การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งที่ถือว่ามีอัตราเสี่ยงน้อยที่สุด
ก็คือการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลเป็นความจำเป็นพื้นฐานของคนทั่วไป
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่
ๆ ของวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เข้าไปร่วมหุ้นทำธุรกิจโรงพยาบาล หรือไม่ก็เทกโอเวอร์โรงพยาบาลที่มีชื่ออยู่แล้ว
แล้วนำมาพัฒนาเป็นเชนโรงพยาบาลที่มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน
ส่วนผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับโรงพยาบาลหรือกลุ่มนายแพทย์ กลับเป็นเพียงผู้ร่วมหุ้นในฐานะที่ต้องมีหน้าที่บริหารด้านการแพทย์
เพราะจะปล่อยให้กลุ่มนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ลงทุนฝ่ายเดียวก็ดูจะไม่สามารถรู้งานในวงการแพทย์ได้ทั้งหมด
ในปี 2537 ความคิดที่จะมีโรงพยาบาลของเอกชน ที่ลงทุนโดยกลุ่มนายแพทย์จริง
ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งก็เกิดขึ้น คือกลุ่มโรงพยาบาลราชเวช
นายแพทย์ไพบูลย์ โชติประสิทธิ์ ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลราชเวช ถือได้ว่าเป็นแกนนำในการรวมกลุ่มแพทย์ร่วม
200 คน จากโรงพยาบาลต่าง ๆ
โดยกลุ่มแพทย์ประมาณ 200 คนที่รวบรวมมานี้จะถือหุ้นรวมกัน 20% ที่เหลือกระจายผู้ถือหุ้นไปในกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุน
ความตั้งใจของกลุ่มผู้รวมตัวก่อตั้งโรงพยาบาลราชเวช จะมีแนวคิดเดียวกันคือ
เน้นนโยบายให้การรักษาพยาบาลประชาชนทุกระดับ เป็นโรงพยาบาลที่แท้จริง มีระบบการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานซึ่งรวมถึงราคาที่ได้มาตรฐาน
ไม่แพงเกินความเป็นจริง จนคนทั่วไปไม่สามารถใช้บริการได้
"ในความเป็นจริงแล้ว แพทย์ส่วนใหญ่ต้องการช่วยคนไข้ แต่ปัญหาก็คือเมื่อเขาสังกัดโรงพยาบาลเอกชน
เขาจะมีปัญหากับระบบการบริหารงานของดรงพยาบาล ทำให้ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องเป็นไปตามระบบ
ราคามาตรฐานที่ว่าก็คือ ถ้าเทียบกับราคาของรถยนต์ แทนที่จะเป็นราคารถบีเอ็มดับบลิว
รถเบนซ์ ก็ค่าเป็นราคาของรถญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า เป็นต้น ตัวอย่างราคาทำคลอด
รวมค่าห้อง ค่ารักษา จะตกประมาณ 10,000 บาทต้น ๆ" นายแพทย์ไพบูลย์ กล่าว
โรงพยาบาลที่จะเปิดดำเนินงานในกลุ่มราชเวช จะเปิดบริการไล่ ๆ กัน มีด้วยกัน
3 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชเวชอุบลราชธานี ขนาด 300 เตียง โรงพยาบาลราชเวช เชียงใหม่
ขนาด 400 เตียง และโรงพยาบาลราชเวช พญาไทขนาด 400 เตียง ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งค่ารักษาพยาบาลก็จะต่างกันไป
เช่นที่ อุบลราชธานี ค่าแรงจะถูกกว่าที่กรุงเทพฯ ประมาณ 20-30% การคิดค่ารักษาก็จะต้องถูกกว่า
ระบบการดำเนินงานบริหารงานของโรงพยาบาล จะมีแพทย์เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล
มีรองผู้อำนวยการด้านบริหาร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ทั้งนี้ผู้บริหารเหล่านี้จะอยู่ภายใต้นโยบายของกรรมการบริหาร
อีกที
"ความจริงแล้ว โรงพยาบาลราชเวช ที่ถนนพญาไทเป็นแห่งแรกที่ลงมือก่อสร้าง
แต่จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเป็นแห่งที่สาม โดยปัจจุบันโรงพยาบาลราชเวชทั้งที่อุบลราชธานีและที่เชียงใหม่ได้เปิดบริการไปแล้ว
เมื่อปี 2538 และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2540 ตามลำดับ จากการลงทุนทั้ง 3
แห่งรวม 3,300 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินงานแห่งละอย่างน้อย
5 ปี จึงจะคุ้มทุน" นายแพทย์ไพบูลย์ กล่าว พร้อมกับเล่าถึงการดำเนินงานว่า
