รุมยำใหญ่ดีลชินคอร์ป"บริษัทโคตรรวย"


ผู้จัดการรายวัน(1 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีดีอาร์ไอ, นักวิชาการ, นักกฎหมาย รุมยำดีลชินคอร์ป ธุรกรรมอำพราง ที่ซุกหุ้นใน แอมเพิล ริช ที่แปลเป็นไทยว่า"บริษัทโคตรรวยหรือรวยทั้งโคตร"ที่พ่อโยนบาปให้ลูกแม้มีมลทินเล็กน้อย เพื่อรักษาเก้าอี้พ่อให้มั่นคง เชื่อหากไม่ปูทางไว้ก่อนต้องเป็นคนสุดเฮง จับตาผลประโยชน์ที่ไม่ได้ดีลบนโต๊ะกับกองทุนเทมาเส็ก

วานนี้ (31 ม.ค.) การมีการจัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป-ผลของโลกเทเลคอมฯเสรี หรือผลประโยชน์ใคร?"ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการ วิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิ์รักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโททางการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสมาคมสภาทนายความ และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชน ตัดสินความถูก-ผิดในแง่ตลาดทุน

ผศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช กล่าวจุดประเด็น คำถามต่อกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปในแง่ตลาดทุน 3 เรื่องใหญ่คือ

1.การโอนหุ้นโดยไม่เสียภาษี โดยระบุว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นการพยายามใช้เงื่อนไขการยกเว้นภาษีในช่องกฎหมายทำให้ดีล ที่เกิดขึ้นถูกต้อง รวมถึงการโอนหุ้นในราคาที่ขาดทุนเพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งมักเป็นวิถีที่บริษัทดูแลเรื่องภาษีในประเทศไทยนิยมให้บริการกับบริษัทที่ไม่ต้องการเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย

2. การใช้อินไซด์อินฟอร์เมชันหรือข้อมูลภายใน โดยระบุว่าการที่หุ้นของชินคอร์ปถูกโอน มาในราคา 1 บาทนั้นเป็นการโอนเพื่อที่จะขายต่อ เอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยโดยตรง

"ถ้าพบว่าในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ลงมา ไม่ต้องไล่ไปไกล แล้วพบว่ามีการซื้อขายหุ้นในกลุ่มผู้บริหารของชิน แน่นอนว่าเป็นการใช้อินไซด์อินฟอร์เมชัน ถ้าพบเช่นนี้ ก.ล.ต.คงจะไม่สามารถทำใจให้เป็นกลางได้ว่า ไม่มีการใช้อินไซด์อินฟอร์เมชันอีกต่อไป"

ประเด็นสุดท้ายคือการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ผศ.ดร.อาณัติยืนยันว่า เทมาเส็กจะต้องตั้งโต๊ะซื้อคืนหุ้นทั้งหมดจากนักลงทุนรายย่อย เพื่อเป็นการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยในตลาด โดยจุดนี้เทมาเส็กไม่ได้ทำโดยอ้างเหตุผลว่าไม่ได้เข้าเทกโอเวอร์เกินสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์

ผศ.ดร.อาณัติชี้ให้เห็นว่า นี่คือการขัดกันของทั้งสองกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายหนึ่งระบุว่า บริษัทที่ต่างชาติเข้าถือหุ้นเกิน 50 เปอร์-เซ็นต์จะต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์เพื่อขอซื้อหุ้นคืนจากตลาดอีก กฎหมาย ระบุว่า บริษัทในธุรกิจโทรคมนาคม ห้ามไม่ให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเกิน 50 เปอร์เซ็นต์

"เทมาเส็กจึงอ้างเอาได้ว่า ถ้าผมยอมทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ก็เท่า กับว่าผมยอมรับว่าถือหุ้น ในชินคอร์ปเกิน 50 เปอร์-เซ็นต์ เท่ากับว่า ผมผิดกฎหมาย"

