คนทำธุรกิจไม่เชื่อมั่นรัฐชะลอลงทุน


ผู้จัดการรายวัน(6 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นักธุรกิจชะลอการตัดสินใจลงทุนเพิ่ม หวั่นสถานการณ์การเมืองไม่นิ่ง หลังปฏิบัติการณ์ชุมนุมกู้ชาติ 4 ก.พ. กดดันรัฐบาลทักษิณ 2 ขาดเสถียรภาพ วงการอสังหาฯทบทวนแผนเปิดตัวโครงการใหม่ จี้รัฐฟื้นศรัทธาปราบคอรัปชันอย่างจริงจัง หยุดก้าวก่ายองค์กรอิสระ


นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า เปิดเผยว่า การชุมนุมกู้ชาติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรทำได้ดี ขณะที่คนที่มาร่วมชุมนุมทุกคนปฏิบัติตัวเป็นระเบียบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เขตที่อำนวยความสะดวก ส่วนผลจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้ในขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายรัฐมนตรี เจอปัญหาหนักมาก ทั้งประชาชน และคนในพรรคที่ลาออกกันเยอะ และถ้าตัดสินใจอยู่ก็อยู่อย่างลำบาก การยุบสภาน่าจะดีที่สุด เพื่อเปิดโอกาสประชาชนได้ตัดสินใจเลือกใหม่

สำหรับการรวมตัวของภาคประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ ไม่ได้ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่ในส่วนของภาคธุรกิจเชื่อว่า คงจะมีการชะลอการลงทุนใหม่ๆ บ้าง หากสถานการณ์การเมืองยังอึมครึม และยิ่งสถานการณ์ยืดเยื้อ จะทำให้การตัดสินใจลงทุนชะงัก

นายกฤษณัน งามผาติพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากสถานการณ์ชุมนุมมีความยืดเยื้อเชื่อว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน แม้การชุมนุมเมื่อวันที่ 4 ก.พ.จะผ่านไปด้วยดี แต่การจุดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 11 ก.พ.นี้ คงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

"ในเบื้องต้นทุกอย่างจบไปด้วยดี ไม่เหมือนเหตุการณ์ในอดีตหลายครั้งที่มีความรุนแรง ซึ่งถ้ามองในแง่ของผู้บริโภคก็ไม่มีอะไรที่น่ากังวลมากนัก แต่ในภาคการลงทุนจากต่างประเทศก็คงต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง" นายกฤษณณันกล่าว

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาในการลงทุน เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนหรือไม่ และจะจัดการปัญหาภายในพรรคได้อย่างไร หากมองในภาคการลงทุนขนาดใหญ่แล้วนั้น เชื่อว่าต้องมีผลกระทบแน่นอน คงต้องรอดูสถานการณ์ก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ขณะที่นายวิจิตร ณ ระนอง ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว เพราะเป็นการชุมนุมกันอย่างสงบ ทุกคนตั้งใจเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน เพราะฉะนั้นโอกาสเกิดจลาจลมีน้อยมาก และที่สำคัญผู้ที่มาชุมนุม ไม่ไช่กลุ่มที่ต้องการใช้กำลัง แต่เป็นผู้ที่ใช้ปัญญา เพื่อแก้ปัญหามากกว่า

"เราจะเห็นว่า ถ้าภาพที่ออกไปสู่สายตาคนต่างประเทศ ก็เป็นภาพที่มีการชุมนุมกันอย่างสงบ และใช้เวลาไม่ยืดเยื้อ ซึ่งการชุมนุมในลักษณะนี้ในต่างประเทศก็มี ต่างกับการก่อจลาจล เชื่อว่าชาวต่างประเทศมีความเข้าใจ ก่อนหน้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ก็มีบ้างที่นักท่องเที่ยวยกเลิกการจอง แต่เป็นอัตราที่น้อยมากแทบนับไม่ได้ ซึ่งคงเป็นผลมาจากการออกวอนนิ่ง หรือหนังสือเตือนที่รัฐบาลหลายประเทศเตือนประชาชนตามหน้าที่"นายวิจิตรกล่าว

ส่วนการที่จะมีชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 11 ก.พ. เชื่อว่าไม่มีปัญหากับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การชุมนุมครั้งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลของการชุมนุมครั้งนี้ หากทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ยังมั่นใจว่าไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะตรงนั้นเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งต้องแยกออกจากกัน เพราะความมั่นคงจะเกี่ยวข้องกับการลงทุน แต่ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นของคนไทย ไม่ใช่ต่างชาติมาลงทุน ขณะที่การตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ที่จะเข้ามาเที่ยวก็ไม่ได้ใช้ปัจจัยนี้เป็นตัวเลือก

นายประกิจ ชินอมรพงษ์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว เพราะไม่ได้มีเหตุร้ายแรงใดๆเกิดขึ้น นอกจากการชุมนุมอย่างสงบ และก็หวังว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไป เพราะธุรกิจท่องเที่ยวปีนี้เริ่มต้นมาก็กำลังไปได้ดี โรงแรมที่พักมีอัตราเข้าพักเมื่อเดือนมกราคมเฉลี่ย 80-90% โดยตลอดทั้งปีนี้ เชื่อว่าธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจะสดใส เพราะมีปัจจัยบวกหลายด้าน ประกอบกับเมื่อปีก่อน สาเหตุที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง เพราะเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ แต่ตอนนี้ทุกอย่างกลับเป็นปกติ

