"โอ๊ค-เอม"ซื้อ "แอมเพิลริช"โปร่งใส


ผู้จัดการรายวัน(2 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วานนี้ (1 ก.พ.) นายสุวรรณ วลัยเสถียร โฆษกประจำตระกูลชินวัตร เปิดแถลงชี้แจงกรณีนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของนายกรัฐมนตรีซื้อหุ้น "ชินคอร์ปอเรชั่น" จากบริษัทแอมเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด ในราคาหุ้นละ 1 บาท ก่อนนำไปขายต่อให้กองทุนเทมาเส็ก ทำกำไรกว่า 1.5 หมื่นล้าน ในเวลาไม่กี่วัน จนเป็นที่ครหาและตั้งคำถามว่า จะเข้าข่ายการซุกหุ้น หรือหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่

"...วันนี้ผมจะแถลงซึ่งจริงๆ แล้วแยกออกมาได้ 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นที่ 1 คือเรื่องของแอมเพิล ริช อันที่ 2 คือเรื่องหุ้นต่างๆ และอันที่ 3 คือประเด็นภาษี

เริ่มต้นที่เรื่องของแอมเพิล ริช ต้องเรียนให้ทราบว่าตั้งขึ้นมา 7 ปีมาแล้ว คือเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2542 โดย ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในตอนที่ตั้งขึ้นนั้นท่านถือหุ้น 100% แล้วเราก็มาดู ว่า แอมเพิลริชตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ประการใด วัตถุประสงค์เพื่อรับโอนหุ้นของชินจำนวน 32.92 ล้านหุ้น เพื่อเตรียมนำเข้าไปซื้อขายในตลาดแนสแดค ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนหุ้นตรงนี้สมัยนั้นพาร์ 10 บาท ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการแตกพาร์ จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ฉะนั้นจำนวนหุ้นต่อมาในภายหลังเลยกลายเป็น 329.2 ล้านหุ้น

ซึ่งจะตรงกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อๆ มา เหตุผลที่จะต้องใช้แอมเพิลริชในการถือหุ้นจำนวน 32.92 ล้านหุ้น เพราะว่าการที่จะเอาหุ้นไปเข้าตลาดแนสแดคที่กรุงนิวยอร์กนั้น ทางสหรัฐอเมริกาเขาบังคับว่าจะต้องเป็นหุ้น Foreign Board คือเป็นหุ้นอยู่ในกระดานต่างประเทศ เพราะว่าเราจะเอาหุ้นไทยไปตรงนี้ไม่ได้ เราก็กะว่าต่อไปคงจะมี ถ้าสมมติว่าแผนการที่วางไว้ หุ้นสามารถเข้าตลาดได้ดี มันก็จะมีต่างประเทศมาซื้อขาย ซึ่งเวลาเขาซื้อขาย แน่นอนเขาก็คงจะต้องการหุ้น Foreign Board ซึ่งตรงนี้ก็เลยเป็นการเตรียมการเอาไว้ และการซื้อขายนั้นก็อาจจะขายทั้งหุ้นก็ได้ หรือขายเป็น ADR ก็ได้ ADR ก็คือ America Drawing Right เพราะว่าเขาเอาหุ้นไป Warehouse เอาไว้ แล้วก็ออกเป็นตราสาร ลักษณะคงเป็นคล้ายๆ กับตราสารอนุพันธ์ ซึ่งภาษาไทยเราอาจจะเรียกว่าเป็น Derivative ออกมา ซึ่งตราสารอนุพันธ์จริงๆ แล้วบางประเภทมันก็สามารถจะซื้อขายอยู่ในตลาดแนสแดคได้ด้วย นี่ก็เป็นไปตามข้อ (2)

ต่อมาขอเรียนว่า สภาพตลาดแนสแดคตอนที่เราเอาหุ้นไป ในปี 2542 ตลาดแนสแดคเรียกว่ากำลังโด่งดังมากเลยทีเดียว ส่วนตัวผมจำได้ว่าสมัยนั้น หุ้นของพวก อินเทอร์เน็ต ดอทเน็ต อะไรพวกนั้น ขึ้นกันแบบมหาศาลเลย แต่พอเข้าช่วงปี 2543 ตลาดแนสแดคก็ตกต่ำลงมา พอตกต่ำลงทางทางคณะกรรมการผู้ถือหุ้นของกลุ่มชินก็ไปดูว่า ถ้าตลาดแนสแดคตกต่ำอย่างนี้แล้ว การเข้าตลาดยังจะได้ผลตามที่วางโครงการเอาไว้หรือไม่ ฉะนั้นพอตลาดแนสแดคตกต่ำ เราก็เลยชะลอเรื่องนี้กันไว้ก่อน ฉะนั้นการชะลอไว้ก่อนนี้ หุ้นก็เลย ยังอยู่กับหุ้นชิน 32.92 หุ้นนี้ก็ยังอยู่กับบริษัทแอมเพิลริชต่อไป จนมาถึงปัจจุบัน ก็คือเดือนมกราคม 2549

