|
ดิจิไทยไล่เทกโอเวอร์เสริมแกร่ง ขยายธุรกิจรับตลาดสื่อออนไลน์โต15%
ผู้จัดการรายวัน(3 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ดิจิไทย เน็ทเวิร์ค รุกตลาดสื่อดิจิตอลเต็มสูบ เล็งเทกโอเวอร์บริษัท เสิร์ช เอ็นจิน และซีอาร์เอ็มเพิ่มอีก 2 แห่ง เสริมความแกร่งทางธุรกิจ เผยปีนี้ ได้ลูกค้าใหม่เพิ่ม 12 รายจากเดิมมี 60 ราย ระบุลูกค้าจะเพิ่มงบโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตอีก 10-15% คาดการณ์ยอดรายได้สิ้นปีโต 100% และตลาดรวมดิจิตอลมีเดียปีนี้แตะ 1 พันล้านบาท เชื่อ เทรนด์สื่อดิจิตอลจะแรงขึ้นเรื่อยๆ จากการหนุนของภาครัฐและตลาดยอมรับมากขึ้น
นายมหิธร พงษารัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิไทย เน็ทเวิร์ค จำกัด ผู้ให้บริการและพัฒนาสื่อดิจิตอลและอินเตอร์แอกทีฟ เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ภายหลังการเข้าร่วม ทุนกับบริษัทไอโซบาร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายบริษัทดิจิตอลมีเดียครบวงจรจากอังกฤษเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว บริษัทฯได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะซื้อกิจการจากบริษัทผู้ให้บริการดิจิตอลในประเทศไทยเพิ่มอีก 2 แห่ง อาทิ บริษัทที่เกี่ยวกับเสิร์ชเอ็นจิน หรือซีอาร์เอ็ม ทั้งนี้เพื่อเสริมความแกร่งทางธุรกิจและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดพรีเมียม (ลูกค้าที่ใช้งบประมาณในสื่อเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป) ของบริษัทฯจาก ปีนี้ที่ตั้งไว้ 30% เป็น 40%
ประกอบกับบริษัทฯตั้งเป้าว่าปีนี้แบรนด์ดังต่างๆ จะมีการเพิ่มงบโฆษณาในสื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้นจากเดิม 10-15% โดยเว็บไซต์ที่ยอดนิยมจะได้รับความสนใจ ในการลงโฆษณาจากลูกค้ามาก ตรงนี้ส่งผลให้ราคาโฆษณาในเว็บไซต์มีการปรับเพิ่ม 10-20% นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายศักยภาพด้านอื่นๆ เพื่อรองรับลูกค้าจากบริษัทไอโซบาร์ที่มาจากต่างประเทศ หรือลูกค้าของคาราทที่ต้องการสื่อดิจิตอล
รูปแบบการบริการของบริษัทฯแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บริการพัฒนาสื่อดิจิตอลครบวงจร ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 50%, การบริการเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ คิดเป็น 30% และการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ 10% แต่สัดส่วนปีนี้จะเปลี่ยนเป็นในส่วนของซื้อสื่อหรือโฆษณาผ่านออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่โตสุดจะเพิ่มเป็น 25% และการบริการผ่านมือถือเป็น 25%
ปัจจุบันลูกค้าของบริษัทฯมีครอบคลุม เกือบทุกกลุ่มหรือประมาณกว่า 60 ราย แบ่งเป็นลูกค้าของคาราท 40% และดิจิไทยฯ 60% โดยลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มรถยนต์เช่น บีเอ็มดับเบิลยู, ฮอนด้า คิดเป็นสัดส่วน 30% ลูกค้าคอนซูเมอร์ โปรดักต์ เช่น เบียร์ไทเกอร์, เบียร์เชียร์, เพียวริคุ 30% ที่เหลือ อื่นๆ เช่น เทคโนโลยี, มือถือ 40% ในปีนี้มีลูกค้าใหม่เพิ่ม 12 ราย ซึ่งลูกค้าบางส่วน 3-4 รายมาจากบริษัทไอโซบาร์จากต่างประเทศ เช่น อาดิดาส เป็นต้น
"เทรนด์การแข่งขันของธุรกิจสื่อดิจิตอลจะเน้นที่การบริการ และกลยุทธ์ที่ให้บริการ รวมถึงประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งถือว่าสำคัญมากในธุรกิจนี้ สังเกตได้จากลูกค้าที่มาใช้บริการเราส่วนใหญ่จะอยู่นานประมาณ 4-5 ปี อย่างไรก็ตาม ตลาด สื่อดิจิตอลของไทยหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียพบว่าเราจะสูสีกับ มาเลเซีย ขณะที่ประเทศที่พัฒนาและเป็นผู้นำ เช่น จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น"
ในส่วนยอดรายได้ของบริษัทฯปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีประมาณ 200 ล้านบาทหรือเติบโตปีละ 100% เนื่องจากคนทั่วโลก มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น รวมถึงคนไทยที่ใช้บริการเน็ตมาก หรือประมาณ 8.4 ล้านคน ขณะที่บริการที่ผ่านมือถือพบว่าเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลมากสุดและผู้บริโภคคนไทยนิยมใช้บริการผ่านช่องทางนี้ อาทิ เอ็สเอ็มเอสมีคนใช้กว่า 27.6 ล้านราย และใช้เน็ตผ่านมือถือ หรือบริการนอนวอยซ์ เป็นต้น รวมถึงการที่ลูกค้าให้การยอมรับสื่อทางด้านนี้มากขึ้น โดยปัจจุบันลูกค้าจะใช้งบประมาณในด้านสื่อดิจิตอลประมาณ 1-2% หรือ 1 พันล้านบาท จากตลาดรวมทั้งหมด 1-2 หมื่นล้านบาท
สำหรับตลาดรวมของตลาดดิจิตอล มีเดียในปี 2549 นี้คาดการณ์ว่าตลาดจะมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าโตขึ้นจากปีที่แล้วที่มีมูลค่าประมาณ 600-700 ล้านบาท โดยบริษัทดิจิไทยฯมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ขณะที่คู่แข่งในตลาดนี้จะ เป็นกลุ่มเอเยนซีที่มีหน่วยงานสื่อดิจิตอล หรือสื่อออนไลน์แยกกออกมา อาทิ บีบีดีโอ มี Proximity, ลีโอ เบอร์เนทท์เปิด ตัวหน่วยธุรกิจใหม่ อาร์ค เวิลด์ไวด์ ประเทศ ไทย, โอกิลวี่มีกรุ๊ปเอ็ม เป็นต้น หรือบริษัทสื่อดิจิตอลแบบโลคอล เช่น สยามทูยู และโทมัส มีเดีย ฯลฯ
ทั้งนี้แนวโน้มสื่อดิจิตอลในอีก 4 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนการใช้เพิ่มเป็น 66% และเพิ่มเป็น 80% ในปี 2020 โดย ปัจจัยที่ทำให้ตลาดสื่อออนไลน์และดิจิตอล มีเดียเติบโตมาจากการส่งเสริมทางด้านไอทีจากภาครัฐบาล หรือนโยบายระยะยาว E-Government รวมถึงจำนวน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีมากขึ้นและราคาสินค้าไอทีลดลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฯลฯ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|