พบโอ๊ค-เอมซุกหุ้น-อินไซด์


ผู้จัดการรายวัน(31 มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สัมพันธ์ตระกูลชินวัตร -"แอมเพิล ริช" เปิดช่องสอบอินไซเดอร์เทรดดิ้ง "เจิมศักดิ์"จี้ ก.ล.ต.ยึดกำไร 1.5 หมื่นล้านบาทลูกแม้วไว้ก่อนเพื่อรอพิสูจน์เข้าข่ายใช้วงใน "ทักษิณ" อ้ำอึ้งถ่วงเวลาบอก ให้ใจเย็นจะชี้แจงภาพรวมทั้งหมด ด้าน"พานทองแท้-พิณทองทา" ยอมรับติ๊กผิดแจงข้อมูลเพิ่มเติมซื้อหุ้นชินฯจากแอมเพิล ริช แก้ไขใหม่เป็นซื้อ "นอกตลาด"แต่เผยพิรุธแอบถือก่อนหน้ามานานแล้ว ก.ล.ต.สั่งชี้แจงใน 7 วัน คาดคั้นได้มาเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร และจากใคร โทษถึงจำคุก 2 ปี

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ กรณีข้อสังเกตบริษัทแอมเพิล รีช อินเวสเมนต์ จำกัด ที่ตั้งอยู่บนเกาะบริติช เวอร์จิ้น ขายหุ้นชินคอร์ป 329 ล้านหุ้น ให้กับนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชาย และบุตรสาวของนายกรัฐมนตรี ในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท เป็นธุรกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษี ปิดบังข้อมูล และเป็นของใครกันแน่ ว่า ถึงเวลาแล้วจะพูด จะไม่ปิดบัง

"เวลานี้ขอให้ใจเย็น ๆ เรื่องนี้ไม่มีปัญหาอยู่ แล้ว มาถามเป็นท่อนๆก็จะมีปัญหา จะพูดภาพรวมทั้งหมด ผมยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีผิดแน่นอน" นายกรัฐมนตรี กล่าวโดยไม่ระบุเวลาที่จะพูดว่าเป็นเมื่อไหร่ การซื้อขายหุ้นของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ ไม่มีปัญหา นายกรัฐมนตรียืนยันอีก

จี้ใช้กม.อินไซเดอร์เทรดดิ้งเล่นงาน

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม. กล่าวถึง ความไม่โปร่งใสในการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็กว่า หากลำดับการขายหุ้นชินคอร์ปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแอมเพิล ริช เริ่มจาก วันศุกร์ที่ 20 ม.ค. แอมเพิล ริช ขายหุ้นจำนวน 329 ล้านหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร ในราคาหุ้นละ 1 บาท ต่อมานายพานทองแท้และน.ส.พินทองทาขายให้เทมาเส็กในวันจันทร์ในราคา 49 บาท ทำให้มีกำไรทันที 15,000 ล้านบาท

ถ้ามีการซื้อขายครั้งนี้ในตลาดหลักทรัพย์จริงก็ต้องตอบคำถามว่าเป็นการอินไซเดอร์เทรดดิ้งหรือไม่ เพราะเป็นลักษณะการล่วงรู้ข้อมูลล่วงหน้าก่อน เนื่องจากผู้ขายเป็นบุตรชายบุตรสาวของผู้นำประเทศ หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่า ผิดกฎหมาย ก.ล.ต.ต้องยึดเงินที่เป็นกำไรจำนวน 15,000 ล้านบาททันทีและถ้าพิสูจน์ว่า ทำผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกปรับ 1 เท่า รวมเป็น 30,000 ล้านบาท

