ภาระค่าซ่อมพุ่งหยุดเดินเครื่อง ส่งผลRATCHงวดปี48กำไรตก


ผู้จัดการรายวัน(1 กุมภาพันธ์ 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

RATCH กำไรหด 6.48% เนื่องจากค่าซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 2 เครื่อง อีกทั้งรับรู้ส่วนแบ่งภาระขาดทุน ตลอดจนค่าจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้จากบริษัทร่วม ส่งผลให้การดำเนินงานงวดสิ้นปี 48 กำไรลดลงจากงวดเดียวกันของปี 47

นายบุญชู ดิเรกสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวถึงผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 6,066.36 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 4.18 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 6,487.03 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 4.47 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 420.67 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.48%

ขณะที่บริษัทมีรายได้จากการขาย โดยเป็น รายได้ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าราชบุรี (Availability Payment : AP) ประจำปี 2548 จำนวน 12,394.50 ล้านบาท สูงกว่าปี 2547 (11,418.17 ล้านบาท) เป็นจำนวน 976.33 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.55 สาเหตุหลักเนื่องจากอัตราค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าในปี 2548 มีอัตราสูงกว่าปี 2547 ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA)

ขณะที่ต้นทุนในการขายนั้นมาจาก ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าในปี 2548 จำนวน 1,282.53 ล้านบาท สูงกว่าปี2547 (388.31 ล้านบาท) เป็นจำนวน 894.22 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.30 เท่า อันเป็นผลจากในปี 2548 มีการซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมมากกว่าปีก่อนและมีการหยุดซ่อมโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั้ง 2 เครื่องด้วย เป็นผลทำให้ค่าบริการในการบำรุงรักษาและค่าอะไหล่โรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นจำนวน 4 71.26 ล้านบาท รวมทั้งมีการรับรู้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมอุปกรณ์โรงไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการซ่อมแล้วเสร็จในปี 2548 สูงกว่าปีก่อนเป็นจำนวน 422.96 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทมี ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) ในกิจการร่วมค้าในปี 2548 จำนวน 372.01 ล้านบาท ต่ำกว่าปี 2547 เป็นจำนวน 35.89 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 8.80 อันเป็นผลจากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด ในปี 2548 จำนวน 468.55 ล้านบาทสูงกว่าปี 2547 เป็นจำนวน 26.44 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.98 เนื่องจากบริษัท ราชบุรีแก๊ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในไตร เอนเนอจี้ จากร้อยละ 37.5 เป็นร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2548 และผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยแห่งนี้ มีการรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 345.61 ล้านบาท

นอกจากนี้ RATCH ยัง บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนใน บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด ในปี 2548 จำนวน 91.56 ล้านบาทสูงกว่าปี 2547 เป็นจำนวน 57.51 ล้านบาท หรือ 1.69 เท่า กเนื่องจากราชบุรีเพาเวอร์อยู่ในระหว่างดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นจำนวน 106.09 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนจากการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของที่ดินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจำนวน 44.94 ล้านบาท และนอกยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 45.23 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนขาดทุนจากรายการนี้เล็กน้อย

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่จังหวัดราชบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการดำเนินการโครงการ โดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ประมาณเดือนมีนาคมและเดือนมิถุนายน 2551 บริษัท ราชบุรีอัลลายแอนซ์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ร่วมลงทุนในราชบุรีเพาเวอร์ในสัดส่วนร้อยละ 25 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547

นอกจากนี้ RATCH ยังมีดอกเบี้ยรับในปี 2548 278.51 ล้านบาทสูงกว่าปี 2547 ร้อยละ 78.66 เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในปี 2548 รวมทั้งมีเงินสดคงเหลือในมือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในปีนี้สูงกว่าปี 2547เท่าตัวคือเกือบ 500 ล้านบาท เนื่องจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลัก ได้ทำการจัดหาเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนเงินกู้เดิม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 โดยมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินกู้ดังกล่าวเป็น 229.69 ล้านบาท (รวมค่าปรับในการชำระหนี้ก่อนกำหนดของสัญญาเงินกู้เดิม) และมีการตัดจ่ายค่าธรรมเนียมในการจัดหาเงินกู้รอตัดบัญชีของเงินกู้เดิมเป็นค่าใช้จ่ายอีกจำนวน 236.52 ล้านบาท ขณะที่มีภาษีเงินได้สูงกว่าปี 2547 จากการได้รับชดเชยการปรับปรุงระบบ ระบบเผาไหม้โรงไฟฟ้าราชบุรีจำนวน 106 ล้านบาทรวมทั้งรายได้ดอกเบี้ยรับที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.