ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤตการเงินอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเวลานี้เริ่มขยายวงกว้างไปสู่ประเทศ
"เสือ" เพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสกุลเงินซึ่งในช่วงกลางเดือน ก.ค. สี่สกุลเงินอาเซียนถูกโจมตีจากนักเก็งกำไรจนปั่นป่วนไปหมด
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกมองว่ากรณีประเทศไทยเป็นเรื่องเฉพาะ และมีทางออกเรื่องนี้ได้
ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ไทยเองนั้น แม้ส่วนมากจะยังไม่มีสายตามองโลกในแง่ร้าย
เพราะไม่เชื่อว่าภายใต้โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจ การเมืองไทยปัจจุบันจะสามารถนำพาประเทศชาติฝ่าพ้นวิกฤติรอบนี้ได้
แต่ก็ยังมีคนคาดหวังในแง่ดีอยู่บ้าง เช่น หากการส่งออกไตรมาส 4 สามารถเพิ่มเป็น
double digit ได้และโครงการ Amazing Thailand ประสบผลสำเร็จ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจกระเตื้องขึ้นได้เร็วกว่าที่คาด!?
การประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันพุธที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมาของแบงก์ชาติเป็นข่าวสำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่มีผลประโยชน์การลงทุนในประเทศไทย
มันเป็นสิ่งที่คนส่วนมากคาดหวังว่าควรจะเป็นมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าแบงก์ชาต
ิและกระทรวงการคลังภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเคยประกาศต่อสู้การเก็งกำไรซึ่งนำมาสู่การลดค่าเงินบาทอย่างถึงที่สุดก็ตาม
ผลจากการประกาศให้เงินบาทลอยตัวในวันนั้น ค่าเงินบาทก็ลดลงในทันทีราว 10-15%
และภายใน 2 สัปดาห์ถัดมา ค่าเงินสกุลอื่น ๆ ของประเทศอาเซียนก็ถูกนักเก็งกำไรโจมตี
จนเป็นเหตุให้มีการประกาศให้ค่าเงินลอยตัว (floated rate) หรือขยายแบนด์
(trading band) การเทรดของเงินอีก 3 สกุลก็คือ เงินรูเปียห์ (อินโดนีเซีย)
เงินริงกิต (มาเลเซีย) และเงินเปโซ (ฟิลิปปินส์)
นักวิเคราะห์บางรายพยายามชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นเป็นกรณีเฉพาะ
ไม่ได้มีผลกระทบในลักษณะโดมิโนต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้หรือการที่ค่าเงินอื่นๆ
ถูกโจมตีและได้รับผลกระทบไปด้วยนั้นก็เป็นเรื่องชั่วคราว (cyclical) บางคนกล่าวว่า
"4 ประเทศอาเซียนหรือ The Asean Four" ยังมีช่องทางที่จะเติบโตได้อีก
และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ด้วย
(หนังสือพิมพ์) ไฟแนนเชียลไทมส์, 17 ก.ค. 1997
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคาดหวังบทเรียนสอนใจรัฐบาล
บทวิเคราะห์ล่าสุดจากไฟแนนเชียล ไทมส์ เมื่อ 17 ก.ค. 1997 มองสถานการณ์ความปั่นป่วนเรื่องค่าเงิน
ของ 4 สกุลเงินอาเซียนว่าเป็นเพียง "อาเซียนไวรัส" และการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะหยุดยั้ง "ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของอาเซียน"
ได้ (economic miracle)
บทวิเคราะห์ดังกล่าวได้อ้างคำพูดของนายพอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำแห่งสถาบัน
MIT หรือ Massachesetts Institute of Technology ในสหรัฐฯ ผู้ซึ่งเคยทำให้ภูมิภาคนี้ตื่นตระหนกเมื่อ
2 ปีก่อนด้วยการคาดหมายจุดจบของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้
ครั้งนี้เขากล่าวว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของจุดจบแห่งความมหัศจรรย์ดังกล่าว
ทว่ามันเป็นเรื่องวงจรทางเศรษฐกิจ (cyclical)
อัตราการส่งออกที่เติบโตช้าลงในปีที่ผ่านมาเริ่มแสดงให้เห็นว่าการเติบโตหยุดนิ่งหลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศอาเซียนขยายตัวอย่างมากในกลางทศวรรษ
1990 ครุกแมนกล่าวว่า "การเติบโตขนาดนั้นก่อให้เกิดวิกฤติขึ้นในตัวเองได้"
ส่วนนักเศรษฐศาสตร์อื่น ๆ มองว่ารัฐบาลอาเซียนต้องเรียนรู้ที่จะมีความยืดหยุ่นในการจัดการกับการไหลเวียนของเงินทุนระหว่างประเทศและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย
ประเด็นที่นักวิชาการเหล่านี้มองคือการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงที่เป็นมาเพราะใช้การลงทุนมหาศาล
ใช้แรงงานราคาถูก มากกว่าที่จะเน้นปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถในการบวนการผลิต
(efficiency & productivity)
การที่อัตราการส่งออกลดลงในปีที่แล้ว ไม่ได้เป็นสิ่งกระตุ้นให้มีความสนใจเรื่องการเพิ่มความสามารถในการผลิตและการเคลื่อนสู่กระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนมากขึ้นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีความสนใจในการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานน้อยมาก แต่ยังคงเน้นเพิ่มการลงทุนโดยเฉพาะในกิจการอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ดี ครุกแมนก็เห็นความสัมพันธ์กันน้อยมากเกี่ยวกับวิกฤติความปั่นป่วนของประเทศ
Asean Four ครั้งนี้กับการจำกัดการเติบทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ เขาคิดว่าการเจริญเติบโตไม่ได้ยุติลงทั้งหมดทั่วภูมิภาคแต่จะเกิดในลักษณะที่เป็นการหยุดนิ่งเป็นระยะเวลานานต่างหาก
จุดที่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งก็คือวิธีคิดแบบ generalization ทั้งนี้พวกเขามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นกรณีเฉพาะ
ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดในประเทศอาเซียนอื่น ๆ ทั้งนี้แรงงานไทยมีความชำนาญต่ำมากเพราะมีการละเลยเรื่องระบบการศึกษามาเป็นเวลานาน
เมื่อต้นทศวรรษ 1990 ก็มีการนำแนวคิดเรื่องการปล่อยเสรีภาคการเงินเข้ามาใช้
ซึ่งแนวคิดนี้ขัดแย้งกับนโยบายการกำหนดค่าเงินบาทที่ให้ผูกติดกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ
สถาบันการเงินที่ถูกควบคุมอย่างหลวมๆ ได้ทำการกู้ยืมเงินทุนต่างประเทศระยะสั้นเข้ามาเป็นจำนวนมากซึ่งคาดหมายว่าในปี
1994-1996 สถาบันการเงินไทยกู้เงินต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือประมาณ
77.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งนี้เป็นตัวเลขที่เปิดเผยจากสถาบัน BIS ซึ่งหากเทียบเคียงกับประเทศ
"เสือ" ตัวอื่น ไทยมีปริมาณเงินกู้สูงกว่ามาก
เมื่อสิ้นปี 1996 ธนาคารในฟิลิปปินส์ กู้เงินเข้ามารวม 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารในอินโดนีเซียมีการกู้ลดลง 1.1 พันล้านดอลลาร์ เหลือยอดคงค้างเพียง
11 พันล้านดอลลาร์
ศ. Rudi Dornbusch แห่ง MIT กล่าวว่าประเทศไทยมีความสามารถที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ไทยมีประวัติในแง่ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือโอบอุ้มทางการเงินแก่ภาคธุรกิจมาตลอด
โดยเฉพาะภาคการเงิน ภาระเร่งด่วนของรัฐในยามนี้คือการแก้ปัญหาหนี้เสียของกิจการสถาบันการเงิน
ในแง่นี้ญี่ปุ่นน่าจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ธนาคารและบริษัทไทยได้
นอกจากนี้เขามองแง่ดีว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนไม่เหมือนประเทศละตินอเมริกา
ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีสถานะของงบประมาณ (fiscal position) ที่แข็งแกร่งกว่าและมีอัตราการออมในประเทศสูงกว่ามากด้วย
นอกจากนี้ก็มีความสามารถจัดการหนี้และบริหารการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่ามาก
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) นาย V.V
Desai กล่าวว่า "ประเทศในกลุ่มอาเซียนยังมีช่องทางที่จะเติบโตได้อีกมาก
และไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องเกิดวิกฤติความเชื่อมั่นต่อประเทศเหล่านี้"
อย่างไรก็ดี เหล่านักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นว่าเศรษฐกิจของอาเซียนยังมีความไร้ประสิทธิภาพอีกมาก
เพราะได้ผลการะทบจากการลงทุนที่มีเข้ามาอย่างมหาศาลและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่คับแคบผิดพลาด
ทั้งนี้สภาพแวดล้อมที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ดำเนินอยู่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
นักเศรษฐศาสตร์ไทยมองแง่ดีอย่างมีเงื่อนไข
อย่างไรก็ดีหากมองจากมุมของคนไทย มองดูตัวเองบ้างนั้น อาจพิจารณาได้ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อ
2 ก.ค. มีทั้งผลดีและผลเสีย
ผลดีคือ การลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินต่ำลง ในอนาคต ก็เป็นที่คาดได้ว่าเราจะสามารถส่งออกได้ดีขึ้น
ทั้งน ี้เพราะ อัตรากำไร ที่ได้จากการส่งออกจะดีมาก แทบจะดีกว่าทุกภาคอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ
ดร. ธีระ อัชกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "สำหรับผมแล้ว การส่งออกเป็นหนทางเดียวที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราได้
เราต้องส่งออกให้ได้ และต้องให้ได้เป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งผมก็หวังว่าการส่งออกเฉพาะช่วงไตรมาส
4 ปีนี้น่าจะได้เห็นตัวเลข 2 หลัก"
นอกจากนี้ ดร. ธีระมองด้วยว่า ผลดีอีกอย่างของการที่ค่าเงินลดต่ำลงคือ
"ทำให้ปรับสู่ดุลยภาพมากขึ้น จะทำให้การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยดีขึ้น"
ในที่นี้เขาหมายถึงการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้ทำได้ง่ายและเป็นที่นิยมเพราะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ
และไม่มีความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เนื่องจากใช้ระบบตะกร้าเงิน ที่ทำให้ค่าเงินบาทค่อนข้างแน่นอน
ไม่หวือหวา การกู้เงินเช่นนั้น เนื่องจากได้มาง่าย ๆ ก็นำไปใช้ในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ในภาคการผลิต ถูกนำไปใช้ในภาคการผลิตที่มีลักษณะเป็นสินค้าล้นเกินอุปสงค์
เช่น อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นเมื่อมีการลอยตัวเงินบาทอ่อนลงมาอย่างนี้ การจัดสรรทรัพยากรพวกนี้ก็จะมีลักษณะเปลี่ยนไป
ก็จะเป็นการแก้ปัญหาในอดีตพวกนี้ให้หมดไปด้วย ซึ่งหมายถึงการลงทุนที่ล้นเกินความต้องการด้านอสังหาริมทรัพย์ก็จะหมดไปด้วย
ผลอีกประการหนึ่งคือ การนำเข้าจะลดน้อยลงโดยเฉพาะ การนำเข้าเพื่อการบริโภค
เนื่องจากต้นทุนสูง เพราะระดับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบนั้น
ดร. ธีระมองว่า หากให้เวลาอีกสักพัก การนำเข้าวัตถุดิบก็จะต้องลดลงไปด้วย
และจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนหรือ Supporting
industry ขึ้นมาแทน ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทยขึ้นมาด้วย
ประเด็นนี้สอดคล้องกับ สถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทย
หรือ BOI ซึ่งสนับสนุนให้นักลงทุนเน้นส่งออกสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
ๆ (value added) เพราะสามารถแข่งขันได้ดีกว่าและให้ผลกำไรสูงกว่าสินค้าที่ใช้การผลิตในลักษณะ
labour intensive
นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่ลดต่ำลงก็อาจจะจูงใจให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศอีกระลอกได้หลังจากที่นักลงทุนต่างประเทศไม่มั่นใจเรื่องนโยบายค่าเงินมาระยะหนึ่ง
(หากนับตั้งแต่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2538 ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์วิกฤติค่าเงินเปโซของเม็กซิโก
เมื่อเดือนธันวาคม 2537)
ดร. ธีระอธิบายว่า "ในเมื่อค่าเงินบาทได้ถูกปรับลดมาในราคาที่นักลงทุนคิดว่าเหมาะสมแล้วหรือปรับลดลงมาจนรู้สึกว่าเงินบาทถูกเหลือเกิน
ก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ ทั้งนี้การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นไปได้เร็วเท่าใดขึ้นอยู่กับการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ
ถ้าเราสามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้มากเท่าไร และในระยะเวลาที่เร็วมากเท่าไร
เศรษฐกิจของเราก็จะฟื้นฟูกลับมาได้เร็วเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ ดร. ธีระ ตระหนักดีว่า การไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นแบบทะลักเข้ามาโดยไม่มีการบริหารหรือการรับมือที่ดีพอนั้น
ทำให้เกิดปัญหามากเพียงใด และการกู้ยืมระยะสั้นด้วยเช่นกัน "เรามีประสบการณ์ที่บาดเจ็บมาแล้วว่า
ไม่ดีเอา hot money ที่เป็นระยะสั้นมาไฟแนนซ์ ทำ infrastructure หรืออุตสาหกรรมที่เป็น
long term project finance ผลเสียสูง หรือจะเข้ามาในลักษณะการลงทุนโดยตรงก็จะดี
เป็นการย้ายฐานการผลิตเข้ามาอีก"
ทั้งนี้ในการลดค่าเงินบาทเมื่อ 13 ปีที่แล้ว มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างมหาศาล
ซึ่งคาดหมายว่าในการลอยตัวค่าเงินบาทครั้งนี้จะได้รับผลกระทบเช่นนั้นอีกครั้ง
ด้านผลเสียนั้นเป็นที่เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้นำเข้าบาดเจ็บทั้งหมด เพราะมีต้นทุนที่สูงขึ้น
โดยเฉพาะการนำเข้าเพื่อการบริโภค สินค้าจะมีราคาแพง ขณะที่ประชาชนมีอำนาจในการซื้อน้อยลง
ทำให้กำไรของพวกเขาน้อยลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอัตตราเงินเฟ้อที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน
ราคาวัตถุดิบพื้นฐานต้องเพิ่มขึ้น อย่างน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ฝ่ายวิจัย บรรษัทฯ คาดหมายว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6%-7% ตัว ดร. ธีระคิดว่าอยู่ที่
6% และเขาเห็นว่าควรมีการพยายามดึงไม่ให้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มสูงขึ้นไปจนเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น
และอย่าให้ปัจจัยทางการเมืองเข้ามาแทรกในเรื่องนี้ "เพราะต่างประเทศจะจับตาดูเรื่องนี้
หากค่าจ้างแรงงานของเราสูงขึ้นโดยไม่รองรับกับปัจจัยพื้นฐานก็ไม่เป็นผลดีต่อคนไทย
เพราะไม่มีงานทำ และขายของไม่ได้"
การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินเป็นเรื่องดี
ต่อประเด็นเรื่องความจำเป็นในการกู้เงินต่างประเทศ ซึ่งเกิดเป็นข่าวขึ้นมาว่า
ดร. ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปเจรจาเรื่องนี้ที่ญี่ปุ่นนั้น
ดร. ธีระ มองว่าเป็นเรื่องดี "รัฐบาลมีหนี้สินน้อยมาก ต่ำกว่า 10% ของ
GDP เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังมีเครดิตสูงมากในการระดมเงินจากต่างประเทศเพื่อนำมาปรับโครงสร้างทางการเงิน
แต่ที่ต้องระวังคือเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จะไปจ่ายเขา เพราะทราบว่าจะกู้เป็นจำนวนมหาศาล"
การกู้เงินมีหลายแบบเช่น กู้จาก IMF กู้ในลักษณะ government to government
หรือกู้ในตลาดบอนด์ แต่ถ้ากู้เป็นจำนวนมาก ๆ นั้น คงไม่สามารถทำในตลาดบอนด์ได้
เพราะตลาดไม่สามารถซึมซับได้ในครั้งเดียว ส่วนการกู้จาก IMF นั้นก็ต้องยอมรับเงื่อนไขของเขา
ซึ่งจะทำได้หรือไม่ เช่น การคุมเงินเฟ้อ คุมวินัยด้านการเงิน การคลัง และการกู้ในระดับประเทศนั้นอาจกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่นได้
อย่างไรก็ดี การกู้มาครั้งนี้ ดร. ธีระมองว่าน่าจะกู้มาเพื่อปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชน
ซึ่งในเวลานี้ขาดแคลนเงิน และไม่สามารถระดมเงินจากต่างประเทศได้ "ปัญหาครั้งนี้ต้นตออยู่ที่ภาคเอกชนที่ไปกู้ระยะสั้นมาแล้วเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่อง
รัฐบาลอาจกู้มาเพื่อปล่อยให้ภาคเอกชน ตรงนี้ในลักษณะ soft loan"
แต่แนวคิดนี้อาจได้รับการต่อต้านจากนักวิชาการอื่น ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในสถาบันการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มว่า
ภาคเอกชนควรต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเต็มตัว ไม่ควรให้รัฐเข้าไปช่วยเหลืออีก
โดยเฉพาะหากต้องนำเงินภาษีของประชาชนเข้าไปแก้ไขการล้มละลายของเอกชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อ ดร. ทนงเดินทางกลับมาสู่ประเทศไทยนั้นเขากล่าวว่า "ไม่ได้เดินทางไปกู้เงิน
