อาณาจักรนิวส์คอร์ปมูลค่าหมื่นล้านมีภาพเสมือนหนึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของ
รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ขณะนี้พฤติกรรมส่งทอดอำนาจแบบราชวงศ์เริ่มเข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว
คำถามว่าสมาชิกตระกูลเมอร์ด็อครุ่นที่ 2 รายใดจะได้สืบตำแหน่งนายใหญ่ของพ่อ
ถูกคาดเดากันต่าง ๆ นานา ในขณะที่ยังมีข้อสงสัยเพิ่มมาอีกว่าหนทางของทายาทเหล่านั้นจะราบรื่นตามแต่ใจกำหนดของผู้เป็นพ่อเชียวล่ะหรือ
ผู้ถือหุ้นอื่น ๆ อีก 69% เขาจะยอมอย่างว่าง่ายตามไปหมดหรือไร
นิวส์คอร์ปอเรชั่นอิงค์ เป็นมหาอาณาจักรสื่อสารมวลชนยักษ์ใหญ่ของโลก มีปริมณฑลแผ่ไพศาลไปใน
4 ทวีปบนพื้นฐานของกิจการด้าน โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ ฯลฯ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดจำนวน
31% คือรูเพิร์ต เมอร์ด็อค ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริษัท
รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ขึ้นชื่อนักว่ามีสไตล์การบริหารงานแบบเอกาธิปไตย เขาไม่เคยรีรอที่จะทำสิ่งใดแม้สิ่งนั้นจะเป็นการก้าวล้ำเส้นคณะกรรมการบริษัท
ครั้งหนึ่งเขาเคยอนุมัติจ่าย 525 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าหุ้น 64% ในเอเชี่ยนสตาร์แซทเทิลไลท์โดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทเลย
การแจกตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงให้แก่บรรดาลูก ๆ วัยไม่ถึง 30 ปี จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดใจของใคร
ณ วัยทอง 66 ปี คนอย่างรูเพิร์ต เมอร์ด็อค คงต้องเตรียมความคิดไว้แล้วเรื่องทายาทสืบทอดมหาอาณาจักรของเขา
เขาเคยให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า คงไม่ดีแน่ที่จะจากไปโดยไม่ตัดสินใจให้เรียบร้อย
ไม่มีใครอยากทำร้ายความรู้สึกของลูก ๆ แต่ก็ไม่มีใครอยากเห็นลูก ๆ หันมาทำร้ายกันเอง
แต่ภาระที่น่าจะเฉพาะหน้ามากกว่า ซึ่งไม่แน่ว่าท่านประธานกรรมการจะแคร์เพียงไร
คือการกำหนดยุทธศาสตร์การสลายแรงต่อต้านโครงการสืบทอดบัลลังก์แห่งนิวส์คอร์ป
ตรวจแถวศักยภาพเมอร์ด็อครุ่นที่ 2
รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ผ่านพิธีวิวาห์ 2 รอบ ในรอบแรกได้ธิดาเป็นพยานรัก 1
คน ส่วนรอบที่สองซึ่งยั่งยืนถึงปัจจุบัน เขาได้ธิดาอีก 1 คนกับบุตร 2 คน
เท่ากับว่าเขามีหน่อเนื้อเชื้อไขทั้งสิ้น 4 คน ดังนี้ พรูเดนซ์ วัย 35 ปี
เอลิซาเบธวัย 28 ปี แลชแลน วัย 25 ปี และเจมส์ วัย 24 ปี อย่างไรก็ตาม เฉพาะสามพี่น้องลูก
ๆ ของคุณแม่แอนนาคนสวยเท่านั้นที่อยู่ในแถวจ่อคิว
แลชแลน : ตัวเก็งนายใหญ่นิวส์คอร์ปรุ่นที่ 2
แลชแลน บัณฑิตปริ๊นซตันสาขาปรัชญา ในฐานะบุตรชายคนโตของรูเพิร์ต เมอร์ด็อค
ยืนหัวแถวเสมอเมื่อมีการคะเนถึงผู้สืบทอดอำนาจของเมอร์ด็อค ผู้พ่อ
