|

ขายหุ้นชินคอร์ป ‘ทักษิณ’ ล้มละลายทางจริยธรรม
ผู้จัดการรายวัน(6 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การขายหุ้นชินคอร์ปให้สิงคโปร์ นอกจากมีประเด็นการเลี่ยงภาษีซึ่งเป็นประเด็นทางกฎหมายแล้ว ยังมีประเด็นทางจริยธรรมที่สังคมควรให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะถึงแม้ถูกกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม ความชอบธรรมก็ไม่เหลืออีกต่อไป
ประเด็นทางจริยธรรม เช่น มีการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือไม่? เพราะก่อนหน้านั้นกฎหมายอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในกิจการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเพียง 25% แต่หลังจากแก้กฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 49% เพียง 2 วัน ก็มีการขายหุ้นชินคอร์ปในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคมให้ เทมาเส็กสิงคโปร์ทันที 49%
การขายหุ้นคลื่นดาวเทียวไทยคม ให้ต่างชาติครอบครองเป็นการขายสมบัติชาติหรือไม่? กระทบต่อเสรีภาพประชาชนและความมั่นคงของรัฐในด้านการสื่อสารโทรคมนาคมหรือไม่? ใครจะรับประกันได้ว่าจะไม่มีการดักฟังทางโทรศัพท์เพื่อล้วงความลับเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการสำคัญๆของประเทศซึ่งอาจจะต้องแข่งขันกับต่างชาติที่เป็นเจ้าของหุ้นดาวเทียม และประชาชนคนไทยก็คงอดระแวงไม่ได้ว่าจะมีใครคอยดักฟังการพูดคุยทางโทรศัพท์หรือไม่ ทำให้รู้สึกว่าเสรีภาพของเราถูกลิดรอนโดยทุนต่างชาติ ฯลฯ
ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจไม่มีกฎหมายตีกรอบเอาไว้ว่าทำไม่ได้ จึงต้องอาศัย “ต่อมสำนึกทางจริยธรรม” ของบุคคลหรือสังคมเป็นเครื่องตัดสิน โดยเฉพาะต่อมสำนึกทางจริยธรรมของคนที่เป็นผู้นำประเทศในปัจจุบัน ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่แค่ว่ากฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าควรทำหรือไม่?
คำถามว่า ควรทำหรือไม่? คือคำถามในเชิงจริยธรรม คำถามเช่นนี้แม้ค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ก็เป็นคำถามที่สำคัญไม่แพ้คำถามถึงความถูก-ผิดในแง่กฎหมาย เพราะหากสังคมไม่สนใจคำถามเชิงจริยธรรม สังคมก็จะไม่รู้ว่าอะไรคือความชอบธรรม ไม่ชอบธรรม สุดท้ายแล้วก็จะให้การยอมรับผู้นำที่ไร้ความชอบธรรมให้โกงบ้านกินเมืองอย่างชอบด้วยกฎหมายอยู่เรื่อยไป
แต่คำถามในเชิงจริยธรรมก็มักเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปร่วมกันได้ยาก บางเรื่องคนหนึ่งบอกว่าถูก อีกคนอาจบอกว่าผิด แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลว่าเราจะต้องไม่ตั้งคำถามเชิงจริยธรรม อันที่จริงจริยธรรมมีระดับชั้นของพัฒนาการที่สามารถประเมินร่วมกันได้ เพราะเราสามารถประเมินพฤติกรรมทางจริยธรรมจากการใช้เหตุผลทางจริยธรรม ซึ่งเหตุผลทางจริยธรรมคือสิ่งที่บ่งชี้พัฒนาการทางจริยธรรมในแต่ละระดับดังนี้
