|

อนิจจา ! ประเทศไทยใต้อุ้งมือ"ทักษิณ"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แย่แล้ว! ผลพวงดีลชินคอร์ป “ยำเละ” ประเทศอย่างคาดไม่ถึง
จับตาต่างชาติเมิน FTA หันใช้ “ชินคอร์ป-เทมาเส็ก โมเดล” เป็นต้นแบบยึดธุรกิจไทย
ต่อไปองค์กรใหญ่จะถูกฮุบ เหลือแต่ SMEs ที่ยากต่อกรในตลาดโลก
คนไทยยุคต่อไปมีสถานะเพียงแค่ลูกจ้างที่ทำงานเหนื่อยและหนักเหมือนควาย ถูกขูดรีดเม็ดเงินเพื่อประเคนคนชาติอื่น
ป่วยการที่จะให้ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและครอบครัวออกมาแสดงความรับผิดชอบ ตอบคำถามในเรื่องที่สังคม และประชาชนต้องการคำตอบ ในเรื่องการการขายหุ้นของตระกูลชินวัตรแบบสลับซับซ้อน การไปจดทะเบียนบริษัท Ample Rich Investment ที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น และโอนหุ้นของตัวเองและครอบครัวในชินคอร์ปไปอยู่ในที่ที่ใครก็รู้ว่าเป็นแดนหนีภาษีและฟอกเงิน ฯลฯ (เครื่องหมายไปรยาลใหญ่ในที่นี้หมายถึงอาจมีเรื่องราวลึกลับซ่อนเงื่อน ไม่โปร่งใสอีกมากมายที่ตระกูลนี้ซุกไว้ แต่ยังไม่ได้ถูกเปิดออกมาให้เห็น)
แน่นอนในแง่กฎหมายอาจทำอะไรตระกูลนี้ไม่ได้ (เพราะพวกเล่นปิดช่องว่างทุกอย่างที่สามารถเอาผิดไว้เรียบร้อยหมดแล้ว) แต่ในทางจริยธรรม และคุณธรรม แน่นอนว่าไม่สามารถเป็นแบบอย่างของผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับสูงของระบบการเมือง และของสังคมไทยได้อีกต่อไป
เพราะสิ่งที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้ทำในเรื่อง การโอนหุ้น โดยพยายามทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการพยายามใช้เงื่อนไขการยกเว้นภาษีในช่องกฎหมายทำให้ดีลที่เกิดขึ้นถูกต้องเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องตามมาอีกมากมาย
เรื่องราวการซื้อขายหุ้นระหว่างกลุ่มทุนรัฐบาลสิงคโปร์กับชินคอร์ปที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ 23 มกราคมเป็นต้นมา ไม่ใช่ได้รับความสนใจอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนไทย และคนไทยเท่านั้น แต่ยังได้รับความสนใจอย่างมากต่อสื่อมวลชนทั่วโลก และคนต่างชาติมากมายอีกด้วย สิ่งที่คนเหล่านั้นได้เรียนรู้จากธุรกรรมนี้ก็คือ มีการถือหุ้นของคนต่างชาติในวงเงินที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด และในอีกหลายๆเรื่องที่ล้วนแล้วแต่สร้างข้อกังขา แต่รัฐบาลไทยกลับยอมรับให้ดีลนี้เกิดขึ้นได้ การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการประทับตราโดยรัฐบาลไทยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถูกกฏหมายสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
“การที่กฎหมายกำหนดเพดานไว้ว่า 49% แต่ทางปฏิบัติจริงๆ ถือเกิน เพราะมันถือเป็นชั้นๆแล้วเกิน ครั้งนี้นายกฯบอกว่ามันถูกกฎหมาย ก็แปลว่ายอมรับโดยปริยายว่าการถือหุ้นแบบนอมินีแบบนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรม และรัฐบาลถือว่าถูกกฎหมาย” เป็นคำกล่าวของ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อไปในอนาคตก็คือ ต่างชาติที่จ้องจะเข้ามาทำธุรกิจในบ้านเราจะสามารถอ้างได้ว่าทำตามกรณีเทมาเล็กกับชินคอร์ปเป็นต้นแบบ ไม่เพียงเท่านั้นการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA : Free Trade Area) กับนานาประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็จะไม่มีความหมาย เพราะในที่สุดต่างชาติจะอาศัยช่องนี้ข้ามเส้นเข้ามาในทำธุรกิจในประเทศไทย