ผมเปรียบเทียบให้ฟังนิดหนึ่งนะครับเพื่อความเข้าใจดีของท่านสื่อมวลชนและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ตลาดแนสแดคนั้นผมจำได้เคยขึ้นสูงสุดประมาณ 5-6 พันจุด ต่อมาภายหลังก็ตกต่ำลงมามาก เหลือเพียงพันกว่าจุดเท่านั้นเอง แล้วก็มาอยู่ตรงพันกว่าตั้งนาน ผมว่ามันเพิ่งมาเบรก 2 พัน เมื่อ 1-2 ปีมานี้เอง ฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า หุ้นของแนสแดคนั้นมันตกลงมามาก ผมเองไม่แน่ใจ แต่เปรียบอย่างหุ้นไมโครซอฟท์ที่ผมเคยดู ราคามันเคยขึ้นถึงหุ้นละ 100 เหรียญ ตอนนี้ลงมาเหลืออยู่ที่ 27 เหรียญ อะไรทำนองนี้ แต่ว่าไมโครซอฟท์ เขาอาจจะมีการสปริตพาร์อะไรทำนองนั้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่าตลาดแนสแดคนั้น มันลงมา มากเลยทีเดียว

นี่ก็เป็นประวัติของวัตถุประสงค์ในการที่มีการตั้งบริษัทแอมเพิลริช เพื่อที่จะไปรับโอนหุ้น 32.92 ล้านหุ้น คือหุ้นชิน ซึ่งหุ้นจำนวนนี้ ถ้าท่าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นคนที่โอนเข้าไป ซึ่งโอนเข้าไปก็ประมาณเดือนมีนาคม 2542

อยากจะเรียนให้ทราบเกี่ยวกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของแอมเพิลริช แอมเพิลริช เมื่อก่อตั้งขึ้นมาในเดือนมีนาคม 2542 ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นแอมเพิลริชทั้ง 100% แล้วก็การถือหุ้นแอมเพิลริชก็มีการแจ้งทาง ก.ล.ต.ไว้ด้วย หนังสือแจง ก.ล.ต.ก็มีลงวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ดังนั้นต้องเรียนเพื่อความชัดเจนว่า ก.ล.ต.ทราบเรื่องของการตั้งแอมเพิลริชมาตั้งแต่ปี 2542 ก็คือทราบมาแล้ว 7 ปี และก็ทราบว่าผู้ถือหุ้นแอมเพิลริชคือใครด้วย ต้องเรียนว่า ในการโอนหุ้นตั้ง 32 ล้าน หรือเทียบเท่ากับ 379 ล้านหุ้นเนี่ย เราโอนออกไป ก็เป็นราคาพาร์ ในสมัยนั้นก็คือ 10 บาท แล้วเราก็มีการแจ้ง ก.ล.ต.ไว้ เพราะว่าเราต้องการให้ทุกฝ่ายมีข้อมูลที่ชัดเจน ก็มีการแจ้งกัน ต่อมา ท่านจะเห็นว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม 2543 ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ขายหุ้นแอมเพิลริชทั้งหมดให้กับบุตรชาย คือคุณพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งเรื่องนี้ ก.ล.ต.ได้ทำเรื่องสอบถามมา ซึ่งทางบริษัทแอมเพิลริชเอง และมีการแจ้งยืนยัน ก.ล.ต.ไปเป็นลายลักษณ์อักษร มีหนังสือแจ้งยืนยันตามที่ ก.ล.ต.สอบถาม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 ดังนั้น เรื่องแอมเพิลริชนี้ ต้องเรียนว่า ก.ล.ต.ทราบมาตั้งแต่ต้น 2542 จนถึงปัจจุบัน 259 ก็รู้ดีมาตลอด