1. พัฒนาการทางจริยธรรมระดับที่ยึดผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง พัฒนาการทางจริยธรรมระดับนี้วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า มนุษย์เห็นแก่ตัวและกระทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์และความสุขของตนเอง (Egoism) เหตุผลทางจริยธรรมของคนที่มีพัฒนาการทางจริยธรรมระดับนี้คือ
- หลีกเลี่ยงการกระทำความผิด เพราะกลัวการลงโทษ และ
- ทำถูกเพราะต้องการผลประโยชน์ตอบแทน
ปัญหาที่ตามมาจากการใช้เหตุผลทางจริยธรรมเช่นนี้คือ ถ้าสามารถหลบหลีกการลงโทษได้ หรือถ้ากระบวนการตรวจสอบ/การลงโทษผู้กระทำผิดด้อยประสิทธิภาพ หรือถ้ายอมเจ็บตัวแต่ได้ผลประโยชน์มากกว่า คนที่ใช้เหตุผลเช่นนี้ย่อมทำผิดเพื่อผลประโยชน์ของตนเองได้เสมอ ในทำนองเดียวกันถ้าคำนวณแล้วพบว่า หากทำถูกต้องแต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มเหนื่อยเขาก็จะไม่ยอมทำ
ดังนั้น พฤติกรรมทางจริยธรรมระดับนี้จึงเป็นพฤติกรรมของคนประเภทที่หาช่องทางหลบเลี่ยงกติกา ไม่ใช้กติกาอย่างซื่อสัตย์โปร่งใส หรือหาทางสร้างกติกาให้เอื้อประโยชน์แต่ตนเองและพรรคพวก และอาจเป็นพฤติกรรมของคนประเภททำดีสร้างภาพ หรือสอพลอเพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน
2. พัฒนาการทางจริยธรรมระดับที่ยึดบรรทัดฐาน ค่านิยม หรือวัฒนธรรมของสังคมเป็นแนวทางกำหนดถูก ผิด (Relativism) เหตุผลทางจริยธรรมคือ
- ไม่ทำผิดเพราะกลัวสังคมประณาม
- ทำถูกเพราะต้องการให้สังคมยอมรับ
เหตุผลทางจริยธรรมเช่นนี้ดีกว่าระดับแรก ตรงที่ย้ายจากการยึดผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง มาให้ความสำคัญกับบรรทัดฐานและการยอมรับของสังคมแทน แต่ปัญหาที่อาจตามมาคือ อาจทำให้เกิดวัฒนธรรมพรรคพวกนิยม สถาบันนิยม เช่น เด็กนักเรียนยกพวกตีกัน เพราะโลโก้ของสถาบัน หรือคนบางกลุ่มขัดแย้งกันเพราะอยู่กันคนละ “มุ้ง” หรือเพราะนับถือศาสนาต่างกัน เป็นต้น
3. พัฒนาการทางจริยธรรมระดับที่เคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและมีอุดมการณ์เพื่อความผาสุกของสังคม เหตุผลทางจริยธรรมคือ
- ไม่ทำผิดเพราะไม่ต้องการตำหนิตนเอง
- ทำถูกเพราะคำนึงถึงความผาสุกของสังคม
หากมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้นำประเทศที่ควรเป็นคือ มาตรฐานในระดับพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ 3 ได้แก่ “การมีอุดมการณ์เพื่อความผาสุกของสังคม” แค่กรณีขายหุ้นชินคอร์ปเพียงกรณีเดียว ก็ถือว่าคุณทักษิณ ล้มละลายทางจริยธรรมเรียบร้อยโรงเรียนแม้วไปแล้ว
เพราะตรรกะของการขายหุ้นชินคอร์ปคือตรรกะแบบ Egoism ที่ยึดผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง และผลประโยชน์นั้นก็ VS ผลประโยชน์ของชาติ เนื่องจากมีเงื่อนงำในประเด็นการเลี่ยงภาษี การออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง การคำนึงถึงกำไรมหาศาลมากกว่าความมั่นคงของประเทศ และเสรีภาพของประชาชน
ถ้าตรรกะทางจริยธรรมแบบ Egoism+ทุนมหาศาล+อำนาจเบ็ดเสร็จ ผลลัพธ์ก็คือ “ประเทศถูกฆาตกรรม” นี่คืออันตรายที่ในหลวงทรงเตือน “ถ้าไม่ระวัง เราตาย ประเทศตาย”
ถึงวันนี้คนไทยตื่นขึ้น มองเห็น และเฝ้าระวังอันตรายดังกล่าวอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง?
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|