เขาถูกวางตัวไว้ในสายงานสิ่งพิมพ์มาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ เช่น การเป็นผู้สื่อข่าวจูเนียร์ให้แก่เดอะไทมส์ที่ตีพิมพ์ในลอนดอน
ทันทีที่สำเร็จการศึกษา ในเดือนเมษายน ปี 1994 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของหนังสือพิมพ์ควีนสแลนด์ที่ตีพิมพ์ในออสเตรเลีย
ส่งผลให้ฐานะ "ว่าที่" ทายาทนายใหญ่นิวส์คอร์ป ฉายแววรอบชื่อของเขาทันที
ภายในเวลาไม่ถึงปีต่อมา แลชแลนได้กระโจนบนสปริงบอร์ดของพ่ออีกคำรบหนึ่งขึ้น
คว้าตำแหน่งบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาของหนังสือพิมพ์เดอะออสเตรเลียน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่วางแผงทั่วประเทศฉบับเดียวของออสเตรเลีย
ครั้นถึงเดือนกันยายน ปี 1996 แลชแลนได้ตำแหน่งสูงถัดขึ้นไปอีก คือ เป็นกรรมการผู้จัดการของนิวส์ลิมิเต็ด
ถึงขั้นนี้ ความรับผิดชอบของเขาต้องขยายขอบข่ายออกสู่ด้านเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
แถมต่อมา ยังได้รับความรับผิดชอบเพิ่มเติมเป็นรองประธานกรรมการของสตาร์
เทเลวิชั่น ลิมิเต็ด สาขาเอเชียอีกตำแหน่งหนึ่ง
ราวกับเส้นทางไต่เต้าของแลชแลนยังไม่รวดเร็วสมใจ เดือนเมษายนปี 1997 นี้เอง
รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ประกาศว่าแลชแลนจะได้แทนที่ เคน คาวลี่ย์ ลูกหม้อเก่าแก่
ซึ่งขณะนี้เป็นเบอร์หนึ่งของเครือข่ายงานทั้งหมดในออสเตรเลีย
ทางด้านเจ้าตัวพยายามหลีกเลี่ยงที่จะออกความเห็นต่อเสียงวิเคราะห์เส้นทาง
"ว่าที่" ของเขา เขาใช้เทคนิคการปิดปากให้สนิทเข้าไว้เพื่อป้องกันไม่แสดง
ทัศนะใด ๆ ที่อาจย้อนมาเปิดประเด็นให้ตนเองถูกวิจารณ์ได้
นับถึงปัจจุบัน ภาพลักษณ์ หนุ่มปัญญาชน สะอาด ขรึมสุภาพ ถ่อมตัวและไม่ร้อนรนอยากเป็นข่าว
อันเป็นบุคลิก พระเอกอมตะตามจิตวิทยามวลชน ดูจะช่วยให้เขาอยู่รอดปลอดภัยจากปากเหยี่ยว
ปากกรรไกรได้
เจมส์ : ฉลาด เจ้าความคิด เหมือนพ่อที่สุด
เจมส์ฉายแววของพ่อออกมามากที่สุด เขามีไอเดียใหม่ ๆ อยู่เสมอและไม่ว่าเขาจะสนใจอะไร
เขาจะทำสิ่งนั้นได้ดี
แต่อ้อนแต่ออกมา เด็กอ่อนหวานใจดีอย่างเจมส์เป็นคนเดียวในบ้านที่กล้าทดลองคิดทดลองทำในสิ่งที่สวนทางกับพ่อแม่
เขาเคยเป็นฮิปปี้คนเดียวของบ้าน เขาเคยไว้ผมยาวและใส่ต่างหู เขาเคยชมชอบที่จะเป็นนักมานุษยวิทยา
เพราะวิชาชีพนี้อยู่นอกแวดวงธุรกิจของพ่อ แม้แต่การเรียนที่ฮาร์วาร์ด เขายังดร็อปออกมาโดยไม่ยอมใจอ่อนกับเสียงทัดทานจากพ่อ
แววนักธุรกิจของเขาปรากฏฉายประกายในช่วงที่เป็นนักศึกษานี่เอง เขาและเพื่อนอีก
2 คนตั้งบริษัททรอว์คัสเอนเตอร์เทนเมนท์เพื่อทำธุรกิจด้านการผลิตงานดนตรี
สำหรับปี 1997 รอว์คัสมีโครงการออกผลงานดนตรี 30 อัลบั้ม โดยได้เซ็นสัญญากับวงดนตรีไว้
8-9 วง พร้อมกับทำข้อตกลงด้านลิขสิทธิ์จำนวนมากไว้กับค่ายดนตรีต่างประเทศและโปรดักชั่นเฮาส์หลายราย
อย่างไรก็ตาม เจมส์ตัดสินใจโดดเข้ามาโลดแล่นในอาณาจักรของพ่อเมื่อปลายปีที่แล้ว