ในวรรคที่ 3 คือว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้กับบุตรชาย คือนายพานทองแท้ ชินวัตร เมื่อ 1 ธันวาคม 2543 ต่อมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2548 บุตรสาวของท่านนายกรัฐมนตรี คุณพิณทองทา ชินวัตร ก็ได้เข้าถือหุ้น 20% ในแอมเพิลริช เดิมคุณพานทองแท้ถืออยู่ 100% พอคุณพิณทองทาเข้าถือหุ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2548 ก็เลยจำนวนสัดส่วนการถือหุ้นก็เลยกลายเป็นว่า น้องสาว คือคุณพิณทองทา ถือหุ้นอยู่ 20% ส่วนพี่ชาย ก็คือคุณพานทองแท้ ก็ลดสัดส่วนจาก 100% เหลือ 80%

ผมคิดว่าทุกอย่างทุกขั้นตอนมีเอกสารยืนยันได้หมด หน่วยราชการฝ่ายต่างๆ หรือใครต่อใครที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการแจ้ง และรับรู้ทั้งหมด ข้อมูลพวกนี้ท่านสามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด

อีกเรื่องหนึ่งคือที่อาจจะมีหลายคนมีความสงสัยอะไรต่ออะไร ผมก็จะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า การซื้อหุ้นนี้ มีภาษีต้องเสียหรือไม่ ต้องเรียนให้ทราบว่า แอมเพิลริชเนี่ย เมื่อปี 2542 ได้รับโอนหุ้นจาก ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในราคาพาร์ 10 บาท ซึ่งเป็นราคาพาร์ ต่อมาเมื่อแตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ราคาทุนมันก็ลดจาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ซึ่งนี่ก็เป็นราคาทุนมาตลอด แล้วจริงๆ แล้วตอนที่ ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นไปเข้าแอมเพิลริชเมื่อปี 2542 ต้องขอเรียนว่า เป็นการ Transaction ผ่านตลาดหลักทรัพย์ มีการใช้โบรกเกอร์ด้วย จะเป็นโบรกเกอร์ชื่ออะไร เดี๋ยวจบแล้วถ้าท่านอยากจะถามผมยินดีตอบให้ เพราะพวกนี้มันมี Track Record มีเอกสารอะไรยืนยันได้ตลอดเลย

ดังนั้น จริงๆ แล้วต้องขอเรียนว่า ถอยไปตรงวรรค 3 นิดหนึ่งนะครับ ที่บอกสภาพตลาด ในปี 2543 ที่ตกต่ำมาก ทางกลุ่มชินก็เลยไม่ได้เอาหุ้นเข้าตลาดแนสแดคในนิวยอร์ก หุ้นที่คงค้างอยู่เนี่ย จริงๆ แล้วสมัยโน้นก็มีการคิดกันว่า ในเมื่อหุ้นมันอยู่ที่โน่นแล้วไม่ได้เข้า แล้วทิ้งเอาไว้หลายๆ ปี น่าจะเอากลับมาประเทศไทยหรือไม่ ก็มีการปรึกษาหารือกัน แต่ก็ยังมิได้ตัดสินใจอะไรกัน แต่จริงๆ แล้วที่เอาหุ้นออกไปอยู่ที่แอมเพิลริช ก็เพื่อเข้าตลาด แต่ถ้าแผนการตลาดมีการเนิ่นนานออกไป หรือยกเลิกแผน ก็คือมีความคิดว่าควรจะเอาหุ้นกลับมาหรือไม่

เมื่อถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แนวความคิดที่บอกว่า หุ้นที่ไปแล้วไม่ได้เข้าตลาดแนสแดคคุณจะเอาคืนหรือไม่ แอมเพิลริชก็เลยขายหุ้นชินคืนให้กับคุณพานทองแท้ ซึ่งเป็น ผู้ถือหุ้น 80% และคุณพิณทองทา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 20% ก็เป็นการขายในราคาทุนเหมือนกัน เพราะว่าแอมเพิลริชซื้อมาในราคาทุน 1 บาท ก็เลยขายคืนในราคาทุน 1 บาท เหมือนกัน ตามราคาพาร์ แล้วก็มีการเอาหุ้นนั้นกลับมาในประเทศไทย จริงๆ แล้วการนำหุ้นกลับมาในประเทศไทยเนี่ยมีเหตุผล 2 ประการ ประการที่ 1 คือว่า หุ้นไม่ได้เข้าตลาดแนสแดค ประการที่ 2 คือว่า ต่อไปในภายภาคหน้า ถ้าหากคุณพานทองแท้ หรือคุณพิณทองทา อยากจะขายหุ้น ก็คืออยากจะรับเงินในประเทศไทย เพราะว่าหุ้นนี้จริงๆ ก็เป็นหุ้นของบริษัทไทย