และไม่ได้มีแนวคิดในเรื่องนี้ แต่เดินทางไปทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นกับนักการเงินและนักลงทุนญี่ปุ่นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ"
เขาเปิดเผยว่ามีนักธุรกิจญี่ปุ่นในไทยถึง 20,000 คน และยังมีชาวญี่ปุ่นที่พำนักในประเทศไทยรวมกับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นอีกนั้นคิดเป็นจำนวนรวมกันกว่า
60,000 คน นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีการลงทุนในประเทศมากที่สุดในประเทศอาเซียน
และเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย เขาจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะทำความเข้าใจกับนักธุรกิจญี่ปุ่น
นอกจากนี้เขาได้เจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นให้เป็นระยะยาวและให้ความมั่นใจว่าเงินลงทุนและเงินกู้ของญี่ปุ่นจะไม่สูญหาย
ทั้งนี้มูลค่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเมื่อสิ้นปี 1996 เท่ากับ 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในจำนวนนี้คิดเป็นหนี้ภาคเอกชนประมาณ 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการกู้เงินมาช่วยสภาพคล่องในประเทศนั้น รมว. การคลังยังปฏิเสธเรื่องนี้โดยกล่าวว่า
"ยังไม่มีความจำเป็นหรือเป้าหมายที่จะกู้เงิน"
อย่างไรก็ดี มีประเด็นน่าคิดประการหนึ่งว่าแบงก์ชาติได้ออกมาประกาศว่าจะตรึงค่าเงินหรือบริหารค่าเงิน
(managed float) ที่อัตรา 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินของประเทศเพื่อบ้านเผชิญความปั่นป่วนอยู่
ในช่วงปลายเดือน ก.ค. จึงน่าเป็นห่วงว่าจะต้องใช้เงินสำรองเพื่อตรึงค่าเงินที่อัตราแบงก์ชาติประกาศอีกหรือไม่
หลังจากที่เคยทำเช่นนี้มาก่อนในครึ่งปีแรกและปรากฏว่าเงินสำรองลดลงจากระดับ
38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต้องรอเวลาให้ค่าเงินเข้าสู่ดุลยภาพ
ในประสบการณ์ของหลายประเทศที่ใช้นโยบายค่าเงินลอยตัว ปรากฏว่าต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งค่าเงินจึงจะปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ
ซึ่งประสบการณ์ของประเทศสวีเดน ใช้เวลา 5 ปีในการกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด
ในกรณีของประเทศไทย ดร. ธีระมองว่า "เทียบกับประเทศที่มีการลดค่าเงินแล้วสถานภาพใกล้เคียงกับประเทศไทย
ในเดือนแรกค่าเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงมาก ส่วนอีก 5-6 เดือนหลังจากนั้น การเปลี่ยนแปลงจะยังมีอยู่ค่อนข้างสูง
แต่ก็ต่ำกว่าในช่วงเดือนแรก"
กล่าวให้ชัดในช่วงเดือนแรกค่าเงินจะผกผันระหว่าง 25.75 - 30 บาท และในช่วง
6 เดือนหลังจะอยู่ระหว่าง 29 - 32 บาท แต่ไม่ควรถึง 33 บาท และหลังจากนั้นครึ่งปีหลังของปีหน้า
เป็นไปได้ว่าเงินบาทจะแข็งขึ้นมาอีกเล็กน้อย ไม่มาก หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเรียบขึ้น
โดยการเปลี่ยนแปลงช่วงนั้นจะขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่นมีการส่งออกดีไหม
ต่างประเทศสนใจลงทุนในประเทศไหม อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อเป็นอย่างไร
งบประมาณขาดดุลหรือไม่
ดังนั้นค่าเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนักธุรกิจจะต้องเข้าใจประเด็นนี้และมีสายตามองไปข้างหน้าให้มาก
เพื่อที่จะปรับวิธีทำธุรกิจให้สอดคล้องกัน
การลอยตัวค่าเงินบาทครั้งเป็นวิธีที่ดีกว่าการลดค่าเงินบาท เพราะการลอยตัวค่าเงินบาทให้ผลใน
2 เรื่อง คือมีการลดค่าเงินบาท และได้เอาปัจจัยทางด้านการเมืองในอนาคตออกไป
ซึ่งหมายความว่าหากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจกำหนดให้ค่าเงินบาทต้องลดลงอีก
ค่าเงินก็จะลดลงมาโดยปริยาย ไม่มีใครต้องมาประกาศลดค่าเงิน หรือในทางกลับกัน
หากพื้นฐานเศรษฐกิจดี ฟื้นตัวได้เร็ว ค่าเงินก็จะแข็งขึ้นโดยปริยาย
อย่างไรก็ดี การใช้ระบบ managed float ยังเอื้อให้ทางการเข้ามาแทรกแซงได้
ดังที่แบงก์ชาติประกาศแทรกแซงค่าเงินที่อัตรา 30 บาท แต่การแทรกแซงค่าเงินนั้น
ดร.ธีระมองว่า ควรทำใน 3 สถานการณ์คือ
- บริหารเงินสำรองเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
- บริหารการใช้จ่ายเงินตราต่างประเทศของหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
ที่มีการใช้
จ่ายเงินต่างประเทศจำนวนมหาศาล เพราะมีผลกระทบต่อเงินสำรอง เช่น การซื้อเครื่องบิน
ซื้อเรือดำน้ำของกองทัพ เป็นต้น
- เกิดเหตุการณ์ผิดปกติในการซื้อขายเงินที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งแบงก์ชาติควรเข้าแทรกแซง
แต่สำหรับเหตุการณ์ซื้อขายปกติ แบงก์ชาติไม่ควรเข้าแทรกแซง
ส่วนการบริหารด้วยระบบตะกร้าเงินนั้น เป็นอันยกเลิกไปโดยปริยาย อย่างไรก็ดี
แบงก์ชาติกำลังอยู่ในระหว่างการปรับหน่วยงานเหล่านี้ และสร้าง reference
rate, indicative rate ใหม่มาใช้ตลาด
ปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่หมด
จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในครั้งนี้ ทำให้ต้องมีการประกาศประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่หมด
ซึ่งในระยะที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงค่าเงิน อาจยากต่อการประกาศ อย่างไรก็ดี ดร.ธีระยังมองว่าตัวเลขการส่งออกยังคงอยู่ในอัตราการเติบโตที่ระดับ