“ต่อไปเราจะไม่มีอำนาจต่อรองใน FTA และต่างชาติก็ไม่จำเป็นต้องมาต่อรองด้วย เพราะเขาสามารถเข้าตลาดโดยวิธีนี้ได้อยู่แล้ว เป็นการเปิดการค้าเสรีแบบตกกระไดพลอยโจนจากกรณีนี้”
สิ่งที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นนับต่อแต่นี้ไปก็คือ ประเทศใดๆที่เราเคยเปิดเจรจาการค้าเสรี ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอื่นๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง ที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ญี่ปุ่นปรารถนาจะทำในเมืองไทย แต่ยังติดขัดด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการ และหลายสิ่งที่ญี่ปุ่นต้องการได้สิทธิ์เท่าเทียมกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งในการเจรจาการค้าเสรีเท่าที่ผ่านมาฝ่ายไทยได้เจรจาต่อรองมาโดยตลอด แต่เมื่อการณ์กลับกลายเป็นว่าเมื่อเทมาเสกของสิงคโปร์ทำได้ ชาติอื่นอีกสารพัดชาติก็จะอ้างสิทธิ์เช่นนี้เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าเราเปิดเสรีทางการค้าโดยปริยาย บางสาขาที่ไม่ควรเปิดเสรีก็จะถูกเปิดโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้สิ่งที่ตามมาคือกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว จะไม่มีผลในทางปฏิบัติได้จริง ตามกฎหมายทั้ง 3 บัญชี บัญชีหนึ่งคือห้ามทำโดยเด็ดขาด มีเรื่องทำไร่ทำนา ประมง เลี้ยงสัตว์ สื่อมวลชน สมมติว่ามีคนต่างชาติอยากทำหนังสือพิมพ์ก็มาตั้งบริษัทแบบนี้ได้เลย โดยการถือหุ้นใส่เงินมาเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งในความจริงมันเป็นบริษัทของฝรั่ง แต่พอมาดูกฎหมายมันไม่เกิน กลายเป็นบริษัทไทย เป็นฝรั่งในคราบคนไทยมาทำสื่อมวลชนได้
“ถามว่าวันหนึ่งถ้าสิงคโปร์มาลงทุนในธุรกิจที่ดิน แล้วทำผิดกฎหมายผังเมือง ไอทีวีจะนำเสนอข่าวนี้หรือไม่” ผู้อำนวยการทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกต
บางคนอาจแย้งว่าถึงแม้ “ดีล” ระหว่างเทมาเส็กกับชินคอร์ปไม่เกิดขึ้น ต่างชาติก็เข้ามาทำธุรกิจในบ้านเราเต็มไปหมดอยู่แล้ว เช่น กรณีของบริษัทประกันภัยเอไอเอ บริษัทรถยนต์โตโยต้า กิจการธนาคารทั้งยูโอบี และอื่นๆ
จริงอยู่ที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามามากมายอยู่แล้ว เพียงแต่การดำเนินการต่างๆจะอยู่ภายใต้กรอบที่เคยเจรจากันมากก่อนหน้านี้ เช่น ประกันภัยก็มีแต่บริษัทของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นไม่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาทำ ทั้งที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจนี้ใจจะขาด เพราะไทยมีสนธิสัญญาทางไมตรี 2509 เรื่องประกันภัยกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่นับจากนี้จะไม่มีมาตรการต่างๆเข้ามาดูแลได้อีกต่อไป
