หม่อมอุ๋ยคว้าผู้ว่าแบงก์กลางแห่งเอเชีย คุมนโยบายการเงินเยี่ยมท่ามกลางวิกฤต


ผู้จัดการรายวัน(2 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"หม่อมอุ๋ย" ได้รับการยกย่องให้รับรางวัล ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเอเชีย ประจำปี 2549 เนื่องจากสามารถดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้อย่างดี ทั้งๆ ที่ไทยถูกปัญหาเศรษฐกิจและแรงกดดันรุมเร้าทั้งภายในและต่างประเทศ

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร The Banker ให้เป็นผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเอเชีย ประจำปี 2549 (Central Bank Governor of the Year -Asia 2006) ด้วยผลงานการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจ และแรงกดดันทั้งจาก ปัจจัยภายใน และภายนอกประเทศ

นิตยสาร The Banker ให้เหตุผลว่านับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย เมื่อปี 2540 ประเทศไทยได้ดำเนิน มาตรการด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ เช่น การเปลี่ยนระบบแลกเปลี่ยน เงินตราแบบตะกร้าเงินเป็นระบบลอยตัว การดำเนินนโยบาย การเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนเป็นภารกิจที่ท้าทายความสามารถและดำเนินการด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องใช้นโยบายการเงินที่แยบยลและช่วงเวลา ที่เหมาะสม

"การที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ให้ความ สำคัญต่อความมั่นคงและเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินนั้น มีความเหมาะสมและถูกต้อง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อและการขาดดุล บัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยไปแล้ว 9 ครั้ง รวมร้อยละ 2.75 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 เป็นต้นมา นอกจากนั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทยยังได้ส่งสัญญาณการขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก โดย มุ่งที่จะกระตุ้นการออมภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด"

สำหรับนิตยสาร The Banker เป็นนิตยสารในเครือ Financial Times ประเทศอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของวงการธุรกิจการเงินการ ธนาคารในหลายประเทศทั่วโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1926 (พ.ศ. 2469) และได้ริเริ่มการจัดให้มีการมอบรางวัลผู้ว่าการ ธนาคารกลาง แห่งปีทั่วทุกภูมิภาคของโลกครั้งแรกในปี 2002 (พ.ศ. 2545)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.