7% ในเงื่อนไขที่ว่าไตรมาส 4 ของปีนี้ต้องมีการส่งออกมากกว่า 10% ตัวเลขการเติบโตรวมจึงจะอยู่ที่ระดับ
7% ได้
ด้านตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องมีการปรับลง คาดว่าอยู่ในระดับ 4%
- 4.5% ส่วนเงินเฟ้อที่เคยให้ไว้ในระดับ 4.5% ต้องปรับตัวเลขขึ้น น่าจะอยู่ที่ประมาณ
6% - 7%
การที่นักวิชาการบางค่ายให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าติดลบนั้น ดร.ธีระมองว่าอาจเป็นไปได้ว่า
เศรษฐกิจถดถอยจนติดลบในเงื่อนไขที่ว่าอัตราดอกเบี้ยพุ่งเข้าใกล้ 20% ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปี
"ถ้าดอกเบี้ยเป็น 18%, 19% แล้วอยู่ตลอด 4-5 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจไทยคงถดถอยและติดลบแน่นอน"
อย่างไรก็ดี เขาคาดหวังในแง่ดีว่า "ถ้าอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อยู่ในวงการ
ในระดับ 14% - 15% แล้วสภาพคล่องดีขึ้นบ้างจากการที่เงินทุนต่างประเทศมีความมั่นใจไหลกลับเข้ามา
หรือจากการที่รัฐบาลไประดมทุนจากต่างประเทศโดยตรงก็ตาม เศรษฐกิจก็คงชะลอตัวลงเหลือประมาณ
4.2% - 4.3% ไม่น่าจะติดลบ"
นอกจากนี้การที่มีผู้กล่าวพาดพิงไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจไทยว่ามีการผิดพี้ยนไปมากนั้น
ดร.ธีระมองว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น เขาอธิบายว่า
สาระสำคัญที่มีการบิดเบือนไปนั้นเนื่องจากการใช้ระบบตะกร้าเป็นตัวหลักใหญ่
ทำให้เงินบาทแพง ทำให้สิ่งต่างๆ ผลิตมาเพื่อตอบสนองการใช้ในประเทศ สู่ nontradable
มากเกินไป แต่โดยส่วนรวมแล้วยังไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากเป้าหมายการพัฒนาในแผนฯ
8 และค่าเงินบาทที่คลาดเคลื่อนไปนั้น ก็ไม่ได้มากมายอะไร อยู่ในระดับ 10%
- 20% เพราะฉะนั้นไม่ต้องถึงกับปรับตัวมากมายจากหน้ามือเป็นหลังมือ เศรษฐกิจคงไม่ต้องเจ็บปวดถึงขนาดติดลบ
ลักษณะ over supply ในบางภาคอุตสาหกรรมยังมี แต่ถ้าเศรษฐกิจสามารถกลับมาขยายตัวได้
คิดว่าปี 2541 น่าจะเป็นปีสร้างฐานอีกปี และในปี 2542 จะมีโอกาสมากที่จะเห็นการขยายตัวมากกว่า
7% หรือมากกว่านั้น
ดังนั้นการที่กล่าวกันว่าเศรษฐกิจเรา มีส่วนเกินเหลืออยู่เยอะนั้น โอกาสที่จะ
absorb ให้กำลังการผลิตนั้นหมดไป ก็จะใช้เวลาไม่มากนัก 2-3 ปี ก็ทำได้ เพราะเศรษฐกิจไทยค่อนข้าง
จะมีลักษณะ dynamic มาก
นอกจากนี้ ดร.ธีระ มองประเด็นที่มีการพูดกันมาก ว่าประเทศไทย จะเป็นเหตุให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ
เผชิญปัญหา ในลักษณะเดียวกันนั้น เขาให้ความเห็นว่า "ผลทางด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุน
คงจะมีบ้าง แต่สิ่งที่ไทยเผชิญอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่โรคที่จะแพร่เชื้อติดต่อได้
มันเป็นปัญหาภายในของเราเอง ไม่มีทางที่สิงคโปร์จะเป็นอย่างไทยได้ หรือบางประเทศที่เป็นเหมือนไทย
เพราะเขาทำตัวเอง เขาปล่อยให้ค่าเงินของเขาแข็งไป ปล่อยให้มีการผูกขาดกิจการ
ไม่มีการแข่งขัน การเล่นพรรคพวก การคอร์รัปชั่น เขาทำตัวเขาเองอย่ามาโทษเรา"
อาจกล่าวได้ว่ามุมมองนี้สอดคล้องกับทัศนะนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ในตอนต้นที่เห็นว่าความปั่นป่วนทางการเงินของไทยและประเทศ
Asean Four เป็นไวรัส และเป็นเรื่อง cyclical เท่านั้น
วิกฤติแรงงานไทย
การที่โลกเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้หมด
การพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบันได้เข้าสู่ภาวะที่รุนแรงและเข้มข้นขึ้นด้วย
ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในเสือตัวแรกๆ ที่ต่อไปนี้จะมิได้แข่งขันกับเพื่อนในภูมิภาคเดียวกันเท่านั้น
แต่ต้องก้าวสู่เวทีการค้าโลกแล้ว การพัฒนาฝีมือแรงงานไทยจึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันแรงงานไทย ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญในภาคการผลิตของไทยถูกมองว่าไม่สามารถสู้กับแรงงานต่างชาติหรือแรงงานจากเพื่อนบ้านอย่าง
พม่า เวียดนาม จีน เป็นต้นได้อีกต่อไปแล้ว
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อนาคตของแรงงานไทยเปลี่ยนไปก็คือ สภาพโครงสร้างของอุตสาหกรรมไทยที่กำลังเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้นเป็นหลัก
แรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตใหม่นี้ได้ก็ต้องถูกปลดหรือถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก
ซึ่งภาวะการถูกเลิกจ้างนี้ถือ เป็นวิกฤติการณ์ที่สำคัญของแรงงานไทยในปัจจุบันทีเดียว
แรงงานที่มีแนวโน้มถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อยู่ในภาค อุตสาหกรรมสิ่งทอ
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมรองเท้า และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมของเด็กเล่น
และของชำร่วย อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป และอาหารแช่แข็ง และอุตสาหกรรมอัญมณี
(ตาราง2)
จากการสำรวจของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
คาดว่าในปี 2540 นี้จะมีการเลิกจ้างคนงานจำนวน 23,142 คนใน 24 จังหวัด ทั่วประเทศ
โดยคนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63.3) จะเป็นคนงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวไว้ข้างต้น
