"อิตัลไทยยึดหัวหาดระบบขนส่ง ฝ่าด่านปัญหาเศรษฐกิจ"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

"ให้ผมทำอีก 10 โครงการผมก็ยังทำได้" คำกล่าวด้วยความมั่นใจนี้ออกจากปากของเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารอิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เมื่อต้องกลายเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายเดียว ซึ่งรับงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างระบบขนส่งขนาดใหญ่ทุกโครงการของกรุงเทพมหานครในขณะนี้ ในห้วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ อันทำให้บริษัทก่อสร้างหลายรายไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องพับฐาน รอคอยความหวังในขณะนี้

และเป็นยุคที่บุตรชายคนเดียวของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ต้องรับภาระงานใหญ่ต่อจากบิดา หลังจากที่กลุ่มอิตัลไทยเคยผงาดสูงสุดมาแล้วเมื่อครั้งรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพราะการประมูลโครงการขนาดใหญ่ในสมัยนั้นต้องมีชื่อของกลุ่มอิตัลไทยเข้าไปร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง

ปัจจุบันโครงการระบบขนส่งมวลชนที่ใกล้แล้วเสร็จอย่างรถไฟฟ้าธนายงของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอส อันเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบแรกของชาวกรุง ซึ่งมีการประมาณการว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้กลางปีหน้าแม้จะประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องการก่อสร้าง และผลกระทบที่เกิดกับการจราจร จนกระทั่งผลกระทบกับเจ้าของโครงการคือ บีทีเอส ในเครือธนายงในเรื่องของเงินค่าก่อสร้างที่เคยติดค้างคาใจกันอยู่ แต่อิตัลไทยก็ยังสามารถเดินหน้าทำงานต่อไปได้

โครงการที่อิตัลไทยเตรียมตัวอย่างเต็มที่ก็คือ การลงมือขุดเพื่อก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขององค์การรถไฟฟ้ามหานครหรือ รฟม. หลังการออกแบบเสร็จเรียบร้อย หลังการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งกำลังเงิน และความสามารถในการก่อสร้างแบบใต้ดินมากที่สุดโครงการหนึ่งของอิตัลไทย

โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินส่วนเหนือช่วงห้วยขวาง-บางซื่อ ระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งอิตัลไทย เข้าร่วมมือตั้งบริษัท กิจการร่วมค้า ION โดยมีบริษัทโอบาชิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท นิชิมัสซึ คอนสตรัคชั่น จำกัด เพื่อเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างใต้ดินส่วนเหนือ ในวงเงินที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว 30,548.5 ล้านบาท

นอกจากโครงสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้า ยังมีสถานีให้บริการผู้โดยสารอีก 9 สถานีคือ สถานีเทียมร่วมมิตร ประชาราษฎร์บำเพ็ญ สุทธิสาร รัชดา ลาดพร้าว พหลโยธิน หมอชิต กำแพงเพชร และบางซื่อ

โดยตามแผนงานคาดว่าหลังการเริ่มก่อสร้างในปี 2541 กำหนดแล้วเสร็จจะเปิดให้บริการได้ในปี 2546

ทั้งนี้การจัดหาแหล่งเงินกู้ ทาง รฟม. จะเป็นผู้ประสานงานกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณในการจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินกู้ โดยได้เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนจากรัฐบาลญี่ปุ่น จากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจโพ้นทะเล หรือโออีซีเอฟ จำนวน 26,586 ล้านเยน หรือประมาณ 6,330 ล้านบาท

อันเป็นโอกาสที่สำคัญของอิตัลไทยกับงานระบบอุโมงค์ระบบขนส่งมวลชนใต้ดินครั้งแรกของกรุงเทพฯ หลังจากที่พ่ายแพ้การประมูลก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินส่วนใต้จากหัวลำโพง ถึงสะพานพระราม 9 ให้กับกลุ่มบริษัทร่วมค้า บีซีเคที ของ ช. การช่าง

และการชิงชัยเพื่อให้ได้มาของการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินและสถานีบริษัท กลุ่มร่วมค้าไอโอเอ็นของ อิตัลไทย เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยเข้าชิงชัยรอบสุดท้ายกับกลุ่มบริษัทอีก 4 ราย อันประกอบด้วย กลุ่มบริษัทร่วมค้า บีซีเคที กลุ่มบริษัท ยูโร เอเชีย เมโทร กรุ๊ป กลุ่มบริษัท สยาม/นิปปอน เมโทร คอนซอร์เตียม และกลุ่มบริษัท ไทยเยอรมัน ซับเวย์ กรุ๊ป

