ยุคบริการบนเครื่องบินเดือด!แอร์ไลน์เร่งปรับทัพยกระดับเพิ่มแวลู


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

การโดยสารเครื่องบินเป็นเวลานานๆนับชั่วโมง ปัจจุบันค่อนข้างสะดวกสบายตลอดการเดินทาง เพราะรายล้อมไปด้วยความบันเทิงไม่ว่าจะดูหนังหรือฟังเพลง ขณะที่การให้บริการบนเครื่องบินไม่ว่าการเสริฟอาหารและเครื่องดื่มของพนักงานต้อนรับบนเครื่องมักจะเป็นภาพที่มีให้เห็นจนชินตา แต่การให้บริการบนเครื่องบินดังกล่าวกำลังถูกผู้ประกอบการธุรกิจแอร์ไลน์พลิกผันเนรมิตนวัตกรรมบริการพิเศษด้วยรูปแบบใหม่หวังมัดใจแฟนพันธุ์แท้ให้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง

ภาพการแข่งขันที่ร้อนแรงของธุรกิจสายการบินเวลานี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาและสร้างยุทธวิธีทุกรูปแบบออกมาเพื่อแผ่ขยายอณาจักรและเพิ่มฐานกลุ่มลูกค้าตัวเองให้มีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในภาคพื้นดินหรือบนท้องฟ้า หากแต่ว่าคนที่คลิกไอเดียใหม่ๆก่อนใครและนำไปใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมย่อมได้เปรียบคู่แข่งทางธุรกิจ

ตัวอย่างที่เริ่มเห็นกันบ้างแล้วได้แก่ลุ่มสายการบินสัญชาติฮ่องกงอย่างคาเธ่ย์ แปซิฟิค ที่เปิดให้บริการพิเศษบนเครื่องบินเป็นสายการบินแรกที่นำมาใช้กับกลุ่มลูกค้าที่เดินทางประจำและเป็นสมาชิกของสายการบินแบบสะสมไมล์ โดยมีทีมงานไว้ให้บริการโดยเฉพาะนอกเหนือจากพนักงานต้อนรับบนเครื่องที่มีอยู่แล้ว

“สิ่งนี้ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและจะกลับมาใช้บริการของสายการบินอีกครั้งเมื่อมีการเดินทางด้วยเครื่องบิน”ยงยุทธ ลุจนตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดประจำประเทศไทยและพม่า เล่าถึงเหตุผลของการเปิดให้บริการพิเศษ

แน่นอนเมื่อมีการแข่งขันบนภาคพื้นดินไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ช่องทางการจัดจำหน่ายตั๋ว การโปรโมตสินค้าหรือแม้แต่เรื่องของราคาค่าตั๋วถูกที่มักจะนำมาเป็นตัวเลือกสุดท้ายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นสำหรับลูกค้าให้ตัดสินใจเร็วขึ้น รวมถึงการออกแคมเปญโปรโมชั่นในช่วงเทศกาลต่างๆ ทุกอย่างล้วนแต่เป็นกลยุทธ์บนภาคพื้นดินที่ถูกหยิบนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัดในตัวเองส่งผลทำให้ธุรกิจการบินยังคงมีการแข่งขันที่ย่ำอยู่กับที่เสมอมา

ยงยุทธ เล่าว่า การให้บริการบนเครื่องบินแม้ว่าจะมีพนักงานต้อนรับที่ให้บริการอยู่แล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะสร้างให้เกิดความแตกต่างคือการให้บริการดับเบิ้ลบริการ คือ ตั้งทีมบริหารจัดการขึ้นมาเพื่อไว้คอยต้อนรับและดูแลลูกค้าที่เดินทางประจำหรือสมาชิกสะสมไมล์ รวมไปถึงลูกค้าระดับวีไอพี

“การทำแบบนี้เป็นบริการที่สร้างจุดขายใหม่ให้กับตัวคาเธ่ย์ฯเอง และคาดว่าไม่มีสายการบินอื่นที่ไหนเขาทำกัน แต่อย่างน้อยการที่ได้เริ่มทำการตลาดก่อนก็จะสามารถค้นพบวิธีและแนวทางแก้ไขปัญหาก่อนใครด้วยเช่นกัน”ยงยุทธ์ กล่าว

TGยกสปานวดกันบนฟ้า

ขณะเดียวกันการบินไทย สายการบินแห่งชาติในประเทศไทยนอกจากจะมีบริการบนเครื่องด้วยการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม แถมด้วยพักผ่อนสายตาด้วยการดูหนังฟังเพลงในเส้นทางระยะไกล การสร้างแนวคิดแบบก้าวกระโดดของ สมใจนึก เองตระกูล บิ๊กบอสค่ายการบินไทยก็ปิ้งไอเดียบรรเจิดจะเปิดให้บริการที่นอกเหนือจากที่มีอยู่ให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน

ส่งผลให้การบินไทยเตรียมนำ สปา เปิดให้บริการสำหรับ ผู้โดยสารสายการบินไทย รวมทั้งผู้โดยสารที่ เข้ามาประเทศไทยรอการต่อเครื่องเดินทางไปประเทศอื่น จะเปิดให้บริการนวดคลายเส้น นวดฝ่าเท้า หรือนวดทั้งตัว เพื่อให้ผู้โดยสารที่ เดินทางอยู่บนเครื่องบินเป็นระยะเวลานานสามารถคลายเส้นได้ และคงไม่นานเกินรอ