ตัวเลขแรงงานที่คาดว่าจะถูกเลิกจ้างนี้ เป็นตัวสะท้อนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึง
คุณภาพของแรงงานไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือและขาดทักษะในกระบวนการผลิต
ที่กำลังปรับเข้าสู่การผลิตสินค้าระดับ HIGH END ที่มีคุณภาพสูงและราคาสูงขึ้นด้วย
นอกจากนั้น การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นประจำทุกปีจนทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทยสูงกว่าแรงงานเพื่อนบ้านมาก
นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่แสดงออกมาชัดเจน ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ เนื่องจากนายจ้างไม่มีกำลังพอที่จะจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเมื่อเทียบกับคุณภาพที่จะได้รับ
จึงต้องมีการจ้างแรงงานต่างชาติ ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่ามากขึ้น
ภาวะ "แรงงานถูกลอยแพ" จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศได้มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้างให้มีทักษะฝีมือและความสามารถในการประกอบอาชีพอิสระ
หรือสามารถกลับเข้าสู่การทำงาน ในภาคอุตสาหกรรมได้ต่อไป โดยทางกรมพัฒนาฯ
จะประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และหน่วยงานต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง
รวมทั้งประสานงานกับกรมจัดหางานในเรื่องตำแหน่งงานที่ว่างและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
เพื่อผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมสามารถเข้าทำงานได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานได้ทันทีที่มีตำแหน่งงานว่าง
ทั้งนี้ การพัฒนาฝีมือแรงงานไทยนับเป็นงานที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่การขออนุมัติเงินงบประมาณจากรัฐบาลไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณาเจียดจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2540 ล่วงหน้าไปก่อน
โดยรายละเอียดของเงินงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 83,598,800 บาทของกรมพัฒนาฯ
แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นเงินจำนวน 40,000,000 บาท ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเดือดร้อนของคนงานที่ถูกเลิกจ้าง
และส่วนที่ 2 จำนวน 43,598,800 บาท ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานและเป็นค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์
รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายของการบริหารงานทั่วไปของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน 17
แห่ง เงินในส่วนที่ 2 นั้นทางกรมพัฒนาฯ ต้องเจียดจ่ายงบประมาณปี 40 ไปก่อนหน้านั้น
คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 40,020,000 บาท แบ่งเป็นเงินสำหรับการฝึกเตรียมเข้าทำงานในสถานประกอบการต่าง
ๆ จำนวน 35,460,000 บาท ซึ่งจะทำการฝึกทั้งหมด 90 รุ่น ๆ ละ 30 คน รวม 2,700
คน ระยะเวลาการฝึก 3 เดือน และสำหรับฝึกเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานอีก 4,560,000
บาท โดยฝึกทั้งหมด 190 รุ่น ๆ ละ 30 คน รวม 5,700 คน ระยะเวลาการฝึก 60 ชั่วโมง
"โครงการนี้ถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่เราทำขึ้นเป็นครั้งแรกเนื่องจากมีภาวะการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก
ซึ่งเราคิดว่าตัวเลขการถูกเลิกจ้างต้องมีเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่คงไม่ถึงกับมากจนเกิดความเดือดร้อนมากมาย
จะเป็นเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ขาดฝีมือ และขาดประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น
และงบประมาณที่เราตั้งขึ้นนี้ หากไม่พอก็สามารถขอเพิ่มได้ทันทีจากรัฐบาล
โดยงบประมาณส่วนนี้เราใช้สำหรับแรงงานที่ใช้แรงงานจริง ๆ ที่จะกระจายไปตามภูมิภาคต่าง
ๆ ส่วนแรงงานที่มีความรู้อยู่แล้ว อย่างเช่นแรงงานที่อยู่ในธุรกิจสถาบันการเงินก็สามารถถ่ายเทไปทำงานที่อื่นได้"
สม ศุภนคร อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานชี้แจง
สำหรับแผนการที่ทางกรมพัฒนาฯ ได้เตรียมไว้ก็คือ ให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการมาแจ้งความต้องการแรงงานฝีมือประเภทไหนบ้าง
และจะมีการปลดคนงานจำนวนเท่าไร เมื่อไรและให้บรรดาลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมารายงานตัวต่อทางกรมฯ
เพื่อรับการพิจารณาว่า สมควรจะได้รับการฝึกอบรมเข้าสู่ความชำนาญในสาขาไหน
"ตัวเลขแรงงานที่มาติดต่อกับกรมฯ ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ
่ที่รู้ตัวว่ากำลังจะถูกเลิกจ้างนั้นรอให้ได้สิทธิในเงินค่าชดเชยก่อน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว
ระบุให้ลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปีจะได้เงินชดเชยจำนวน 6 เดือน แต่พวกนี้ต้องการให้ได้มากกว่าที่กฎหมายระบุเนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานมาเป็นเวลานานแล้ว
จึงมีการต่อรองให้บวกค่าชดเชยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 เดือน และมีการเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารหารือรัฐบาลไปกดดันนายจ้าง