บนเงื่อนไขว่าเขาไม่จำเป็นต้องถอนตัวออกจากรอว์คัส หนำซ้ำ รอว์คัสได้นิวส์คอร์ปเป็นหุ้นส่วน
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1996 เขาได้กินตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายงานดนตรีและนิวมีเดีย
ขณะนี้เขากำลังบุกเบิกด้านอินเตอร์เน็ต
ชั่วโมงนี้ของเจมส์คือความสนุกกับงาน เขายอมรับว่าเนื้องานในนิวส์คอร์ปมีความน่าตื่นเต้นและมีพลวัตมากมายกว่าที่คนทั่วไปมองเข้ามา
เอลิซาเบธ : ใคร ๆ บอกว่าเธอกระหายอำนาจ
เอลิซาเบธมีความงามแบบมารดา ความแข็งแกร่งแบบบิดา และความเขี้ยวแบบผู้หญิงเก่งอเมริกัน
บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวาสซา (1986-1990) สาขาประวัติศาสตร์ยุโรปคนนี้ สมรสเมื่อปี
1993 และมีพยานรัก 2 คน สามีของเธอคือ เอลคิน ไพเอนิม ลูกครึ่งดัตช์-กานาเอียน
ทายาทของผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้านและนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของกานา
ชีวิตของเอลิซาเบธจะเกี่ยวข้องกับแวดวงโทรทัศน์เสมอ สมัยที่ยังเรียนอยู่
เธอกับเพื่อนเคยร่วมกันก่อตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของมหาวิทยาลัย
หลังจากเสร็จสิ้นภาระด้านการศึกษา เธอมุ่งสู่สายงานด้านโทรทัศน์ทันที สถานีโทรทัศน์ไนน์
เน็ตเวิร์ค ในออสเตรเลียเป็นสถานที่ฝึกการทำงานโทรทัศน์เชิงธุรกิจแห่งแรก
สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นของตระกูลแพ็คเกอร์ คู่แข่งธุรกิจรายใหญ่ของนิวส์คอร์ปในออสเตรเลีย
หลังจากนั้นเส้นทางของเธอไม่ได้หลุดออกจากแวดวงโทรทัศน์เลย เธอได้สัมผัสงานบริหารด้านโทรทัศน์ในเครือข่ายของพ่อในหลายกรรมกลายวาระ
อาทิ ผู้จัดการด้านการบริหารผังรายการและส่งเสริมรายการของสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์ในลอสแองเจลิส
ผู้อำนวยการด้านรายการของสถานีเคเอสทียู ของฟ็อกซ์ในซอลท์เลคซิตี้ และผู้อำนวยการด้านการจัดหารายการของเครือข่ายเคเบิลทีวีเอฟเอ็กซ์ของฟ็อกซ์ในลอสแองเจลิส
ระยะเวลา 4 ปี สร้างความมั่นใจให้เธอมากพอจะกระโดดออกจากร่มเงาของนิวส์คอร์ป
มาลงทุนด้านธุรกิจโทรทัศน์ให้เป็นกิจการของเธอและสามี
ในปี 1994 เธอก่อตั้งบริษัท อีพีคอมมิวนิเคชั่นส์ และด้วยเงินกู้ 31 ล้านดอลลาร์จากธนาคาร
เธอซื้อสถานีโทรทัศน์เล็ก ๆ 2 แห่งในแคลิฟอร์เนีย เธอจัดการยกเครื่องสถานีโทรทัศน์ทั้ง
2 แห่งนี้อย่างขนานใหญ่ อาทิ ตัดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย และปรับโทนรายการทั้งด้านข่าวและด้านบันเทิงให้มุ่งสู่กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น
ปฏิกิริยาปรากฏทั้งบวกและลบ เรตติ้งผู้ชมเพิ่มขึ้น และรายได้ค่าโฆษณาเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
กำไรของสถานีขยายตัวในอัตรา 30% ทีเดียว แต่เสียงวิจารณ์ต่อความเปลี่ยนแปลงก็สาหัสเอาการ
ภาพของเธอปรากฏต่อชาวบ้านในอาการลูกเศรษฐีใหม่ซื้อของเล่นราคาแพง ดังนั้น
