|
ชี้บาทอ่อนค่าปัจจัยการเมืองตปท.ถือดอลล์
ผู้จัดการรายวัน(6 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นักค้าเงินคาดแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอ่อนค่า ต่างชาติจับตาสถานการณ์การเมือง พักยกลงทุนตลาดหุ้น กำดอลลาร์ก่อนกลับมาช้อนหุ้นราคาถูกเข้าพอร์ต ขณะที่ผอ.สศค.อ้างเฟดขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออก ฟันกำไรส่วนต่างดอกเบี้ย
แหล่งข่าวนักค่าเงินธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวค่าเงินในสัปดาห์นี้คาดว่าจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น หลังจากที่รัฐมนตรีประกาศตันสินใจลาออกถึง 2 คนภายในสัปดาห์เดียวกัน นอกจากนี้ ปัญหาการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเซกของคนในตระกูลชินวัตร-ดามาพงษ์ ซึ่งแม้จะมีความพยายามออกมาชี้แจงของหน่วยงานที่กำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้คลายข้อสงสัยได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้นำประเทศอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ การที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร เตรียมจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ภาคพิเศษ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งคาดว่าครั้งนี้จะมีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก หลังจากการชุมนุมกู้ชาติเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา จบลงด้วยดี ซึ่งก่อนหน้าหลายฝ่ายกังวลว่าอาจเกิดปัญหาการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนที่มาชุมนุม กับกลุ่มที่เป็นแนวร่วมของรัฐบาล
"ตลาดเงินในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เพราะคาดว่านักลงทุนต่างชาติจะชะลอการตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้น ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้มีเม็ดเงินบาทส่วนย้ายไปลงทุน เพื่อกินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย"แหล่งข่าวกล่าว
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจ มหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระหว่างประเทศ ได้เสนอบทความวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าน่าจะมีผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปลงทุนในต่างประเทศในระยะสั้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยไลบอร์ที่อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไลบอร์กับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น หรืออินเตอร์แบงก์ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย และอาจส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งทำให้แรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทลดลง
"การเคลื่อนย้ายเงินทุนไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น อาจส่งผลให้แรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลดลง เพราะขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยอาร์/พีระยะ 14 วันของไทยอยู่ที่ 4.25% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในอินเตอร์แบงก์และตลาดสหรัฐ โดยค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐตามการไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ" นายนริศ กล่าว
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีถึงช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐปรับค่าแข็งขึ้นแล้วถึงร้อยละ 4 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการรองรับความผันผวนและการเก็งกำไรที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เฟดขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมา เชื่อว่าคาดเฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราเร่งตัวอีกต่อไป โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 0.25% ในการประชุมครั้งหน้า และมีแนวโน้มที่จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|