อสังหาฯลังเลการลงทุน ชี้การเมืองไร้เสถียรภาพ

แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯ กล่าวถึงการมาร่วมแสดงออกของประชาชนใน" 4 กุมภา วันกู้ชาติ" ว่า ยังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับข่าวความเคลื่อนไหวต่อการแสดงพลังของประชาชนว่ามีกี่หมื่นคนกี่แสนคน เพราะสถานีโทรทัศน์ไม่ได้นำเสนอความเคลื่อนไหวเท่าใด ซึ่งประเด็นประชาชนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีล่าออกนั้น ก็เชื่อว่านายกฯจะไม่ลาออกอย่างที่พูดไว้ เพราะเป็นคนที่เชื่อมั่นตัวเองสูงเกินไป

"โดยส่วนตัวเห็นว่า นายกเป็นคนเก่งและขยัน แต่ไม่น่าจะทำอย่างนี้ หมายถึง การขายหุ้นของกลุ่มชินคอร์ป หากมองในเรื่องธุรกิจ การขายหุ้นในราคา 73,300 ล้านบาท ถือว่าเป็นราคาที่สมน้ำสมเนื้อ แต่หากมองในแง่ของตัวบุคคลที่เป็นนายกฯ และมองในแง่ของความมั่นคงของประเทศแล้ว ราคาดังกล่าวถือว่าถูกมากๆ ถ้าเทียบกับจุดยุทธ์ศาสตร์ของประเทศไทย และความจริงแล้ว นายกฯน่าจะขายให้นักธุรกิจภายในประเทศ ถึงแม้นายกฯจะมองว่าคนในประเทศไม่มีเงินซื้อ แต่หากรวมๆกันแล้ว ก็น่าจะซื้อได้ แต่อาจจะได้ราคาไม่ถึง 70,000 ล้านบาท แต่หากเทียบกับความปลอดภัยและความมั่นคงแล้ว ก็ถือว่าคุ้มกว่า ซึ่งในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ อาจมองประเทศไทยไม่น่าลงทุน เพราะแม้แต่นายกรัฐมนตรียังขายหุ้นทิ้ง แสดงว่าถอดใจ" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองอย่างมาก ก็คือ ความอ่อนไหวของเสถียรภาพทางการเมืองในขณะนี้ รวมถึงการรวมพลของคนกู้ชาติ ที่จะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล ซึ่งสัปดาห์นี้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

"ได้รับข้อมูลจากบริษัทอสังหาฯบางราย เริ่มไม่แน่ใจต่อนายกรัฐมนตรี และมีการทบทวนแผนเพื่อประเมินสถานการณ์ ไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้ว เกิดเปลี่ยนรัฐบาลอะไรจะเกิดขึ้น และหากเป็นรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา จะบริหารประเทศได้แค่ไหน "แหล่งข่าวกล่าว

จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

นายพิเสฐ จึงแย้มปิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (PICO) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานได้ดี ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวดีขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา แต่รัฐบาลเองยังมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน และการเข้าไปก้าวก่ายองค์กรอิสระของอำนาจการเมือง จึงส่งผลด้านลบต่อรัฐบาล

"รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือเคลียร์เรื่องคอร์รัปชันได้ จึงทำให้ภาพลักษณ์เสีย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ปัญหาจุดนี้ และดำเนินการให้มีความโปร่งใส รวมถึงการชี้แจงความชัดเจนเกี่ยวกับการขายหุ้นชินคอร์ป การหลักเลี่ยงภาษี หากรัฐบาลสามารถทำได้ก็น่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ครบเทอมได้ แต่หากยังไม่ชัดเจนก็จะทำให้ตกอยู่ในภาวะอึมครึมต่อไป" ส่วนการลาออกของ 2 รัฐมนตรี นั้น จะต้องพิจารณารายละเอียดกันอีกครั้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด รวมถึงบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนรมว.ที่ลาออกดังกล่าว

นายนพดล ตัณศลารักษ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทมาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) (MACO) กล่าวว่า รัฐบาลยุคนี้มีการบริหารงานแบบธุรกิจการเมือง เพราะผู้นำมีพื้นฐานด้านธุรกิจเป็นอย่างดี หากรัฐบาลนำจุดเด่นนี้มาใช้เป็นแนวทางการบริหารงานจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ แต่อีกด้านอาจจะทำให้ประชาชนมองเป็นเชิงธุรกิจ และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องมากเกินไป ดังนั้นรัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะข้าราชการประจำที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ

"หากรัฐบาลบริหารงานบนพื้นฐานประโยชน์ของชาติเป็นหลัก จะทำให้รัฐบาลอยู่ครบเทอมได้ แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะประชาชนมองว่า นโยบายของรัฐบาลที่ออกมาเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนการเมืองและพวกพ้อง หรือประโยชน์ของชาติ ซึ่งหากเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกก็เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลชุดนี้จะอยู่ครบเทอมได้"

นายสมบัติ อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ILINK) กล่าวว่า การกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกในช่วงนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะยังไม่มีบุคคลหมาะสมที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน แม้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นนักธุรกิจ แต่ในการบริหารประเทศเองไม่ควรเน้นเชิงรุกมากเกินไป

"การลาออกของนายกฯ เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ขณะที่การปรับครม. หลังจากที่มีรมว. ลาออก 2 คน จะต้องดูว่าจะออกมาในรูปแบบใด เอาใครมาแทน เพื่อความเหมาะสม"

นายชัยวัฒน์ เครือชะเอม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หรือ UMS กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่อย่างจะให้ทั้งฝ่านค้านและฝ่ายรัฐบาลหันหน้าเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา โดยฝ่ายค้านเองก็ให้ทำหน้าที่เสนอแนะให้กับรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติ

"หากมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันจะทำเศรษฐกิจผันผวน แต่การปรับครม. ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากนัก"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.