวลานี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย โดยเฉพาะบนถนนสาธร ยังมีพื้นที่อาคารสูงว่างอีกมาก เชื่อว่าทีมงานของเจริญคงต้องหาไม้เด็ดมาฟาดฟันกันอย่างหนักมากจริง ๆ

โครงการใหญ่ที่น่าจับตามองของเขาอีกโครงการหนึ่งตอนนี้ก็คือ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติที่ซอยเสนานิคมหนึ่งในพื้นที่ 117 ไร่ โครงการนี้บริษัท ที.ซี.ซี. ทรัพย์สินเจริญประมูลมาจากการกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ มีบริษัท ที.ซี.ซี. โฮเต็ลแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นผู้บริหารโครงการ

รูปแบบของโครงการนั้นถูกกำหนดกันสวยหรูมากว่าจะเป็นโครงการเดียวในเอเซียอาคเนย์ ที่ได้เตรียมการให้บริการแบบครบวงจร ในธุรกิจงานแสดงสินค้าและศูนย์ประชุม และมีพื้นที่แสดงสินค้ามากที่สุด ประกอบไปด้วยศูนย์แสดงสินค้าภายในอาคาร และศูนย์ประชุมขนาด 48,000 ตร.ม. พื้นที่แสดงสินค้าภายนอกอาคาร 18,000 ตร.ม. มีร้านอาหาร ห้องประชุมและโรงแรมขนาด 250 ห้อง นอกจากนี้ยังมีอาคารสำนักงานขนาด 10,000 ตรม. รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 210,000 ตร.ม.

ใหญ่ที่สุดถ้าเปรียบเทียบกับศูนย์แสดงสินค้าอื่น ๆ ในเมืองไทย กำหนดการก่อสร้างจะเริ่มราวกลางปี 2540 โดยได้กำหนดการก่อสร้างพื้นที่ประมาณ 50% ให้แล้วเสร็จประมาณต้นปี 2542 และพื้นที่ทั้งหมดจะต้องก่อสร้างสมบูรณ์ปลายปี 2542 มีฝรั่งรับผิดชอบคือ MR. ERNEST VINCENT

เช่นเดียวกับโครงการไนท์สแควร์ ซึ่งบริหารโดยบริษัท ที.ซี.ซี โฮเต็ลแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ซึ่งเป็นศูนย์การค้าสูง 3 ชั้น พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ติดกับโครงการไนท์พลาซ่าที่จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 3.2 หมื่นตารางเมตร เดิมได้วางแผนการสร้างโรงแรมไนท์โฮเต็ล สูง 32 ชั้น 650 ห้อง แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพราะมองว่าตัวโรงแรมคงเข็นไม่ไหวแน่ในช่วงเวลานี้ แต่ถึงจะเป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กกว่าแล้วก็ตาม ก็เชื่อได้ว่าโครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จง่าย ๆ ด้วยเหตุผลเดิมคือเรื่องของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวที่ยังคงซบเซา

เจริญต้องใช้เงินในการลงทุนโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 630 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามก็มีคำยืนยันจากผู้ใกล้ชิดเจริญบางรายว่าถ้าการซื้อที่ดิน หรือโครงการของเจริญใช้เงินส่วนตัวเพียง 30% อีก 70% กู้จากสถาบันการเงินมันก็น่าเป็นห่วงแต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เจริญกู้เงินเพียง 30% อีก 70% ใช้เงินสดส่วนตัว มันก็ไม่น่าจะมีปัญหา

ปัญหาของบุคลากรเคยเป็นจุดหนึ่งในการทำธุรกิจที่ล้มเหลวของปิ่น จักกะพาก แห่งกลุ่มฟินวัน เพราะขาดคนที่จะมารองรับในการทำงาน และความสำเร็จของอนันต์ อัศวโภคินแห่งแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่ยังยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางมรสุมในวันนี้ ก็เพราะการสะสมกำลังคนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมานานกว่า 10 ปี

อภิศิน ศิวะยาธร ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทรัพย์สินและพัฒนาที่ดินของบริษัท ที.ซี.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่าอีกประมาณ 3 เดือนโครงสร้างในการทำงานของบริษัทคงจะเรียบร้อย และเป็นระบบขึ้น

ทั้งนี้ธุรกิจอสังหาฯ ได้ดึงเอาเม็ดเงินจำนวนมากจากธุรกิจหลักของเจริญนั้นดูเหมือนได้เวลาที่เขาจะเอาทุนคืนได้แล้ว แต่ปัญหาคือในภาวะเศรษฐกิจซบเซาและความไม่พร้อมเรื่องบุคลากรของเขา อาจทำให้เวลาคืนทุนยังไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ก็เป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.