|
ATC ควบรวม RRC ลั่นขอเป็นยักษ์คุมราคาปิโตรเคมีโลก!
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ATCเดินหน้าควบรวมโรงกลั่นระยอง กำหนด 4กลยุทธฺในการบริหาร จัดการ ทั้งเพิ่มกำลังผลิต ขยายกิจการ ลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพลงทุนในธุรกิจต้นน้ำ หวังปั้นATCขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่กำหนดราคาปิโตรเคมีในตลาดโลกภายใน 3 ปี
ในช่วงปี2547 มีความต้องการใช้ปิโตรเคมีในตลาดโลกเป็นอย่างมาก ทำให้ราคาปิโตรเคมีทะลุขึ้นไปกว่า 1,200 ดอลล่าร์สหรัฐ/ตัน บริษัทปิโตรเคมีในประเทศไทยต่างอยู่ในภาวะขาขึ้น แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาราคาปิโตรเคมีก็อยู่ในภาวะทรงตัวมาตลอด แต่ละบริษัทต่างพากันปรับตัวปรับกลยุทธ์เพื่อให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
บริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ATC หนึ่งในกลุ่มธุรกิจในเครือปตท. ปัจจุบันกำลังปรับกลยุทธในองค์กร 4 กลยุทธ์ 1.เตรียมควบรวมเพื่อเพิ่มรายได้ 2.เพิ่มกำลังการผลิตจากโรงงานอะโรเมติกส์ 2 3.เพิ่มมูลค่าสินเบนซีนทำให้ราคาเบนซีนสูงขึ้น และ 4 . กระโดดลงมาทำปิโตรเคมีครบวงจร เพี่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำหนดราคาตลาดปิโตรเคมีในตลาดภูมิภาคให้ได้ภายใน 3 ปี
ควบรวม RRC เพิ่มรายได้
เพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อะโรเมติกส์ฯ กล่าวถึงภาพรวมของบริษัทใน 3 ปีข้างหน้าว่า บริษัทอะโรเมติกส์ นั้นมีสินค้าหลักอยู่ 2 ตัว คือ พาราราโซลีนและเบนซีน โดยคาดว่า สเปรดของสินค้าทั้งสองชนิดนี้ จะมีสเปรดอยู่ที่ 400 และ 460 สำหรับเบนซีน ซึ่งจะมีแนวโน้มอยู่เช่นนี้ต่อไป อีกทั้งเบนซีนจะมีราคาผันผวนมากที่สุด เพราะอิงอยู่กับราคาน้ำมันโลกที่มีอัตราเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตามบริษัทอะโรเมติกส์ฯคาดว่าจะมีรายได้เข้ามา และจะเพิ่มขึ้นกว่า แสนล้านบาทภายใน 3 ปี จากฐานเดิมในปี 2548 รายได้อยู่ที่ 62,000 ล้านบาท คาดว่าในปี 2549 รายได้จะอยู่ที่ 72,000 ล้านบาท ซึ่งการประมาณการรายได้เกิดขึ้นจากแผนงานในการควบรวมกิจการระหว่าง ATC กับบริษัท ที่กำลังเป็นทางเลือกอยู่ด้วยกัน 3 บริษัท ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะเป็นการควบรวมกับโรงกลั่นระยอง (RRC)โดยการควบรวมกิจการจะมีทิศทางชัดเจนหลังจากวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ไปแล้ว
นอกจากนี้จะได้มาจากการขยายกำลังผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ 2 และการสร้างโรงงานไซโคลเฮกเซน รวมไปถึงการลดต้นทุนการผลิตอันเกิดจากการบำรุงรักษาเครื่องจักรที่มีการนำเข้ามาใหม่มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท
"เราไม่ได้คิดเพียงแค่นั้น สิ่งที่ทางอะโรเมติกส์มองก็คือ การเพิ่มรายได้จากทางอื่นด้วย เช่นการนำผลผลิตบายโพรดักส์มาใช้ให้เกิดประโยชน์" ยุทธวิธีดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้ ATC สามารถเป็นผู้กำหนดราคาปิโตรเคมีในตลาดโลกเหมือนกับอินเดียๆได้ภายใน 3 ปี
2 บริษัทควบรวม Win-Win
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ATC บอกอีกว่า ต้องการให้เกิดการควบรวมกับบริษัทโรงกลั่นระยอง เพราะ จะเกิดผลประโยชน์ให้กับบริษัทอะโรเมติกส์อย่างมาก เช่นในด้านการใช้ผลผลิตบายโพรดักส์ของทั้งสองฝ่ายให้เกิดประโยชน์ เช่น consendate ของบริษัทอะโรเมติกส์สามารถขายเป็นวัตถุดิบ ดีเซล โดยการต่อท่อจากบ.อะโรเมติกส์ไปที่บริษัทโรงกลั่นระยองได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเสียค่าขนส่ง และบริษัท อะโรเมติกส์เองนั้น มีไฮโดรเจนเหลือจากการผลิตซึ่งสามารถขายให้กับ โรงกลั่นระยองเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ สามารถต่อทอส่งไฮโดรเจนจากบริษัทอะโรเมติกส์ไปสู่บริษัทโรงกลั่นระยองได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งเรื่องลดต้นทุนการผลิต ที่ทางบ.อะโรเมติกส์สามารถเข้าไปใช้แทงก์เก็บสารเคมีของโรงกลั่นระยองที่อยู่บริเวณท่าเรือมาบตาพุดได้ ซึ่งจะเพิ่มจุดแข็งให้กับทาง บ. อะโรเมติกส์ที่มีระบบขนส่งทางท่ออยู่แล้ว
สร้างโรงงานเพิ่มมูลค่าเบนซีน
อย่างไรก็ดี บ.อะโรเมติกส์ยังมีโครงการไซโคลเฮกเซน มูลค่า 200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อเข้ามาลดความผันผวนของราคาเบนซีนที่ผันผวนราคาตามราคาน้ำมัน อีกทั้งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเบนซีนด้วย การทำสไตรีนโมโนเมอร์ หรือ SM ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 140,000 ตัน / ปี ซึ่งตั้งเป้าจะนำรายได้มาสู่บริษัท 400 ล้านบาท / ปี จะสามารถเปิดทำการผลิตได้ในไตรมาส 2 ปี 2549 นี้