ผศ.ดร.อาณัติกล่าวและว่า ต้องมองว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผู้มีอำนาจพยายามวางแผนที่จะขายหุ้นก็ต้องเป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ ที่เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาเหมาะเจาะคล้องจอง แต่ก็เป็นไปได้ถ้าดวงคนมันจะเฮง ที่สำคัญคงต้องมองย้อนไปที่การโอนหุ้นครั้งแรก ว่าการโอนจากแอมเพิล ริชไปยังบริษัทนิติบุคคลครั้งแรกนั้นมีการทำ เทนเดอร์ออฟเฟอร์หรือไม่ ซึ่งว่ากันตามกฎหมาย คือต้องทำ แต่ดีลนี้ไม่ได้ทำ จับตาดีลที่ไม่อยู่บนโต๊ะ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงภาพรวมในแง่ของผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยชำแหละ 3 จังหวะดีที่เอื้อต่อการปิดดีลในครั้งนี้ พร้อมกับกล่าวถึงปัญหาต่อเนื่องในกลุ่มธุรกิจที่เทมาเส็ก เข้าถือหุ้น และความเสียหายทั้งหมดที่ประเทศไทยจะได้รับ ชำแหละจังหวะเอื้อ

ดร.สมเกียรติชำแหละ 3 ปัจจัยที่ทำให้การ ขายหุ้นชินคอร์ปในช่วงนี้คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด ว่าปัจจัยที่หนึ่งคือการที่ตลาดอิ่มตัว สองคือการ เปิดเสรีเริ่มต้านทานไม่อยู่ และสามคือ รัฐบาลไม่เข้มแข็ง

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตลาดอิ่มตัว สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ประเด็นแรก ดร.สมเกียรติอธิบายว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคำพูด สองชุดที่ขัดแย้งกัน หนึ่งคือ บริการโทรคมฯเป็นบริการที่ต้องเป็นคนไทยเป็นเจ้าของ สองคือคำพูดที่ว่า "ทุนไม่มีต่างชาติ"ซึ่งเป็นคำพูดกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ โดยธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยที่ผ่านมาถือวาทกรรมแรกเป็นหลัก ทำให้ไทยไม่สามารถเปิดเสรีโทรคมไทยได้

เห็นได้ชัดจากการเจรจา WTO เมื่อปี 1997 ตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาครั้งนั้นระบุแนวทาง ของประเทศไทยชัดเจนว่าจะไม่มีการเปิดเสรีธุรกิจโทรศัพท์มือถือและดาวเทียม

ประเด็นที่สองคือ การตั้ง กทช.เพื่อการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุเป็นไปอย่างล่าช้ามาโดยตลอด รัฐบาลในช่วงนั้นคือรัฐบาลทักษิณ 1 ไม่ได้เร่งรัดใดๆ ขณะนั้นผู้ประกอบการรายใหญ่ ในตลาดได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส, ดีแทค หรือฮัชท์

ประเด็นที่สองนำไปสู่ประเด็นที่สาม คือธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ไม่สามารถเกิดได้ อย่างเช่นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเทคโนโลยีใหม่อย่าง ไวแมกซ์ (Wimax) เนื่องจากการเกิด กทช.ช้า ทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตจัดสรรคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือได้

ประเด็นที่สี่คือ รัฐบาลทักษิณ 1 ปิดไม่ให้ ต่างประเทศเข้ามาสู่ธุรกิจโทรคมนาคมไทย โดยจำกัดเพดานต่างชาติไว้ไว้เพื่อไม่ให้มีการเปิดเสรี ใดๆ เอื้อให้กลุ่มโทรคมนาคมไทยเท่านั้น

ประเด็นที่ 5 คือในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 มีการออกกฎภาษีสรรพสามิต เจตนาให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าตลาดได้ยาก เห็นได้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเก็บภาษีเฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหม่

สรุปทั้ง 5 ประเด็นคือ เมื่อกทช.ช้า ขัดขวาง การเข้าตลาดของเทคโนโลยีใหม่ การแข่งขันผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เปรียบ รายใหม่เข้าไม่ได้ ตลาดมือถืออิ่มตัวเริ่มอิ่มตัวลง รายใหญ่กอบโกยเต็มที่ ถึงเวลาที่ตลาดเริ่มจะอ่อนลงในตัวของมันเอง