หลังจากการหลั่งไหลของทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยที่พรั่งพร้อมทั้งเงินทุนอันมหาศาล และเทคโนโลยี ที่พร้อมเข้ามากระหน่ำกิจการของคนไทย โดยไม่มีมาตรการปกป้องแล้ว สิ่งที่ต่อไปที่เกิดขึ้นก็คือ กิจการใหญ่ๆที่มีศักยภาพจะถูกต่างชาติฮุบไปจนหมด ซึ่งในวันนี้ก็ปรากฏให้เห็นแล้วในหลายกิจการ เช่น โทรคมนาคม ธนาคาร และต่อไปใครจะรับประกันได้ว่าจะไปขยายไปถึงในกิจการพลังงานทั้งไฟฟ้า น้ำมัน หรือแม้แต่กิจการประปา เป็นต้น
“บัดนี้ทุนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการและทรัพย์สินในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ กิจการเหล่านี้ย่อมเพิ่มการขูดรีดคนไทย เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยเราไม่มีทางต่อสู้ ถ้าขัดขืนเขาก็จะทำร้ายด้วยประการต่างๆ รวมทั้งด้วยกำลังอาวุธ เป็นการชัดศึกเข้าบ้านโดยแท้ คนไทยจะหมดอิสรภาพในการกำหนดอนาคตของตนเองก็เท่ากับสูญเสียอธิปไตย คนไทยจะทำงานหนักและเหนื่อยเหมือนวัวเหมือนควาย เพื่อให้ต่างชาติและคนไทยบางส่วนเอาส่วนเกินไปหมด” ส่วนหนึ่งของบทวิจารณ์ตระกูล “ชินวัตร-ดามาพงศ์” ขายหุ้นชินคอร์ปให้สิงคโปร์ เป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การสิ้นชาติ ที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาทแห่งการฆาตกรรมชาติ” โดย ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
ถามว่าเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างข้างต้นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตไปตกอยู่ในมือของคนต่างชาติแล้ว คนไทยจะอยู่กันอย่างไร เพราะแน่นอนว่าเมื่อนักธุรกิจหว่านเม็ดเงินลงไปย่อมต้องหวังผลกำไรเป็นการตอบแทน
นักวิชาการบางคนบอกกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า เมื่อกิจการใหญ่ๆของไทยถูกกลืนกิจการเป็นของต่างชาติไปจนหมด สิ่งที่เหลือคือผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่ยากจะแข่งขันได้ในตลาด เพราะขาดทั้งเงินทุน และเทคโนโลยี ต่อไปประเทศไทยจะกลายเป็น SMEs Country เท่านั้น และคนไทยจะเป็นลูกจ้างบริษัทต่างชาติกันทั้งประเทศ
“ที่ผ่านมาก็ปล่อยให้นายทุนไทยเล่นงานคนไทย แล้วตอนนี้ก็เปิดซี้ซั้วแบบนี้ เดี๋ยวทุนต่างชาติก็จะมาเล่นงานอีก”
ผู้อำนวยการทีดีอาร์ไอ บอกว่า ต่อไปนักธุรกิจไทยจะกลายมาในรูปแบบใหม่คือ เป็นผู้คอยเอาสิทธิพิเศษจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือคอยจ้องแต่สัมปทานของรัฐ มาดำเนินการ จากนั้นจึงค่อยขายให้ต่างชาติเพื่อเอากำไรอีกต่อหนึ่ง
จากเศรษฐกิจสู่การเมือง
อนาคตประเทศไทยลำดับต่อไป หลังต่างชาติเข้ามากุมบังเหียนระบบเศรษฐกิจของไทยแล้วก็คือ การขยับขยายเข้ามามีบทบาทในเกมการเมือง โดยอาศัยนอมินีคนไทยเข้ามามีอำนาจหน้าที่ในสภา ในรัฐบาล ขึ้นไปดำรงตำแหน่ง หรือเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อดูแลผลประโยชน์ของตน ซึ่งเป็นไปได้แน่ถ้าผลตอบแทนที่กลุ่มต่างชาติเข้าไปลงทุนมีมูลค่ามากพอ จากทุกวันนี้จะเป็นในรูปแบบของลอบบี้ยีสต์ กล่าวคือ หากเป็นกิจการเล็กๆ ของญี่ปุ่นก็จะผลักดันผ่าน JETRO หรือสถานทูต แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆก็จะเจรจาต่อรองผ่านลอบบี้ยีสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ออกกฎหมายเพื่อเอื้อกับกลุ่มทุนของตน หรือเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายตรงข้าม