ในตอนเริ่มแรกที่จะลงมือออกแบบก่อสร้าง จะมีตัวแทนจากกลุ่มแพทย์ที่ลงทุนประมาณ
20-30 คน มาช่วยในการออกแบบ พร้อมกับนักออกแบบทั้งจากต่างประเทศและของไทย
ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการออกแบบและการก่อสร้างโรงพยาบาลโดยเฉพาะ รวมทั้งกลุ่มแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะทางด้วย
มาช่วยกันคิดในการออกแบบเพื่อให้เป็นที่สอดคล้องกับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างและการดำเนินงาน
"ตัวอย่างแผนกผู้ป่วยนอก ควรอยู่ใกล้กับแผนกเอกซเรย์ หรือห้องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ห้องจ่ายยา เวชภัณฑ์แต่ละแผนกก็แยกเป็นสัดส่วนอยู่ใกล้กันเช่น แผนกอายุรกรรมควรจะอยู่ใกล้กับศัลยกรรม
เพราะแพทย์ต้องมีการปรึกษากันในแต่ละแผนก ไม่ใช่จะต้องไปแผนกที่ต้องประสานงานกันประจำแต่ต้องเดินข้ามตึก
และรวมทั้งต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมเพรียง"
นอกจากนี้จุดเด่นของกลุ่มโรงพยาบาลราชเวช ก็เห็นชัดนอกจากเรื่องทีมงาน
ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแพทย์จำนวนมากแล้ว ยังเน้นจุดขายในด้านของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย
เช่น เครื่อง AUTOMATE เครื่องมือทางห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรค เป็นเครื่องที่สามารถแสดงผลให้ผู้ป่วยทราบอย่างรวดเร็ว
"เครื่อง AUTOMATE จะมีใช้อยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดน้อยมาก เช่นที่อุบลราชธานี
เมื่อโรงพยาบาลราชเวชไปเปิด นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในจังหวัด
สถิติเรื่องแพทย์ก็มีเพิ่มขึ้นด้วย ตัวอย่าง ก่อนหน้าที่ราชเวชจะเปิดดำเนินงาน
ไม่มีแพทย์ดมยา พอโรงพยาบาลราชเวชเปิด ก็ทำให้สถิติในจังหวัดอุบลราชธานีมีแพทย์ดมยาเพิ่มขึ้นทีเดียว
3 คน" นายแพทย์ไพบูลย์ กล่าว
เครื่องมือทันสมัยอื่น ๆ ยังประกอบด้วย เครื่องฟลูออโรสโคป เครื่องมือตรวจระบบทางเดินอาหาร
เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องซีทีสแกน เครื่องแมมโมแกรมซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก
ฯลฯ รวมทั้งการลงทุนรถโมบายมูลค่ารวม 3 ล้านบาท พร้อมเครื่องมือที่ทันสมัยและบุคลากรชุดปฏิบัติงาน
8 คน
การมีเครื่องมือทันสมัยเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เรื่องเพียงพอ เพราะเมื่อถึงเวลาหนึ่ง
เครื่องมือที่เคยทันสมัยในปัจจุบัน ก็อาจจะล้าสมัยในอนาคต สิ่งที่โรงพยาบาลราชเวชตระหนักอีกด้านหนึ่งก็คือ
การให้ความสำคัญกับการเผยแพร่วิชาการแพทย์ ในด้านการศึกษาวิจัยโรคต่าง ๆ
"เรามีการจัดตั้งศูนย์การแพทย์และอุบัติเหตุ ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์โรคหัวใจ
ฯลฯ เพราะการลงทุนศึกษาวิจัยโรคชนิดต่าง ๆ เหล่านี้ เรามีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับกลุ่มโรงพยาบาลราชเวชในทางการแพทย์
พร้อมกับพยายามรักษาคุณภาพการให้บริการที่ดีกับลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
และไว้วางใจให้กับลูกค้าในระยะยาวต่อไป เป็นการทำตลาดเสริมจากการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลในทางอื่นไปด้วยในตัว"
นายแพทย์ไพบูลย์ กล่าว
จากจุดมุ่งหมายของนายแพทย์ไพบูลย์ ที่จะสร้างโรงพยาบาลในฝัน หรือโรงพยาบาลเอกชนที่พร้อมจะช่วยผู้ป่วยทุกคนอย่างแท้จริงนั้นคงสรุปได้ว่า
นอกจากจะต้องถึงพร้อมเรื่องเครื่องมือและวิชาการแพทย์แล้ว ยังต้องถึงพร้อมด้วยการบริการที่มัดใจให้คนกลับมาใช้บริการได้อีกในครั้งต่อ
ๆ ไป จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินงานอย่างแท้จริง