นอกจากนั้นการที่ เพิ่มศักดิ์มองว่านำเบนซีนมาเข้ากระบวนการผลิตสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับเบนซีนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มราคาเบนซีนอีกด้วย อันเนื่องมาจาก เบนซีน 30% ของ บ.อะโรเมติกส์นั้นจัดการส่งออก ดังนั้นเมื่อ บ.อะโรเมติกส์ส่งเบนซีน 140,000 ตัน ไปเข้ากระบวนการไซโครเฮกเซน เพื่อมาเป็น สไตรีนโมโนเมอร์แล้วนั้น คาดว่า ราคาเบนซีนน่าจะสูงขึ้นได้ ตามกฎอุปสงค์อุปทาน เพราะปริมาณเบนซีนจะหายไปจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กว่า 30% ของจำนวนที่เคยส่ง
ทั้งนี้ในตลาดพาราไซลีนนั้น เพิ่มศักดิ์มองว่า บ.อะโรเมติกส์จะไม่ได้รับผลกระทบเพราะขณะนี้ ทาง บ.ขายพาราไซลีนเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น และคาดว่าถ้ามีการเกิดโครงการเมกะโปรเจ็กท์ในปลายปีนี้ จะมีการกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้สินค้าอุปโภคขายได้มากขึ้น และพาราไซลีนจะได้อานิสงฆ์ไปด้วย นอกจากนั้น ผลผลิตในโรงงาน อะโรเมติกส์ 2 นั้นก็จะ สร้างรายได้ให้กับ บ. อะโรเมติกส์เข้ามากว่า 60,000 ล้านบาท จากการผลิตพาราเซลีนเซีลีนที่จะเพิ่มขึ้น
บำรุงรักษาโรงงานเพิ่มผลผลิต
เพิ่มศักดิ์ อธิบายถึง การสร้างรายได้ที่เกิดจากการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการนำเครื่องจักรใหม่เข้ามาว่า ในไตรมาสที่ 2 นี้จะมีการปิดโรงงานเพื่อการบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งทางบ.อะโรแมติกส์ได้นำ เครื่องจักร พาแลกซ์ ซึ่งมีมูลค่า 60 ล้านบาท เข้ามาทดแทนเครื่องจักรเดิม ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพาราไซลีน ได้ถึง 10% หรือกว่า 40,000 ตัน / ปี จากอัตราส่วนวัตถุดิบเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตจะถูกลงไปด้วย จากเดิมต้นทุนการผลิตอยุ่ที่ 450 เหรียณสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 445 เหรีญฐสหรัฐ/ตัน
ขณะเดียวกันภาวะการแข่งขันของบ. อะโรเมติกส์ เกือบจะไม่มี เพราะผลิตภัณฑ์หลักทั้ง 2 อย่างต่างมีลูกค้ารองรับทั้งหมด สำหรับบริษัทอะโรเมติกส์ในภูมิภาคที่ทำธุรกิจคล้ายกันอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียนั้น ก็ไม่ใช่คู่แข่งทางการค้า เพราะแต่ละประเทศก็ผลิตป้อนความต้องการของประเทศตน ส่วนอินโดนีเซียเริ่มมีการเพิ่มกำลังการผลิตแล้วเช่นกัน แต่ เพิ่มศักดิ์ มองว่า ทาง บ.อะโรเมติกส์ คงจะไม่ได้รับผลกระทบ จากการเพิ่มกำลังการผลิตของอินโดนีเซียนัก
รุกสินค้าปลายน้ำใน 3 ปี
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ATC บอกอีกว่า ได้กำหนดแผนธุรกิจใน 3 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าเข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำมากยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญทั้งหมดจะเน้นที่กลางน้ำ เพราะสามารถขยายไปสู่การผลิตได้หลากหลาย อย่างไรก็ตามการเข้าไปสู่ปลายน้ำ ก็สามารถนำรายได้เข้ามาสู่บริษัทมากขึ้น เพราะ บริษัท ได้เข้าไปถือหุ้นในอุตสาหกรรมปลายน้ำบางส่วนที่บริษัทสามารถต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ปลายน้ำได้ โดยขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการโครงการคิวมีน ฟีนอล ซึ่งสามารถจะนำไปสู่ธุรกิจปลายน้ำได้ ทั้ง ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แผ่นพลาสติกในอุตสาหกรรมก่อสร้าง คอมแพกดิสก์ กระจกนิรภัย และชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ โดยแผนอันใกล้นี้บริษัทกำลังศึกษาอยู่ การทำ ผงซักฟอก ซึ่งสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตอนนี้ต่อยอดได้ไม่ยุ่งยาก อีกทั้งไม่ต้องใช้ Know how มากนัก
"ด้วยกลยุทธ์และแผนงานที่วางไว้เราหวังว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำหนดราคาปิโตรเคมีในภูมิภาคได้ภายใน 3 ปี ขณะนี้เรามีการปรับเปลี่ยนหลายอย่างให้เป็นธุรกิจที่ครบวงจรจากที่เคยทำกลางน้ำอย่างเดียวก็จะก้าวมาทำปลายน้ำมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เสริมจุดแข็ง อย่างระบบ Logistic ให้ดียิ่งขึ้น " เพิ่มศักดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|