แต่นายจ้างก็ไม่สนใจ เพราะถือว่าทำไปตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นหากอยากได้เงินเพิ่มก็ต้องฟ้องร้องกันเอง
รัฐช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ" อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าว
สำหรับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการฝึกอบรม ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานกลาง
สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี
ภาคตะวันตกตอนบน จังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานวัดธาตุทอง ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนนทบุรี
จังหวัดสระบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา
ส่วนความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนนั้น สม ได้เปิดเผยว่า "ในเดือนสิงหาคมนี้
กรมพัฒนาฯ จะจัดสัมมนาเรื่อง ความต้องการแรงงานฝีมือของสถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง
ๆ โดยจะร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการเชิญผู้แทนจากกลุ่มสมาชิกในอุตสาหกรรมต่าง
ๆ จำนวน 100 แห่งมาร่วมแสดงความคิดเห็นที่จะให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือดำเนินการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิต
และให้ข้อมูลในด้านความต้องการแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการพัฒนาแรงงานทั่วไป
รวมทั้งต่อแรงงานที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานต่อไปในอนาคต"
แรงงานไทยจากภาคการเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
สำหรับโครงสร้างกำลังแรงงานไทยในปี 40 นี้ กระทรวงแรงงานฯ ได้ประมาณการว่า
ประเทศไทยจะมีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 60.602 ล้านคน แยกเป็นชาย 30.245 ล้านคน
หญิง 30.357 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 33.62 ล้านคน
ซึ่งแยกเป็นผู้ว่างงาน 1.17 ล้านคน และเป็นผู้มีงานทำจำนวน 32.45 ล้านคน
โดยผู้ที่มีงานทำแยกเป็นผู้ที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการประมาณ 13.52
ล้านคน ในภาคเกษตรประมาณ 16.61 ล้านคน และที่เหลือรับราชการ ทั้งนี้จากประมาณการทางสถิตินี้
พบว่าโครงสร้างกำลังแรงงานของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยกำลังแรงงานในภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงจากระดับ
62% ของกำลังแรงงานทั้งหมดในปี 34 ในปัจจุบันเหลือเพียง 55% ของกำลังแรงงาน
และจะลดลงเหลือ 49% ของกำลังแรงงานทั้งหมดในปี 44
นอกจากนี้ จากการประมาณการความต้องการแรงงานในปี 2541-2544 พบว่า ในตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ
925,201 คน (พิจารณาตาราง 3) แยกเป็นความต้องการแรงงานกรรมการหรือแรงงานทั่วไปจำนวน
454,290 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.1 แรงงานช่างกึ่งฝีมือ 73,640 คน คิดเป็นร้อยละ
7.95 แรงงานช่างเทคนิคและช่างฝีมือประมาณ 135,538 คน คิดเป็นร้อยละ 14.64
พนักงานทั่วไปประมาณ 188,562 คน คิดเป็นร้อยละ 20.38 และที่เหลือเป็นวิศวกร
ช่างชำนาญการ หัวหน้างานนักวิชาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการและนักบริหาร
ประมาณ 63,171 คน คิดเป็นร้อยละ 7.93 ซึ่งแรงงานกลุ่มหลังนี้เป็นแรงงานที่มีความรู้ความสามารถที่อธิบดีกรมพัฒนาฯ
มีความเห็นว่า
"พวกนี้เป็นแรงงานที่มีความรู้ มีการศึกษาค่อนข้างสูง สามารถพัฒนาทักษะได้ด้วยตนเอง
ทางกรมฯ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูแล และบุคคลเหล่านี้ก็สามารถเปลี่ยนงานได้ทันที"
ทั้งนี้จากจำนวนประมาณการความต้องการแรงงานในช่วง 4 ปีข้างหน้า 925,201
คนนั้น มีจำนวน 397,740 คนที่ทางกรมฯ ต้องเร่งพัฒนายกระดับฝีมือ โดยในจำนวนแรงงานที่ต้องเร่งพัฒนานี้แบ่งเป็นช่างเทคนิค
ช่างฝีมือและช่างกึ่งฝีมือ ที่มีความต้องเฉลี่ยประมาณปีละ 206,179 คนหรือคิดเป็นร้อยละ
52.58 ของจำนวนแรงงานที่ต้องเร่งพัฒนา
"ค่าจ้างขั้นต่ำ" ปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข
ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำยังเป็นปัญหาสำคัญที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องทุกปี
ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจในการแก้ไขอย่างจริงจัง
"ค่าจ้างขั้นต่ำของเราค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแรงงานจากพม่า จีน
อินโดนีเซีย เวียดนามที่อยู่ที่ประมาณ 30-35 บาท แต่ของเรา 157 บาท ซึ่งถ้าเรายังคงรักษาระดับการขึ้นค่าจ้างให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย
ๆ เราก็จะไม่สามารถสู้แรงงานต่างชาติได้ จากสถิติที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ
7% ต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นการพิจารณาจากอัตราค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ
แต่จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการพบว่า ประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นเพียง
3% เท่านั้น นี่เป็นจุดที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลยังคงปล่อยให้ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นต่อไปเรื่อย
ๆ โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว" เป็นความเห็นของ รศ. ดร.