ไปที่วรรค 2 คือ หุ้นชินขายคืนมา ในเมื่อซื้อไปในราคา 1 บาท ตามราคาพาร์ ขายคืนในราคา 1 บาท ตามราคาพาร์ ก็หมายความว่าขายเท่าทุน ซึ่งการขายเท่าทุนก็แปลว่าไม่มีผลกำไร ซึ่งผมว่าหลายๆ คนรู้กฎหมายภาษีบ้าง หรือรู้วิธีการ หรือแม้แต่ท่านนักเล่นหุ้นในตลาด ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2-3 แสนคน เขารู้ว่าการซื้อขายที่ไม่มีกำไรก็คือไม่มีภาระภาษีที่ต้องเสีย อันนี้ขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้กระจ่าง ต่อมาซึ่งนายพานทองแท้ กับคุณพิณทองทานำหุ้นชินดังกล่าวมาขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งการขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีกฎหมายออกมาชัดเจน ก็คือกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ผมจำได้ว่าเป็นข้อ 2(27) อะไรทำนองนี้ ซึ่งกฎกระทรวงนี้ใช้บังคับมาจริงๆ แล้ว 30 ปีได้ แต่ผมคิดว่า ไปดู เพราะกฎกระทรวงมีการปรับปรุงกัน แต่เนื้อหาสาระหลักเกณฑ์เหมือนกัน คือ หากบุคคลธรรมดาขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ มาดแม้ว่ามีกำไร กำไรจะได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ที่ใช้บังคับกันมาหลายสิบปี แต่อันนี้อยากจะขอเรียนท่านสื่อมวลชนกับท่านผู้มีเกียรติทุกๆ ท่านว่า เรื่องนี้นักเล่นหุ้นรู้ดีว่า ถ้าขายได้กำไร บุคคลธรรมดาเป็นคนขายก็ได้รับยกเว้น คือไม่เสียภาษี แต่ถ้าขายขาดทุน กฎหมายไม่ยอมให้หักภาษี คือจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าการเล่นหุ้น หรือซื้อขายหุ้นจะได้กำไรอย่างเดียว หลายคนขาดทุนเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว

มาถึงเรื่องที่ 4 วรรคที่ 4 คือว่า จริงๆ แล้วทางคุณพานทองแท้ก็ดี คุณพิณทองทาก็ดี ได้มีหนังสือสอบถาม หารือไปที่กรมสรรพากรเกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดว่าทำอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ จากแอมเพิลริชขายมาให้คุณพานทองแท้กับคุณพิณทองทาในราคาพาร์ 1 บาท จากนั้นก็เป็นการขายนอกตลาดด้วย ต่อจากนั้นคุณพานทองแท้กับคุณพิณทองทาก็โอนหุ้นขายไปเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549 มีกำไร แต่ว่าเป็นการขายหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯโดยขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เสียภาษีประการใดหรือไม่ กรมสรรพากรมีหนังสือตอบยืนยัน เลขที่ กค 0706/7896 ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 บอกว่า การขายตาม 1 2 และ 3 ไม่มีภาษีอะไรทั้งสิ้นเลย

อันนี้เป็นการให้ข้อเท็จจริงต่อกรมสรรพากร ซึ่งเป็นกรมที่รับผิดชอบในการเก็บภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร ทุกขั้นตอนมีเอกสารข้อเท็จจริงยืนยันได้หมด อันนี้ข้อเท็จจริงที่ผมขอกราบเรียนต่อท่านสื่อมวลชนผู้มีเกียรติ กับท่านผู้สนใจ ว่าจริงๆ แล้วมันมีอยู่เท่านี้ แต่ผมขอเรียนอย่างนี้นะครับว่า ทุกอย่างมีเอกสาร แล้วสามารถตรวจเช็กอะไรได้ เรื่องเกี่ยวกับ ก.ล.ต. ผมคิดว่า ก.ล.ต.ก็มีเอกสารอยู่ครบ เรื่องเกี่ยวกับภาษีอากร ผมเชื่อว่ากรมสรรพากร มีเอกสารอยู่ จริงๆ แล้วอยากจะขอเรียนชี้แจงท่านสื่อมวลชน ผู้มีเกียรติ จริงๆ แล้วที่ผมจะแถลงคงจะมีอยู่เท่านี้เอง ที่จะชี้แจงให้ทราบ