ปัจจัยที่สองคือ ปัจจุบันการเปิดเสรีในประเทศไทยเริ่มต้านทานไม่อยู่เสียแล้ว เนื่อง จากการเจรจาเปิดเสรีกับสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ต้องการให้มีการเปิดเสรีโทรคมนาคมสถานเดียว รัฐบาลไทยจึงไม่มีทางเลือก

ปัจจัยที่สามคือ รัฐบาลไม่เข้มแข็ง เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลทักษิณความนิยมตก ซึ่งหากรัฐบาลมีอันเป็นไปจริง ทุนและหุ้นที่เกี่ยวข้องจะตกตามไปด้วย

เมื่อ 3 ปัจจัยพร้อม ทั้งตลาดที่เริ่มอิ่มตัวแล้ว การถึงเวลาที่ต้องเปิดเสรี อันจะนำไปสู่การ แข่งขันอย่างดุเดือด รวมถึงความหวั่นว่าจะเกิด ความเสียหายจากการที่รัฐบาลเสียความนิยมไป ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ดีที่สุดในการขอยหุ้นชินคอร์ป

"ก็เป็นอย่างที่นายกฯยอมรับ ว่ามันไม่ใช่การขายขนมเข่ง แต่ต้องรอเวลาที่เหมาะสม นี่คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้เราเห็นวาทกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นวาทกรรมของนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาแทนที่ เราต้องเปิดรับปัญญาจากโลกภายนอก ต้องเปิดรับทุนให้ไหลเวียนไป-มา หรือแม้แต่คำพูดว่า เขาเอาเสาอากาศเราไปไม่ได้"ปัญหาต่อเนื่อง

ส่วนประโยชน์จากดีลนี้ก็มีอยู่บ้าง คือการ ลดโครงสร้างผลประโยชน์ทับซ้อนของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ แต่ยังไม่สามารถมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่แน่ใจว่า เพราะเหตุใดกองทุนสิงคโปร์จึงยอมซื้อชินคอร์ปในราคาค่อนข้างสูง ที่พีอีเดโชถึง 15 เท่า

"สงสัยว่ามีอะไรที่จะเปลี่ยนมือ ที่ไม่อยู่บนโต๊ะหรือไม่ เช่น มีการสัญญาว่าจะผลักดันให้ได้อะไรใหม่ๆ หลังจากเรื่องนี้หรือไม่"

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 อย่างคือ วันไทม์หรือไม่ต้องจ่ายภาษี กับความเสียหายถาวรที่จะผลกับประเทศไทยในอนาคต
ความเสียหายถาวรที่น่ากลัวมีด้วยกัน 5 อย่างคือ

1. การสร้างบรรทัดฐานการตีความกฎหมายต่างด้าว ซึ่งยังไม่เห็นบรรทัดฐานใดๆ ในขณะนี้ และหากยอมรับการตีความดีลนี้ ก็แปลว่าทุกอย่างทำได้หมด เพราะรัฐบาลไทยไม่ยอมปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

2. เกิดความเสียขวัญและกำลังใจในการเสียภาษี กรณีเช่นนี้จะทำให้คนไม่เชื่อรัฐ เพราะรัฐบาลทำเป็นตัวอย่าง ว่าหากรู้ช่องโหว่ของกฎหมายจะไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ ประชาชนจะรู้สึกไม่เป็นธรรมในการเสียภาษีอีกต่อไป

3. ความเสียหายต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยจะมีผลลงทุนในระบบ เนื่องจากดีลนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่คุ้มครองนักลงทุนรายย่อย ไม่ว่าจะโดยการไม่ยอมทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ไม่สนใจจัดการใช้ข้อมูลวงใน ไม่จัดการข่าวรั่ว เป็นต้น

4. ถ้าไม่มีการรับผิดชอบใดๆ กับสิ่งที่เกิด ขึ้น ค่านิยมด้านความรวยที่เคยมีชาวฝรั่งเศส รายหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า "หลังความมั่งคั่งมหาศาล คืออาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่"

5. ค่านิยมต่อครอบครัวผู้นำประเทศต้อง ตัดสินในเรื่องของแอมเพิล ริช ที่แปลเป็นไทยว่า "โคตรรวยหรือรวยทั้งโคตร"ซึ่งลูกถ้าต้องการให้พ่อไม่เข้าข่ายซุกหุ้นก็ต้องรับแทนพ่อ แม้จะมีมลทินเรื่องต้องโทษหรือโดนปรับบ้างเล็กน้อยคงไม่เป็นไร เพื่อให้พ่อมีความมั่นคงทางการเมือง นี่คือค่านิยมของครอบครัวไทย ประกันภัยทางการเมือง

