ไร้หลักฐานแจงเงือนงำชิน


ผู้จัดการรายวัน(2 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกตระกูลชินวัตร มีแต่ร่ายลีลาแจกแจงปมเงื่อนที่มาแอมเพิล ริช ยันมีเอกสารชัดเจนแต่ไม่โชว์ โบ้ย ก.ล.ต.ถ่ายเดียว รู้ดีทุกอย่าง ย้ำไม่ได้เลี่ยงภาษี-ไม่มีอินไซด์-ไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ใบ้รับประทานเมื่อถูกจี้ถามจริยธรรม "ทักษิณ" ปิด ปากเงียบ ขณะ "อภิสิทธิ์" ระดมลูกพรรคด่วน หลังโฆษกตระกูลชินฯแก้ตัวไม่เคลียร์ ไร้หลักฐานอ้างอิงมีแต่กล่าวอ้าง เตรียมงัดมาตรการตรวจ สอบปมซุกหุ้น-เลี่ยงภาษี นักธุรกิจ ระบุยิ่งตอบยิ่งคาใจ

กรณีการขายหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ให้แก่กองทุน เทมาเส็ก สิงคโปร์ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก มาตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์

วานนี้ (1 ก.พ.) นายสุวรรณ วลัยเสถียร ในฐานะโฆษกตระกูลชินวัตร เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเพื่อตอบข้อสงสัยท่ามกลางผู้สื่อข่าวทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมจำนวนมาก ร่ายที่มาแอมเพิล ริช อ้างก.ล.ต.รับรู้

นายสุวรรณกล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2549 นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ชินวัตรได้ส่งหนังสือชี้แจงถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในกรณีที่มีการซื้อขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน) (SHIN) ซึ่งสาเหตุที่ชี้แจงล่าช้าเนื่อง จากต้องใช้เวลาในการค้นหาและรวบรวมเอกสารที่สามารถยืนยันได้เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นเวลา 6 ปีแล้ว

ทั้งนี้นายสุวรรณได้ลำดับเรื่องที่มาของบริษัทแอมเพิล ริช ขึ้นจอโปรเจกเตอร์ให้กับผู้สื่อข่าวได้ทราบถึงที่ไปที่มาของการได้มาของหุ้นจนมาอยู่ในการถือครองของนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ซึ่งหลายฝ่ายกังขาความไม่ชอบมาพากล (อ่านคำต่อคำ หน้า 6)

"บริษัทแอมเพิล ริช ตั้งมาแล้วเป็นเวลา 6 ปีและได้แจ้งให้กับสำนักงาน ก.ล.ต.ทราบแล้วดังนั้นก.ล.ต.ทราบข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทแอมเพิลริชมาตั้งแต่ปี 2542แล้ว และทราบด้วยว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทแอมเพิลริช มีใครบ้าง"นายสุวรรณกล่าว ยันไม่มีอินไซเดอร์เทรดดิ้ง

ส่วนกรณีที่เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 บริษัทแอมเพิล ริช ได้ขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นที่ถืออยู่จำนวน 329.2 ล้านหุ้นให้กับนายพานทองแท้และ นางสาวพิณทองทา คนละ 164.6 ล้านหุ้น โดยผู้ซื้อและผู้ขายถือเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันจึงไม่มีประเด็นการใช้ข้อมูลภายในในการนำหุ้นมาขายให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่

ทั้งนี้ กรณีบริษัทแอมเพิลริชไม่ได้ขายโดยตรง ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ แต่ขายให้กับนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาก่อนในราคาหุ้นละ 1 บาทซึ่งถือเป็นราคาต้นทุน และต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้นำไปขายให้กับกลุ่มเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ในราคาหุ้นละ 49.25 บาทนั้น

นายสุวรรณชี้แจงว่า บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่นเป็นบริษัทของคนไทย ดังนั้นจึงต้องการให้มีเงินทุนไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยซึ่งทำให้ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากระดับ 41 บาทขึ้นเป็น 39 บาท และทำให้ดุลบัญชีของประเทศดีขึ้น โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอย่างที่หลายคนมองแต่อย่างใด

ไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์

นายสุวรรณกล่าวว่า กรณีที่นายพานทองแท้ถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่นก ่อนหน้านี้จำนวน 9.80% และได้มาจากบริษัท แอมเพิล ริช อีกจำนวน 5.49% ทำให้เมื่อรวมกันจึงถือหุ้น 15.29% ขณะที่นางสาวพิณทองทาถือหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น ก่อนจำนวน 14.67% และได้มาเพิ่มจากบริษัทแอมเพิล ริชอีกจำนวน 5.49% ซึ่งรวมกันเท่ากับ 20.15% ดังนั้นบุคคลทั้ง 2 ถือว่าไม่ต้องทำคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยเพราะแต่ละคนถือหุ้นไม่ถึง 25% และทั้ง 2 คนเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ตามกฎหมายปี 2543 จะไม่นำมานับรวมกัน