ผมเรียนให้ทราบอย่างนี้นะครับ ตอนที่แอมเพิลริช คำถามคือขายให้คุณพานทองแท้ใช่ไหมครับ กับคุณพิณทองทา อันนี้ถามถึงวันที่ 20 มกราหรือเปล่า หรือถามวันไหน

ผู้สื่อข่าว - รายการแรกเลย

นายสุวรรณ - คือขายคืนเกิดขึ้นหนเดียว คือวันที่ 20 มกราคม 2549 คือขายออกมาแล้วทางคุณพานทองแท้ ก่อนซื้อหุ้น คือหุ้นที่ขายมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วเท่ากับ 5.49 แต่ละคน หุ้น 329.2 ล้านหุ้น ขายคืนมาให้คุณพานทองแท้ หุ้นทั้งหมดประมาณ 5.49 ประมาณ 10.88 อะไรทำนองนั้น ขายคืนมาคนละ 5.49 คุณพานทองแท้ถืออยู่เดิมก่อนรับซื้อหุ้น 164.6 ล้านหุ้นตรงนี้ คุณพานทองแท้มีอยู่ 9.97 เปอร์เซ็นต์ รับซื้อมาอีก 5.49 เป็น 15.49 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคุณพิณทองทา ถืออยู่ 14.93 เปอร์เซ็นต์ รับซื้อมาอีก 5.49 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็น 20.15 เปอร์เซ็นต์ ประมาณนี้ ฉะนั้นไม่มีใครถือหุ้นเกิน 25 เปอร์เซ็นต์เลย ไม่มีเรื่องของการเทนเดอร์ออฟเฟอร์เลยครับ

จริงๆ แล้วคุณพานทองแท้ก็ดี คุณพิณทองทาก็ดี ทั้งสองคนเป็นคนที่บรรลุนิติภาวะทั้งคู่ ฉะนั้นเรื่องความเกี่ยวโยงอะไรท่านลองสอบถาม ก.ล.ต.ดูดีกว่า

ผู้สื่อข่าว - แอมเพิลริช พร้อมที่จะเปิด annual report ตั้งแต่ก่อตั้ง จนถึงปัจจุบันได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้สาธารณชนทราบว่ามีการดำเนินกิจการอย่างไรบ้งในบริษัท

นายสุวรรณ - อันนี้ผมไม่ทราบ ต้องไปถามทางครอบครัวเขาดู ต้องไปถามผู้ถือหุ้นดูว่าจะเปิดหรือไม่ ต้องขออภัยด้วย ผมไม่ได้เตรียมเรื่องนี้มา

ผู้สื่อข่าว - ในฐานะที่ปรึกษานายกฯ ทักษิณ อาจารย์มองแต่ในแง่กฎหมายอย่างเดียวหรือไม่ อาจารย์มองถึงความชอบธรรมซึ่งจะมีผลกระทบต่อสังคม หรือมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เชื่อมโยงถึงการเมือง แล้วอาจารย์จะชี้แจงในประเด็นเรื่องจริยธรรม เรื่องการทำธุรกิจที่ดี การเป็น Good governance

นายสุวรรณ - คือผมเองต้องเรียนตรงๆ ว่าผมไม่เก่งเรื่องการเมืองจริงๆ แม้บางครั้งจะสนใจ แต่มันคล้ายๆ กับจับผมไปตีกอล์ฟ ผมตีเท่าไรผมก็ไม่ใช่นักกอล์ฟที่ดี เพราะผมไม่มีพรในเรื่องนั้น จริงๆ แล้วเรื่องหุ้น อย่างที่ผมบอก มันต้องดูเหรียญ 2 ด้าน ด้านที่หนึ่ง ถ้าบุคคลธรรมดาไปซื้อขายหุ้น จริงๆ แล้วหลักของกฎหมายก็บอกว่า ถ้าได้กำไรแล้วซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายก็จะยกเว้นภาษีให้ แต่อีกด้านหนึ่งของการซื้อขายหุ้นนั้นมันจะโชว์ไว้เลย ถ้าหากว่าขาดทุน ห้ามนำมาหักภาษี