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ และเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย เพราะอย่าว่าแต่ต่างชาติเลย เอาแค่รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีทักษิณเป็นหัวหน้าก็ทั้งแก้ ทั้งออกกฎหมายเพื่อเอื้อธุรกิจของตนมากมายหลายฉบับ ดังกรณี พรบ.กิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) ที่เปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นจาก 25% ขึ้นมาเป็น 49% เป็นต้น แล้วสัมมะหาอะไรกับต่างชาติที่จะไม่ทำเพื่อประโยชน์ของตน
สุพงษ์ ลิ้มธนากุล นักวิชาการ และอดีตว่าที่กสช. ออกมาให้ความเห็นด้วยว่า จะว่าไปแล้วการเคลื่อนทัพของทัพทุนต่างชาติเหล่านี้ไม่แตกต่างจากการยาตราทัพเข้ามาทางเรือของนักล่าอาณานิคมเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ที่อาศัยเรือปืนเข้ามาระดมยิงจนกระทั่งไทยต้องยอมเจรจาและทำตามสิ่งที่ต่างชาติเหล่านั้นต้องการ (Gun Ship Diplomacy) เพียงแต่รูปแบบจะเปลี่ยนไปจากกองทัพคน มาเป็นกองทัพทุน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่คราวที่บรรดาดิสเคานต์สโตร์ต่างชาติเข้ามายึดพื้นที่ค้าปลีกในประเทศไทย ทั้งเทสโก้ คาร์ฟูร์ รวมไปถึง 7-eleven ที่เข้ามาทำให้บรรดาโชห่วยสัญชาติไทยต้องปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก เพียงแต่นับจากนี้จะมากขึ้น-มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว และในอีกหลายธุรกิจ
และท้ายที่สุดนอกจากบริษัทต่างชาติจะเข้ามาใช้ทรัพยากรธรรมชาติของไทยที่มีอยู่อย่างจำกัดแล้วส่งผลกำไรกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตน ยังอาจเข้ามาครอบงำในเรื่องของวัฒนธรรมอีกด้วย ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าเทมาเส็ก จะไม่ใช้ดาวเทียมที่ตนได้จากการซื้อชินคอร์ป หรือกลุ่มทุนอื่นๆจะไม่อาศัยช่องว่างจาก “ดีล” ที่รัฐบาลทักษิณได้เปิดช่องว่าง มาทำสื่ออื่นๆ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของเขาให้คนไทยได้ซึมซับและยอมรับวัฒนธรรมของเขามาเป็นวัฒนธรรมของคนไทยในที่สุด
นั่นนับว่าเป็นการเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามากลืนความเป็นไทยทั้งทรัพย์สิน และจิตวิญญาณโดยแท้
***************
ชินคอร์ป ลอด(ทุก)ช่องภาษี
ขาย "ชิน คอร์ป" หมดปัญหาเอาผิดเลี่ยงภาษี ใช้หลักวางแผนภาษีจับทุกช่องโหว่ แถมปรึกษาสรรพากรก่อนทำ "สุวรรณ"มือกฎหมายชินวัตรเผยเจียด 1 พันล้านบาทช่วยสังคม โถ!! แค่ 3.7% ของส่วนที่ยกเว้นภาษี ส่วนวิธีหลบเกณฑ์ห้ามถือต่างชาติถือหุ้นเกินแค่งานหมู ๆ