ส.ว.กทม.กล่าวต่อว่า แต่หากมีการขายนอกตลาดหลักทรัพย์อย่างที่ตั้งข้อสังเกตกัน ก็ต้องเสียภาษีโดยคำนวณจากส่วนต่างราคาหุ้นในวันที่แอมเพิล ริช ขายให้นายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ราคาขายหุ้นละ 1 บาท ซึ่งวันนั้นหุ้นชินคอร์ปอยู่ที่ 44-45 บาท ทำให้เกิดรายได้ประมาณ 43-44 บาทต่อหุ้น ต้องคำนวณภาษีโดยใช้ฐานนี้ เหมือนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ทำเหมือนกัน เมื่อปี 2543 วันนี้ ส่วนกรมสรรพากร อย่าอ้างว่าไม่ต้องเสียภาษี เพราะเคยอ้างเองว่าจะเสีย ก็ต่อเมื่อขายหุ้นมีกำไรแล้ว ซึ่งนี่ก็ขายแล้วและมีกำไรแล้ว อย่ามาอ้างซ้ำว่าขายในตลาดหุ้นไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากเกิดรายได้แล้ว และยังเหมือนกับกรณี กฟผ.ให้หุ้นกับพนักงาน ก็เสียภาษีทันทีเพราะขายแล้ว

นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับ แอมเพิล ริช (Ample Rich) แปลว่า ความรวยที่ไม่สิ้นสุด นายกฯ ต้องตอบคำถามว่า ใครเป็นผู้ถือหุ้น แอมเพิล ริช เพราะนายบุญคลี ปลั่งศิริ ซีอีโอชินคอร์ป เคยบอกว่า เป็นบริษัทของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เมื่อตรวจสอบในบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งต่อ ป.ป.ช. กลับไม่มี และถ้าพ.ต.ท.ทักษิณขายไปแล้วก็ต้องแจ้งต่อบัญชีทรัพย์สินส่วนนี้ต่อ ป.ป.ช. เช่นกัน ซึ่งตรงนี้ไม่มีปรากฏ

"เราต้องกลับไปอ่านไปอ่านคำวินิจฉัยของนายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2544 ในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดฐานซุกหุ้น ที่ว่า หากผู้นำประเทศยังเห็นแก่ตัว คิดแต่ประโยชน์ส่วนตัว ต่อไปประเทศชาติจะเป็นอย่างไร และจากเรื่องนี้ทำให้มีคนบอกว่า ต่อไป จะมีคนไปใช้บริการกฎหมาย จากนายสุวรรณ วลัยเสถียร (โฆษกประจำตระกูลชินวัตร)มากขึ้น เพราะทำถูกต้อง แถมยังไม่ต้องเสียภาษีอีก"

นายเจิมศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ก.ล.ต. ต้องชี้แจงว่า แอมเพิล ริช ขายหุ้นให้บุตรนายกฯในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่อย่างไร แต่การที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พยายามชี้แจงว่า เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เนื่องจากมีการติ๊กข้อ มูลการซื้อขายผิด เป็นการอ้างที่ง่ายไป ถ้าอย่างนั้นจริง คงต้องเปิดเพลงบังเอิญ(อัสนี-วสันต์)ทั่วตลาด

อย่างไรก็ตาม วันนี้รู้สึกห่วงว่า อาจมีการเปลี่ยน ข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อทำให้เรื่องทุกอย่างถูกต้อง เพราะขนาด ข้อมูลการสอบในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีบางคนได้ เกรดเอฟ 2 ตัว ยังถูกลบออกจากคอมพิวเตอร์ได้

นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้นักวิชาการไป ศึกษาเปรียบเทียบกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปกับการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ เช่น กฟผ. อสมท เพราะการขายหุ้นชินคอร์ปค่อนข้างประณีต แนบเนียน ขั้นตอน ทุกอย่างมีการออกกฎหมายรองรับหมด เช่น การแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ขยาย เพดานให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% จากอดีต 25% รวมถึงการออก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิตที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทมือถือ หรือกรณีการยกเว้นภาษีให้กับดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยใช้ข้อยกเว้นเรื่องการลงทุนในเขตทุรกันดาร 16,000 ล้านบาท การไปอาจสามารถจึงเป็นการทำให้ดีลที่นี่ง่ายขึ้น เป็นสุดยอดเซ็ทเทิล ดีล