ยอมรับคนในตระกูลชินวัตรติ๊กผิดเอง

สำหรับการรายงานการขายหุ้นในวันที่ 20 มกราคม 2549 ให้ต่อสำนักงานก.ล.ต.ได้มีการกาเครื่องหมายผิดพลาดในช่องของแบบรายงาน 246-2 ว่าเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์และได้มีการแก้ไขรายงานดังกล่าวให้ถูกต้องเมื่อวันที่ 30 มกราคม2549 นั้น ยอมรับว่าความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นมาแล้วไม่สามารถที่จะแก้ไขได้และการซื้อขายนอกและในตลาดหลักทรัพย์ถือว่าไม่แตกต่างกัน จะแตกต่างกันเพียงถ้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ก็จะต้องเสียค่าคอมมิชชันให้กับบริษัทหลักทรัพย์ประมาณ 10-20 ล้านบาทเท่านั้น

"ผมก็ต้องเรียนอย่างนี้นะครับ ผมไม่ได้เป็นคน กรอกเพราะว่าทางครอบครัวผู้ซื้อคือคุณพานทองแท้ กับคุณพิณทองทา เป็นคนยื่น ก.ล.ต.ก็ครอบครัวเขา เป็นคนกรอก เขาก็เกิดไปติ๊กผิดช่องเท่านั้นเองก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร คือเหตุการณ์มันก็ผ่านไปนะครับ พอมีการสอบถามกันมาก็เลยมีการแก้ให้ตรง"

เคยยื่นสอบถามสรรพากรแล้วไม่ต้องเสียภาษี

ส่วนประเด็นในเรื่องภาษีจากการขายหุ้นนั้นที่ผ่านมาได้มีการหารือกับกรมสรรพากรและมีหนังสือ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2548 ว่าการขายหุ้นจากบริษัท แอมเพิล ริช ให้แก่นายพานทองแท้และนางสาว พิณทองทาในราคาทุนที่ซื้อมาที่ราคาพาร์เป็นการขาย ในราคาทุนไม่มีกำไรจึงไม่ต้องเสียภาษี และทั้ง 2 คนได้นำหุ้นจำนวนดังกล่าวไปขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ และจากข้อมูลพบว่าภายในระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทชินวัตรได้จ่ายเงินภาษีให้กับทางการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ครอบครัว ชินวัตรได้เสียภาษีเป็นจำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท เลี่ยงตอบความชอบธรรมจริยธรรม

ส่วนกรณีในแง่ของความชอบธรรมและจะมีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่นายสุวรรณกล่าวว่า ตนไม่เก่งเรื่องการเมือง จริงๆ แม้บางครั้งจะสนใจ แต่มันคล้ายๆ กับจับตนไปตีกอล์ฟ ตีเท่าไรก็ไม่ใช่นักกอล์ฟที่ดีเพราะไม่มีพรสวรรค์ในเรื่องนั้น จริงๆ แล้วเรื่องหุ้นอย่างที่บอก มันต้องดูเหรียญ 2 ด้าน

ทั้งนี้การขายหุ้น ชิน คอร์ปอเรชั่น นั้นได้ขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ของไทย 6 แห่งประกอบด้วย บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย), บล.ทรีนีตี้ บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย), บล.ภัทร, บล.ธนชาต และบล.ไทยพาณิชย์ ซึ่งทำการขายหุ้นทั้งหมด 1,400 กว่าล้านหุ้น ซึ่งก็จะเก็บจากฝ่ายขายเป็นจำนวนเงิน 7.3 หมื่นล้านบาทโดยเงินดังกล่าวอยู่ในประเทศไทยอย่างแน่นอน

หลังจากการแถลงนายสุวรรณได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวสอบถามอย่างเต็มที่ โดยยืนยันในความถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และบางคำถามก็จะไม่ตอบโดยอ้างว่าไม่ได้เตรียมข้อมูลมา และต้องขอกลับไปถามคนตระกูลชินวัตรก่อน โดยเฉพาะเมื่อ ถูกถามถึงเอกสารหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับแอมเพิล ริช ปชป.ระบุแค่เอ่ยอ้างไม่มีข้อเท็จจริง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากการฟังคำชี้แจงของนายสุวรรณวลัยเสถียร โฆษกประจำตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ในครั้งนี้ ยังไม่เคลียร์ ในสิ่งที่สังคมสงสัยหลายประเด็น และไม่สามารถตอบคำถามให้กระจ่างชัด ซึ่งในวันที่ 2 ก.พ. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุม ส.ส.ของพรรคเป็นการด่วนในเวลา 10.00 น. เพื่อหารือถึงปัญหาดังกล่าวและกำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบต่อไปทั้งปมซุกหุ้นและเลี่ยงภาษี