“การบินไทยจะนำหมอนวดแผนโบราณที่มีความชำนาญการคลายเส้น ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจสปามาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ใช้บริการของสายการบินไทย โดยเมื่อผู้โดยสารเดินทางและอยู่ระหว่างการต่อเที่ยวบินไปยังประเทศอื่นๆ 2-3 ชั่วโมง จะเปิดให้บริการนวดคลายเส้นให้กับผู้โดยสาร เพราะ ผู้โดยสารเดินทางอยู่บนเครื่องบินเป็นเวลานานจะได้สบายตัวและหายปวดข้อ”สมใจนึก การันตีว่ามีแน่นอน

นอกจากบริการในระหว่างการต่อเที่ยวบินแล้ว การบินไทยยังจะให้บริการนวดสปาบนเครื่องบินของสายการบินไทยด้วย เชื่อว่าบริการดังกล่าวนอกจากเป็นการช่วยให้ผู้โดยสาร สบายตัวในช่วงระหว่างการเดินทางและการต่อเที่ยวบินแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจ สปาและสมุนไพรของไทย ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกด้วย

จึงไม่แปลกเลยที่การบินไทยจะใช้กลยุทธ์เกี่ยวกับสปาเข้ามาใช้ในธุรกิจการบินเพื่อผ่อนคลายให้กับผู้โดยสารที่ต้องใช้เวลานานๆในการเดินทางให้เกิดความประทับใจสร้างกระบวนการทางการตลาดแบบ CRM ได้อย่างลงตัว กอปรเส้นทางที่บินตรงของการบินไทยในปี 49 ที่มีอยู่ในมือจะเป็นการต่อยอดเพื่อให้ลูกค้าได้มีสิทธิ์ใช้บริการสปา นวัตกรรมบริการใหม่บนเครื่องด้วยเช่นกัน

โดยการบินไทยจะมีการปรับปรุงเส้นทางเดิม และปรับเพิ่มเที่ยวบินสำหรับเส้นทางที่มีผู้โดยสารมาก เช่น เส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก จะเพิ่มจากเดิมสัปดาห์ละ 4 เที่ยว เป็น 5 เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส เพิ่มจากเดิมสัปดาห์ละ 3 เที่ยว เป็น 4 เที่ยวบิน พร้อมปรับลดเที่ยวบินในเส้นผู้โดยสารน้อย เช่น กรุงเทพฯ-นิวซีแลนด์

ไทยแอร์เอเชียเน้นกิจกรรมบันเทิง

ในยุคที่ใครๆก็บินได้ทำให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์แอร์ไลน์)สร้างความโดดเด่นและมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่องในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา จนก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆของวงการบินในเมืองไทย

ใครเลยจะรู้ว่าเพียงระยะเวลาปีกว่าๆ ของสายการบินอย่าง ไทยแอร์เอเชียภายใต้การบริหารจัดการของ CEO ทัศพล แบเลเว็ลด์ จะมีอิทธิพลต่อกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจให้ถึงที่หมายโดยไม่ใส่ใจกับการบริการภายในเครื่องบิน และที่สำคัญ จ่ายน้อยกว่าสายการบินปกติจนทำให้ยอดตัวเลขผู้ใช้บริการตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงสิ้นปี 48 ที่ผ่านมามีสูงถึงกว่า 3 ล้านคน

“แต่ก็ใช่ว่าจะทิ้งความสำคัญด้านบริการบนเครื่องไปคงไม่ได้ เพราะอย่างน้อยกว่าที่จะเข้ามาบริหารสายการบินก็เคยอยู่ในแวดวงเอนเตอร์เทนเม้นท์มาก่อน ดังนั้นคาดว่าจะหยิบนำประโยชน์ตรงนี้มาใช้กับธุรกิจการบินให้มากที่สุด อาจจะมีรายการทอค์กโชว์บนเครื่องบินหรือมีกิจกรรมให้ผู้โดยสารได้ร่วมสนุกในช่วงเทศกาลต่างๆ”ทัศพล กล่าว

แน่นอนกิจกรรมสอดแทรกบนเครื่องบินคือกลยุทธ์ที่ไทยแอร์เอเชียหยิบจับนำไปใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างสินค้ากับผู้ซื้อจนต้องกลับมาใช้บริการอีกครั้ง...จึงเป็นเรื่องไม่แปลกนักที่ตลอดทั้งปี 49 ตัวเลขจะถูกกำหนดวางไว้สูงถึง 3 ล้านคนที่จะเข้าไปใช้บริการสายการบินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม และหลังจากนี้ไปจับตาดูการเปลี่ยนแปลงปรับโฉมครั้งใหญ่ของไทยแอร์เอเชีย กับบทบาทบนท้องฟ้าในปี 49 นี้ ซึ่ง ทัศพล ประกาศว่าจะไม่มีใครเหมือนและจะไม่เหมือนใคร

จากนี้ไปภาพของบริการบนเครื่องบินอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะมีบริการที่แปลกแตกต่างจากที่เห็นกันอีกมากมาย บริการบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะมีก็อาจยกขึ้นไปใว้บนเครื่องบินก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.