ก.ล.ต.พบพิรุธแอมเพิล ริช-ลูกแม้ว

วานนี้(30 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการ กำกับตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ชี้แจงว่าตามที่เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ได้จัดส่งรายงานการได้มาซึ่งหุ้น (แบบ 246-2) ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ("SHIN)" ในจำนวนที่เท่ากันคนละ 164,600,000 หุ้น โดยระบุว่าการซื้อขาย ดังกล่าวเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบไม่พบว่า มีราย การซื้อขายหุ้น SHIN ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯในวันดังกล่าว ก.ล.ต. จึงได้ให้บุคคลทั้งสองในฐานะผู้ซื้อ รวมทั้ง Ample Rich Investment Ltd. ("ARI") ในฐานะผู้ขาย แก้ไขแบบรายงานพร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดของการซื้อขายหุ้นดังกล่าว

วานนี้ (30 มกราคม 2549) บุคคลและนิติ บุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าวข้างต้นได้จัดส่งแบบรายงาน 246-2 ชุดแก้ไขต่อ ก.ล.ต. แล้ว โดยระบุว่า การได้มาซึ่งหุ้น SHIN ดังกล่าวของนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา เป็นการซื้อขายนอกตลาด หลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลในแบบรายงานฉบับใหม่ ก.ล.ต. พบว่า นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา รายงานว่า ได้ถือหุ้น SHIN ผ่าน ARI มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่า บุคคลทั้งสองมีความเกี่ยวพันกับ ARI มาตั้งแต่เมื่อใด และมีหน้าที่ต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์หรือทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์มาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่

ดังนั้น ก.ล.ต.จึงได้มีหนังสือสั่งให้นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวต่อ ก.ล.ต.ภายใน 7 วัน เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อย่างครบถ้วนหรือไม่
ด้านการถือครองหุ้น SHIN ของนายพานทองแท้ ชินวัตร เดิมถือครองในสัดส่วน 9.80% ได้มา 5.49% รวม 15.29% แต่หากพิจารณาตามมาตรา 258 ARI ถือครองในสัดส่วน 10.97% รวมส่วนของนายพานทองแท้เป็น 20.77% ขณะที่การถือครองหุ้น SHIN ของนางสาวพิณทองทา ชินวัตร เดิมถือครอง ในสัดส่วน 14.67% ได้มา 5.49% รวม 20.15% แต่หากพิจารณาการได้บุคคลตามมาตรา 258 ARI ถือครองในสัดส่วน 10.97% รวมส่วนของนายพานทองแท้เป็น 25.64%

อนึ่ง สำหรับประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น SHIN ในช่วงก่อนหน้านี้ ยังอยู่ในขั้นตอนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ ขณะนี้จึงยังไม่มีข้อยุติ หากพบผิดโทษถึงติดคุก

นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโสสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตามมาตรา 258 ถือว่าการที่นายพานทองแท้ ชินวัตรและนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ที่ได้มีการรายงานการถือหุ้นใน Ample Rich Investment หรือ ARI เป็นบุคคลเดียวกัน และถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงหุ้นเกิน 30% ซึ่งบุคคลทั้ง 2 จะต้องชี้แจงว่าได้หุ้นที่มาจาก ARI เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร และได้มาจากใคร

ทั้งนี้ ทุกครั้งที่มีการซื้อขายหุ้นเกินหรือ ข้ามจุดที่ต้องมีการรายงานการถือหุ้นในสัดส่วนที่เกิน 5% และเกิน 25% จะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ทางก.ล.ตจึงมีหนังสือให้บุคคลทั้ง 2 รายดังกล่าวชี้แจง และจะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดที่ไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าวก่อนหน้านี้ โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งการเปรียบเทียบ คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาทหรืออาจปรับเป็นรายวัน 1 หมื่นบาทต่อวัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.