ข้อเสนอของพล.ต. จำลอง ศรีเมือง ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกเสนอถึงพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แนะนำให้บริจาคเงิน 2.6 หมื่นล้านบาทมาแก้ปัญหาคนยากจน ดูเหมือนจะเป็นการยอมรับกันแล้วว่า กรณีการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN มูลค่ากว่า 73,271.2 ล้านบาทให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ครั้งนี้ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว
ล่าสุดเมื่อดร. สุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกประจำตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ ได้ออกมาแจ้งว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จะนำเงิน 1,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.68% ของภาษีที่ได้สิทธิไม่ต้องจ่าย โดยจะนำเงินจำนวนนี้มาไว้ที่มูลนิธิไทยคม เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อสาธารณะชน
ทั้งนี้จากข้อกำหนดของกรมสรรพากรที่กำหนดว่าบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้สุทธิส่วนที่เกิน 4 ล้านบาทต้องเสียภาษีในอัตรา 37% หากการขายหุ้นครั้งนี้ต้องเสียภาษีจริงตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ต้องเสียภาษีให้กับกรมสรรพากรราว 27,110 ล้านบาท นำเอาไปพัฒนาประเทศชาติได้ไม่น้อย แต่ด้วยเหตุที่การซื้อขายครั้งนี้เป็นการซื้อขายหุ้น ซึ่งได้มีการยกเว้นภาษีกำไรส่วนต่างราคา(Capital Gain) ไว้ว่าไม่ต้องเสียภาษีของบุคคลธรรมดาไว้
หลบภาษี 2 ชั้น
ดังนั้นการไม่เสียภาษีของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีชื่อของพานทองแท้และพิณทองทา ชินวัตร รวมถึงบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จึงไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษี แม้กระทั่งกรณีของ Ample Rich Investment Ltd. ที่ขายหุ้น SHIN จำนวน 329.2 ล้านหุ้นหรือ 10.97% ให้กับพานทองแท้และพิณทองทาในราคา 1 บาทและเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน เพราะกรณีนี้ไม่มี Capital gain
วิธีการของ Ample Rich เป็นการขายจากนิติบุคคลไปให้กับบุคคลธรรมดา ที่ราคา 1 บาท ทำให้ไม่มีส่วนต่างของราคาซื้อและขาย ไม่ต้องเสียภาษีอย่างที่กล่าวไว้แล้ว เมื่อหุ้น SHIN เปลี่ยนมือไปอยู่กับพานทองแท้และพิณทองทา แล้วขายต่อให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ แม้จะมีส่วนต่างราคา 48.25 บาท แต่ก็ไปเข้าเกณฑ์ Capital Gain ที่ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ในรูปบุคคลก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกเปราะหนึ่ง
ดูเหมือนวิธีการที่ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีในการขายหุ้น SHIN จะมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เริ่มที่ Ample Rich ขายหุ้นให้ลูกชายและลูกสาวนายกรัฐมนตรีเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคมช่วงเย็น โดยแยกขายรายละ 164.6 ล้านหุ้นหรือ 5.49% ทำให้พานทองแท้มีหุ้นก่อนขายเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ 15.29% และพิณทองทา 20.15% เนื่องจากหากขายให้พิณทองทาเพียงรายเดียวก็จะถือหุ้นเกิน 25% เข้าเกณฑ์การทำคำเสนอซื้อจาก ก.ล.ต.
