|
มอนิเตอร์เฮาส์ซิ่งโปรเจกต์ภาครัฐธอส.โชว์เจ้าภาพใหญ่อุ้มบ้านคนจน-ข้าราชการ
ผู้จัดการรายวัน(2 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กว่า3ปีมาแล้ว ที่รัฐบาลมีนโยบายในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่อยู่อาศัย แก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนแออัดทั่วประเทศ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) รับผิดชอบการก่อสร้างในโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 600,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี ให้งบอุดหนุนต่อหน่วย 80,000 บาท จากจำนวนงบประมาณการก่อสร้างบ้านต่อหน่วย 420,000บาท ซึ่งหมายความว่า ประชาชนจะซื้อบ้านจาก กคช.ได้ในราคา 390,000 บาทต่อหน่วย!!!
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนในชุมชนแออัดหรือสลัม โดย พอช.ได้รับหน้าที่สร้างบ้านมั่นคงจำนวน 400,000 หน่วย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยนั้น หน่วยงานรัฐบาล อาทิ กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ส่งเสริมให้เกิดที่อยู่อาศัยถาวรแกข้าราชการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้ผลักดันโครงการบ้านพักข้าราชการในจังหวัดต่างๆ จำนวนมาก และจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบ การเช่าระยะยาวหรือแปลงสินทรัพย์เป็นทุนให้แก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไป
โดยที่ผ่านมาความก้าวหน้าในการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ต่างก็ได้รับข่าวสารความก้าวหน้าของในการก่อสร้างโครงการ แต่ในแง่ความก้าวหน้าในการปล่อยสินเชื่อโครงการ ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่ง ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดีนั้น น้อยครั้งที่จะถูกหยิบยกขึ้นมารายงานให้ทราบ ดังนั้น ผู้จัดการรายวัน จึงนำความคืบหน้าด้านสินเชื่อโครงการ โดยได้พูดคุยเชิงสัมภาษณ์แบบถามตอบ ถึงความกว้าหน้าในการปล่อยสินเชื่อโครงการ กับ นางจามลี เศวตจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) มานำเสนอ
ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบและเป้าหมายของธอส.ในปี49
ในปี2549 นี้ คาดว่าสินเชื่อทั้งระบบที่จะมีการปล่อยเข้าสู่ระบบธุรกิจของประเทศโดยรวมประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยในส่วนของเป้าการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยของธอส.100,000 ล้านบาท ซึ่งมีสัดสัดส่วน 1 ใน3 ของสินเชื่อทั้งระบบ โดยแบ่งสัดส่วนการปล่อยออกเป็น สินเชื่อบุคคลธรรมดา ประมาณ 43% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าในระดับกลาง และสินเชื่อสวัสดิ์การ ซึ่งในส่วนนี้ หน่วยงานราชการหรือบริษัทเอกชน จะเป็นผู้นำส่ง ธอส.เอง โดยบริษัทหรือหน่วยงานราชการ จะหักจากเงินเดือนของผู้กู้เอง ซึ่งในลูกค้ากลุ่มนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลูกค้าจากหน่วยราชการประมาณ 75% ส่วนที่เหลือ 25% เป็นลูกค้าจากบริษัทเอกชน ทั้งนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่ของ ธอส. จะขอกู้เงินในวงเงินเฉลี่ยไม่เกิน 700,000 บาทต่อราย
นโยบายของการปล่อยสินเชื่อของธอส.
ธอส.จะเน้นปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าระดับกลางเช่นที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาในด้านดีมานด์แล้ว สินค้าที่ผู้ประกอบการพัฒนาในปัจจุบัน จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางมีจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง แต่ในด้านซับพลายหากมองว่าผู้ประกอบการกลุ่มใดที่พัฒนาบ้านให้แก่ลูกค้าของธอส.โดยตรง อาทิ กรมธนารักษ์ ,กคช. และพอช. ส่วนผู้ประกอบการเอกชนที่พัฒนาสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าของธอส. คือ กลุ่มที่พัฒนาที่อยู่อาศัยระดับราคา1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน2 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีการพัฒนาโครงการบ้านธนารักษ์ (บ้านเพื่อข้าราชการ) เป็นการสนองนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาล ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มข้าราชการ โดยก่อนหน้านี้ ธอส. ไม่สามารถปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ เนื่องจากที่ดินที่นำมาใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นที่ดินราชพัสดุในการพัฒนา ซึ่งไม่สามารถออกเป็นโฉนดได้ ทำให้ ธอส.ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว แต่หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กรมธนารักษ์มีการปล่อยเช่าระยะยาว30ปีขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการปล่อยกู้ของธนาคาร ทำให้ ธอส. สามารถยอมรับสัญญาค้ำประกันแทนโฉนดหรือ นส.3 ได้ โดยโครงการบ้านธนารักษ์ ได้เริ่มดำเนินการมาแล้วประมาณ 2ปี ซึ่งในปี48 ที่ผ่านมา ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าในโครงการบ้านธนารักษ์ไปแล้ว 800 ราย ส่วนในปีนี้ คาดว่าจำนวนลูกค้าดังกล่าวจะมากขึ้น
ขณะที่โครงการที่ธนารักษ์เป็นผู้พัฒนาเอง คาดว่าในปีนี้ที่ดินบางส่วนที่หน่วยงานราชการ และประชาชนเช่าอยู่ จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการมากขึ้น ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะปล่อยกู้ในกลุ่มลูกค้าดังกล่าวประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 600 หน่วย ส่วนลูกค้าประชาชนรายย่อยที่เข้ามาขอกู้เองในปี2548 มียอดขอกู้เฉลี่ยต่อรายจะอยู่ที่ 500,000-1,000,000 บาทต่อราย มีจำนวนประมาณ 300ราย และในปี49นี้คาดว่าจะมีจำนวนเท่าๆ กับปี48 ที่ผ่านมา
เป้าปล่อยกู้ลูกค้าในโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งหมดเท่าใด.?
