ช่วง 2-3 ปีก่อนครั้งที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในยุคเฟื่องฟู บริษัทเอกชนไทยทั้งหลายแห่กู้เงินนอกเข้ามาขยายการลงทุนกันอย่างเอิกเกริก
ด้วยว่าหาแหล่งเงินกู้ได้ง่ายมากทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกสุด
ๆ ต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยของบริษัทมหาชนขนาดใหญ่จะอยู่ประมาณ 8-9% เท่านั้น
ทุกวันนี้ยุคสภาพคล่องล้นเหลือเป็นเพียงอดีตไปแล้ว เศรษฐกิจของไทยอยู่ในช่วงปรับตัว
สถาบันการเงินทุกแห่งหันมาระดมเงินฝากในประเทศเป็นหลัก ธนาคารขนาดเล็กบางแห่งเสนออัตราดอกเบี้ยเงินฝากลูกค้าสถาบันรายใหญ่สูงถึง
12% ชนเพดานตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ภายหลังที่รัฐบาลตัดสินใจปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว บริษัทที่มีหนี้ต่างประเทศเจ็บตัวกันทั่วหน้า
เว้นแต่ใครไหวตัวทันป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ก่อนก็รอดตัวไป
บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหารสายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายกลุ่มชินวัตรเปิดเผยว่า
บริษัทมีหนี้สินต่างประเทศประมาณ 70% ของหนี้สินรวม เป็นหนี้สินระยะ 3 ปีและ
5 ปี ดังนั้นการลอยตัวค่าเงินบาทย่อมทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทสูงขึ้น
อย่างไรก็ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน บมจ. แอดวานซ์
อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) จึงหันมาระดมทุนภายในประเทศด้วยการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นอายุ
3-9 เดือน ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 13%
บุญคลี กล่าวถึงเหตุผลในการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ว่า "เพื่อใช้ในการขยายเครือข่ายทั้งในระบบอะนาล็อก
และดิจิตอล เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการมือถือที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งพัฒนาระบบดังกล่าวเพื่อเพิมประสิทธิภาพในการให้บริการให้ครอบคลุมพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น"
สาเหตุที่ออกเป็นหุ้นกู้ระยะสั้นเนื่องจากเป็นตราสารที่ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการบริหารเงินโดยสามารถเลือกเวลา
วงเงิน และอายุของหุ้นกู้ในการจำหน่ายแต่ละครั้ง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดและความต้องการของบริษัทได้
"ในภาวะที่อะไรก็ยังไม่แน่นอนอย่างนี้ เราคาดว่าต่อไปอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวลง
เพราะแะนั้นการออกหุ้นกู้ระยะสั้นนอกจากจะมีความเหมาะสมกับบริษัทเนื่องจากเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินเป็นช่วง
ๆ แล้ว ยังเหมาะกับสถานการณ์อีกด้วย" บุญคลีกล่าว
ทั้งนี้เอไอเอส ได้แต่งตั้งให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้จัดการการจำหน่ายและนายทะเบียน
โดยการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะเป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ขายในราคาหน่วยละ
1,000 บาท มีวงเงินการจำหน่ายรวมทั้งโปรแกรมไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด
โดยเสนอขายเป็นแบบหลายครั้ง ซึ่งจะทะยอยออกจำหน่ายตามความเหมาะสมของสภาวะตลาดและความต้องการใช้เงินของบริษัท
จากการเสนอขายครั้งแรก เอไอเอสสามารถจะระดมทุนเข้ามาได้ 1,387 ล้านบาท
จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 1,000 ล้านบาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน
เช่น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบริษัทประกันชีวิต
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้กำลังมีปัญหากองทุนรวมตราสารหนี้ 8
กองปิดตัวลงแบ่งเป็นกองทุนรวมภายใต้การบริหารของ บลจ. บัวหลวง 4 กอง บลจ.
วรรณ 3 กอง และ บลจ. บริหารทุนไทย 1 กอง มีการคาดการณ์กันว่าเหตุการณ์นี้จะต่อเนื่องไปยังกองทุนตราสารหนี้ค่ายอื่น
ๆ อีก สาเหตุมาจากนักลงทุนตื่นตระหนกแห่ถอนเงินคืนจนกองทุนตราสารหนี้เหล่านั้นขาดสภาพคล่อง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อตลาดสารหนี้
ซึ่งจะต่อเนื่องมายังบริษัทเอกชนที่ต้องการออกหุ้นกู้ระดมทุนในประเทศต่อไป
โดยต้องออกหุ้นกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงและขายได้ยากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนสถาบันจะให้ความสำคัญในเรื่องความเสี่ยงเป็นอันดับแรก
และอัตราผลตอบแทนเป็นอันดับสอง โดยหลายฝ่ายเริ่มตระหนักมากขึ้นว่าอัตราผลตอบแทนยิ่งสูงนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย
หลังจากหลงลืมกฎข้อสำคัญในการลงทุนข้อนี้ไปเสียนาน
สำหรับหุ้นกู้ระยะสั้นของเอไอเอส ซึ่งนับว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมากนั้น
เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ซึ่งค่อนข้างมั่นคงเป็นบริษัทใหญ่ในเครือชินวัตร
เป็นผู้นำตลาดมือถือ โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% นอกจากนี้ยังมีอันดับความน่าเชื่อถือในการออกตราสารหนี้เงินตราต่างประเทศระยะยาวจาก
Standard&Poor's ในอันดับ BBB
"ตราสารหนี้ในระยะหลัง ๆ นี้มีปัญหาอยู่มากเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องที่บริษัทไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้เมื่อครบกำหนดชำระ
แต่หุ้นกู้ของเอไอเอสดีอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นหุ้นกู้ระยะสั้น 3-9 เดือน เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้จึงยังสามารถขายได้ดี"
นักลงทุนสถาบันรายหนึ่งออกความเห็น
อย่างไรก็ตามผลจากการที่ค่าเงินบาทลอยตัวนี้ ทำให้ต้นทุนของเอไอเอสเพิ่มสูงขึ้น
10-20% เป็นเหตุให้เอไอเอสต้องประกาศปรับราคาโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นประมาณ
10-15% โดยจะเริ่มในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ราคาใหม่ครอบคลุมกับต้นทุนใหม่
และมีกำไรเพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ได้อย่างไม่มีปัญหา