ไทยประกันชีวิตหนุนร.พ.ยกชั้นสากลจูงใจคนซื้อกรมธรรม์"ประกันชีวิต"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยประกันชีวิต หนุนโรงพยาบาลเครือข่าย เข้าโครงการ "เพื่อนคุณภาพ"ยกชั้นเป็นโรงพยาบาลคุณภาพมาตรฐาน Hospital Accreditation (HA) เลี่ยงปัญหาคนไข้ฟ้องร้องหมอ พร้อมดึงคนเข้าระบบประกันชีวิตมากขึ้น

โครงการดังกล่าว ถือเป็นตัวกระตุ้นให้โรงพยาบาลมีชื่อหลายแห่งหันมาปรับ เปลี่ยนตัวเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ลูกค้าหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประกันสังคม ลูกค้าทั่วไปและกลุ่มลูกค้าทำประกันชีวิตที่ต้องใช้บริการกับโรงพยาบาลเครือข่ายของธุรกิจประกันชีวิต

ส่วนสำคัญคือ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลแต่ละแห่งมักไม่มีมาตรฐานเดียวกันในการกำหนดการให้บริการและราคาสำหรับคนไข้ในกลุ่มผู้เอาประกันชีวิต ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเลือกที่จะคิดราคาเอากับลูกค้าตามอำเภอใจ ในขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตที่ลูกค้าซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพก็ทำอะไรไม่ได้

ปัญหาคือ เบี้ยที่เก็บกับลูกค้าคงที่ ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลกลับเพิ่มขึ้นทุกปี ผ่านไป 4-5 ปี ค่ารักษาพยาบาลก็เริ่มจะคุมไม่อยู่ ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลประโยชน์ของลูกค้าใหม่ ขณะที่แบบประกันแต่ละแบบมักจะให้สิทธิลูกค้าใช้ค่ารักษาพยาบาลเต็มที่หรือหลักแสน

ว่ากันว่า โรงพยาบาลมักมีความไม่แน่นอนสูง คนไข้โรคเดียวกัน หมอตรวจไข้คนเดียวกัน แต่มาตรฐานการรักษาพยาบาลกลับต่างกัน

อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยประกันชีวิต บอกว่า โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลเครือข่าย "ไทยประกันชีวิต เมดิแคร์" พัฒนามาตรฐานการบริการทางการแพทย์

โดยโรงพยาบาลที่ผ่านมาตรฐานการพัฒนารับรองคุณภาพโรงพยาบาลหรือ(HA) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล ก็จะส่งผลให้ผู้เอาประกันชีวิตได้รับบริการมาตรฐานเดียวกัน

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในระบบ 1,300 แห่ง สมัครเข้าระบบดังกล่าว 1,200 แห่ง ผ่านขั้นตอนแรก 700 แห่ง ผ่านขั้นตอนที่ 2 300 แห่ง ได้ขึ้นป้าย HA เพียง 139 แห่ง และกำลังจะติดป้าย HA อีก 57 แห่ง

มาตรฐาน HA ถือเป็นมาตรฐานสากลระดับโลก โดยโรงพยาบาลที่ได้รับการขึ้นป้ายจะมีวาระเพียง 2 ปีจากนั้นก็ต้องตรวจสอบคุณภาพกันใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้โรงพยาบาลที่ผ่านระบบคุณภาพมาตรฐาน HA จึงต้องใช้เงินลงทุนในตัวตึกอาคาร เครื่องไม้ เครื่องมือแพทย์ค่อนข้างสูง ซึ่งถ้าโรงพยาบาลใดผ่านมาตรฐานนี้ได้ก็มีโอกาสได้รับลูกค้าประกันชีวิตจากธุรกิจประกันชีวิต รวมถึงลูกค้าในกลุ่มประกันสังคมด้วย

โรงพยาบาลก็จะมีคนไข้หรือลูกค้าเพิ่มเข้ามามากขึ้นต่อเดือน รายได้โรงพยาบาลก็จะเพิ่มเป็นเงาตามตัว โรงพยาบาลบางแห่งถึงกับลงทุนเพื่อให้ได้มาตรฐาน HA พร้อมกับเพิ่มเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายของธุรกิจประกันชีวิตมากรายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคนไข้ฟ้องร้องแพทย์ผู้ทำการรักษาที่ยังคงมีอยู่ไม่ขาดสาย ทำให้ประกันภัยหลายแห่งต้องปรับราคาเบี้ยเพิ่มขึ้น เพราะแพทย์ส่วนใหญ่มีการทำประกันวิชาชีพ เมื่อหมอถูกฟ้อง ก็จะมาฟ้องเอากับประกันภัย ประกันภัยก็ต้องปรับเบี้ยเพิ่ม

" ถ้าโรงพยาบาลควบคุมการรั่วไหลหรือการสูญเสียได้ดีขึ้น ราคาเบี้ยก็คงไม่ปรับขึ้น ฉะนั้นก่อนปรับหรือเปลี่ยนแปลงราคาก็ต้องแก้ไขจุดอ่อนของโรงพยาบาลก่อน

อภิรักษ์บอกว่า ธุรกิจประกันชีวิตไม่มีอำนาจหรือควบคุมให้โรงพยาบาลเครือข่ายยกระดับมาตรฐานการให้บริการ แต่โครงการดังกล่าวจะถือเป็นตัวกระตุ้นให้โรงพยาบาลเครือข่ายเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้มาตรฐานเท่าเทียมกันหมด

อย่างไรก็ตาม ในมุมของธุรกิจประกันชีวิต ถ้ามาตรฐานโรงพยาบาลดีขึ้น ลูกค้าก็จะชักจูงเพื่อนฝูงหรือญาติมาใช้บริการ และทำประกันชีวิตกับบริษัทเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อลูกค้าพอใจ สินค้าหรือกรมธรรม์ก็ขายง่าย ตลาดก็ขยายตัว พร้อมกับลดต้นทุนให้น้อยลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.