|

ปลุก"กองทุนพันธบัตรเอเชีย2"สกัดเงินทุนไหลทะลักข้ามทวีป
ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
11 ประเทศสมาชิกเอเชีย-แปซิฟิค ร่วมหัวจมท้ายเร่งพัฒนากองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 สกัดเม็ดเงินลงทุนกองใหญ่ในเอเชียไม่ให้ไหลออกนอกทวีป ไปลงทุนยังศูนย์กลางการเงินระดับโลก ย่านยุโรป และอเมริกา เพื่อดักเงินออมก้อนโตให้ลงทุนในเอเชีย ซึ่งจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่า ขณะที่การเทไหลออกไปลงทุนต่างประเทศในท้ายที่สุดก็จะวกกลับคืนมาในรูปการปล่อยกู้เช่นเดิม
แม้งานนี้จะเป็นเพียงก้าวแรก ๆ ของการทำงานในกลุ่มสมาชิกเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามที่จะสร้างอาณาจักรการเงินของทวีปตัวเอง และสำหรับไทยงานนี้ได้ถูกเลือกให้บริหารจัดการกองทุนพันธบัตรเอเชียในส่วนที่เป็นกองทุนย่อยซึ่งจะลงทุนในตราสารหนี้ประเทศตัวเอง และบทบาทนี้รับหน้าที่โดย บลจ.กสิกรไทย
เป็นการสานนโยบายอย่างต่อเนื่องสำหรับแผนการพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการออกกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือจากธนาคารกลางชาติต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค (East Asia and Pacific) ทั้ง 11 ประเทศ
จะว่าไปการออกพันธบัตรเอเชียไม่ได้สื่อความหมายแค่การพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเก็บเงินออมที่มีอยู่มหาศาลไว้ในทวีปของตัวเอง เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนาประเทศตัวเองด้วยการระดมทุนโดยออกพันธบัตรขายในประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่งจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่าการออกพันธบัตรไปขายในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ด้วยว่าทั้ง 2 คือยุโรปและสหรัฐอเมริกา ล้วนศูนย์กลางการเงินขนาดใหญ่ของโลก ที่ไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องขนเงินไปลงทุนหาผลตอบแทน โดยเฉพาะเงินจากประเทศเอเชียไปอยู่ในดินแดนดังกล่าวนับเป็นล้าน ๆ เหรียญสหรัฐ
แต่เงินดังกล่าวก็ย้อนกลับมาอยู่ที่เอเชียอีกในลักษณะของการปล่อยกู้จากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เงินดังกล่าวก็มาจากประเทศในเอเชียทั้งนั้น แล้วทำไมเอเชียถึงไม่พัฒนาตลาดทุนของตัวขึ้นมาเพื่อรองรับตรงนี้
นั่นเป็นแนวคิดของายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวสุนทรพจน์ บนเวทีโลก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียหลังจากนั้นตลาดพันธบัตรเอเชียก็เริ่มมีการดำเนินการและพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยหลักการนั้นเน้นให้เกิดความหลากหลายของตราสารหนี้เงินสกุลท้องถิ่น ส่งเสริมตราสารหนี้ให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านการออมและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการนำเงินออมที่มีมหาศาลในเอเชียมาลงทุนในภูมิภาค
สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ตลาดพันธบัตรเอเชียขยายตัวได้ตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ คือการมีผลิตภัณฑ์หรือสินค้าหลากหลาย แต่สำหรับเวลานี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงแห่งการเรียนรู้พัฒนา
แนวทางการเดินไปสู่การพัฒนายังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดกลุ่มสมาชิที่เป็นธนาคารกลางจาก 11 ประเทศก็ได้จัดตั้ง กองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 (ABF2)ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย
ในส่วนนี้ บลจ. กสิกรไทย ได้ถูกเลือกให้บริหารจัดการกองทุนพันธบัตรเอเชียในส่วนที่เป็นกองทุนย่อยที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเทศไทย ซึ่ง ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทย บอกว่า บริษัทได้เริ่มบริหารกองทุนดังกล่าวในลักษณะกองทุนส่วนบุคคลตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 เป็นต้นมา และยังเป็นผู้บุกเบิก และปรับปรุงรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวให้เป็นกองทุนรวมแบบ ETF (Exchange Tradad Fund) เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบของสินค้าทางการเงินแบบใหม่ขึ้นในประเทศไทย
กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) เป็นกองทุนที่ลงทุนโดยอ้างอิงตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศไทย โดยมีขนาดกองทุนในช่วงแรกประมาณ 4-6พันล้านบาท สามารถลงทุนได้ทั้งนักลงทุนสถาบันและรายย่อย โดยจะเปิดขายในตลาดแรก(IPO)15-21 กุมภาพันธ์นี้
ดัยนา บอกว่าหลังจากทำการ IPO แล้วจะนำเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange-BEX) ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องและความสะดวกในการซื้อขายให้ผู้ลงทุน และในการซื้อขายนั้นผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ผ่านผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดและผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน
" เป้าหมายของผู้ลงทุนนั้นให้ความสำคัญทั้ง 3 กลุ่มไม่ว่าจะนักลงทุนสถาบัน ในประเทศ ต่างประเทศ หรือรายย่อยก็ตาม เพราะที่ผ่านมาทราบดีว่าการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเวลามีการขายสินคาก็จะเท ทำให้ตลาดผันผวน แต่ถ้ามีหลายรายเข้ามาร่วมเกี่ยวข้องเชื่อว่าจะทำให้ตลาดพันธบัตรมีความสมดุลมากขึ้น"
ดัยนา เล่าถึงข้อแตกต่างของกองทุน ABFTH กับกองทุนเปิดทั่วไปว่า เวลาซื้อขายกองทุนเปิดทั่วไปผู้ซื้อหน่วยลงทุนจะต้องรอการคำนวณหน่วยลงทุนหรือNAV ที่จะรู้ผล ณ สิ้นวันก่อนถึงจะรู้ราคา แต่กองทุน ABFTH สามารถทราบข้อมูลและกำหนดราคาซื้อขายได้เลยในขณะนั้นโดยไม่ต้องรอการคำนวณ NAV
สันติ กีระนันทร์ ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ บอกว่า กองทุน ABFTH จดทะเบียนในตลาดBEX ทั้งกระดานสถาบันและรายบุคคลและสำหรับรายบุคคลหากสนใจราคาบนกระดานสถาบันก็สามารถติดต่อผ่านดีลเลอร์ซึ่งก็คือธนาคารนั่นเอง เนื่องจากกระดานดังกล่าวจะเป็นการซื้อขายผ่านดีลเลอร์ เมื่อสั่งซื้อและขายได้ในราคาที่เสนอ ดีลเลอร์จะนำมาเสนอต่อนักลงทุนรายย่อยซึ่งอาจจะมีการขายราคาเพิ่มเล็กน้อยเป็นกำไร
แต่ถ้ารายย่อยต้องการซื้อผ่านกระดานรายย่อยก็ติดต่อผ่านโบรกเกอร์ ซึ่งโปรกเกอร์ก็จะผ่านมาที่กระดานบุคคล นักลงทุนรายย่อยก็จะได้ก็จะได้ราคาตามที่เสนอแต่จะมีการหักค่าธรรมเนียมจากโบรกเกอร์ตามที่กำหนดไว้
"ช่วงแรกเห็นว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ยากเพราะเป็นของใหม่สำหรับไทย แต่ก็ถือว่าเป้ฯการเรียนรู้เรื่องใหม่เพิ่มขึ้น นานวันความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น เหมือนการปลอกเปลือกมะพร้าว ต้อง ๆ ค่อยปลอกจนถึงแกนใน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น นักลงทุนเข้าใจ วิธีการทำกำไรจากกระดานนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนบุคคลก็จะเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้น"
สำหรับผลตอบแทนจากกองทุนกองทุน ABFTH นั้นเนื่องจากเป็นกองทุนประเภทดัชนีตราสารหนี้กองแรกในประเทศไทย ดังนั้นเป้าหมายผลตอบแทนจึงต้องให้มีการเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงมากที่สุด ซึ่งดัชนีดังกล่าวเป็นดัชนีสากล IBoxx จัดทำขึ้นโดยบริษัท International Company Limited (IIC) ซึ่งที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนใกล้เคียง 5.25%
การใช้ดัชนี IBoxx เพราะกองทุนดังกล่าวเป็นการจัดตั้งขึ้นระหว่างธนาคารกลาง 11 ประเทศ ดังนั้นการใช้ดัชนีอ้างอิงจึงต้องมีความเป็นสากลและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นการก้าวในระยะที่ 2 สำหรับการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย แม้ในวันนี้ผลของการกระทำดังกล่าวจะยังไม่สะเทือนข้ามทวีป แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่สวยงาม ที่ไม่ต้องขนเงินจากเอเชียไปไว้ในทวีปอื่นจนหมด ทั้ง ๆ ที่เงินดังกล่าวเป็นของเอเชีย ก็ควรทำเพื่อเอเชีย แม้จะต้องใช้เวลานานในการพัฒนา แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าการไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|