สำหรับการสนับสนุนโครงการบ้านเอื้ออาทร ธอส. ให้การสนับสนุนใน2 ด้าน คือสินเชื่อโครงการ และ สินเชื่อรายย่อย โดยในส่วนของสินเชื่อโครงการนั้น ธอส.ร่วมกับธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้แก่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งรับผิดชอบก่อสร้างโครงการทั้งหมด 600,000 หน่วย โดยกำหนดวงเงินปล่อยกู้โครงการไว้ให้รวม 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็น การปล่อยกู้จาก ธอส.1,800ล้านบาท และจากธนาคารออมสิน1,800 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ในส่วนของสินเชื่อโครงการของธนาคารเอง กคช.ใช้ไปแล้ว 400 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการบ้านเอื้อฯในปี46
ส่วนสินเชื่อรายย่อยที่ปล่อยให้กับลูกค้าในโครงการบ้านเอื้ออาทรนั้น ธอส.ตั้งเป้าว่ายอดการปล่อยกู้ทั้งหมดในโครงการรวม 7,000 ล้านบาท โดยนับจากปี2546-2548 ที่ผ่านมา กคช.ส่งลูกค้ามากู้แล้วจำนวน 2,300 ล้านบาท
โครงการบ้านมั่นคงมียอดขอกู้แค่ไหน
สำหรับโครงการบ้านมั่นคงนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บ้านมั่นคงมีด้วยกัน 2 โครงการคือบ้านมั่นคงเดิมที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) พัฒนาอยู่แล้ว และโครงการบ้านมั่นคงซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเฮาส์ซิ่งโปรเจกต์ 400,000หน่วย โดยในส่วนของเฮาส์ซิ่งโปรเจกต์นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้างยังไม่มีการเจรจาขอสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมาได้แจ้งเพียงความประสงค์ว่าต้องการให้ ธอส.เป็นแหล่งเงินเท่านั้น
ส่วนโครงการบ้านมั่นคงเดิมนั้น เนื่องจากทางพอช.นั้น เป็นหน่วยงานที่ไม่มีรายได้ แต่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลโดยตรง และกลุ่มลูกค้าของโครงการบ้านมั่นคง เป็นกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในระดับล่าง หรือต่ำกว่าบ้านเอื้ออาทร มีรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้น โครงการบ้านมั่นคง ที่พัฒนาโดยพอช. จึงยังมีปัญหาการพิจารณาปล่อยกู้ ซึ่งแนวทางการปล่อยกู้นั้นจำเป็นต้องมีการจัดตั้ง หรือรวมตัวกันกู้ในรูปแบบสหกรณ์ โดยให้ พอช.รับหน้าที่ในการค้ำประกันให้แก่กลุ่มสหกรณ์อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งพอช.จะต้องทำหน้าที่คัดเลือกลูกค้าชั้นดี ( ลูกค้าเดิมที่เคยกู้ในรูปแบบสหกรณ์กับ พอช.ในโครงการเดิมซึ่งหมายถึง โครงการบ้านมั่นคงเดิมที่ไม่ใช้โครงการเฮาส์ซิ่งโปรเจกต์ในปัจจุบัน) มาขายให้กับ ธอส.ในรูปแบบกลุ่มสหกรณ์
โดยรูปแบบการปล่อยกู้ดังกล่าว ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการพิจารณาของคณะกรรมการ บริหาร ธนาคาร ธอส. โดยในช่วงแรกในปี2549นี้คาดว่าจะให้วงเงินในการปล่อยกู้ประมาณ 200ล้านบาท จากวงเงินที่วางไว้1,000 ล้านบาท ซึ่งหากในช่วงแรกสามารถดำเนินการได้ด้วยก็จะอนุมัติวงเงินเพิ่มให้ในงวดต่อไปแต่ถ้าหากเกิดปัญหาขึ้น ก็จะต้องมีการแก้ไขรูปแบการปล่อยกู้กันใหม่โดยอาจจะต้องแก้ไขรูปแบบการปล่อยกู้ทั้งหมดที่วางไว้หรือแก้ไขเฉพาะบางส่วนก็ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|