ฉะนั้นคนเราเนี่ยได้เสียเท่ากัน คือมีโอกาสได้ก็ยกเว้นภาษี โอกาสเสียก็หักภาษีไม่ได้ แล้วถ้าเกิดจะซื้อขายหุ้นในตลาด ในฐานะที่ผมดูเรื่องภาษี ค่าใช้จ่ายต่างๆ ดีไม่ดีใช้บริษัทมาซื้อขายหุ้นจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียด้วยซ้ำ หลายคนอาจจะบอกว่า ใช้บริษัทเนี่ย ถ้ากำไรต้องเสียภาษี แล้วใช้บริษัททำไม แต่อย่างที่ผมบอก การซื้อขายหุ้นโอกาสกำไรเราก็มีโอกาสขาดทุน บริษัทเนี่ยถ้าซื้อขายหุ้นแล้วขาดทุน ผลขาดทุนหักภาษีได้ สามารถหักได้ ฉะนั้นนี่คือเป็นประโยชน์ตรงนี้ เพราะถ้าหากว่าคนธรรมดาหักภาษีได้ ในปี 2540 นักเล่นหุ้น 2-3 แสนคน จะไม่ต้องจ่ายภาษีกันเยอะเลย เพราะว่าในปีนั้นทุกคนขาดทุนหุ้นกันหมด ป่นปี้เลยนะครับ ดัชนีลงมาจาก 1,700-1,800 ลงมาเหลือเพียงไม่กี่ร้อย แล้วคนธรรมดาเล่นหุ้นยังเรียกว่าเสียเปรียบบริษัทอีก 2 ประการ ประการที่ 1 ก็คือว่า ถ้าเกิดไปกู้ยืมเงินมาซื้อขายหุ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ หรือไปเล่นมาร์จิ้น ดอกเบี้ยที่บริษัทหลักทรัพย์หรือใครต่อใครเขาเก็บไป หักเป็นต้นทุนไม่ได้ แต่บริษัทถ้าไปกู้ยืมเงินมา บริษัทหักเป็นต้นทุนได้

อีกประการหนึ่งก็คือว่า การซื้อขายหุ้นเข้าออกทุกครั้งมันต้องเสียค่านายหน้า ค่าโบรกเกอร์ สมัยก่อนเข้าที เสีย .5 ออกที เสีย .5 เข้า-ออกเสีย 1 เปอร์เซ็นต์ สมัยนี้ดีหน่อยถูกหน่อย เสีย .25 เข้า ออกเสียอีก .25 คนธรรมดาจ่ายค่าโบรกเกอร์เหมือนกับบริษัท แต่ว่าค่าโบรกเกอร์หักต้นทุนไม่ได้ บริษัทเองก็หักต้นทุนตรงนี้ได้ ฉะนั้นบริษัทนี่หักได้ 3 ตัวเลย คือผลขาดทุน ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และค่าโบรกเกอร์ และประการสุดท้าย การใช้บริษัทซื้อยังได้ประโยชน์ตรงที่ว่า มาตรแม้ว่ามีหุ้นได้กำไรอยู่ในพอร์ต ตราบใดที่ไม่ขายหุ้นออกไป ยังไม่ต้องเสียภาษีอีก ใครก็ตามที่ซื้อหุ้นปูนซิเมนต์ไทยมา และซื้อไว้ที่พาร์ 1 บาท ตอนนี้เก็บไว้ ตอนนี้ 250 บาท ถ้าตราบใดที่ไม่ขาย ที่บริษัทผู้ถือหุ้นไม่ขาย ก็ยังไม่ต้องเสียภาษี ดีไม่ดีเสียภาษีน้อยกว่าเสียอีก อันนี้ก็เรียนให้ทราบว่า หลักของหุ้น หรือภาษีของหุ้นเป็นอย่างนี้

อีกประการหนึ่งอยากจะเรียนอีกนิดหนึ่งในเรื่องของภาษี ผมมีตัวเลขอยู่นิดหนึ่งที่ได้รับแจ้ง ว่า ตลอด 22 ปีที่ผ่านมาของกลุ่มชิน กลุ่มชินเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปประมาณ 50,000 ล้านบาท และถ้าหากว่าจะมองว่าครอบครัวชินวัตร ครอบครัวดามาพงศ์ มีเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา คือเสียภาษีส่วนตัวเท่าไร เสียจากเงินปันผล เสียจากรายได้ค่าจ้าง หรืออะไรต่างๆ ตลอดเวลาเสียมาประมาณ 3,000 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.