|

'GFA' ปรับกลยุทธ์รุกแฟรนไชส์ ปั้น 3 แบรนด์น้องใหม่เจาะตลาดไทย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ธวัชชัย ทองเจริญ ผู้อำนวยการแฟรนไชส์ บริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการ 4 แบรนด์หลัก คือ คอฟฟี่ เวิลด์ พิซซ่า คอร์เนอร์ นิวยอร์คเดลี่ และครีมแอนด์ฟัดจ์แฟกตอรี่ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะมีการขยายธุรกิจในลักษณะก้าวกระโดด โดยจะมีการขยายสาขาทั้ง 4 แบรนด์ไม่ต่ำกว่า 50% จากสาขาเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 73 สาขาหรือประมาณ 35% เพื่อให้ครบ 100 สาขาในปีนี้ โดยจะเน้นการขยายใน 3 แบรนด์หลัก คือพิซซ่า คอร์เนอร์ นิวยอร์คเดลี่ และครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ ซึ่งใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากปีที่ผ่านมาบริษัทเน้นแต่การขยายสาขาของคอฟฟี่เวิล์ดเป็นหลัก
นอกจากนี้จะมีการปรับสาขาแฟรนไชส์กับสาขาของบริษัทให้อยู่ในสัดส่วน 60 ต่อ 40 ต่อไป ส่วนการเปิดสาขาที่หัวหิน วิลเลจ นี้ที่มีทั้ง 4 แบรนด์เข้าไปเปิดในพื้นที่เดียวกันนั้น ที่ผ่านมาสาขาดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
โดยปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้นักลงทุนหันมาซื้อแฟรนไชส์ของบริษัทก็เนื่องจากการนำเสนอแพคเกจที่ดี และความพร้อมในการเข้าไปดูแลที่เริ่มตั้งแต่ต้นจนแฟรนไชซีสามารถประกอบธุรกิจได้ โดยบริษัทจะเข้าไปช่วยตั้งแต่การหาโลเกชั่น หาพนักงาน การฝึกอบรม และการออกแบบตกแต่งร้าน
สำหรับเงินลงทุนทั้ง 4 ธุรกิจของบริษัท แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ คอฟฟี่เวิล์ด พิซซ่า คอร์เนอร์ และนิวยอร์คเดลี่จะลงทุนที่ 2 ล้านบาท เป็นค่าแฟรนไชฟี 6 แสนบาท ค่าอุปกรณ์ 6 แสนบาทและค่าตกแต่งสำหรับพื้นที่ 60 ตารางเมตร 8 แสนบาท ส่วนครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ เงินลงทุนอยู่ที่ 2.8-3 ล้านบาท เป็นค่าแฟรนไชฟี 8 แสนบาท ค่าอุปกรณ์ 1 ล้านบาท ส่วนค่าตกแต่งอยู่ที่ 8 แสน-1 ล้านบาทสำหรับพื้นที่ 60-100 ตารางเมตร โดยทุกแบรนด์และทุกสาขาจะต้องเสียค่ารอโยตี้ฟี 6% และมาร์เก็ตติ้งฟี 2%
ปัจจุบันคอฟฟี่ เวิลด์มีสาขา 60 สาขาเป็นของบริษัทเอง 21 และแฟรนไชส์ 39 สาขา พิซซ่า คอร์นเนอร์มี 6 สาขาเป็นของบริษัท 5 สาขา และแฟรนไชส์1 สาขา นิวยอร์ค เดลี่มี 4 สาขาเป็นของบริษัททั้งหมด และร้านครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ มี 2 สาขาเป็นของบริษัททั้งหมดโดยอยู่ที่สยามพารากอน และหัวหิน วิลเลจ สำหรับการเปิดสาขาใหม่ในปีนี้จะมีการเปิดครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ และคอฟฟี่เวิล์ด อย่างละ 2 สาขาที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเปิดครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ ที่ฟิวเจอร์รังสิตโดยสาขาดังกล่าวจะใช้พื้นที่มากถึง 150 ตารางเมตร ด้านการทำตลาดทั้ง 4 แบรนด์ในปีนี้จะเน้นการทำมาร์เก็ตติ้งแบบโลเคิลแบรนด์ตามแต่ละสาขา และการทำเดลิเวอรี่
นอกจากนี้ ภายในปีนี้บริษัทจะมีการออกแบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์โดยจะจำหน่ายสินค้าประเภทขนมซึ่งจะไปขยายแฟรนไชส์ที่ต่างประเทศก่อน เนื่องจากขนมดังกล่าวในไทยมีจำหน่ายอยู่แล้ว
ด้านการขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศปีนี้บริษัทจะมีการขยายสาขาต่างประเทศค่อนข้างมาก เพื่อให้ครบ 1,000 สาขาภายใน 5 ปีข้างหน้าโดย 250 สาขาจะอยู่ในไทย
ด้าน อาร์โนลด์ ดาร์เกสส์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์เดอะครีมแอนด์ฟัดจ์แฟกเตอรี่ กล่าวว่า ครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ เป็นไอศกรีมซุปเปอร์พรีเมี่ยมที่พร้อมนำเสนอแนวคิดใหม่ที่ผสมสานความสนุกแปลกใหม่ให้กับไอศกรีมด้วยรูปแบบมิกซ์อินที่สามารถเลือกไอศกรีมรสโปรดและท็อปปิ้งต่างๆ ได้ตามใจชอบ ซึ่งรูปแบบของไอศกรีมดังกล่าวเป็นการนำเทรนด์ของไอศกรีมที่ได้รับความนิยมมากว่า 5 ปีจากอเมริกาเข้ามาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของบริษัท
สำหรับการแข่งขันของตลาดไอศกรีมในระดับเดียวกับครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ นั้นตนมองว่ามีคู่แข่งอยู่น้อยราย แต่จะมีคู่แข่งโดยอ้อมมากกว่าซึ่งไอศกรีมที่เป็นคู่แข่งโดยอ้อมเหล่านั้นปัจจุบัน Life Cycle ของไอศกรีมเหล่านี้เข้าสู่ตลาดไทยมาเป็นเวลาสิบกว่าปีทำให้ผู้บริโภคทานเมนูที่มีอยู่หมดแล้วในขณะที่ถ้าเป็นครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ ผู้บริโภคสามารถผสมผสานเมนูเองได้จึงเกิดความหลากหลายในการทาน เพราะมีไอศกรีมถึง 20 รสชาติ และ 31 ท็อปปิ้ง โดยบริษัทจะเน้นแต่ท็อปปิ้งที่มีคุณภาพ
ด้านการขายแฟรนไชส์ครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ นั้นที่ผ่านมามีผู้สนใจจะลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่สูงหากเทียบกับแบรนด์อื่น และยังคืนทุนได้เร็วในเวลา 2-3 ปี ซึ่งนักลงทุนที่เข้ามาติดต่อเป็นผู้ที่เคยเปิดแบรนด์อื่นของบริษัทมาก่อน โดยปีนี้บริษัทได้ตั้งเป้าการขยายสาขาครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ ไว้ที่ 12 สาขาเป็นสาขาแฟรนไชส์และสาขาบริษัทครึ่งต่อครึ่ง สำหรับโลเกชั่นในการเปิดครีมแอนด์ฟัดจ์ฯ จะเน้นแต่โลโกชั่นระดับบนเท่านั้น เช่น ชิดลม ลาดพร้าว สุขุมวิท สีลม สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ฯลฯ เนื่องจากเน้นการจำหน่ายไปยังกลุ่มลูกค้าระดับบีบวกขึ้นไป ซึ่งก็ยังพอมีพื้นที่
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|