เฉพาะ 329.2 ล้านหุ้นที่รับซื้อมาราคา 1 บาทขายได้ที่ 49.25 บาทฟันกำไรไป 15,883 ล้านบาท แถมไม่ต้องเสียภาษีอีกเกือบ 6 พันล้านบาท รุ่งขึ้นเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ เช้าวันจันทร์ที่ 23 มกราคมจึงมีการซื้อหุ้น SHIN จำนวน 49.595% จากเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จริงเบ็ดเสร็จแล้วการขายหุ้นครั้งนี้ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ภาษีเงิน 2.7 หมื่นล้านบาทที่ไม่ต้องเสียภาษีคงนำไปทำอะไรได้อีกมากในแง่ของธุรกิจ
สรรพากรที่ปรึกษา
หากจะเรียกให้ดูดีคงต้องเรียกว่ากรณีนี้มีการ "วางแผนภาษี "มาดี ซึ่งเป็นคำที่ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ชอบพูด ปัจจุบันมือกฎหมายชั้นดีของประเทศและสอนให้คนรู้จักคำว่าวางแผนภาษี และเคยเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของดีลธุรกิจใหญ่ ๆ หลายครั้ง
การแถลงของดร.สุวรรณ เป็นการตอกย้ำชัดเจนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งพานทองแท้และพิณทองทาได้ปรึกษาเรื่องนี้กับกรมสรรพากรมาตลอดตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2548 และสรรพากรได้ตอบมาเมื่อ 21 กันยายน 2548 ว่าวิธีการซื้อขายที่เห็นทุกวันนี้ไม่ต้องเสียภาษี
แม้การวางแผนทางภาษีที่นำมาใช้ในการขายหุ้น SHIN ให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ไม่ใช่วิธีการใหม่ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งก็ใช้วิธีการเหล่านี้ผ่านคำแนะนำของนักกฎหมายธุรกิจและที่ปรึกษาทางการเงินมือดีมาแล้ว แต่ครั้งนี้ถือเป็นดีลขายหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดนับตั้งแต่ตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมา
แน่นอนว่าผู้ซื้อในฐานะที่เป็นนักธุรกิจก็รู้ดีเช่นกันว่า ความต้องการที่แท้จริงคือต้องการธุรกิจโทรศัพท์มือถือ นั้นคือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แต่ไม่ซื้อตรง เพราะมีบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ 42.86% ไม่เช่นนั้นแล้วชิน คอร์ป จะต้องเสียภาษีในอัตรา 37% ให้กับกรมสรรพากรเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นการขายในนามนิติบุคคลไม่ใช่บุคคลธรรมดาอย่างที่กฎหมายยกเว้นไว้
ถือว่าเป็นความเมตตาของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์อย่างมาก เนื่องจากกลุ่มชิน คอร์ป มีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง SINGTEL ถือหุ้น 19.26% อยู่ก่อนหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทมาเส็กหรือ SINGTEL ต่างก็อยู่ภายใต้ร่มเงาการบริหารงานของ GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPO หรือ GIC ซึ่งได้เข้ามาช่วยกอบกู้สถานะของกลุ่มชิน คอร์ป ตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ
เลี่ยงเกณฑ์ต่างชาติหมู
เช่นเดียวกับวิธีการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศไม่ว่าเกณฑ์ไม่เกิน 25% หรือ 49% ล้วนมีรูปแบบในการทำให้บรรลุความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศทั้งสิ้น และไม่ผิดกฎหมายไทยแต่อย่างใด เทมาเส็ก โฮลดิ้งที่เข้ามาซื้อชิน คอร์ป ไม่ใช่รายแรก บริษัทจากต่างประเทศหลายแห่งทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ก็ใช้วิธีการในลักษณะนี้ทั้งนั้น
ข้อกำหนดของกฎหมายหากระบุว่าอนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% แต่ความต้องการจริงต้องการถือครองมากกว่า 50% ก็ใช้วิธีการยืมชื่อบุคคลอื่นมาถือหุ้น เช่น ต่างชาติถือ 49% เต็มเพดาน ที่เหลือก็ใช้ชื่อผู้บริหาร พนักงานหรือคนไทยบางคนทำการถือหุ้นแทน และโหวตมติต่าง ๆ ไปในทิศทางเดียวกับผู้ถือหุ้นต่างชาติ แค่นี้นักลงทุนต่างชาติก็กุมอำนาจการบริหารงานไว้ได้ทั้งหมด รวมถึงมติสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนหรือซื้อ-ขายกิจการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก
หรือจะใช้รูปแบบการจัดตั้งบริษัทสัญชาติไทยถือหุ้นแทนก็ทำได้เช่นกัน และโหวตไปในทางเดียวกัน แต่ถ้าบริษัทนั้นมีผู้ถือหุ้นต่างชาติกลุ่มอื่นถืออยู่แล้วและเกรงว่าจะเกิดข้อกำหนดของกฎหมายก็อาจใช้วิธีการซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนต่างชาติที่เป็นคนละกลุ่มกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|