|

ยอดบิ๊กล็อตปี49เพียบ ชี้เทรนด์ควบรวมมาแรง
ผู้จัดการรายวัน(31 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
บิ๊กล็อตปี 2549 มาแรง เหตุมีรายการเทกฯ-ควบ-หาพันธมิตรถือหุ้น สร้างความแข็งแกร่งก่อนเปิดเสรีการค้า จับตาบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่รายได้เพิ่ม ชี้นับตั้งแต่ 3-27 ม.ค.มีบิ๊กล็อต ที่มีมูลค่าในระดับ 1 พันล้านบาทขึ้นไป 8 หลักทรัพย์ หุ้นชินฯมูลค่าซื้อขายมากสุด 6 หมื่นล้านบาท
รายงานจากตลาดหลักทรัพย์ แจ้งถึงข้อมูลการซื้อขายรายการใหญ่ (บิ๊กล็อต) นับตั้งแต่วันที่ 3-27 มกราคม 2549 ปรากฏว่า มีการซื้อขายบิ๊กล็อตที่อยู่ในระดับมูลค่า 1 พันล้านบาทขึ้นไปมีจำนวน 8 บริษัท ซึ่งสูงสุด ได้แก่ บิ๊กล็อตหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) ซึ่งมีปริมาณหุ้น 1,236.157 ล้านหุ้นในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 49.16 บาท มีมูลค่าการซื้อขาย 60,772.17 ล้านบาท เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มตระกูลชินวัตรได้ขายหุ้นให้กับกลุ่ม เทมาเส็ก โฮลดิ้งโดยมีการทำรายการบิ๊กล็อตเมื่อวันที่ 23 มกราคมซึ่งมีปริมาณจำนวน 1,158.54 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 49.25 บาทมูลค่าการซื้อขาย 57,058 .10 ล้านบาท
ส่วนอันดับรองลงมาได้แก่บริษัทชินคอร์ปอเรชั่นในกระดานต่างประเทศ (SHIN-F) ซึ่งมีปริมาณหุ้น 334.562 ล้านหุ้นในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 49.18 บาท มูลค่าการซื้อขาย 16,944.96 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีการซื้อขายบิ๊กล็อตในวันที่ 23 มกราคมเช่นกันในจำนวน 329.20 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 49.25 บาทมูลค่าการซื้อขาย 16,213.10 ล้านบาท, หุ้นบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH) มีปริมาณการ ซื้อขายหุ้น 86.856 ล้านหุ้นในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 25.01 บาทมูลค่าการซื้อขาย 2,171.96 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นบิ๊กล็อตที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคมซึ่งเกิดจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ทวี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกรุงเทพ ได้ขายหุ้นให้กับ Istithmar PJSC ซึ่งเป็นผู้ลงทุนจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบริษัทย่อยของเทมาเส็กโฮลดิ้ง (Temasek) จำนวน 86.741 ล้านหุ้นมีมูลค่าการซื้อขาย 2,168.54 ล้านบาท
บิ๊กล็อตหุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จำนวน 28.779 ล้านหุ้นในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 70.69 บาทมูลค่าการซื้อขาย 2,034.36 ล้านบาทและหุ้นธนาคารกสิกรไทยในกระดานต่างประเทศ (KBANK-F) จำนวน 16.033 ล้านหุ้นในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 76.62 บาทมูลค่าการซื้อขาย 1,228.40 ล้านบาท, หุ้นบริษัทโออิชิ กรุ๊ป (OISHI) จำนวน 59.210 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 32.50 บาทและมีมูลค่าการซื้อขาย 1,924.34 ล้านบาท ซึ่งบิ๊กล็อตมีจำนวนมากเกิดจากการทำบิ๊กล็อตเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนายตัน ภาสกรนที ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทได้ขายหุ้น ให้กับบริษัท นครชื่น จำกัดซึ่งเป็นของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และ Bengena
International Ltd. จำนวน 63.506 ล้านหุ้น,บิ๊กล็อตหุ้นบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) ซึ่งเป็น บริษัทในเครือของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น มีจำนวน 17.151 ล้านหุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 105.67 บาทมูลค่าการซื้อขาย 1,812.42 ล้านบาท และหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) จำนวน 11.764 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 113.61 บาทมูลค่าการซื้อขาย 1,336.50 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากบริษัทเซจ แคปปิตอล จำกัดเปิดเผยว่า ภายในปีนี้คาดว่าจะมีการควบรวมกิจการของบริษัทต่างๆมากขึ้น เนื่องจากบริษัทต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการแข่งขันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าซึ่งจะทำให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้นดังนั้นบริษัทขนาดเล็กถ้าไม่หาพันธมิตรเข้ามาร่วมทำธุรกิจก็อาจจะดำเนินธุรกิจลำบากขณะเดียวกันบริษัทขนาดใหญ่ก็พยายามที่จะควบรวมกิจการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น
นอกจากนี้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินต่างๆ ก็จะพยายามแนะนำลูกค้าให้หาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อลูกค้าได้
ทั้งนี้ การควบรวมกิจการหรือการเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็จะส่งผลทำให้มีการซื้อขายบิ๊กล็อตเกิดขึ้นซึ่งการมีรายการบิ๊กล็อตก็จะส่งผลดีต่อบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทที่ทำรายการเพราะจะช่วยทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกนอกเหนือจากรายได้หลักจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า การที่มีการทำบิ๊กล็อตเกิดขึ้นนั้นก็มีส่วนที่จะทำให้รายได้ของบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเพราะถือเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง แต่การที่รายได้ของบล.จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงขั้นก็ขึ้นอยู่กับมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เพราะเป็นรายได้หลักของโบรกเกอร์ซึ่งบริษัทคาดว่ากำไรสุทธิของโบรกเกอร์ปีนี้จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% จากปี 48 เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปี 48 มูลค่าการซื้อขาย จำนวน 16,000 ล้านบาทต่อวันซึ่งบริษัทคาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าซื้อขายที่ 20,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งขณะนี้มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การทำรายการบิ๊กล็อตนั้นจะไม่ได้เกิดขึ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งแต่จะเกิดขึ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนที่มีการทำดีลโดยคาดว่าโบรกเกอร์ขนาดใหญ่จะมีได้รับประโยชน์จากการทำบิ๊กล็อตมากกว่าโบรกเกอร์ขนาดเล็ก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|