กุณฑล ศรีเฉลิมโภค รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการกำหนดนโยบายค่าจ้างและรายได้
และคณะอนุกรรมการงานวิจัยการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ
ทั้งนี้ เกณฑ์ปกติที่ใช้ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำกันเป็นประจำทุกปี
ประกอบด้วย อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อ
ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และค่าใช้จ่ายของลูกค้าอื่นที่ทำงานในลักษณะและสภาพเดียวกัน
แต่ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัวในทุกภาคอุตสาหกรรม และปัญหาคุณภาพของแรงงานไทยก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ได้กล่าวไปแล้ว
ดังนั้นการที่จะพิจารณาค่าจ้างในปีนี้ก็จะต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ
ซึ่ง ดร. กุณฑลก็มีความเห็นว่า
"ค่าแรงขั้นต่ำไม่จำเป็นต้องขึ้นทุกปี ทีนี้ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย
ที่สำคัญคือความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและความสามารถที่จะอยู่ได้ของลูกจ้าง
ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจอยู่ในขาลง และเมื่อดูจากความสามารถในการจ่ายของนายจ้างก็ค่อนข้างจะลำบากพอสมควร
ฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องเลือกระหว่าง การจะให้คนส่วนใหญ่มีงานทำและมีรายได้ที่พอเลี้ยงตัวได้
กับการให้คนส่วนน้อยมีงานทำและมีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่มีคนจำนวนมากต้องว่างงาน
ซึ่งจะเป็นที่มาของปัญหาทางสังคมตามมา"
สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีน ี้ยังไม่ได้สรุปอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกอบด้วยคณะบุคคล
3 ฝ่ายคือ ตัวแทนจากภาครัฐ 5 คนมีอธิบดีสม เป็นประธานกรรมการ ตัวแทนจากองค์การสภานายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ
5 คน รวมทั้งสิ้น 15 คน และการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะสิ้นสุดที่คณะกรรมการชุดนี้
จากนั้นส่งเรื่องให้รัฐมนตรีลงนาม เพื่อออกเป็นประกาศต่อไป
"กระบวนการทั้งหมดจะต้องสิ้นสุดก่อนเดือนสิงหาคมนี้ เพราะเราจะให้เวลาเดือนกว่ากับนายจ้าง
เพื่อจะเตรียมตัวปรับ จากนั้นก็เสนอคณะรัฐมนตรีลงนามทันที ซึ่ง ครม. ไม่มีสิทธิทบทวนอะไรเลย
มติของคณะกรรมการค่าจ้างฯ ถือว่าสิ้นสุดแล้ว โดยมตินั้นต้องเป็นเสียง 2 ใน
3 ของที่ประชุมที่ต้องมีครบ 15 เสียง และถ้าคณะกรรมการค่าจ้างฯ มีมติให้ประกาศใช้เป็น
กม. ก็ให้นำเรื่องเรียนต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อลงนามในประกาศ และประกาศใช้ต่อไป"
อธิบดีสมชี้แจง
ในขณะที่ ดร. กุณฑลมีความเห็นส่วนตัวว่า "ลูกจ้างส่วนใหญ่มีความเห็นให้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ
ซึ่งตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 4.5% ซึ่งผมคิดว่ายังเป็นตัวเลขที่น้อย หากจะมีการปรับ
ควรเลื่อนการพิจารณาไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นจากการที่รัฐบาลประกาศปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว
ซึ่งอาจจะเลื่อนไปพิจารณาปรับปลายปีเลยก็ได้ และต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างด้วย"
ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่จะสรุปทุกอย่างก็คือ คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างฯ
นั่นเอง
จากสถิติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่าบางปีมีการพิจารณาปรับขึ้นปีละ 2 ครั้ง
ได้แก่ในปี' 17, ปี' 32, ปี' 38 ส่วนปีอื่นมีการปรับปีละครั้งเท่านั้น โดยในปี'
39 ที่ผ่านมาได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 157 บาท โดยเพิ่มจากปี' 38 คิดเป็น
8.3% จากตัวเลขที่ขอให้ปรับขึ้นอีก 20 บาท แต่ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาปรับขึ้นสูงถึง
12 บาท ซึ่ง ดร. กุณฑลเห็นว่าเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียวเมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ดร. กุณฑลยังได้เสนอประเด็นในการพูดถึงเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในปัจจุบันว่า
"นายจ้างส่วนใหญ่จะเอาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปอิงกับการปรับเงินเดือนประจำปี
ดังนั้นพอมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อไร บรรดานายจ้างก็นำไปปรับอัตราค่าจ้างประจำปีด้วย
ซึ่งจะทำให้เป็นภาระมากยิ่งขึ้น ทั้งที่จริงแล้วเป็นคนละเรื่องกัน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดขึ้นเพื่อช่วยคนที่เข้ามาทำงานใหม่ที่ยังไม่มีฝีมือ
ให้พอเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น ดังนั้นนายจ้างควรแยกให้ออก เพื่อไม่เป็นภาระจนเกินไปในสภาวะเช่นนี้"
"แรงงานไทยไม่ควรมาต่อสู้ในเรื่องของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ควรปล่อยให้เป็นค่าแรงสำหรับแรงงานต่างชาติได้แล้ว"
คำกล่าวนี้ต้องการจะสื่อว่า แรงงานไทยควรได้รับการพัฒนาฝีมือให้สามารถสร้างประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
และค่าจ้างที่สูงขึ้นก็จะตามมาเอง
"จากค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เราเสียเปรียบต่างชาติ
และแรงงานไทยที่เป็นแรงงานใช้กำลังก็จะขาดแคลนไปด้วย เนื่องจากนายจ้างสู้ค่าแรงไม่ไหว
ต้องหันไปพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการด้านแรงงานให้ข้อมูลแก่รัฐบาลไปแล้วเมื่อ
3-4 ปีที่แล้วว่า เมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานที่ปราศจากฝีมือ"
ดร. กุณฑลชี้แจง และประเด็นนี้เองที่สอดคล้องกับสถานการณ์รงงานไทยในปัจจุบันที่ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้
รวมทั้งในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตให้ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีที่สูงมากขึ้น
การแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อรองรับวิกฤติการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น
หากรัฐบาลเองต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหา ในระยะยาวควบคู่ไปด้วย นั่นคือ ระดับการศึกษาของแรงงานไทย
หากระดับการศึกษาพื้นฐานของกำลังแรงงานโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง การพัฒนาทักษะการทำงานก่อนหรือภายหลังบรรจุเข้าทำงานก็จะมีความจำเป็นน้อยลง
เนื่องจากระบบการศึกษาพื้นฐานมีส่วนช่วยในการสร้างทักษะการทำงานพื้นฐานให้แก่แรงงานอย่างพอเพียงกับการทำงาน
หรืออย่างน้อยการศึกษาก็ช่วยให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะการทำงานได้ด้วยตนเอง
หรือภายในเวลาที่รวดเร็ว แต่จากข้อมูลทางสถิติ พบว่ากำลังแรงงานไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ
80 มีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ไม่มีความรู้เลยด้วย
ดังนั้นเมื่อมีการปรับตัวในภาคอุตสาหกรรม แรงงานเหล่านี้ก็ไม่สามารถรับสถานการณ์ได้ทัน
จึงเกิดเป็นปัญหาที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปแก้ไข
ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรใส่ใจแก้ไขในระยะยาว เพื่อรองรับการเติบโต
ของประเทศในอนาคต