เมื่อเธอขายสถานีโทรทัศน์ทั้งสองนี้ไปในราคา 47.3 ล้านดอลลาร์ ทำกำไรไป 12
ล้านดอลลาร์ คำวิจารณ์ทิ้งทวนจึงมีต่าง ๆ นานา แต่เธอได้เครดิตสูงมากในด้านศักยภาพทางธุรกิจ
การกลับสู่มหาอาณาจักรนิวส์คอร์ปในปี 1996 เอลิซาเบธได้กินตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปด้านโทรทัศน์ของบริติช
สกาย บรอดคาสซิ่ง หรือ บีสกายบี ที่มี แซม ชิสโฮล์ม ลูกหม้อของพ่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ทั้งนี้ นิวส์คอร์ป ถือหุ้น 40% ในบีสกายบี
ปัจจุบันนี้ เธอถูกจับตาทุกฝีก้าวว่า อีกเมื่อไรที่เธอจะอาศัยสปริงบอร์ดของพ่อกระโจนเข้าเบียดพื้นที่งานบริหารระดับแถวหน้าสุด
และเมื่อถึงตอนนั้น ท่านผู้ชมคงได้รับความรู้ความบันเทิงเป็นอย่างยิ่ง
ที่นี่ไม่มีศึกสายเลือด
สามศรีพี่น้องสกุลเมอร์ด็อค แม้ไม่เคนจะเอ่ยให้เหล่าผู้หวังดีได้ยินว่าคนใดในกลุ่มพี่น้องที่ได้รับความยอมรับจากพี่
ๆ น้อง ๆ ให้ขึ้นรับผิดชอบสมบัติตระกูลต่อจากท่านพ่อ แต่ทุกคนจะฉลาดพูดเป็นทางประนีประนอมสะท้อนความรักใคร่สายใยระหว่างกันได้แนบเนียนยิ่ง
แลชแลนเคยยอมรับว่าอยากขึ้นทำงานแทนที่บิดา แต่ก็ออกตัวว่างานตรงนั้นเป็นงานสนุกที่ใคร
ๆ ก็อยากทำ เส้นทางโปรโมตอย่างเอาจริงเอาจังที่เขาได้รับโดยสม่ำเสมอ ตั้งแต่สำเร็จการศึกษามา
ทำให้ฐานะตัวเก็งสืบทอดอำนาจสูงสุดของเมอร์ด็อคผู้พ่อดูจะแข็งแกร่งนักในสายตาของนักวิเคราะห์
เอลิซาเบธไม่เคยปิดบังว่าเธอไม่เห็นว่าความเป็นหญิงจะมาเป็นอุปสรรคปิดกั้นเธอสู่ตำแหน่งสูงสุดของนิวส์คอร์ปได้
ทัศนะนี้ของเธอได้คะแนนสนับสนุนท่วมท้น ใครต่อใครยังเชื่อว่าเธอไม่มีวันจะละทิ้งเส้นทางสู่จุดสูงสุดอย่างแน่นอน
ส่วนน้องเล็กเจมส์ผู้ที่ให้ความเห็นอย่างโอบอ้อมว่านิวส์คอร์ปมีพื้นที่ให้พี่
ๆ ทุกคนครอบครองได้เหลือเฟือ มีภาพลักษณ์ว่าจะสนใจในศึกช่วงชิงบัลลังก์น้อยที่สุด
แต่ศักยภาพของเขาในด้านความริเริ่มสร้างสรรค์ และพลังเชิงธุรกิจในการพลิกฝันเป็นจริง
ดูจะเหมาะสมกับบุคลิกภาพพลวัตของนิวส์คอร์ป จนทำให้คิดว่าบัลลังก์ของพ่อนั้นจะตกถึงเขาได้ไม่ยาก
ถ้าเขาปรารถนาอยากได้มันจริง
กระนั้นก็ตามหุ้น 31% บวกกับบารมีการเป็นผู้นำโดยธรรมชาติของเมอร์ด็อคผู้พ่อ
จะสามารถแผ้วถางทางให้แก่ลูกได้ดังใจไปหมดหรือไม่ ใคร ๆ ก็อยากเห็นคำตอบ
สืบทอดบัลลังก์ : ไม่มองผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ได้หรือ
ระยะเวลาประมาณ 1 ปีของเอลิซาเบธในบีสกายบีคงจะเต็มไปด้วยรายละเอียดของทั้งรอยยิ้มและน้ำตา
เส้นทางขณะนี้ของเธออาจจะสร้างร่องรอยน้ำตาตกในให้แก่หัวอกลูกน้องพ่อไม่ใช่น้อย
ๆ
เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ปี 1997 นี้เอง แซม ชิส โฮล์ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบีสกายบี
และ เดวิด ช้านซ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบีสกายบี ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะลาออกด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ
ยิ่งกว่านั้นยังมีข่าวลือหนาหูว่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงอีกอย่างน้อย 4 ราย
จะพากันตบเท้าลาออกตาม
ชิสโฮล์ม มีผลงานการพลิกฟื้นบีสกายบีจากสถานการณ์ขาดทุนสัปดาห์ละ 14 ล้านปอนด์
มาเป็นบริษัทที่สร้างผลกำไรได้มหาศาล ตัวเลขกำไรเมื่อปี 1996 สูงถึง 257
ล้านปอนด์ทีเดียว ส่วนช้านซ์ ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า น่าจะถูกวางตัวให้เป็นผู้รักษาการแทนชิสโฮล์มจนกว่าจะถึงจังหวะดันเอลิซาเบธขึ้นนั่งแทน
แต่เขาคงไม่ต้องการรับหน้าเสื่อในโครงการสืบทอดอำนาจให้ใคร
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีในหมู่ผู้ถือหุ้นบีสกายบี เป็นไปในทิศทางติดลบอย่างรุนแรง
มูลค่าตลาดรวมของบีสกายบี ณ วันอังคารที่ 17 มิถุนายน ก่อนที่ข่าวการลาออกจะถูกประกาศ
อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านปอนด์ แต่เมื่อปิดตลาดหลักทรัพย์ไปในเย็นวันศุกร์ที่
20 มิถุนายน ราคาหุ้นอ่อนตัวลงไปหุ้นละ 100 เพนซ์ คิดเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปประมาณ
1,500 ล้านปอนด์
สถานการณ์นี้อาจจะถือเป็นสัญญาณเตือนระยะต้นสำหรับพฤติกรรมแจกอำนาจบริหารสู่มือลูก
ๆ ตระกูลเมอร์ด็อค อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวเมอร์ด็อคอาจบอกว่าอาการขึ้นลงของราคาหุ้นไม่ใช่สาระหลักที่ต้องนำมาพิจารณา
แต่สิ่งที่ท่านผู้ชมจ้องมองอยู่คือ ขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในเครือข่ายแมงมุมของนิวส์คอร์ป
ว่าจะฮึกเหิม ว่าจะภักดีต่อบริษัทได้สม่ำเสมอเพียงไร เพราะนั่นย่อมส่งผลถึงความสามารถในการทำเงินของบริษัทโดยตรง
ปัจจัยข้อนี้เป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นไม่อาจมองข้ามได้ นี่ยังไม่นับความรู้สึกต่อต้านที่อาจถูกแอบซ่อนไว้ในใจ
รอจังหวะที่จะเผยออกมาแผลงฤทธิ์พร้อม ๆ กันเป็นหมู่คณะ
ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า โครงสร้างของนิวส์คอร์ปไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว 100%
ผู้ถือหุ้นใหญ่อื่น ๆ ส่วนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทเหล่านี้อาจจ้องจะปรับเปลี่ยนอะไรต่ออะไรถ้าผู้ก่อตั้งที่กุมอำนาจบริหารสูงสุดวางมือจากไป
มันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทึกทักเอาง่าย ๆ ว่าใครต่อใครจะยอมให้สมาชิกตระกูลเมอร์ด็อคขึ้นเป็นนายใหม่ทันทีที่เมอร์ด็อคผู้พ่อตายจากไป
รายการทายาทเจ้าพ่อสื่อมวลชนรายนี้อาจไม่ใช่นวนิยายศึกสายเลือด แต่อาจเป็นนวนิยายศึกสายเลือดพบวิกฤตศรัทธาผู้ถือหุ้น
แต่ด้วยวัยเพียง 66 ปีของรูเพิร์ต เมอร์ด็อค คุณพ่อตัวอย่างผู้นี้ยังมีเวลาวางหมาก
เดินเกมสถาปนาเส้นทางสู่ดวงดาวให้แก่ลูกที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว
รักษาลมหายใจอย่าให้ขาดหายไปก่อนงานใหญ่จะเสร็จล่ะเป็นดี รูเพิร์ต เมอร์ด็อค