|

ดัน"เอ็มเอฟซี"ขึ้นเป็นโฮลดิ้ง หลังได้ออมสิน-สปส.ช่วยหนุน
ผู้จัดการรายวัน(1 กุมภาพันธ์ 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังหวังดัน "เอ็มเอฟซี"ขึ้นเป็นโฮลดิ้ง สยายปีกลุยธุรกิจบริการทางการเงินแบบครบวงจร เตรียมตัวรองรับ FTA ไทย-สหรัฐฯ หลังได้แบงก์ออมสิน-สปส. เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ปรับโครงสร้างบริษัทให้เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี เพื่อรองรับการแข่งขันของธุรกิจที่จะเปิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดเสรีการเงินระหว่างไทยและสหรัฐฯ หรือ FTA ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งการปรับตัวเพื่อ รองรับการแข่งขันนั้น จะต้องมีการปรับโครงสร้างบริษัทและผู้ถือหุ้นในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อแนวทางดังกล่าว ซึ่งการตั้งเป็นโฮลดิ้งถือเป็นแนวทางที่เหมาะสม
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นความคิดของกระทรวงการคลังที่มีมานานแล้ว อีกทั้งยังได้รับความเห็นชอบในหลักการด้วย แต่สาเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากธนาคารทหารไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอดีต ยังไม่เห็นชอบเพราะมีความเป็นห่วงเรื่องการจัดการด้านภาษีอยู่ ซึ่งหลังจากที่ธนาคารออมสินเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอ็มเอฟซีแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะมีการเจรจาในเรื่องดังกล่าวต่อ และโดยส่วนตัวเองก็ต้องการให้โครงสร้างดังกล่าวเกิดขึ้นภายในปีนี้
"แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว แต่ยังติดที่ธนาคารทหารไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอดีตยังเป็นห่วงเรื่องภาษีอยู่ ซึ่งแนวทางในการตั้งเป็นโฮลดิ้งนั้น จะครอบคลุมไปถึงธุรกิจบริการด้านการเงินอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจจัดการกองทุนด้วย เช่น แอ็ดไวเซอร์ เซอร์วิส ไฟแนนเชียล เซอร์วิส รวมทั้งพร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิสหรือธุรกิจ ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อรองรับโครงการเมกะโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ค่อนข้างมาก ถ้าสามารถทำได้ก็จะเป็น ประโยชน์ที่ดีต่อภาครัฐ" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การปรับโครงสร้าง บลจ.เอ็มเอฟซีเป็นโฮลดิ้ง คอมพานีนั้น ไม่จำเป็นต้องหาพันธมิตรต่างชาติเข้ามา เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ทั้งธนาคารออมสินและสำนักงานประกันสังคมที่กำลังจะเข้ามา อีกทั้งบลจ.เอ็มเอฟซีเอง ก็มีพันธมิตรในต่างประเทศ เช่น นิกโก้ (สิงคโปร์) เวลลิงตัน (สิงคโปร์) สมิธ บรานี่ (อเมริกา)
นอกจากนี้ ยังมี บลจ.อเบอร์ดีนที่สนใจลงทุนกับเอ็มเอฟซี ซึ่งมีการถือหุ้นผ่านกองทุนด้วย ในส่วนของเงินทุนนั้น เชื่อว่าคงจะไม่มีความจำเป็นที่บริษัทต้องเพิ่มทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยเงินทุนของโฮลดิ้งนั้นจะมาจาก ผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังเข้ามามีส่วนร่วมด้วย หรืออาจจะใช้วิธีสวอปหุ้นของเอ็มเอฟซีก็ได้
ทั้งนี้ เชื่อว่าในการดำเนินธุรกิจ ของ บลจ.เอ็มเอฟซีเอง คงจะต้องเน้นการทำธุรกรรมที่สร้างรายได้ให้บริษัทมากขึ้น โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ที่เป็นรายได้หลักของธุรกิจจัดการกองทุน ซึ่งสินค้าที่ช่วยให้มีรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นก็คือกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์นอกตลาดมีอยู่แล้ว รวมถึงกองทุนเฉพาะที่ให้ผลตอบแทนสูงมากๆ ประเภทที่เป็นสินค้าชั้นหนึ่ง โดยจะมุ่งการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวจะมีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ FTA ไทย-สหรัฐฯ
"ถ้าไม่มีนโยบายเชิงรุกเขาก็จะลำบาก ซึ่ง บลจ.อื่นๆ เชื่อว่าคงจะมุ่งไปในแนวทางดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เพื่อหาพันธมิตรต่างชาติเข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่ง อาจจะไม่ต้องเข้ามาถือหุ้น แต่เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนตั้ง บลจ.ใหม่ขึ้นมา หรืออาจจะเป็นไฟแนนเชียล โฮลดิ้งก็ได้ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการรองรับการแข่งขันดังกล่าว"แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับ บลจ.เอ็มเอฟซี ในช่วง ที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น จากการที่ธนาคารออมสินเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนธนาคารทหารไทย หลังจากที่ขายหุ้นบลจ.เอ็มเอฟซีออกมาเนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างบลจ.ทหารไทยซึ่งธนาคารมีอยู่แล้ว นอกจากนั้น ยังมีผู้ถือหุ้นรายใหม่อย่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่กำลังจะเข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วนที่เหลือจากธนาคารทหารไทยอีก 14% โดยในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อเข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าวจากธนาคารทหารไทย
ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมการ ของธนาคารทหารไทยได้อนุมัติเห็นชอบในหลักการการขายหุ้นครั้งนี้แล้ว ซึ่งคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดย ที่สำนักงานประกันสังคมจะส่งตัวแทนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วยจำนวน 1 คน หลังจากที่นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ได้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการ ของ บลจ.เอ็มเอฟซีเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในการขายหุ้นของธนาคารทหารไทยในครั้งนี้ เชื่อว่าธนาคารทหารไทยจะคงสัดส่วน ผู้ถือหุ้นไว้ระดับหนึ่ง เพื่อสามารถเข้าไปทำธุรกิจร่วมกับ บลจ.เอ็มเอฟซี โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุน (คัสโต-เดียน)
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|