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิ่งที่ชี้แจงหลายข้อขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเคยแสดงไว้ และขัดแย้งกับข้อมูลหลาย อย่างที่เคยแสดงต่อสาธารณะ และการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ทั้งหลายก็ยังเป็นการอ้างอิงโดยปราศจากเอกสารหลักฐาน

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า จากการแถลงชี้แจงของโฆษกตระกูลชินวัตร โดยระบุว่าพร้อมจะเปิดเอกสารหลักฐานให้ดูนั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเอกสารหลักฐานอะไรบ้าง ซึ่งก็คงต้องติดตามรายละเอียดต่อไป โดยจุดสำคัญอยู่ที่รายละเอียดของแอมเพิล ริชว่ามีการรับโอนหุ้น มีการชำระเงินกัน นับตั้งแต่ช่วง ที่บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โอนหุ้น แอมเพิล ริชให้กับนายพานทองแท้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2544 นอกจากนี้ ในส่วนของการโอนหุ้น แอมเพิล ริช ให้นางสาวพิณทองทา ก็ไม่มีการแจ้ง

สำหรับที่แอมเพิล ริช ขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นผ่านนายพานทองแท้ ชินวัตร ยังต้องติดตามตรวจสอบว่าต้องการนำเงินเข้าประเทศจริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นการขายนอกตลาดหลักทรัพย์ฯและในการขายหุ้น ชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็ก แต่เนื่องจากการซื้อมีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้ง เป็นผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทไทย ทำให้ต้องมีเรื่องภาษี ณ ที่จ่าย 15%

นายปรีดา เตียสุวรรณ แกนนำกลุ่มนักธุรกิจ เพื่อสังคม กล่าวว่า จากที่ได้รับฟังคำชี้แจงนั้น รับไม่ได้ ในเรื่องจริยธรรมผู้นำประเทศ ที่มีความคิดเรื่องการเสียภาษีแบบนี้ จึงเห็นว่าควรคืนอะไรให้แก่สังคมบ้าง

พลเอกธงชัย เกื้อสกุล ว่าที่กรรมการกิจการสื่อวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) กล่าวว่าจากที่ได้ฟังถือว่าไม่เคลียร์แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องคุณธรรม จริยธรรมของผู้นำประเทศ ที่ประชาชนกังขาเรื่องภาษี และความมั่นคงกับผลประโยชน์ของชาติ และที่สำคัญในการแถลงของนายสุวรรณ กลับไม่มีการเปิดเผยเอกสารสำคัญมายืนยัน "แม้ว" ปิดปากเงียบ

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ช่วง เช้าวานนี้ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด โดยก่อนที่จะลงจากรถนายกรัฐมนตรีได้นั่งคุยโทรศัพท์อยู่ภายในรถเป็นเวลาประมาณ 5 นาที หลังจากนั้นได้ลงจากรถด้วยสีหน้าเคร่งเครียดเมื่อถูกถามถึงรายละเอียดการถือหุ้นบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด โดยนายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "รอฟังการแถลง"

ภายหลังการถ่ายทอดสดแถลงข่าวชี้แจงการขายหุ้นบริษัทชิน คอร์ปเปอร์เรชั่น ของนายสุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกประจำตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ เสร็จสิ้นลงในเวลา 12.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อขึ้นรถประจำตำแหน่งไปยังบ้าน พิษณุโลก โดยเป็นที่น่าสังเกตว่านายกรัฐมนตรีมีสีหน้ายิ้มแย้มและอารมณ์ดี แต่ยังคงปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สื่อเช่นเดิม กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "หิวข้าวๆ"โพลไม่เชื่อถือ ก.ล.ต. 49%

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบค โพลล์ เปิดเผยผลสำรวจเบื้องต้นเรื่อง "ผลกระทบของการขายหุ้นชินต่อภาพลักษณ์ของ ก.ล.ต. : กรณีศึกษาผู้ที่ทำงานในภาคสถาบันการเงินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" ซึ่งมีจำนวนตัว อย่างทั้งสิ้น 336 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2549 พบว่า ร้อยละ 49.4 เห็นว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ร้อยละ 33.3 เห็นว่าน่าเชื่อถือ ร้อยละ 15.5 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 1.8 ไม่มีความคิดเห็น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.