แต่อิตัลไทยก็สามารถคว้าชัยชนะมาได้ในที่สุด

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากภาครัฐเต็มที่ อิตัลไทยซึ่งมีบริษัทร่วมค้าจากญี่ปุ่นถึง 2 บริษัทแม้จะมีปัญหาเรื่องราคาวัสดุก่อสร้างขึ้นราคาอยู่บ้าง แต่เงินที่นำมาใช้ในโครงการนั้นไม่ใช่อุปสรรค โดยเงินกู้ที่นำมาใช้ในโครงการก็เป็นเงินเยนถึง 60%

และนับได้ว่าเป็นระบบขนส่งใต้ดินที่ประเทศไทยฝันมาตั้งแต่ปี 2526 ว่าควรจะมีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินให้บริการประชาชน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงล้วนทำการก่อสร้างและเปิดให้บริการไปนานหลายปีแล้ว

นอกเหนือจากนี้ อิตัลไทยยังได้รับคัดเลือกจาก รฟม. ให้เป็นผู้ก่อสร้างศูนย์การซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า รฟม. ที่บริเวณห้วยขวางอีกโครงการหนึ่งด้วย เป็นการต่อพ่วงโครงการอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน และตัวอาคารสถานีใหญ่

นับได้ว่าอิตัลไทยเป็นผู้รับเหมาที่รับงานการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรายใหญ่ที่สุดในขณะนี้ เพราะขณะนี้อิตัลไทยก็อยู่ในระหว่างการเจรจากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรับเหมาเป็นผู้ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนทางด่วนและทางรถไฟยกระดับโฮปเวลล์ช่วงอโศกถึงยมราช ระยะทาง 7 กิโลเมตร หากโฮปเวลล์สามารถต่อรองกับกระทรวงคมนาคมให้ทำการต่ออายุสัมปทานโครงการทางรถไฟยกระดับต่อไปได้อีก

แม้อิตัลไทยยังไม่ได้ก้าวข้ามเข้าไปในการเป็นผู้ถือหุ้นของโครงการทางรถไฟและถนนยกระดับโฮปเวลล์ตามที่เคยตั้งความหวังไว้ และเคยต่อรองกับกอร์ดอน วู เพื่อซื้อหุ้นบริษัท โฮปเวลล์ ไม่ต่ำกว่า 50% อันเท่ากับเป็นการครอบงำกิจการ เพราะได้รับการปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใยจากฝ่ายฮ่องกง

อิตัลไทยยังได้รับบทหนักในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างก็คือ งานถมทรายเพื่อปรับพื้นที่ก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ที่หนองงูเห่ามูลค่ากว่า 11,650 ล้านบาท เพราะเป็นการจ้างเหมาถมทรายมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยมีมาอันเป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคมต้องปรับเปลี่ยนโครงการ

ยังรวมไปถึงงานสร้างทางด่วยซึ่งอิตัลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น

แม้จะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่ต้องรับงานโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ และปรากฏการณ์เรื่องค่าเงินบาทที่ถูกประกาศให้ลอยตัว ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการทำโครงการใหญ่ได้

"เราเป็นบริษัทใหญ่ มีการทำงานเป็นระบบ" อันเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารเชื่อว่าจะสามารถนำพาบริษัทให้อยู่รอดต่อไปได้ ทั้งนี้เปรมชัยประมาณการว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับค่าเงินบาทครั้งนี้ จะทำให้ค่าวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8%-10% ซึ่งก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่จนเกินไป จนทำให้อิตัลไทยถึงกับแบกรับไม่ได้

และงานโครงการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการก็จะมีการบวกสำรองเผื่อเอาไว้แล้ว เป็นการประกันความเสี่ยงของผู้รับเหมาได้ในระดับหนึ่ง

แม้ตอนนี้ ภาพของผู้รับเหมาอย่างอิตัลไทย จะไม่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนอย่างยิ่งใหญ่ เหมือนยุคของนายแพทย์ชัยยุทธที่ผ่านมา แต่ความเป็นอิตัลไทย ซึ่งได้รับงานก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ทั้งหลายก็บอกได้ถึงศักยภาพของบริษัทเอกชนรายนี้ว่า ยังคงความเป็นอิตัลไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.