ดร.ฐิตินันท์กล่าวว่า สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตในการขายหุ้นครั้งนี้มี 3 เรื่องหลักคือ 1. ทำไมเพิ่ง คิดจะขายช่วงนี้ ถ้าฟังเหตุผลโดยผิวเผินเป็นเรื่องที่ลูกทำความดีเพื่อพ่อ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าทางการเมือง เหตุผลตรงนี้ยังถือว่าน้ำหนักน้อย ถ้ามีความตั้งใจจะทำอย่างจริงจังและจริงใจ ต้องทำมานานแล้ว หรือไม่ก็สามารถทำได้ในปีที่ผ่านมาก่อนจะขึ้นสู่อำนาจสมัยที่ 2 แต่มาทำตอนที่มีอำนาจเหลืออยู่อีก 3 ปี

ทั้งนี้ หากมองในเชิงกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจโลกเริ่มมีการเปิดเสรีด้านโทรคมนาคมมากขึ้น การแข่งขันรุ่นแรงขึ้น จึงต้องการนำเงิน ออกมาก่อน นอกจากนี้ การลงทุนในเทคโนโลยี ใหม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องการนำเงินไปลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะมีการแปรรูป ซึ่งเรื่องน้ำหนักก็ยังไม่มากพอ

ดร.ฐิตินันท์ให้น้ำหนักมาที่เรื่องที่ 3 คือการเมืองที่ ดร.ทักษิณเริ่มมีแรงขับไล่ความชอบธรรมลดลงเรื่อยๆ รวมถึงกระแสต่อต้านเรื่องของการทำเอฟทีเอกับต่างชาติ จนเกิดกระขบวนการโค่นล้มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศลักษณะนี้คือความเสี่ยงทางการเมือง ซึ่งการมีเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ เป็นการประกันภัยทาง การเมืองอย่างหนึ่งก็ว่าได้ เพื่อหาทางหนีทีไล่

ในมุมมองของ ดร.ฐิตินันท์เห็นว่า ทุนสิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ จึงต้องแสวงหาความ อยู่รอด ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่าน แต่การซื้อชินคอร์ป ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอด แต่เป็นการทำกำไร เพราะมีการก้าวก่ายเข้ามาในไทย ที่ไม่ใช่การซื้อบริษัทเอกชนธรรมดา แต่ซื้อของผู้มีอำนาจ ซึ่งเทมาเส็กเองก็รู้ถึงการซิกแซ็กทางทรัพย์สินของชินคอร์ป จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาต่อไปว่าจะมีธุรกรรมอะไรต่อไป

"ดีลนี้ในทางเศรษฐศาสตร์และสังคมถือว่าผิด แต่ในทางนิติศาสตร์ต้องมีการพิจารณาอีก ครั้งว่าจะเป็นการบกพร่องโดยสุจริต 2 หรือไม่"
นายเดชอุดมกล่าวว่า กิจการโทรคมนาคม มีความเสี่ยงที่จะทำให้ความลับของประเทศรั่วไหล ที่สำคัญสิงคโปร์เป็นคู่แข่งสำคัญของกิจการประเภทนี้สิงคโปร์ไม่มีสิทธิ์ในดาวเทียมทุกดวงที่กลุ่มชินคอร์ปยิงขึ้นสู่วงโคจร เพราะสิทธิ์เป็นของไทย สิทธิมือถือ 20 ล้านเลขหมาย ของคนไทยอาจถูกละเมิด ส่วนการแปรความกระโดดจากหลักทรัพย์เป็นหุ้นจะทำให้ประเทศ ไทยตกอยู่ในวิกฤต

"ที่เราชี้แจงไม่ได้เจาะจง แต่เราเห็นว่าเป็น สิ่งสำคัญ ต่อไปจะมีคนทำอย่างนี้อีกมาก เพราะถ้าทำได้จริง กฎหมายของไทยจะเสร็จนักลงทุนทั่วโลก"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.