|
แบงก์กรุงศรีฯลั่นกำไร49โต10%ยันตระกูลรัตนรักษ์ไม่ขายหุ้น
ผู้จัดการรายวัน(6 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์กรุงศรีฯประกาศปี 49 กำไรโต 10% จากการปล่อยกู้ที่จะขยายตัว 8% เน้นปล่อยกู้ SME และรายย่อย โชว์ศักยภาพเงินกองทุนแกร่งไม่จำเป็นเพิ่มทุน เผยกลุ่มรัตนรักษ์ยังไม่คิดขายหุ้น แต่มีวอแรนต์รอใช้สิทธิอีก 1.5 ล้าน ดันเงินกองทุนให้อยู่ในระดับ 3-3.5% เผยใช้วิธีซื้อเครื่องมือและเทคโนโลยีรุกธุรกิจโดยไม่ต้องหาพันธมิตรเพิ่ม
นายพงศ์พินิต เดชะคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าผลการดำเนินงานในปี 2549 จะมีอัตราการเติบโตของกำไรประมาณ 10% ขณะที่สินเชื่อโต 8% หรือคิดเป็น 36,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อรวมปี 48 ที่อยู่ในระดับ 420,000 ล้านบาท และเงินฝากจะโตในระดับที่ใกล้เคียงกันคือ 8% หรือคิดเป็น 45,000 ล้านบาท โดยธนาคารมีนโยบายที่สร้างกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นในการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมทั้งพยายามที่จะเพิ่มกำไรสุทธิต่อพนักงานจากปัจจุบันกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อพนักงาน 500,000 บาทต่อคน นอกจากนี้ จะเน้นที่จะดำเนินธุรกิจครบวงจร โดยรวมกับบริษัทในเครือในการเพิ่มสินค้าและบริการทางการเงิน เพื่อขยายรายได้จากค่าธรรมเนียมให้เพิ่มขึ้น เพื่อมาทดแทนรายได้ส่วนต่างดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่
ปัจจุบันธนาคารมีโครงสร้างจากรายได้ค่าธรรมเนียมประมาณ 23% โดยปีนี้มีเป้าหมายที่เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมอีก 17% และมีรายได้จากดอกเบี้ย 77% โดยธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อลูกค้า SME และกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก และที่เหลือจะเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่
นายพงศ์พินิตกล่าวถึงกระแสการร่วมกับบริษัทจีอี แคปปิตอล ว่า ธนาคารได้มีนักลงทุนและพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาเจรจาธุรกิจกับธนาคารอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นเรื่องที่ดีทางธุรกิจหากสามารถสนับสนุนการให้บริการหรือธุรกิจของธนาคารได้ ส่วนนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาซื้อหุ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้ธนาคารยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นในการหาเงินทุนเพิ่ม และทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือ รัตนรักษ์ ก็ยืนยันที่จะไม่ขายหุ้นของธนาคาร
“ธนาคารผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาได้และสามารถดำเนินธุรกิจทั้งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้โดยที่ไม่ต้องปิดบริษัทในเครือแม้แต่บริษัทเดียว และเป็นธนาคารของคนไทยที่อยู่รอดมาได้ถึง 60 ปีอย่างมั่นคง” นายพงศ์พินิตกล่าวและว่า ขณะนี้ธนาคารมีวอแรนต์ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิอยู่ 1,217 ล้านหน่วย ในราคาแปลงสิทธิ 12 บาท ซึ่งหากมีการใช้สิทธิ จะมีเงินเข้ากองทุนอีก 1.5 หมื่นล้านบาท และทำให้ธนาคารมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นอีก 3-3.5%
ทั้งนี้ ธนาคารมีสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติอยู่ 30% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนทั่วไป มีกองทุนเล็กน้อย ซึ่งการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องเข้ามาในลักษณะของการถือหุ้น โดยธนาคารอาจจะใช้วิธีการซื้อโนฮาวเข้ามาแทน สำหรับการทำธุรกิจรายย่อยของธนาคารมีการเติบโตและขยายฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ขยายฐานได้โดยใช้เงินทุนที่ต่ำ และสามารถขยายไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยอื่นๆ ได้ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต
นายพงศ์พินิตกล่าวอีกว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารปัจจุบันอยู่ในระดับ 9% หรือคิดเป็น 42,000 ล้านบาท และสิ้นปีนี้จะพยายามลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 6-7% โดยจะใช้วิธีการตัดขายเอ็นพีแอลให้กับผู้ที่สนใจละต่างประเทศ และปีนี้คาดว่าจะขายประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่เหลือจะปรับโครงสร้างหนี้ ขณะนี้เตรียมที่จะจัดกลุ่มเอ็นพีแอลที่จะตัดออกขายกองละ 2-3 พันล้านบาท เพื่อให้เอ็นพีแอลเหลือ 5% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับธนาคาร
ขยายเครือข่ายภาคเหนือทุกบริการ
นายพงศ์พินิตเปิดเผยว่า ธนาคารมีความพร้อมที่จะให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการขยายเครือข่ายด้านบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกจังหวัดในภาคเหนือทั้งในเขต ตัวเมืองและนอกเมือง ทำให้มีการขยายเครือข่ายด้านธุรกิจการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจท้องถิ่นได้รับความสะดวกในการใช้บริการด้านธุรกรรมการเงินเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเป็นการเสริมศักยภาพให้เศรษฐกิจชุมชนมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันธนาคารมีเครือข่ายสาขาในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวม 51 สาขา บูธ Exchange สำหรับบริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวม 7 บูธ ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และเครื่องกรุงศรี ATM รวม 145 เครื่อง โดยได้จำแนกสาขาในเขตความรับผิดชอบของภาคเหนือตอนบนมีจำนวน 28 สาขา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา รวมถึงมีบูธ Exchange จำนวน 6 บูธ และจำนวนเครื่องกรุงศรี ATM จำนวน 104 เครื่อง
ในส่วนของจังหวัดเชียงรายมี 6 สาขา ประกอบด้วย สาขาเต็มรูปแบบจำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาเชียงราย พาน และแม่สาย และสาขาย่อย จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาย่อย ห้าแยกพ่อขุนเม็งราย สาขาย่อย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สาขาย่อย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเครื่องกรุงศรี ATM จำนวน 20 เครื่อง โดยธนาคารได้กระจายจุดติดตั้งเครื่องกรุงศรี ATM ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดเชียงรายให้สามารถรองรับธุรกรรมการเงินได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ธนาคารได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่เศรษฐกิจแห่งนี้ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามลำดับ จึงได้วางเครือข่ายเพื่อให้บริการทางการเงินด้านต่างๆ แบบครบวงจร อาทิ บูธ Exchange เครื่องกรุงศรี ATM พร้อมได้ติดตั้งเครื่อง EDC ในตัวเมืองเชียงรายและบริเวณสะพานข้ามชายแดนไทย-พม่า ดอยแม่สลอง และสามเหลี่ยมทองคำ เป็นต้น สำหรับในส่วนของสินเชื่อที่ธนาคารได้ให้บริการแก่ลูกค้าในพื้นที่ท่องเที่ยวอำเภอแม่สาย สามเหลี่ยมทองคำ และดอยแม่สลอง ได้แก่ กลุ่มของโรงแรม และผู้ประกอบการค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|